เมื่อภรรยาเลือกคลอดลูกที่โรงพยาบาลของรัฐบาล

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าอยากจะแบ่งปันและเป็นกำลังใจให้ครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ทุกคน ตอนนี้ผมมีลูกชาย 2 คน คนเล็กก้เพิ่งคลอดมาเดือนนึง ซึ่งครอบครัวของผมก็เป็นครอบครัวทั่วไปอาจไม่ได้รวยมากแต่ก็ถือว่าไม่ขัดสนอะไรครับ รายได้รวมครอบครัวสองคนก็ราวราวหกหมื่นบาทต่อเดือน   แต่เรามีความคิดตรงกันว่าเราจะไม่ให้การคลอดลูกสร้างหนี้สินหรือเป็นภาระแก่เรา เลยตัดสินใจที่จะคลอดโรงพยาบาลรัฐบาลแต่ต้องไม่ลำบากเหมือนที่ได้รับการเล่าขานกันมา    เลยมีความคิดจะ review เล็กเล็กเกี่ยวกับการคลอดที่โรงพยาบาลรัฐบาลให้ฟังครับ

การฝากครรภ์  

ผมกับภรรยาเลือกที่จะฝากครรภ์กับหมอที่ประจำในโรงพยาบาลนั้นผ่านคลีนิค โดยในการตรวจตั้งแต่ตั้งครรภ์ก็ทั่วทั่วไปคือราวราว 300 -400 บาทต่อครั้ง ถ้าจะซาวน์เพิ่มก็เพิ่ม 500 บาท แต่พอถึงคลอดก็จะมีการเพิ่ม Option กับหมอ คือการฝากพิเศษ โดยการที่ผมกับภรรยาเลือกคำว่าฝากพิเศษคือการที่เราให้เงินเพิ่มกับหมอเป็นน้ำใจแก่หมอ(หรือใครจะเรียกว่าอะไรก็ได้ ) แยกต่างหากจากค่าคลอดที่ต้องเหมาจ่ายกับโรงพยาบาล โดยกรณีนี้หมอก็ไม่ได้มีการบังคับหรือเชิญชวนแต่อย่างไร ซึ่งผมก็ยินดีจ่ายเรียบร้อย 5,000 บาท ถ้วนไม่มีใบเสร็จอะไรเลย มีแค่คำว่าขอบคุณครับ

การคลอด

วันที่คลอดหมอจะมีการเขียนใบนัดมาโดยระบุว่าเป็นคนไข้ของหมอ และแล้วความแตกต่างของการฝากพิเศษก็มาถึง คือ
1.    พยาบาลที่ห้องคลอดจะดูแลเราค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน เช่นการพูดจา เป็นต้น
2.    พอถึงการคลอดหมอจะมาทำคลอดเราด้วยตนเองจนจบกระบวนการไม่ว่าจะกี่โมงก็ตาม โดยลูกคนแรกผมภรรยาคลอดยากมาก รวมเวลา 10 ชั่วโมงในห้องคลอด ซึ่งหมอก็ดูแลและมาตรวจทุก1 ชม. จนคลอด     ขณะที่การคลอดของการฝากแบบปกตินั้นก็จะทำโดยพยาบาล นอกจากติดปัญหาจริงจริงถึงจะเป็นหมอมาดูต่อจากพยาบาลครับ

ดังนั้นข้อดีของ 5,000 บาท ก็คือการที่เรามีหมอมาดูแลและทำคลอดเพื่อความสบายใจของเราเอง ส่วนคนที่คิดว่าการการจ่ายแบบนี้ไม่ถูกต้องก็ถือว่า
นานาจิตตังน่ะครับ

