Paddington ออกเดินทาง แง่มุมต่างๆในการถ่ายทำหนัง โลเกชันและการออกแบบฉาก



หลังจากการถ่ายทำเบื้องต้นในคอสตาริกา (ซึ่งใช้แทนป่าในเปรู ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของแพดดิงตัน) ทีมงานก็ได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ถ่ายทำในโลเกชันที่โด่งดังที่สุดของลอนดอน ที่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องราว ตั้งแต่สถานีแพดดิงตัน ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงตลาดปอร์โตเบลโลที่ผู้คนพลุกพล่าน และภายในของรีฟอร์ม คลับในปอล มอล ก่อนที่เราจะได้สัมผัสพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่สง่างาม PADDINGTON เผยให้เห็นเส้นทางท่องเที่ยวของอัญมณีเม็ดงามและสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น รถบัสรูทมาสเตอร์ แท็กซีสีดำและรถไฟใต้ดินต่างก็ปรากฏในความวุ่นวายอันน่าขัน ที่ดูเหมือนจะตามติดแพดดิงตันไม่หยุดหย่อยในตอนที่เขาพยายามจะเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้

  แม้ว่าจะถ่ายทำในโลเกชันที่โด่งดังเช่นนั้น ทีมผู้สร้างก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ลอนดอนของพวกเขาจะไม่เป็นจริงไปซะทั้งหมด เดวิด เฮย์แมนอธิบายว่า “แพดดิงตันของเราจะสมจริงกว่าที่เคยมีการสร้างมาก่อนและจะแตกต่างจากตุ๊กตาหมีในภาพวาดบางภาพ แต่เขาก็ยังเป็นหมีพูดได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่วิเศษสุดในตัวมันเองอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเขาไม่น่าจะสามารถรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับลอนดอนตามธรรมชาติได้ ดังนั้น นอกจากเราจะนำแพดดิงตันของเราออกไปสู่โลกแห่งความจริงแล้ว เรายังนำโลกของเราไปสู่แพดดิงตันด้วยครับ”


ผู้กำกับพอล คิงเล่าว่า “หนังสือ Paddington จะมีเรื่องราวเกิดขึ้นในยุคที่มันถูกเขียนขึ้นเสมอ ซึ่งทำให้ซีรีส์นี้มีความเป็นอมตะที่วิศษสุด เราอยากให้โลกของเราเวิร์คสำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือเล่มแรกๆ คนที่ได้ดูอนิเมชัน หรือคนที่ไม่รู้จักตัวละครเหล่านี้เลย ลอนดอนเป็นเมืองที่ความเก่าและความใหม่อยู่รวมกันท่ามกลางความสับสนที่งดงามและโอกาสในการได้สร้างลอนดอนที่ไร้กาลเวลา ที่ซึ่งหมีพูดได้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เป็นโอกาสที่เย้ายวนใจครับ”



แกรี วิลเลียมสัน ผู้ออกแบบงานสร้างของเรื่อง เคยร่วมงานกับพอลมาก่อนใน BUNNY AND THE BULL ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “จุดเริ่มต้นสำหรับ PADDINGTON ของเรา ซึ่งตรงข้ามกับหนังเรื่องล่าสุดที่เราร่วมงานกัน คือการสร้างโลก ‘จริงๆ’ ไม่ใช่โลกฉากสมมติของ Paddington Bear ที่เคยมีการสร้างขึ้นมาก่อน แต่เป็นความจริงที่ได้รับการยกระดับขึ้นไป ที่การได้พบกับหมีพูดได้จะให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติครับ” ดังนั้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราก็จะได้เห็นโลเกชันในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย ถูกปัดฝุ่นแต่งสี เพื่อสร้างคุณสมบัติที่เหมือนหนังสือนิทานให้กับมัน นอกเหนือจากนั้น ยังมีการสร้างฉากภายในและพื้นผิวหน้าอย่างละเอียดละออโดยแกรีและทีมงานมากฝีมือของเขา เพื่อแสดงถึงโลกใหม่ที่แปลกต่าง ที่แพดดิงตันได้เจออีกด้วย จากมุมมองของแพดดิงตัน โลกใบนี้ดูเก่าแก่แต่ก็ทันสมัย มีความเป็นอังกฤษแต่ก็แต่งแต้มไปด้วยกลิ่นไอนานาชาติ

