อัปยศอดสู! ค่ารักษามหาโหด ถึงเวลาคุมราคา "รพ.เอกชน"

อัปยศอดสู! ค่ารักษามหาโหด ถึงเวลาคุมราคา "รพ.เอกชน"
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000048653

28 เมษายน 2558 21:43 น. (แก้ไขล่าสุด 28 เมษายน 2558 21:45 น.)

        ความอัปยศอดสูของโรงพยาบาลเอกชน ถูกแฉและแชร์ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยบางรายหายจากโรคแต่ต้องช็อกเพราะค่ารักษา ซ้ำร้ายบางรายต้องผ่อนจ่าย-แปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา จุดชนวนวิพากษ์ ชวนตั้งคำถาม แท้จริงแล้ว "รพ.เอกชน" ไม่ได้มีไว้รักษาคนเจ็บ แต่มีไว้เพื่อขูดรีดเงินจากประชาชน ล่าสุดมีการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อตั้ง "คกก.ควบคุมราคา รพ.เอกชน" หวังให้เกิดหน่วยงานตรวจสอบ-ให้ความเป็นธรรม
       
        ร้องไห้หนักมาก! เมื่อรู้ค่ารักษาแพงหูฉี่
       
       เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ สอดรับกับโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็มักจะออกมาโต้แย้งถึงสาเหตุของค่ารักษาพยาบาลในราคาที่สูงนั้น เนื่องจากมีต้นทุนสูง รวมไปถึงการแข่งขันของบริษัทยา ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการตลาดสูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
       
       กระนั้น แม้ประชาชนสามารถเลือกได้ที่จะไม่เข้า รพ.เอกชน ทว่า ในความเป็นจริง หากต้องเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่รพ.รัฐบาลตามสิทธิอยู่ไกล ทำให้ "รพ.เอกชน" คือความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตให้รอด ในกรณีนี้หากใคร "เงินหนัก" หรือทำประกันชีวิต/อุบัติเหตุเอาไว้ก็นอนรักษาตัวได้อย่างไร้กังวล แต่สำหรับบางคน เมื่อหายจากโรค แต่กลับต้องช็อก เพราะค่ารักษาพยาบาล หลายรายต้องผ่อนจ่าย หรือแปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา
       
       นี่คือกรณีตัวอย่างที่ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เคยได้รับการร้องเรียนเข้ามา
       
       - ผู้ป่วยชายมีอาการเจ็บหน้าอก เข้ารพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอโรคหัวใจ 24 ชั่วโมง แต่นอนรอตั้งแต่สองทุ่มถึง 8 โมงเช้า ก็ไม่มีหมอหัวใจมาตรวจจนผู้ป่วยเสียชีวิต ต่อมาญาติฟ้อง รพ.เอกชนแห่งนั้น จึงมีการตรวจสอบบิลค่ารักษา พบว่าทาง รพ.เก็บค่าอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ 148 หลอด ราคา 29,600 บาท
       
       


       
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.eyemedvisioncare.com

       
       แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้เพียง 30 หลอด ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความว่า อะดรีนาลีนนั้นใช้ได้ไม่เกิน 2 หลอด/ ชั่วโมง ถ้าใช้เกินคนไข้จะเสียชีวิต ความจริงคือช่วงที่แพทย์สั่งให้อะดรีนาลีนทางโทรศัพท์ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้อะดรีนาลีนไม่น่าจะเกิน 10 หลอด ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 2 พันบาทเท่านั้น
       
       - ผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งเล่าว่า เธอและสามีต้องไปหาหมอรพ.เอกชนทุก 3 เดือน ค่ายาแต่ละครั้ง 5-6 หมื่นบาทต่อคน เธอและสามีก้มหน้าก้มตาจ่าย ครั้งล่าสุดหมอจ่ายยาให้สามีเธอสำหรับ 3 เดือน เป็นเงินถึง 9.8 หมื่นบาท เรียกว่าเกือบหนึ่งแสน เธอตกใจมาก จึงไปสอบถามร้านยาว่า ยาลดไขมัน Ezetrol เม็ดละเท่าไร ร้านยาบอกว่า 50 บาท
       
       ขณะที่ รพ.เอกชนแห่งนั้นขายเม็ดละ 117 บาท และยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะ Nexium40mg ที่ร้านยาขายเม็ดละ 55.75 บาท แต่รพ.เอกชนขายเม็ดละ 156 บาท เมื่อเธอศึกษาพบว่าราคายาที่ต้องจ่าย 9.8 หมื่นบาท ราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเพียง 3 หมื่นกว่าบาท สรุปแล้วเธอต้องจ่ายแพงขึ้นถึง 6 หมื่นกว่าบาท
       