การพักฟื้น

ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดสำคัญอีกจุดคือถ้าเราอยากได้รับความสะดวกสะบายก็ต้องพยายามดิ้นรนหาห้องพิศษให้ได้ โดยห้องพิเศษของโรงพยาบาลรัฐอย่างที่ทราบคือมีค่ายิ่งกว่าทองอีก  โดยจากคนแรกที่ภรรยาต้องพักฟื้นที่ห้องรวม 1 คืน กว่าจะได้ห้องพิเศษ เนื่องจากผมเตรียมตัวไม่ดีเอง ผลคือห้องรวมจะเป็นห้องที่ร้อน อึดอัด ห้องน้ำจะสกปรกเพราะเป็นห้องน้ำรวม นอกจากนั้นยังมีกฏเกณฑ์มากมายเกี่ยวกับการเยี่ยม การเฝ้าไข้ซึ่งเฝ้าได้แค่ 21.00 น. หรือการใช้ชีวิตในนั้นที่ทรหดจริงจริง  แต่พอคนที่ 2 ผมเลยวางแผนชัดเจนคือเมื่อทราบกำหนดคลอดจะทำการโทรจองคิวห้องล่วงหน้าว่าคลอดวันไหน  โดยโรงพยาบาลจะจดชื่อคนที่จองไว้ในกลุ่มที่จะคลอดวันนั้นนั้นและถ้าใครคลอดก่อนก็มารับห้องพิเศษไปตามลำดับ ซึ่งโชคดีที่ภรรยาผมคนนี้คนที่ 2 คลอดง่ายเลยได้ห้องพิเศษหลังจากอยู่ห้องรวมได้แค่ 2 ชม.           โดยห้องพิเศษก็จะเป็นห้องพักเดี่ยวอุปกรณ์หรือการดูแลก็จะแยกออกจากปกติชัดเจน  แอร์ ทีวี ตู้เย็น เตียงแบบอัตโนมัตินุ่มสบาย สภาพห้องก็จะใหม่มากจนคนที่เยี่ยมยังแอบแซวว่าห้องหรูกว่าเอกชนอีก โดยค่าห้องพิเศษก็ 2,000 บาทต่อคืนรวมทุกอย่างแล้ว   ผมกับภรรยาอยู่ 3 คืน เท่ากับ 6,000 บาท เรียกได้ว่าสะดวกสะบายมาก

การดูแลเด็กในกรณีเด็กมีปัญหา

อันนี้ถือว่าปฏิบัติเท่าเทียมกันแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ห้องพิเศษหรือเคยฝากพิเศษกับหมอไหนมาก็ตามแต่เด็กออกมาเสมอภาคกันทั้งไทย กัมพูชา พม่า  ว่งน่าชื่นชมแผนกนี้มากครับ (NICU) ลูกชายผมเกิดมามีอาการหายใจเร็ว+น้ำตาลในเลือดต่ำ ต้องให้ยาและดูอาการ 7 วัน ซึ่งพยาบาลก็จัดแจงเรื่องเอกสารให้ทำบัตรทองเด็กทันทีเพื่อรักษาฟรี ซึ่งขั้นตอนก็ไม่ยากมากมาย ดังนั้นในกรณีนี้การคลอดโรงพยาบาลรัฐบาลถือว่าช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างมากเพราะไม่ว่าทารกจะมีอาการอย่างไรก็จะรักษาฟรี ขณะที่เอกชนคงต้องแยกค่ารักษาออกมาอีกจากค่าคลอดเหมารวม โดยพยาบาลก็มาคุยว่าถ้าเป็นเอกชนเจอแบบนี้ก็เสียอีก 30,000 ขึ้นไปแน่แน่  

สรุปการคลอดที่โรงพยาบาลรัฐบาล

ค่าคลอดเหมารวม   10,000  บาท
ค่าห้องพิเศษ             6,000  บาท
ค่าฝากพิเศษ              5,000 บาท
ค่ารักษาของลูก 7 วันหลังคลอด    ใช้บัตรทองฟรี
รวม      21,000 บาท    (ประกันสังคมเบิกได้ 13,000 บาท)


สุดท้ายนี้ไม่ได้บอกว่าโรงพยาบาลรัฐบาลดีหรือไม่ดี เพียงแต่บางทีเขาก็อาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นเดียวกับเราที่ข้อจำกัดหรือทางเลือกในการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่รายได้ไม่สูงนักว่า  ลองเลือกทางดูน่ะครับเพราะการคลอดลูกเป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังไงยังมีเรื่องใช้เงินอีกเยอะครับกับลูกที่เกิดมา อย่าให้รู้สึกว่าการคลอดลูกเป็นภาระของเราเลยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่