พญานาค หมายถึง ราชาของชนเผ่านาคา ไม่ใช่งูมีหงอน ตัวโต มั้งครับ ?

นาค อุษาคเนย์
สุวรรณภูมิสโมสร

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 13-19 มกราคม 2555

เจนจิรา เบญจพงศ์



นาค มีรากมาจากภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน แปลว่า เปลือย เคยเป็นคำดูถูกที่ชาวชมพูทวีป(อินเดีย)ยุคเก่าก่อน เรียกชนพื้นเมืองอุษาคเนย์และชนพื้นเมืองในอัสสัมที่มีหลักแหล่งเดิมทางตอนเหนือของพม่า (ปัจจุบันคือนาคาแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียติดชายแดนพม่า) ว่าเป็นคนป่าเถื่อนเปลือยเปล่าไม่นุ่งผ้าห่มผ้า หรือใช้ผ้าน้อยชิ้นเหมือนไม่ได้นุ่งด้วยคำว่า นาค

โดย จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ว่า ชื่อนาค (ภาษาอัสสัมออกเสียง นอค) ที่แปลว่า “คน” น่าจะเป็นความหมายดั้งเดิมที่สุด เพราะพวกคนพื้นเมืองในรัฐนาคถูกดูถูกเหยียดหยามมานานนับพันปีว่าเป็นคนป่า เป็นลิงค่าง ฯลฯ (เพราะมีวัฒนธรรมดั้งเดิมล้าหลัง ล่าหัวมนุษย์ ไม่นุ่งห่มผ้าเหมือนชาวอารยันในชมพูทวีป) จึงได้เรียกตนเองว่า “คน” (นาค) เพื่อยืนยันตอบโต้ผู้ที่ดูถูกเขา แต่ในที่สุดคำว่า “นาค” ก็ตกไปอยู่ในภาษาอัสสัม แล้วแปลว่า เปลือย (เรียกใช้กันสืบมา รวมไปถึง งู เพราะเปลือยเปล่าไม่มีขนปกคลุม)

ในการบวชเป็นภิกษุของพุทธศาสนา มีการห้ามมิให้พวกนาคบวช เล่ากันว่านาค คือพญางูใหญ่ หรือพญานาค เคยปลอมตัวเข้ามาบวช แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่านาค ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่าทำขวัญนาค, ขานนาค, บวชนาค ในทุกวันนี้

แท้ที่จริงแล้ว สังคมอินเดียยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์

ในยุคนั้น สังคมอินเดียทั่วไปจึงไม่ยอมรับชนเผ่านาคาหรือนาคว่าเป็นคนดังนั้นจึงไม่ยอมรับให้เข้าบวชในพุทธศาสนา (จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ, 2519)

บวชนาค จึงหมายถึง บวชคนพื้นเมืองล้าหลังป่าเถื่อนไม่นุ่งผ้าให้เข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาที่ชาวชมพูทวีปเชื่อว่าเจริญกว่า พิธีบวชนาคจึงไม่มีในพระไตรปิฎก ไม่มีในอินเดีย, ลังกา

ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ยกย่องนับถืองู เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะมีถิ่นฐานอยู่ใต้ดินใต้บาดาล เป็นต้นกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงลักษณะทางธรรมชาติของงู เช่น การเคลื่อนไหวตัวเป็นรูปคลื่น เป็นตัวแทนของน้ำ การลอกคราบที่เหมือนการเกิดใหม่ เกิดพลังใหม่ คนจึงนำงูไปเชื่อมโยงเป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิต (ในอินเดียก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันนี้)

ดังนั้นในวัฒนธรรมอุษาคเนย์จึงมีข้าวของเครื่องใช้ในพิธีกรรมเขียนรูปงูหรือทำรูปร่างเลียนแบบงูอยู่มากมาย เช่น เครื่องปั้นดินเผาเขียนสีมีรูปงูใช้ในพิธีกรรมเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี, เรือยาวที่ใช้แทนรูปทรงของงู ทั้งใช้พายแข่งเพื่อเสี่ยงทายหรือเรืองูที่ใช้เป็นโลงศพเพื่อพาวิญญาณคนตายกลับไปยังใต้บาดาล มีทั่วไปในอุษาคเนย์ ฯลฯ

ต่อมาผู้คนในภูมิภาคนี้ก็รับเอาคำว่านาคจากภาษาของชาวชมพูทวีป มาเรียกงูให้ฟังขลังขึ้น เพราะยกย่องนับถือว่าเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาค มาจากไหน?. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2554.) และมีนิทานปรัมปราเกี่ยวกับนาคเล่าอีกมากมายหลายสำนวน ที่บ่งบอกถึงความเป็นกลุ่มชนดั้งเดิม, เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ และเป็นลัทธิทางศาสนา (แอ่งอารยธรรมอีสาน ของศรีศักร วัลลิโภดม, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2533)

นาคในอุษาคเนย์มีที่อยู่ใต้ดิน หรือบาดาล หลังจากมีการติดต่อและรับแบบแผนอินเดียแล้ว ก็มีนาคชุดใหม่อยู่บนฟ้าตามคติอินเดีย จนนาคอุษาคเนย์กับนาคอินเดียก็ผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก (ปาฐกถาเรื่อง นาค : “คนเปลือย” ดึกดำบรรพ์ ชาติพันธุ์พื้นเมืองอุษาคเนย์ ของ ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ พ.ศ. 2548)

นาค มาจาก งู และนาค ยังหมายถึง คนพื้นเมืองอุษาคเนย์ เมื่อเรารับเอาคำว่านาคจากอินเดียเข้ามาใช้ เลยมีคติความหมายจากศาสนาผสมปนเข้าไปจนเราลืมว่า นาค มาจากความเชื่อเรื่องงูของพื้นเมือง ที่ยกย่องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นบรรพชนคนอุษาคเนย์มานานอยู่ก่อนแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่