       ที่หนักไปกว่านั้น ยังเคยมีคนไข้บางคน ทั้งชีวิตไม่เคยเห็นเงินแสน แต่ต้องวิ่งหาเงินครึ่งล้านภายในครึ่งวันเพื่อจ่ายค่ารักษาให้รพ.เอกชน ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงไม่กี่เคส และเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ เคสในซอกมุมของสังคม ต้องระทมขมขื่นกับเรื่องราวเหล่านี้ด้วยความปลงๆ ว่า "บ่นไป พูดไปก็เท่านั้น"
       
       ถึงเวลาคุมค่ารักษา "รพ.เอกชน"
       
       ด้วยความที่สังคมไทยเก็บกดเรื่องนี้กันมานานมาก ทำให้ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องด้วยการสร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน www.change.org เพื่อล่ารายชื่อ "ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคารพ.เอกชน" เพราะถ้าไม่ควบคุม ก็มีการโกงได้ คิดเกินจริงได้อย่างเสรี นี่คือความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเป็นธรรม
       
       เนื่องจากที่ผ่านมาทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติจำนวนมาก เกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นโดยตรง
       
       


       
       ดังนั้น "การควบคุมค่ารักษา" อย่างน้อยก็สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากประชาชนควรมีสิทธิตรวจสอบว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ ไม่ใช่แค่ดูแต่ใบเสร็จแล้วก็หาเงินมาจ่ายเท่านั้น นี่คือเป้าประสงค์ของการรณรงค์ในครั้งนี้ ล่าสุดมียอดผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้ว 24,122 คน (วันที่ 28 เม.ย.58 เวลา 19.22 น.) ยังต้องการอีก 878 เพื่อขอชื่อให้ถึง 25,000 คน จากนั้นจะเดินทางไปยื่นรายชื่อกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเป็นพลังต่อรองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป สามารถร่วมลงชื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาสถานพยาบาลเอกชนได้ที่ goo.gl/hiGxKf
       
       ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ก่อนหน้านี้ ได้ออกมาหนุนให้มีการกำหนดราคากลางเพื่อควบคุมไม่ให้ราคาค่ารักษาพยาบาบแพงจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ แม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็พยายามประสานพูดคุยกับ รพ.เอกชนในการเข้าร่วมโครงการและจัดเก็บตามราคากลาง แต่ก็ไม่สำเร็จ
       
       ทำไมค่ารักษา รพ.เอกชนถึง "แพง"
       
       เมื่อลงลึงถึงเรื่องนี้ เคยมีรายงาน และผลวิจัยหลายชิ้น ระบุถึงคนเอเชีย รวมไปถึงคนไทยว่ามีการใช้จ่ายเงิน เพื่อการรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณ 20% ซึ่งเป็นผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลที่มิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า โรงพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
       
       ส่วนค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่ "แพง" นั้น นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เคยชี้แจงผ่านผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์ว่า เพราะมีการรวมเรื่องค่าบริการ ค่าแพทย์ และค่าอื่นๆ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่มีการคิดค่าดังกล่าว
       
       นอกจากนั้น บางโรงพยาบาลจะรวมค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาลเข้าไปด้วย เรื่องนี้ ผู้บริหาร รพ.เอกชนอีกรายหนึ่ง ที่เคยบอกเอาไว้ว่า ไม่ใช่คิดเฉพาะต้นทุนยาเหมือนในโรงพยาบาลรัฐ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีการรวมค่าบริหารจัดการเข้าไปด้วย ส่วน Doctor Fee กับค่าพยาบาล จะเป็นส่วนของแพทย์ หรือพยาบาล ซึ่งปกติโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรจากส่วนนี้อยู่แล้ว
       
       


       
       สอดคล้องกับ ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เคยให้สัมภาษณ์ถึง "รายได้" ของโรงพยาบาลว่า จะมีรายรับมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าพบแพทย์ โดยหักจากผู้ป่วยนอก (OPD) 15% เป็นค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยใน (IPD) ทางโรงพยาบาลจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ค่าแพทย์ไว้ แต่จะมีรายได้ในส่วนของค่าพยาบาล ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าพื้นที่ ที่ได้จากการเรียกเก็บจากคนไข้
       
