กระทู้เก่าเล่าใหม่ ++ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าควรจะมีฟองดีหรือไม่ แล้วสารลดแรงตึงผิวแบบไม่มีประจุอ่อนโยนกว่าจริงหรือ++

กระทู้สนทนา
ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ถือว่าสื่อเป็นสิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวหน้าเรามากที่สุด (ก็แหงล่ะ หน้าเรามีอยู่หน้าเดียว เหี่ยวขึ้นมา ใครจะมามองหนังหน้า 5555) ปรากฎว่า ด้วยความว่าสื่อในปัจจุบันนั้นมีข้อมูลหลายทางที่ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ! แล้วตกลงชั้นควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าอย่างไร จึงจะเหมาะสมและอ่อนโยนที่สุด....

เรามาดูส่วนผสมและคอนเซปต์ของผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนแบรนด์ดังๆที่พยายามจูงจมูกเราให้เรามีแนวคิดที่หลากหลาย (จนไม่แน่ใจว่า ตรูควรจะเชื่อใครดีฟ่ะเนี่ย)



เราก็มาทำความรู้จักกับเจ้าสารลดแรงตึงผิว หรือ Surfactant เป็นสารที่เมื่อละลายน้ำแล้วจะช่วยลดแรงตึงผิวของน้ำ คำว่า Surfactant มาจากคำว่า Surface active agent มีคุณลักษณะที่สำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัวที่เป็น Hydrophilic (ชอบน้ำ หรือ หัวสีเขียว) และ ส่วนหางที่เป็น Hydrophobic (ไม่ชอบน้ำแต่ชอบน้ำมัน หรือ หางสีส้ม)

หลักการทำงานของสารลดแรงตึงผิวคือ ส่วนที่ชอบน้ำจะทำการจับน้ำ และส่วนที่ชอบน้ำมันจะทำการจับสิ่งสกปรกพวกไขมัน (ก้อนสีเหลืองๆนั่นแหละ) ที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปแล้วแขวนลอยอยู่ในน้ำ



คราวนี้เรามาดูว่าการมีฟองคืออะไร เกี่ยวอะไรกับความสะอาด ก็จะมีหลายคำถามต่างๆที่เกิดขึ้นดังนี้
- การมีฟองของสารลดแรงตึงผิวเกิดจากอะไร....?
- สารที่มีฟองจะทำความสะอาดได้ดีกว่า แต่รุนแรงกว่าหรือไม่...?
- สารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุไม่มีฟองหรือ...?
- ความอ่อนโยนขึ้นอยู่กับชนิดของสารลดแรงตึงผิวเท่านั้น จริงหรือไม่...?
- ควรจะเลือกแบบไหนดี...?

ข้อแรก - การมีฟองของสารลดแรงตึงผิวเกิดจากอะไร....?

การมีฟองนั้นเกิดจากการที่อากาศเกิดการแทรกตัวเข้าไปในน้ำ (หรือของเหลวอื่นก็ได้) โดยที่มีสารลดแรงตึงผิวหันส่วนที่ชอบน้ำเข้าหาน้ำ และหันส่วนที่ไม่ชอบน้ำเข้าหาอากาศ
ดังนั้นถ้ามีปริมาณสารลดแรงตึงผิวมากก็จะทำให้เกิดฟองมากตามไปด้วย
ซึ่งฟองที่เกิดขึ้นนั้นจะคงตัวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสารลดแรงตึงผิว และความสามารถในการละลายน้ำของสารลดแรงตึงผิวเอง ดังนั้นสารลดแรงตึงผิวตัวใดที่ละลายน้ำได้ดีก็จะทำให้เกิดฟองมากได้
ดังนั้นแนวโน้มการเกิดฟองของสารลดแรงตึงผิวประจุลบจึงมีสูงกว่าการเกิดฟองของสารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ เนื่องจากความสามารถในการละลายน้ำที่ดีกว่า
แต่อย่างไรก็ตามสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุที่มีความสามารถในการละลายน้ำได้ดีมากบางตัวก็ให้ฟองที่เยอะไม่แพ้กัน