พอลกล่าวว่า “แกรีใช้เวลาหลายปีในการทำงานร่วมกับเดนนิส พอตเตอร์ และเขาก็ชำนาญในการสร้างฉากที่ดึงเอาชีวิตชีวาของตัวละครเหล่านี้ออกมา” แพดดิงตันเป็นคนนอก และสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่เขาพบตัวเองมองเข้าไปในโลกจินตนาการใบเล็กๆ พอลอธิบายว่า “ตอนที่เขาอยู่ในเปรู เขามองเข้าไปในลูกบอลหิมะกรุงลอนดอน ด้วยความสงสัยว่า การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจะเป็นยังไง พอเขามาถึงลอนดอน เขาก็มองเข้าไปในบ้านตุ๊กตาและสงสัยเกี่ยวกับชีวิตที่แปลกประหลาดของครอบครัวบราวน์ ตอนที่คุณกรูเบอร์เล่าเรื่องของเขาให้เขาฟัง เขาก็มองเข้าในรถไฟของเล่นแล้วสงสัยว่าชีวิตของเขาจะเป็นยังไง ตอนที่เขาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เขาได้มองเข้าไปในฉากจำลอง โดยเขาอาจจะครุ่นคิดว่าการเป็นหนึ่งในตัวอย่างแสดงพวกนั้นจะเป็นยังไง ตอนจบของหนังเรื่องนี้เขาถึงได้พบที่ทางของตัวเอง เขาได้พังบ้านตุ๊กตาและวิ่งเข้าหาโลกแห่งความจริงครับ” เขากลายเป็นคนใน หรืออย่างน้อยที่สุด เขาก็มีความสุขกับสถานะการเป็นชาวเปรูและชาวลอนดอน การเป็นหมีและสมาชิกครอบครัวบราวน์

การใช้สีสันเป็นกุญแจสำคัญ แกรีกล่าวต่อว่า “เราตั้งใจทำให้มันมีภาพวิชวลที่ชัดเจน และใช้สีสันเป็นจุดตั้งต้นสำหรับตัวละครรวมถึงสิ่งแวดล้อมของพวกเขาด้วย คุณนายบราวน์ คุณบราวน์ พวกเด็กๆ มิลลิเซนต์ ทุกคนต่างก็มีสีสันที่เฉพาะเจาะจงของตัวเอง ซึ่งลินดี้ เฮมมิง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของเราก็เอาสีพวกนั้นมาใช้กับเสื้อผ้าของพวกเขาด้วยครับ” พอลกล่าวเสริมว่า “เราได้ดู THE UMBRELLAS OF CHERBOURG และทึ่งกับการใช้สีสันเพื่อบอกเล่าเรื่องราว คุณจะรู้สึกว่าคนพวกนี้ถูกชะตากรรมกำหนดให้อยู่ด้วยกันเพราะแม้ว่าพวกเขาจะใส่ชุดที่มีสีสันแตกต่างกัน แต่ชุดของพวกเขาก็จะถูกขับเน้นด้วยสีหลักของอีกคน คุณจะรู้สึกได้ว่าตัวละครบางตัวควรจะอยู่ในสถานที่บางแห่งไม่ใช่ที่อื่นเพราะชุดของพวกเขาเข้าหรือไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้นๆ และคุณก็จะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ของพวกเขาโดยดูว่าชุดของพวกเขามีสีสันจัดจ้านแค่ไหน มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แต่ก็เป็นเครื่องมือการเล่าเรื่องที่วิเศษสุดครับ” แกรีกล่าวต่อว่า “แต่คุณก็ต้องปลดปล่อยตัวเองจากเรื่องนั้นในระดับหนึ่ง เพื่อที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ของคุณจะได้ไม่ถูกจำกัด ผมกับพอลทำงานกันอย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์จากสีสันระหว่างการถ่ายทำ เราสนุกกับมันและเราก็เสริมแต่งมันเข้าไปในที่ที่เราไม่จำเป็นต้องทำในแบบดีไซน์เริ่มแรกของเราน่ะครับ”



บางที สิ่งที่ท้าทายแกรีมากที่สุดอาจจะเป็นการถ่ายทำกลางแจ้งและท่ามกลางสาธารณชน “ผมสามารถควบคุมฉากในสตูดิโอได้ แต่ผมควบคุมลอนดอนไม่ได้!” ถึงกระนั้น ทีมงานก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีในทุกมุมเมือง เพราะหมีที่โด่งดังตัวนี้เป็นที่รักของผู้คนมากหน้าหลายตาเหลือเกิน และมันก็ช่วยได้อย่างมากเมื่อพวกเขาต้องการจะปิดชานชลาของสถานีรถไฟใหญ่แห่งหนึ่ง ปรับแต่งอาคารสำคัญของรัฐบาลเสียใหม่ เข้ายึดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและถ่ายทำในอู่ต่อเรือที่เปิดทำการจริงๆ! ตามที่ผู้กำกับบอกเราว่า “ไม่มีอะไรเป็นปัญหาเลย ทุกคนต่างเอื้อเฟื้อกับเรา ช่วยเหลือเรา และปล่อยให้เราทำอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่ควรจะทำน่ะครับ! อะไรบางอย่างในแพดดิงตันได้ดึงเอานิสัยเอื้อเฟื้อของผู้คนออกมาครับ”