       "คนไข้มักจะลืมไปว่าในห้องตรวจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้แพทย์ไม่ได้เป็นคนออก จึงต้องมีส่วนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ 50-80 บาท" นพ.สิน บอก
       
       นอกจากนี้ รายได้แหล่งใหญ่ของโรงพยาบาลยังมาจากการ "ขายยา" ซึ่งราคาค่ายาจะถูกบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตรวจรักษาเข้าไปด้วย และนี่ก็คืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไม "ยา" ในโรงพยาบาลจึงแพงกว่าร้านขายยาทั่วไป
       
       อย่างไรก็ดี แหล่งข่าว ซึ่งเป็นแพทย์หญิงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า หากคนไข้ต้องการให้เขียนชื่อยาเพื่อไปซื้อข้างนอก ย่อมสามารถทำได้เนื่องจากเป็นสิทธิผู้ป่วย หากแต่แพทย์คงไม่ได้ถามคนไข้ทุกคนว่าต้องการชื้อไปซื้อเองหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยประสงค์ย่อมทำได้
       
       เช่นเดียวกับความเห็นของ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ควรปรับเปลี่ยนระบบโดยให้ผู้ป่วยสามารถเอาใบสั่งยาไปซื้อยาจากร้านยาภายนอกได้ เนื่องจากที่ผ่านมา แม้จะมี พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนแสดงราคา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้บริโภคไม่เคยรู้ราคาเลย ทั้งที่จริงแล้วเป็นสิทธิของผู้บริโภค อย่างเรื่องของค่ายาและเวชภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลมักไปเพิ่มราคาในส่วนนี้ ทำให้ผู้ป่วยนอกจากจะต้องจ่ายค่าหมอ ค่าบริการเต็มจำนวนแล้ว ยังต้องมาเสียค่ายาที่แพงมากอีก
       
       สุดท้ายนี้ ประชาชนทุกคนรู้ดีว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนนั้น "แพง" แต่สิ่งที่ไม่สามารถรู้ได้เลยก็คือ ค่ารักษานั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ดังนั้น การมีคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาในรพ.เอกชน น่าจะเป็นทางเลือกให้ชาวบ้านที่สงสัยเข้าไปร้องเรียนได้ แทนที่จะไปขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะกว่าจะรู้ว่าโกงคงต้องฟ้องร้อง ต้องพิสูจน์กันนานหลายปี หรือบางคนถ้ามีศักยภาพที่จะจ่าย ก็คงไม่ชอบใจแน่ ถ้ารู้ว่าโดนคิดราคาแพงเกินจริง
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 50
แล้วไปเอกชนทำไม

อยากนั่งเครื่องบิน first class แต่อยากจ่ายถูก
ไปดูดิ ที่นั่ง first class ราคาตั๋ว 5 แสนบาท
ไม่เห็นมีใครไปร้องเรียนมั่งว่า แพงเกินจริง
ซูชิญี่ปุ่น คำละ 200 บาท ก้ไม่เห็นมีใครไปร้องเรียน
ทั้งๆที่ต้นทุนวัตถุดิบมันก้ไม่ถึงอยุแล้ว

