วิเคราะห์แบบบ้านๆ...สี่เส้า (Love is) และความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความฟุ้ง



             ในช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยซบเซา สี่เส้าเป็นภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสวนกระแสหนังตลก หนังผี และหนังเกือบโป๊ แม้จะไม่ได้เป็นหนังบิ๊กบัดเจ็ท หรือมีดารามือทองมาร่วมแสดง แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูเอาบันเทิงได้ และให้แง่คิดที่น่าสนใจ พร้อมตอนจบที่หักมุมแบบบาดลึก จนต้องอุทานว่า “เห้ย! เอางี้เลยเหรอ!!”

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


             สี่เส้าเป็นผลงานกำกับชิ้นแรกของ การัณยภาส ขำสิน ในสังกัดค่าย NGR โปสเตอร์หนังสี่เส้าชูแท็กไลน์ “แม้ไม่ได้ครอบครอง แต่ขอให้ได้มองตลอดไป” มีภาพสี่ใบหน้าตัวละคร ที่อธิบายไม่ถูกว่าเศร้า หรือ สุข ด้านล่างเป็นต้นบ๊วยคู่อันโด่งดังของดอยแม่สลอง แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นที่ดอยแม่สลอง มีตัวละครเอกสี่คน คือ อาเว่ย (เวฟ คูเปยจง) อาฉิง (ฟาง FFK) เสี่ยวผิง (เวนดี้ หว่อง) และกมล (เต้ย พงศกร) โดยสามคนเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่บรรพบุรุษอพยพมาจากยูนาน ส่วนกมลเป็นลูกเศรษฐีเมืองกรุง ทั้งสี่คนสนิทสนมกันตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนั่นเป็นตอนที่กมลเริ่มคบกับเสี่ยวผิงโดยไม่รู้เลยว่า อาเว่ยนั้นได้หลงรักอาฉิงมานานแล้ว


             และ เรื่องก็ดำเนินมาถึงปมของหนังที่ชวนปวดใจที่สุด นั่นก็คือ ความจริงที่ว่า... ยังไงซะอาเว่ยก็ไม่มีทางได้รักกับอาฉิง เพราะอาเว่ยเป็นเหมือนพี่น้องบุญธรรมของอาฉิง (อาม่าของฉิงเก็บอาเว่ยซึ่งกำพร้าพ่อแม่มาเลี้ยง) แถมอาเว่ยยังถูกคลุมถุงชนในแต่งกับเสี่ยวผิงตั้งแต่ยังเด็ก อาเว่ยจึงไม่เคยอยู่ในฐานะที่เกินไปกว่าเพื่อน หรือพี่น้อง ในสายตาของอาฉิง (ในวัฒนธรรมจีน การรับลูกบุญธรรมเป็นเรื่องของปากท้อง ดีไม่ดี อาเว่ยอาจจะมีสถานะเป็นเพียงเด็กในบ้านเท่านั้น)
             กมลมาเยี่ยมอาฉิงในครั้งนี้เพื่อ ขอแต่งงาน หลังรักกันมานานถึงเจ็ดปี  สิ่งนี้สร้างความทุกข์ใจ และเจ็บแค้นแสนสาหัสให้กับชายหนุ่มผู้ใสซื่ออย่างอาเว่ยจนทำให้เขาเดินเข้าสู่ด้านมืด ทางด้านเสี่ยวเว่ยได้แต่ขมขื่น ที่แม้ได้อาเว่ยมาเป็นสามีอย่างเต็มภาคภูมิ แต่ก็ไม่มีทางได้เขามาครอบครองอย่างแท้จริง

             เนื้อเรื่องในช่วงต้นเดินเป็นเส้นตรง ตามขนบหนังรัก หนังโศกที่มีอยู่ดาษดื่น ซึ่งคือ
1. วิวสวยๆ
2. การดำเนินเรื่องแบบเต่าคลาน
3. บทสนทนาหวานเลี่ยน
4. ความรักต่างชนชั้น ที่เข้ากันได้อย่างกะโกหก
5. จักรยาน (เออ...ทำไมมีทุกเรื่องเลยวะ)
6. ตัวละครแบนมิติเดียว
7. คนตาบอด (วิชาบังคับเลือก)