โลเกชันในการถ่ายทำเป็นแรงบันดาลใจสำหรับทีมนักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการรวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ด้วย ตามที่ฮิวจ์ บอนน์วิลล์อธิบาย การถ่ายทำห้าคืนติด ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเดือนพฤศจิกายน ปี 2013 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างพิเศษสุด “ผมคิดว่ามันช่วยสร้างบรรยากาศที่เหลือเชื่อให้กับหนังเรื่องนี้ มันเป็นส่วนที่สำคัญต่อเรื่องราวจริงๆ และการได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์จริงๆ ก็เป็นโบนัสเสริม เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ อันตรายและความเป็นไปได้...” ทีมงานได้ครอบครองอาคารที่งดงามนี้ในช่วงกลางคืน เพื่อถ่ายทำในห้องโถงใหญ่ ห้องจัดแสดงไดโนเสาร์ที่โด่งดัง ห้องแร่ธาตุและห้องค้นคว้า ระเบียงที่วิจิตรบรรจง หรือแม้กระทั่งบริเวณโดยรอบของอาคารหลังนี้ ลองมองให้ดีๆ แล้วคุณจะเห็นว่าแม้แต่ดิโพลด็อคคัส หรือ ‘ดิปปี้’ ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายพันคนทุกวันในตอนที่พวกเขาก้าวเท้าเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ก็ปรากฏตัวในบทคามีโอด้วย

แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และงดงามนี้ทำให้วิลเลียมสันสามารถสร้างสิ่ง ‘จำลอง’ ต่อขยายจากอาคารหลังนี้ ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดคืออฟฟิศการสตาฟสัตว์ของมิลลิเซนต์ ที่มีห้องลับอยู่ภายใน รวมถึงฉากไคลแมกซ์ที่มีการไล่ล่ากันบนหลังคา ขึ้นมาในซาวน์สเตจของลีฟส์เดน สตูดิโอส์สภาพภูมิอากาศในอังกฤษเมตตาทีมงานอย่างน่าประหลาดใจในยามที่พวกเขาถ่ายทำในช่วงต้นของฤดูหนาวปี 2013 ชัลค็อท เครสเซนต์ ที่อยู่ในย่านพริมโรส ฮิลของลอนดอน ถูกใช้แทนวินด์เซอร์ การ์เดนส์ ที่พำนักของครอบครัวบราวน์และคุณเคอร์รี เพื่อนบ้านจอมจุ้นของเขา ผู้พักอาศัยในถนนที่งดงามแห่งนี้ของกรุงลอนดอนได้พบกับวันคริสต์มาสสีขาวเร็วเป็นพิเศษเมื่อทั้งย่านนั้นถูกปกคลุมไปด้วยหิมะและแสงงดงามเป็นเวลาสองวันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อการถ่ายทำฉากสุดท้ายของเรื่อง พร้อมด้วยวงดนตรีคาลิปโซ 5 ชิ้นที่มาเปิดการแสดงสด



สำหรับพอล ดนตรีบนหน้าจอเป็นแง่มุมที่สำคัญอย่างยิ่งต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ “ภรรยาผมแนะนำให้ผมรู้จักอัลบัม ‘London is the Place for Me’ ซึ่งเป็นการเปิดโลกดนตรีที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน มันเหมือนเรื่องของโชคชะตาที่มีดนตรีที่งดงาม เปี่ยมสุข สนุกสนาน และแฝงด้วยเรื่องการเมือง ถูกรังสรรค์ขึ้นมาโดยผู้อพยพที่ใช้ชีวิตอยู่ในน็อตติง ฮิล ในเวลาเดียวกับที่ไมเคิล บอนด์กำลังเขียนตอนที่แพดดิงตันเดินเตาะแตะมาตามถนนปอร์โตเบลโล และผมก็ตั้งใจที่จะใส่เอาเพลงนั้นเข้าไปในซาวน์แทร็คด้วยครับ”

พอลเขียนไปหาเดมอน อัลบาร์น ผู้ซึ่งค่ายเพลงออเนสต์ จอนของเขาเป็นผู้จัดจำหน่ายอัลบัม ‘London is the Place for Me’ “ผมไม่คาดคิดว่าจะได้รับคำตอบ แต่ผมรู้ว่าเดมอนรักดนตรีและชื่นชอบการได้ร่วมมือกับนักดนตรีที่มีแบ็คกราวน์ต่างๆ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริงๆ ที่เขากระโจนเข้าใส่โอกาสนี้ครับ”เดมอนและเพื่อนร่วมงานของเขาที่อีดับบลิวบีได้รวมกลุ่มนักดนตรีแคริบเบียนที่มีฝีมือที่สุดของลอนดอน และพวกเขาก็ใช้เวลาสองสามวันอย่างมีความสุขในสตูดิโอบันทึกเสียง เพื่อวางรากฐานของแทร็คที่ท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นโครงหลักสำหรับดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่