รพ.เอกชนมันก้เป็นรพ.ทางเลือก สำหรับคนมีเงิน
อยากสบายได้บริการดี

ที่บอกว่า เกิดฉุกเฉิน รพ.ตามสิทธิ์อยู่ไกล
เลยต้องมาเอกชน เป็นข้ออ้างไร้เหตุผลที่สุด
เพราะเข้ารพ.รัฐที่ไม่ตามสิทธิ์ก้ได้ มีทั่วประเทศ
ถ้าฉุกเฉินจริง รพ.รัฐสามารถออกสิทธิ์ฉุกเฉินให้ได้
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ที่ไปเอกชนกันน่ะ เพราะอยากได้บริการดีๆ ห้องติดแอร์
คนไม่เยอะ ไม่สอบถามราคาก่อน พอถึงเวลาจ่ายเงิน
เป็นหมื่นเป็นแสน เงิบกันไป สุดท้ายก้มาร้องเรียน
ความคิดเห็นที่ 79
ไม่ใช่เพราะเอกชนแพงหรอกครับ เพียงแต่รพ.รัฐไม่ได้บอกตัวเลขค่ารักษาจริงๆ ให้คนไข้ทราบต่างหาก
จริง ๆ ค่ารักษาในรพ.รัฐก็ไม่ใช่ถูกนะครับ ผ่าไส้ติ่งถ้าไม่มีสิทธิบัตรทอง ไม่มีบัตรประกันอะไรเลย ค่ารักษาก็สามหมื่นอัพได้ครับ
ซึ่งถ้าไปเอกชนก็จะเพิ่มค่าบริการ ค่าหมอไปอีกเป็น 5-6 หมื่น ซึ่งก็ต่างกันประมาณ 2-3 เท่าปกติ
เพียงแต่รพ.รัฐ มีรัฐบาลตามไปจ่ายให้ ทำให้คนไข้จ่ายแค่สามสิบบาท เลยมองว่าเอกชนมันแพงครับ
อย่างก้างปลาติดคอ ถ้าไม่ลึกมาก ก็อ้าปาก หมอทั่วไปก็ใช้คีมคีบออก
แต่ถ้ายาก ก็ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ กล้องส่องท่ออาหาร ตัวละ 2 ล้าน
ถ้าเอกชนลงทุน เค้าก็ต้องหารแล้วว่าส่องกี่คนถึงจะคุ้ม 2 ล้าน
และถ้าส่องกล้องยาว ก็ต้องดมยาสลบ ตรงนี้ก็มีค่าเครื่องมืออีก
อยากได้ของดี บริการดี มันก็มีราคาครับ
รพ.รัฐ ไปรพ.อำเภอไม่มีเครื่องมือ หมอให้อ้าปาก พยายามคีบ
คนไข้อ๊วกอีก ก็มาโวยวายอีกว่า 30 บาทไม่มีมาตรฐาน
ถ้าจะไปใช้เครื่องมือส่องกล้อง ก็มีเฉพาะรพ.ใหญ่ ๆ เครื่องมือส่องทางเดินอาหารตัวละ 2 ล้าน
ไม่ใช่รพ.รัฐทุกที่ที่มี และถึงมีก็ต้องรอคิวอีก ตัวเดียวใช้กับคนไข้ทั้งจังหวัด
อันนี้ไปเอกชน ตรวจปุ๊บ คีบเลย ถ้าอยากสะดวกก็ต้องแบบนี้แหละครับ
และถ้าเคสดุ่ม ๆ เข้าไปรพ.รัฐ ไม่มีใบส่งตัว ผมว่ารพ.รัฐก็ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นครับ
สำหรับดมยาสลบส่องกล้องคีบออก
เพียงแต่ทุกวันนี้เราคิดว่าทุกโรค 30 บาทต่างหาก เลยมองว่าเอกชนแพงมหาศาล

