วิชาแค่3หน่วยกิต ทำไมมันต้องอะไรขนาดนี้เนี่ย!!!

นี่คือสิ่งที่แวบเข้ามาในหัวในช่วงแรก ๆ ของการทำโครงการนี้ แต่แล้วก็มีอะไรบางอย่างที่ทำให้ความคิดของพวกเราต้องเปลี่ยนไป...

พวกเราเป็นนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งวันนี้ได้ขอยืมไอดีเพื่อนมาเล่าเรื่องราวดีๆ ที่ได้จากการเรียนวิชา “ธุรกิจเพื่อสังคม” วิชาที่ตอนแรกสุดพวกเราคิดว่าจะง่าย ๆ แค่หาเงินเอาของให้ชาวบ้าน หาเงินก็ง่ายๆ ไปเปิดหมวก ถือกล่องแถว skywalk ก็ได้เงินไปซื้อของ ได้เกรดมา 3 หน่วยกิต สบ๊ายยยยยยย แต่!!!พอได้ลงมือทำจริงๆแล้ว มันไม่ได้ง่ายอย่างที่มโนไว้เลยค่ะ จนบางครั้งก็แอบคิดโวยวายในใจดังชื่อกระทู้เม่าโศก

ครั้งแรกที่ทำให้พวกเราถึงกับเงิบ คือ ตอนที่อาจารย์พูดว่า
“หาเงินนี่ไม่ใช่ไปเรี่ยไรเค้านะ เรียนมาตั้ง 3 ปี เอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ด้วย”
โอ้โหหหหห ผมนี่ไปไม่เป็นเลยครับบบบ งานงอกมากๆ! พอดีช่วงนั้นมีงานบอลประเพณี พวกเราเลยมีไอเดียการหาเงินสุดสร้างสรรค์ คือออ… ขายเสื้อยืดค่ะ (สร้างสรรค์สุดๆ หนาว)  ใครที่ไปงานบอลแล้วเห็นพวกเรายืนตะโกนขายเสื้อสีแดง เขียนว่า “The more we share, the more we have” มาแสดงตัวได้นะคะ อิอิ

พวกเราต้องขอขอบคุณลูกค้าทุกคนผ่านกระทู้นี้ด้วยนะคะ จุ๊บๆ

หลังจากได้เงินจากการขายเสื้อมาเล็กน้อย เราก็ทำตามโจทย์ที่อ.ให้มาต่อไป คือ “ทำยังไงก็ได้ให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างยั่งยืน” (โหมดนึกในใจ: “ยั่งยืนแค่ไหน..แค่ไหนเรียกยั่งยืน???” 55555)

อ้ออ ลืมเล่าไปค่ะว่าชาวบ้านที่พวกเราไปช่วยพัฒนา ทำกล้วยตาก ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทุกจังหวัดในประเทศไทย วันแรกที่เราได้คุยกับชาวบ้าน รายได้จากการขายกล้วยตากต่ออาทิตย์คือ 600 บาท ร้องไห้

แล้วพวกเราก็เริ่มปฏิบัติการ!
พวกเราตั้งใจเข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่ หาช่องทางจำหน่าย(เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว) ปรับปรุงแพ็คเกจ กระบวนการผลิต สอนระบบบัญชี

การหาช่องทางขายก็ตระเวนโทร ตระเวนหาร้านที่น่าจะรับฝากขายทั่วจังหวัดราชบุรี พอมีอันไหนเข้าตา ติดต่อไปก็โดนปฏิเสธบ้าง อะไรบ้าง #ร้องไห้หนักมาก แต่โชคยังเข้าข้าง ที่ระหว่างติดต่อหาสถานที่ขายมีสถานที่นึง [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ ช่วยให้คำแนะนำจนได้ชื่อสินค้าน่ารักๆ ว่า “แกะกินกล้วย”

ในที่สุดเราก็หาสถานที่ขายในราชบุรีได้ 3 แห่ง พอหาได้ ก็ติดปัญหากล้วยไม่พอ ชาวบ้านทำไม่ทัน วิธีแก้คือ พวกเราต้องไปช่วยทำกล้วยตาก แต่ปัญหาก็คือ “เวลา” กลุ่มของพวกเรามีทั้งเด็กบัญชี ซึ่งเทอมนี้มีฝึกงานเต็มเวลา จ-ศ. และเด็กบริหารที่มีเรียน เวลาจะเจอกันนัดกันระดมสมองก็ยากแล้ว ยังต้องหาเวลาลงไปช่วยทำอีก สุดท้ายพวกเราก็ได้ใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ผลัดกันแวะเวียนเข้าไปช่วยทุกกระบวนการ ตั้งแต่ปอกกล้วย คลึงกล้วย เอากล้วยไปตากในโรง(ที่ให้ฟีลเหมือนอบซาวน์น่ามากๆค่ะ เม่าในกองไฟ) จนถึงแพ็คใส่กล่อง จนตอนนี้พวกเราแทบจะทำกล้วยตากขายแข่งกับชาวบ้านได้แล้วค่ะ 555555