ข้อที่สองต่อมา - สารที่มีฟองจะทำความสะอาดได้ดีกว่า แต่รุนแรงกว่าหรือไม่...?
จากที่กล่าวมาแล้วว่าสารลดแรงตึงผิวยิ่งละลายน้ำได้ดีก็ยิ่งมีฟองมาก ดังนั้นความสามารถในการละลายน้ำมันก็จะลดลง
การที่ฟองซึ่งมักจะเป็นตัวชูโรงในการโฆษณาว่าทำความสะอาดดี แต่มีความรุนแรงจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
สารลดแรงตึงผิวบางตัวมีความสามารถในการละลายในน้ำมันดีมากก็จะทำให้หน้าเกิดอาการโดนกำจัดไขมันส่วนเกินมากเกินไปก็จะทำให้หน้าแห้งได้เช่นกัน
แต่สารลดแรงตึงผิวที่ละลายในน้ำมันที่ดีก็มักจะมีการเติมน้ำมันหรือสารคล้ายไขมัน (Fat like substance) ลงไปทดแทนน้ำมันที่สูญเสียไปได้
ในบางกรณีก็มีการผสมสารลดแรงตึงผิวลงไปมากกว่า 2 ชนิดผสมกัน เพื่อให้ประสิทธิภาพเป็นไปตามความต้องการได้
ดังนั้นขอสรุปว่าสารที่มีฟองมากกว่าก็ไม่จำเป็นต้องมีความระคายเคืองมากกว่าครับ

ข้อที่สาม - สารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุไม่มีฟองหรือ...?
สารลดแรงตึงผิวจะมีประจุหรือไม่ก็ตาม ถ้าละลายน้ำได้ดีมากก็จะมีฟองมากอยู่แล้วเป็นเงาตามตัว
ดังนั้นสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุถ้าละลายน้ำได้ดีก็จะมีฟองมากแน่นอน
ส่วนสารลดแรงตึงผิวประจุลบที่ละลายน้ำได้น้อย ถึงมีประจุฟองก็น้อยครับ...


ข้อที่สี่ - ความอ่อนโยนขึ้นอยู่กับชนิดของสารลดแรงตึงผิวเท่านั้น จริงหรือไม่...?

สารลดแรงตึงผิวเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการรุนแรงของผลิตภัณฑ์ล้างหน้าเท่านั้นครับ

อย่างในบางกรณีที่มีการกล่าวขานกันอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก Forward mail ว่าสารจาก SLS (Sodium Lauryl Sulfate) และ SLES (Sodium Laureth Sulfate) ซึ่งเป็นสารคนละตัวกันเนี่ย มีความรุนแรงก่ออาการระคายเคืองต่อผิวหน้า และดวงตาได้นั้นเป็นจริงอยู่ถ้าเราใช้ความเข้มข้น 20% ขึ้นไป ซึ่งสารกลุ่มนี้คงไม่มีใครปรับสูตรให้มากกว่า 20% ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้าแน่นอน เนื่องจากฟองอันมหาศาล และความสามารถอันเป็นเยี่ยมยอดในการทำความสะอาด จึงเป็นจุดที่สารเหล่านี้โดนโจมตีโดยไม่มีเหตุผล

สารลดแรงตึงผิวประเภท Betaine ซึ่งเป็นกลุ่มสารลดแรงตึงผิว 2 ประจุ (มีบวก/ลบในตัวเดียวกัน) พวกนี้อ่อนโยนต่อตาและผิวหนังเช่นกันครับ แต่ส่วนใหญ่จะใส่กันไม่เกิน 5% ครับ เพราะแพงและฟองน้อย แต่จะเพิ่มฟองและความหนืดให้ SLES ได้ครับ

แต่สารลดแรงตึงผิวไม่มีประจุบางชนิด เช่น พวก Sorbitan, Tween, Alkyl polyglucoside เหล่านี้ไม่มีความระคายเคืองแน่นอน ถึงใช้ 100% เนื่องจากส่วนที่ชอบน้ำเป็นโมเลกุลของน้ำตาล หรือเป็นอนุพันธ์ของโมเลกุลของน้ำตาลทำให้เข้ากับผิวหนังได้ดีครับ แต่ราคาแพงมาก

สารลดแรงตึงผิวชนิดที่ไม่มีประจุอีกพวกหนึ่ง คือ พวก PEG (ตามด้วยตัวเลข เช่น 40, 60, 80 อะไรก็ตาม) แล้วลงท้ายด้วย Stearate, Laurate, Oleate ดังนี้ ถ้าเป็นเกรดเครื่องสำอางค์ก็เบาใจได้ แต่ถ้าเป็นเกรดอุตสาหกรรมก็อาจจะได้ dioxane เป็นสารปนเปื้อนที่มีความระคายเคืองอยู่บ้าง เป็นต้นเหตุของการแพ้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้)

