แม่ผมเป็นมะเร็งปอด เริ่มดื้อยา Tarceva แล้ว รักษาต่อยังไงดีครับ

กระทู้คำถาม
แม่ผมตอนนี้ อายุประมาณ 62 ปีแล้วครับ
เคยให้ยาเคมีบำบัดมา 2 สูตร
จากนั้นก็ได้รับยา Tarceva กินทุกวัน มาตลอด 22 เดือน ซึ่งยาก็ได้ผลดีมาก ๆ
อาการคงที่มาตลอด ไม่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็ง
ตามที่ผมไปตอบกระทู้นี้เมื่อปีที่แล้ว http://ppantip.com/topic/31625345/comment1

แต่ผล CT Scan ครั้งนี้เดือนเมษายน กลับพบว่าเซลล์มะเร็งมีการขยายขนาดขึ้นเล็กน้อย และเพิ่มจำนวน nodule ขึ้นเล็กน้อย
ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปจากหมอว่า เซลล์มะเร็งเริ่มไม่ Sense ต่อยาแล้ว หมอจึงให้หยุดยา Tarceva

ตอนนี้แม่ผมและครอบครัว มีเวลา 1 เดือน ที่จะตัดสินใจในการรักษาต่อยังไง
ซึ่งอาจจะต้องไปให้ยาเคมีบำบัดอีกครั้ง หรือไม่ก็กินยาอีกตัวซึ่งก็มีราคาแพง และยังไม่รู้ว่าจะได้ผลมั้ย

ผมควรจะทำยังไงดีครับ ใครมีประสบการณ์การรักษา หรือ มีคำแนะนำอะไร
ช่วยแนะนำผมหน่อยครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

อมยิ้ม17
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
คงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนครับ ข้อมูลต่อจากนี้ส่วนมากมาจากการศึกษาเล็กๆ หรือ การศึกษาย้อนหลังครับ ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล(อคติ)ไปในทางที่ดีเกินจริง

1 ยากินอีกตัวที่ราคาแพง น่าจะหมายถึง Afatinib หรือ Gilotrif เป็นยาที่ออกแบบมาเป็นรุ่นใหม่โดยเชื่อว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาดื้อยาของยา TKI รุ่นแรกๆเช่น Erlotinib Gefitinib โดยสามารถจับและยับยั้งกับการกลายพันธุ์ซ้ำที่ตำแหน่ง T790M อย่างไรก็ตามปัญหาของการดื้อยานั้นจริงๆแล้วมีมากมายหลากหลายและการตรวจให้แน่ใจว่าดื้อยาด้วยปัญหานี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจำเป็นหรือได้ประโยชน์มั้ย

ในข้อมูลการศึกษา LUX-LUNG 1 ทำในคนไข้ที่ดื้อคีโมและยา Erlotinib/Gefitinib โดยมีระยะเวลาที่รักษาด้วยยา Erlotinib/Gefitinib ไม่น้อยกว่า 3 เดือน เปรียบเทียบระหว่าง Afatinib กับยาหลอก พบว่า มีระยะเวลาที่ควบคุมโรคได้นานกว่าคือ 3.3 เดือนเมื่อเทียบกับ 1.1 เดือน แต่มีการตอบสนองที่ต่ำคือราวๆ 7% เท่านั้นและคนไข้มีระยะเวลารอดชีวิตไม่แตกต่างกัน

โดยสรุปคือยาอาจมีผลดีบ้างต่อคนไข้บางคน แต่ไม่ได้โดดเด่นเหมือนคนไข้ที่ได้ TKI ใหม่ๆ นอกจากนี้ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เรื่องราคาน่าจะตกราวๆ 6-7 หมื่นบาทต่อเดือน(ถ้าจำไม่ผิด)


2 ให้เคมีบำบัด
แม้ว่าไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนแต่คนไข้ที่แข็งแรงหากได้คีโมต่อไปเรื่อยๆก็มีระยะเวลารอดชีวิตที่ยาวนานกว่า แต่บอกยากว่าที่นานมากๆนี้เพราะคนไข้แข็งแรงเองหรือเพราะผลของคีโมที่ช่วยให้แข็งแรงและอยู่ได้นาน ยาที่เลือกใช้ขึ้นกับการตอบสนองเดิม ผลข้างเคียงต่อยาที่เคยให้ และทางเลือกของยาที่ยังไม่เคยให้

3 ให้ยาเดิมต่อไป
ในคนไข้บางคนที่เริ่มดื้อยานั้น ช่วงแรกๆอาจจะเป็นการดื้อยาช้าๆ ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้การกินยาเดิมต่อไปก็อาจได้ผลดีกว่าหยุดยาแล้วเปลี่ยนการรักษาที่ไม่ได้ผล สิ่งที่ยากคือใครคือคนที่ควรกินต่อ ใครคือคนที่ควรเปลี่ยน แต่ที่แน่ๆจะกินต่อจะเบิกไม่ได้ในคนที่เบิกยาอยู่


ในแง่งานวิจัยหากไม่นับยาใหม่ แนวโน้มตอนนี้กำลังพิสูจน์แนวคิดที่เชื่อกันพอสมควรคือ การให้คีโมและกลับมาให้ยา TKI ใหม่ สมมุติฐานคือมะเร็งมีหลายพวกหลายเหล่าหลายก๊กดังนั้นการดื้อยาต่อ TKI อาจไม่ได้ดื้อทั้งหมดแต่มีบางพวกที่ดื้อ พวกที่ดื้อนี้มีแนวโน้มว่าจะตอบสนองต่อคีโม ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนมาให้คีโมพวกที่ดื้อยา TKI จะลดลงแล้วพวกที่ไวต่อ TKI จะโตขึ้น ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนกลับมาให้ TKI ใหม่ได้ผลเหมือนเดิม

แนวคิดนี้ยังรอการพิสูจน์นะครับว่าจะดีกว่าคีโมเฉยๆหรือไม่ ส่วนการแก้ที่การดื้อยาโดยตรงดูเหมือนจะยังไม่ใช่คำตอบในขณะนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่