และนี่คือรูปภาพกระบวนการต่างๆ ในการทำกล้วยตาก

เริ่มตั้งแต่ปอกกล้วย จากนั้นนำไปแช่น้ำปูนใส (ไม่มีรูปในกระบวนการนี้ต้องขออภัยด้วยค่ะ)


นำกล้วยไปตากในโดมแสงอาทิตย์ ที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากกรมพลังงานค่ะ หัวเราะ


คลึงกล้วย


คัดขนาดกล้วยตากก่อนนำไปบรรจุ

และนี่ก็เป็นตัวอย่างแพ็คเกจที่เราเปลี่ยนแปลงให้ชาวบ้านค่ะ (ต้องขอขอบคุณเพื่อนในกลุ่ม ที่หลังจากฝึกงานเสร็จก็ยังสละเวลานอนมาออกแบบแพ็คเกจกล้วยตากสีสันสดใสนี้ด้วยค่ะ)


โดยเงินที่ได้จากการขายเสื้อ พวกเราได้นำมาซื้อเครื่องซีลสุญญากาศสำหรับแพ็คกล้วยตากแยกชิ้น ส่วนที่เหลือนำไปใช้พิมพ์แพ็คเกจใหม่ค่ะ อมยิ้ม01

หลังจากทำโครงการไปซักพัก ผ่านอุปสรรคมามากมาย ความรู้สึกของพวกเราก็เริ่มเปลี่ยนไป….. จากตอนแรกที่คิดว่า “ทำเพราะต้องทำ” มันได้กลายเป็น “ทำเพราะอยากทำ” การที่ได้เข้าไปช่วยทำกล้วยตาก ได้พูดคุยกับชาวบ้านแบบเปิดใจมากขึ้น ได้ไปกินกับข้าวแสนอร่อยที่ชาวบ้านทำ (เย้ยย ไม่เกี่ยว 5555) ตอนนี้พวกเราลืมเรื่องเกรดไปแล้ว ได้เกรดเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญ ห่วงชาวบ้านมากกว่า ว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์จริงๆไหม? เราทำให้ชาวบ้านลำบากขึ้นรึเปล่า? ถ้าจบโครงการแล้วชาวบ้านจะยังแฮปปี้กับสิ่งที่เราเข้าไปช่วยทำให้มั้ย? ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้แต่ทฤษฎี อย่างมากสุดก็แค่ทำแผนธุรกิจ ซึ่งเมื่อมาลงมือทำจริงๆแล้ว มันเทียบกันไม่ได้เลย ตอนเขียนแผนธุรกิจเราจะมโนให้สวยงามยังไงก็ได้ แต่นี่คือชีวิตจริง ถ้ามันผิดพลาด คือ พังงงง! ที่เราพังก็แค่วิชาเดียว แค่ 3 หน่วยกิต แต่สำหรับชาวบ้านมันคืออาชีพและชีวิตของเค้า พวกเราจึงอยากทำทุกอย่างให้ดีที่สุด อยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเราทำจริงๆ

พวกเราคิดว่าสิ่งที่ได้จากวิชานี้ ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่มันทำให้พวกเราเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น คุณค่าที่เกิดจากการที่เราได้ใช้ความรู้จากสิ่งที่เรียน มาสร้างอะไรดีๆ กลับคืนสู่สังคม ทำให้รู้สึกว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่การได้เห็นคนรอบข้างมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่างหากที่ทำให้พวกเรารู้สึกภูมิใจ

สุดท้ายนี้พวกเราอยากสนับสนุนให้ทุกคณะทุกมหาวิทยาลัยมีวิชาในลักษณะนี้ วิชาที่ให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ไปพัฒนาสังคม ได้ประสบการณ์ ได้สัมผัสถึงปัญหา คิดวิธีแก้ปัญหา และลงมือทำจริงๆ เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย

ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านจนจบ ใครมีประสบการณ์ดีๆแบบนี้ ร่วมกันแชร์ได้นะคะ พวกเราเชื่อเสมอว่า "The more we share, the more we have"

ขอบคุณค่ะยิ้ม

หมายเหตุ: edit แก้ไขคำผิดค่ะ

เพิ่มเติมค่ะ : มีหลายท่านหลังไมค์มาถามเรื่องแพ็คเกจ และเรื่องอื่นๆ สามารถถามได้ตลอดเลยนะคะ พวกเรายินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่ข้อมูลที่พวกเรามีจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนค่ะ หัวเราะ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่