ทำให้ตรงนี้แหละที่ทำให้หลวงถังแตก ใช้งบปีละหลายแสนล้านและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
แต่ก็ไม่กล้าบอกประชาชนกลัวเสียคะแนนเสียง และกลายเป็นมาบีบเอากับหมอ
ให้ใช้ยาในประเทศ จ่ายยาครั้งละไม่เกิน 500 บาท จ่ายยาครั้งละไม่เกินสองอาทิตย์
ลองถามพวกแพทย์ที่อยู่ในรพ.รัฐได้ ว่าเห็นประกาศฉบับนี้ไหม
แต่คนไข้ไม่เข้าใจก็หาว่าหมอห่วย เลี้ยงไข้ นัดบ่อย รักษาไม่ดี
ซึ่งถามว่ามันแพงอะไร ก็ต้องตอบว่าค่าวัสดุ ค่าแรง ค่ายา ต่าง ๆ มันก็ปรับขึ้นทุกปีครับ
ขนาดค่าแรงยังปรับเป็นสามร้อย ก๋วยเตี๋ยวชาม 15 ตอนนี้ชามละ 50 แล้ว ดังนั้นของก็แพงขึ้นทุกอย่างครับ
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการพยายามปรับปรุงให้มีการร่วมจ่ายในคนที่พอมี มีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย
แต่ก็มีคนพยายามดราม่าว่าไม่เห็นหัวคนจนมั่ง สองมาตรฐานมั่ง กดขี่คนข้างล่างมั่ง
สรุปก็ต้องอยู่กันไปงี้แหละครับ รพ.รัฐก็มีไว้สำหรับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานจริง ๆ คือดึงทุกคนลงมารักษาเท่ากันแบบพื้นฐานสุดๆเท่าที่รัฐจะมีเงินให้
ส่วนเอกชนก็เปิดไว้เพื่อรองรับคนที่พอมีเงินและอยากได้การบริการที่ดีกว่า มียาดี ๆ ให้ใช้มากกว่าครับ
หลายคนชอบบอกว่าหมอเกลียด 30 บาท เพราะนโยบายนี้จะทำให้เอกชนเจ๊ง คลีนิคล่ม บลาๆ
แต่จริง ๆ ก็คือตั้งแต่มีนโยบาย 30 บาท เอกชนยิ่งขยายตัวพรวดพลาด รพ.กรุงเทพหุ้นจะทะลุแสนล้าน หมอประเสริฐกลายเป็นบุคคลรวยหุ้นที่สุดแห่งปีทรัพย์สิน 50000 ล้านแล้ว เงินเดือนหมอก็เพิ่มกว่าสมัยก่อนมี 30 บาทด้วยซ้ำ
รพ.เอกชน เปิดกันแทบทุกหัวถนน คลีนิคเปิดมากกว่าเดิม
เพราะทุกคนกลัวตายกับระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานสุดๆ ที่รพ.รัฐแหละครับ
ความคิดเห็นที่ 96
ผมจน   ผมชอบของฟรี  ผมไม่อยากจ่ายค่ารักษาเต็มๆที่เอกชน  ทำไมเอกชนไม่ทำ รพ เพื่อสงเคราะห์การกุศลบ้าง??
ผมไม่ทำประกันชีวิตหรอก  เบี้ยต่ำสุดก้วันละ 30-50บาท ละ ผมจะเอาที่ไหนมาจ่าย
แต่ผมมีเงินซื้อ Iphone SS S6 นะ
ผมมีเงินกินหมูกระทะ สเตค ซูชิ อาหารดีๆมื้อละหลายร้อย
ผมมีเงินไปดูหนังเรื่องละร้อยกว่าบาทได้ทุกสัปดาห์
ผมมีเงินซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่วันละหลายร้อย  เจ็บป่วยช่างมัน ตับพัง ปอดพัง เป็นโรคหัวใจ ยังไงไป รบ ก้รักษาฟรีอยู่ดี   หาอะไรนะ รพ เอกชนไม่คิดราคาการกุศลให้หน่อยเหรอ  ไร้จรรยาบรรณสิ้นดี

คิดดูเอาเถิด ที่อ้างว่าจน  อ้างว่าชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ  ลองไปดูพวกนี้ดู  กินเหล้าเมาหยำเป  ค่าเหล้าวันละ 2-3ร้อย ไม่เคยเสียดาย   เมาเหล้าหนักๆก้โทร 1669 หารถ รพ ไปรับที่บ้านเพื่อรักษาฟรี  ไปโวยวายใส่หมอ รพ รัฐ ต่อ
#เจอทุกคืน
ความคิดเห็นที่ 11
คนไทยชินกับการรักษาที่ถูกและฟรีครับ ต่อต้านกันเยอะๆนี่ไม่เคยจะดูกันว่าทำไมต่างชาติเขาถึงมารักษากันในไทย ทำไมค่ารักษาในไทยถึงเทียบกับต่างประเทศแล้วถูกกว่ามาก ถ้าตอนนั้นหมอปราเสริฐปล่อยให้ IHH เข้ามาตีตลาด ปล่อยให้โรงบาลต่างประเืศเจ้ามาคงจะพอใจค่ารักษาที่เท่ากับต่างประเทศกันสินะครับ
เหรียญมี2ด้าน ชอบมองกันแค่ด้านเดียว target ของ เครือ รบ ใหญ่ จึงไม่ใช่คนไทย กำไร รบ ยังน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆเลย
ผมยอมรับครับว่าค่ารักษาในไทยแพงในความรู้สึก แต่ก็อย่าว่า รบ ไม่ได้มีแต่ของเอกชน อยากได้รับบริการดีก็คงหนีไม่พ้นกับราคาที่ต้องเสียเพิ่ม
อีกอย่างทางเลือกของ ปชช เขาก็มีที่มาเสริมให้สามารถใช้ รบ เอกชนได้ อย่างพวก ประกันต่างๆ สวัสดิการ ...
ความคิดเห็นที่ 73
ออกตัวก่อนว่าไม่ได้ทำงานโรงพยาลาลเอกชน  และเวลาเจ็บป่วยก็ยังไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเอกชน

