BBC ไทย เขาพูดถึงเกียนคีย์บอร์ดมาอย่างนี้อ่ะครับ พวกเราว่ามันจริงไหมครับ....หุหุ

กระทู้คำถาม
เผยตัวจริงนักเลงคีย์บอร์ด
บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข้อความเชิงยุแหย่ เสียดสี สร้างความเกลียดชัง หรืออาฆาตมาดร้ายคนที่เห็นต่างออกไปบนโลกออนไลน์ เคยสงสัยไหมคะว่าตัวตนที่แท้จริงของนักเลงคีย์บอร์ดเหล่านี้เป็นอย่างไร เป็นคนดุดัน หยาบคาย ใจร้ายเหมือนตัวหนังสือที่เขียนออกมาหรือเปล่า
เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ เจมี บาร์เล็ต ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์สื่อโซเชียลมีเดียที่อังกฤษ ได้ไปพบกับคนที่เป็นนักเลงคีย์บอร์ดนี้มาจำนวนหนึ่งค่ะ
พอลเป็นคนหนึ่งที่ตอบรับคำเชิญมาพูดคุยกับเจมี่ พอลเล่าให้ฟังว่ามันเริ่มมาจาก 4 ปีที่แล้ว เขาไปเขียนแสดงความคิดเห็นบนเพจ English Defence League (EDL) ซึ่งเป็นกลุ่มขวาจัดของอังกฤษเป็นประจำ โดยเขาเห็นเพจนี้จากการที่เพื่อนคนหนึ่งไปกดไลค์ เขาจึงลองกดไลค์บ้าง ด้วยความที่เป็นคนเขียนหนังสือได้ดี มีสำบัดสำนวนและเป็นแฟนประจำของเพจ ทางเพจได้ทาบทามให้เขาเป็นแอดมินของกลุ่ม ซึ่งเขาก็ตอบรับในทันที
การได้เป็นแอดมินของเพจทำให้เขารู้สึกมีอำนาจ เพราะเขาสามารถลบหรือซ่อนความเห็น และโต้เถียงกับคนที่มาแสดงความเห็นในเพจได้ เขารู้สึกรักหน้าที่แอดมินนี้มาก จากนั้นเขาก็เริ่มโพสต์ข้อความระรานกลุ่มมุสลิมบนเฟซบุ๊ก ซึ่งก็ทำให้เกิดการปะทะกันผ่านหน้าจอบ่อยครั้ง
ตัวจริงของพอล เขาเป็นชายวัย 30 กว่า ๆ บุคลิกเป็นคนเงียบ ค่อนข้างขี้อาย ไม่มีงานทำและอาศัยอยู่ตัวคนเดียว พอลเล่าว่าเขาเคยเดินผ่านกลุ่ม EDL ซึ่งเขาเป็นแอดมินของเพจ ยืนประท้วงกันแบบตัวจริงเสียงจริงบนถนน เขารู้สึกประหม่าจนใจสั่นและต้องเดินก้มหน้าหนีไป เขารีบกลับบ้านเพื่อมาล็อกอินเข้าเพจและโพสต์ข้อความเพื่อแสดงออกแทน พอลคนที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นต่างกับพอลตัวจริงอย่างสิ้นเชิง หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่เขาคือผู้มีอำนาจและเป็นที่เคารพนับถือของกลุ่ม
ส่วนแซค ชายวัย 30 ต้นๆ อีกคนที่เจมีได้พบ บอกว่า เขาทำตัวเป็นนักเลงคีย์บอร์ดมาแล้ว 10 ปี เขามองว่ามันไม่ใช่การรังแกผู้อื่นบนโลกออนไลน์ แต่เป็นการสร้างสถานการณ์ใหม่ ๆ และฝึกตัวเองให้รับมือกับปฏิกิริยาโต้ตอบจากคนแปลกหน้า แซคตัวจริงที่เจมีได้เจอคือคนมีไหวพริบ ขี้อาย และเป็นคนชอบหาความรู้จากการอ่าน แซคบอกว่าเขารู้สึกกร่างแค่บนโลกออนไลน์เท่านั้น
ในปี 2544 จอห์น ซูเลอร์ นักจิตวิทยาได้ให้คำจำกัดความพฤติกรรมนักเลงคีย์บอร์ดนี้ว่าเป็นภาวะการสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์ เพราะเราไม่รู้ว่ากำลังคุยอยู่กับใคร จึงไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนผู้นั้น ทั้งไม่ต้องสนใจมารยาทสังคม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพราะอีกฝ่ายก็ไม่รู้ว่าเราเป็นใครเหมือนกัน และบางครั้งกลับรู้สึกสะใจที่ได้ทะเลาะกับคนแปลกหน้าผ่านหน้าจอ
เจมีสรุปความคิดจากประสบการณ์ครั้งนี้ว่า โลกของอินเทอร์เน็ตทำให้เราพลั้งปากและก้าวร้าวได้ง่ายกว่าโลกแห่งความเป็นจริง บางคนอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายจิตใจผู้อื่น บางครั้งทำไปเพราะอยากกลบเกลื่อนจุดเปราะบางของตัวเอง เจมีบอกว่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าให้อภัย เพราะที่จริงทุกคนควรช่วยกันแสดงความรับผิดชอบและลดการระรานผู้อื่นผ่านตัวหนังสือ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่