             ด้วยเจ็ดปัจจัยที่ผกก.จงใจใส่ไว้ การทำให้ผู้ชมนั่งอยู่กับเก้าอี้จนถึงครึ่งหลังของหนังได้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องยกนิ้วให้นะ (555)

             และในขณะที่เรากำลังนั่งจับผิด และบ่นเป็นหมีกินผึ้ง ตอนจบที่คาดไม่ถึงก็ฟาดเข้ามาอย่างจัง เป็นตอนจบที่ทำลายทุกกฏเกณฑ์ของเหตุและผล ทำลายทุกมาตรฐานของการทำภาพยนตร์รัก (จนเกือบเหมือนจะประชดหนังรัก) และแน่นนอนว่าทำลายข้อเท็จจริงทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิง ทั้งหมดเพียงเพื่อตั้งคำถามเพียงข้อเดียวกับคนดูแบบที่มีหนังไม่กี่เรื่องกล้าทำ คือ “ความรักคืออะไร?”

แล้วความรักคืออะไรกันล่ะ?

             
             จาก 90 นาทีในโรง คำถามที่ว่า “ความรัก คืออะไร” นั้น ไม่ได้ถามเพื่อกระตุ้นเตือนให้คนดูรู้สึกเทิดทูนความรัก ความเสียสละ แต่เป็นการตั้งคำถามแบบเพียวๆ ให้เราตั้งข้อสงสัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สองคนนั้น แบบไหนถึงจะเรียกว่าความรัก ต้องทำขนาดไหนถึงจะเรียกว่ารัก ต้องเสียสละทุกสิ่งในชีวิต จึงจะเรียกว่ารัก....อย่างนั้นหรือ??

             ยกตัวอย่างอาเว่ย และเสี่ยวผิง ซึ่งเวฟ และเวนดี้ ถ่ายทอดออกมาได้อินอย่างสุดๆ ในขณะที่เสี่ยวผิง รักอาเว่ยเพราะถูกปลูกฝังมาแต่เด็กให้รู้สึกผูกพันธ์กับสามีในอนาคต ด้านอาเว่ยนั้นก็เป็นเพียงเด็กกำพร้าที่ชีวิตต้องพึ่งพาอาม่า และอาฉิง อาเว่ยตั้งคำถามในตอนท้ายเรื่อง ว่าเขาผิดตรงไหนที่เขารักเสี่ยวผิงอย่างหมดหัวใจ ในเมื่อในชีวิตเขามีผู้หญิงเพียงสองคนที่เขาสำคัญมากที่สุด คืออาม่า และอาฉิง และเขาผิดตรงไหนที่เขาลือกจะยื้อคนที่สำคัญที่สุดของเขาไว้ แทนที่จะยอมถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว  เขาผิดตรงไหน ที่เขาวิ่งหนีจากสิ่งที่เขากลัวที่สุดในชีวิต

             ในที่สุดแล้ว ความรักคืออะไรสำหรับมนุษย์?...ความรักนั้นผูกพันธ์กับการอยู่รอด หรือความรักเกิดขึ้นเพื่อทำลายคนรอข้าง แล้วสร้างโลกระหว่างสองเรา? รูปแบบความรักแบบไหนที่ถือว่าเป็นรักชั้นดี ถ้าฉันจะรักของฉันแบบนี้ ถ้ามันไม่เหมือนใคร แล้วมันผิดตรงไหน?

             ในขณะที่ฮอลีวู้ดสร้างภาพยนตร์ที่ตีความความรักในแง่มุมที่ท้าทายอย่าง Fifty Shades of Gray หรือ Her และในโซนเอเชีย มีหนังอย่าง Chungking Express  หนังไทยบางเรื่องยังคงตีความรูปแบบความรักได้คับแคบอย่างไม่น่าเชื่อ ชนิดฉันรักเธอ เธอรักฉัน เรารักกัน ความรักชนะทุกสิ่ง โดยหลงลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “มนุษย์” หากไม่มีมนุษย์คงไม่มีความรัก แทนที่จะทำภาพยนตร์ที่เชิดชูความรัก มาทำภาพยนตร์ที่เชิดชูมนุษย์ บ้าง ก็น่าจะดีเหมือนกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่