ถามว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแพงมั้ย    ตอบว่ามี ทั้งที่แพงมาก แพงน้อย และไม่แพง     เอกชน 2 - 3 ดาวมีเยอะแยะ ทำไมไม่ไป      พวก 4-5 ดาวเขามีไว้สำหรับพวกเงินถุงเงินถัง  มีเศษเงินเยอะแยะ       แต่มีคนธรรมดา ๆ ดันอยากไปใช้บริการโรงพยาบาล 4-5 ดาวแล้วมาบ่นว่าแพง อันนี้มันก็เกินไป


อย่างที่ความเห็นบน ๆ บอก   เวลาเข้าไปโรงพยาบาลพวกนี้     จะเห็นเจ้าหน้าที่เต็มไปหมดตั้งแต่ก่อนประตูทางเข้าโรงพยาบาล  ภายในโรงพยาบาล  สารพัดเจ้าหน้าที่       ขนาดห้องโถงรอตรวจ ห้องน้ำยังต้องมีแม่บ้านคอยเช็ดถูทำความสะอาดแทบทุกครึ่งชั่วโมงราวกับห้างสรรพสินค้าหรือโรงแรมดังก็ไม่ปาน

เปิดแอร์ทั้งรพ.  เปิดไฟสว่างไสวทั้งรพ.     คอมพ์มีเป็นร้อย ๆ    น้ำ ไฟไม่อั้น       โอเค อันนี้ถึอว่าเขาน่าจะจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ แต่ก็ต้องไปเพิ่มในการ charge คนไข้อยู่ดี


ผมว่าที่สำคัญคือเรื่องการดำเนินการ  การดูแลรักษา บำรุงซ่อมแซมเครื่องไม้เครื่องมือ  การที่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือสำรองเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน      ค่าประกันการฟ้องร้อง   ค่าประกันการโดนเบี้ยวค่ารักษาพยาบาล   อีกหลายสารพัด       ทำให้ผมพอจะเข้าใจได้   แต่ไม่ใช่ว่าผมจะเห็นด้วยทั้งหมด  ตราบใดที่ไม่มีการแจงรายละเอียดในการคิดเงินคนไข้         ผมว่าเอาแบบเปิดเผยเลย  ค่าเบี้ยประกันการฟ้องร้องเท่าไหร่  ค่าโน่นค่านี่ที่ไม่ได้รวมอยู่ในกระบวนการรักษาเท่าหร่      ใครรับได้ก็ไปรักษาต่อ   ใครรับไม่ได้ก็ไปรพ.เอกชนที่หรูน้อยหน่อย



ถ้าจะบอกว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องป้จจัย 4     มันก็ต้องเหมารวมเรื่องอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่มให้หมด


ไปเที่ยวแล้วอยากนอนโรงแรม 5 ดาวคืนละแสน  แต่บอกว่าแพง ทำไมไม่คิดราคาให้ใกล้เคียงโรงแรม 2 ดาว    ก็ในเมื่อโรงแรม 2-4 ดาวมันเต็มหมด    เลยจำเป็นต้องมาพักที่โรงแรม 5 ดาว   ไม่งั้นจะนอนกลางถนนได้ไง หนาวตายหรือโดนปล้นใครจะรับผิดชอบ

หิวตอนตี 4 จนจะเป็นลม  ร้านอาหารข้างทางแถวนั้นปิดหมดแล้ว   จะขออาหารโรงแรมประทังชีวิตซักมื้อ    แต่ราคาขั้นต่ำ 350 บาท    ไม่มีเงินจ่าย     ขอให้ควบคุมราคาอาหารโรงแรมบ้าง

ไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่หนาวสุด ๆ    เสื้อกันหนาวดันหาย  หรือลืมเอามา       ไปขอซื้อตามร้านมีแต่ที่ราคาเกินกว่าที่มีในกระเป๋า    ให้ออกกฎควบคุมราคาเสื้อกันหนาว     อันนี้อาจดูไร้สาระ     แต่มันก็จะเป็นอะไรที่ต่อไปได้เรื่อย ๆ


ย้ำอีกครั้งว่าผมไม่ได้ทำงานเอกชน   และเวลาไม่สบาย   ถ้ารักษาตัวเองได้ก็รักษาตัวเอง     อันไหนไม่ได้ก็เข้าโรงพยาบาลรัฐ        ถามว่าเงินมีมั้ย ก็มีนะ    และคิดว่ามีมากกว่าพวกหน้าใหญ่ใจโตที่พยายามจะเข้าโรงพยาบาลเอกชนหรู ๆ เยอะ       แต่บังเอิญผมเป็นคนติดดิน  ไม่ได้ต้องการความหรูหราอะไรมา   รอคิวได้      แค่นั้นแหละ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่