ความระคายเคืองของผลิตภัณฑ์ล้างหน้านอกจากเกิดจากสารลดแรงตึงผิวแล้ว ยังเกิดจาก pH balance ที่ไม่สมดุล (คือ pH ห่างจาก 5.0-5.5 มากๆ ซึ่งเป็น pH ของผิวหน้าบุคคลปกติทั่วไป) อีกด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ควรระมัดระวังคือ การตกค้างของสารลดแรงตึงผิวที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การล้างหน้าด้วยสบู่ในน้ำกระด้าง เพราะอาจจะทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขนเป็นเหตุทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย ซึ่งถ้าเป็นสบู่ที่เกิดจากการต้มไขมันด้วยโซดาไฟ (Sodium hydroxide) หรือด่างคลี (Potassium hydroxide) ก็ไม่ควรที่จะใช้ล้างหน้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสบู่เด็กก็ตาม

เนื่องจากน้ำประปาเองก็มีค่าความกระด้างอยู่ประมาณ 100-150 ppm CaCO3 ดังนั้นสบู่จะดีหรือแพงแค่ไหน จะเป็นสบู่ใสหรือขุ่น ถ้าเป็นเบส Sodium หรือ Potassium ของ Stearate, Oleate, Laurate ก็ไม่ควรใช้ล้างหน้าด้วยประการใดๆทั้งปวง แต่ยกเว้นพวกสบู่ Sodium Sulfonate ของพวก Acne Aid นะครับ...

ดังนั้นฟันธงว่าสารลดแรงตึงผิวไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองครับ

ข้อที่ห้า - ควรจะเลือกแบบไหนดี...?

จริงๆแล้วจะให้ฟันธง ผมก็ไม่ใช่กูรูด้านเครื่องสำอางค์ครับ ดังนั้นการจะเลือกก็ควรจะพิจารณาตัดเอาตัวที่สงสัยว่าจะระคายเคืองออกก่อน เนื่องจากเป็นการเสี่ยงต่อการหน้าแหกมากครับ โดยการพิจารณาดังนี้...

1.    มี SLES ไม่ควรเกิน 5% แต่ถ้าไม่มีสารตัวนี้ก็ไม่เป็นไร และควรจะมีสารลดแรงตึงผิวตัวอื่นผสมเพื่อลดโอกาสการระคายเคือง เช่น Cocamidopropyl Betaine, Sodium Methyl Cocoyl Taurate, PEG-7 Glyceryl Cocoate, Decyl Glucoside, Cetyl Alcohol, Stearyl Alcohol เป็นต้น แล้วควรจะมีส่วนผสมของกลีเซอรีนหรือ Sodium PCA เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้นครับ

2.    Sodium cocoyl isethionate, Sulfosuccinate แม้จะเป็นสารลดแรงตึงผิวที่มีประจุเป็นลบก็มีความอ่อนโยนสูงครับ แต่ควรจะมีส่วนผสมของกลีเซอรีนหรือ Sodium PCA เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้นครับ

3.    สารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุส่วนใหญ่เหมาะสมกับการล้างหน้า ค่า HLB ไม่ควรต่ำกว่า 10 ครับ เพราะจะเกิดการล้างไขมันออกเกินความจำเป็น ถ้าสงสัยค่า HLB ของสารลดแรงตึงผิว ก็พิมพ์เข้า google เป็นชื่อสารตัวนั้นตามด้วย HLB ครับ อีกกลุ่มหนึ่งถึงแม้ว่าค่า HLB สูงกว่า 10 ก็ไม่ควรใช้ คือ กลุ่ม Nonyl หรือ Octyl phenol ethoxylate เพราะมีความระคายเคืองสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามผมก็มีค่า HLB ของสารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุหลายๆตัว อาจจะเอาเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาได้ครับ


4.    จากข้อ (3) กฏเกณฑ์นี้ใช้ไม่ได้กับ Oil cleansing lotion, Lotion หรือ Mosturizing cream นะครับ เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำมันสูงนั้นสามารถที่จะทดแทนปริมาณน้ำมันที่สูญเสียไปอยู่แล้วนะครับ

5.    น้ำหอมและสารกันบูดเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำผลิตภัณฑ์พวกนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเลือกกลิ่นที่อ่อนที่สุด ส่วนสารกันบูดไม่ค่อยมีกรณีแพ้สักเท่าไรครับ

มีคำถามที่ว่า แล้วพวกโฟมวิป ที่โฆษณาว่า ลดการเสียดสีของมือกับผิวหน้า
ถ้าเปรียบเทียบกับโฟมไม่มีฟอง ที่ต้องอาศัยการเสียดสีจากฝ่ามือโดยตรง จะแตกต่างกันอย่างไร


+ ฟองมีส่วนช่วยในการลดการเสียดสีของมือและใบหน้าก็จริง แต่ในสูตรที่ไม่มีฟองก็มักจะมี Carbomer เป็นตัวลดการเสียดสีเหมือนกัน (เหมือน KY Jelly ที่เพิ่มการหล่อลื่น) ครับ หรือ พวก Fatty alcohol เช่น Stearyl alcohol หรือ Cetyl alcohol ก็มีสมบัติหล่อลื่นครับ

ไม่ต้องกลัวครับ ถนัดแบบไหนใช้แบบนั้น ไม่มีความแตกต่างกันเท่าไร

คำถามที่น่าสนใจอีกคำถาม - แล้วโฟมล้างหน้าที่มี Myristic acid เป็นส่วนผสมหลัก
มันเป็นสารชำระล้างที่รุนแรงมากมั้ยครับ เพราะเห็นเป็นส่วนผสมในครีมอาบน้ำหลายๆตัวด้วย ถ้าใช้ล้างหน้าบ่อยๆ มันจะรุนแรงเกินไปมั้ยครับ ถ้าเทียบกับพวก Potassium myristate
จากคุณ    : MomO MarU

Myristic acid เป็นกรดไขมันครับ ดังนั้น Potassium myristate เป็นเกลือของกรดไขมันครับ ==> นั่นก็คือ สบู่ (Soap) นั่นเองครับ....

+ ในสูตรที่มีกรดไขมันเหล่านี้ ถ้ามีการเติม Sodium hydroxide หรือ Potassium hydroxide ลงไป มันก็จะทำปฏิกิริยาออกมาเป็นสบู่ครับ....

+ บางทีเค้าเขียนแยกส่วนประกอบ เพื่อให้ไม่มีชื่อสารที่เป็นสบู่ครับ แต่ถ้าพอรู้ปฏิกิริยาเคมีก็จะ อ๋อ! เลยครับว่า มีสบู่อยู่...

+ ดังนั้นก็มีค่าเท่ากับเอาสบู่ก้อนถูตัวมาถูหน้าล่ะครับ...

+ ก็ยังไงดี ไม่ระคายเคือง แต่ก็ไม่เหมาะครับ เพราะมันจะตกค้างเป็นไคลสบู่อุดตันรูขุมขนเป็นสิวอุดตันง่าย โดยเฉพาะล้างในน้ำที่มีความกระด้างสูง...

ข้อสรุป
1. ฟองไม่มีผลต่อประสิทธิภาพการล้างหน้า ดังนั้นชอบแบบไหนก็ใช้แบบนั้นไปครับ....
2. ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าจะระคายเคืองหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประจุของสารลดแรงตึงผิว....
3. ฟองก็ไม่ได้ทำให้หน้าเหี่ยวและไม่ได้ทำให้เกิดความระคายเคือง จะเหี่ยวก็คงเพราะเสียตังค์ลองมาหลายแบรนด์มากกว่า
4. ไม่ควรใช้สบู่ก้อนที่เป็นเกลือโซเดียมหรือโพแทสเซียมของกรดไขมัน รวมไปถึงสบู่เหลว โฟม ที่มีส่วนผสมของกรดไขมันกับโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ เพราะมันก็คือสบู่ดีๆนี่เอง เนื่องจากมันจะเกิดเป็นไคลสบู่ได้ ทำให้เกิดสิวอุดตันได้ (สบู่ก็คือสบู่วันยังค่ำ)
5. อันนี้ขอแถม สารมีฟองที่ระคายเคืองหลายๆอย่าง บางทีมีการเติมสารกดฟอง (Defoamer) ลงไปเพื่อหลอกตาคุณได้ ดังนั้นอ่านส่วนผสมให้ดีครับ
6. SLES ไม่ได้เป็นตัวร้าย หรือ นางมารร้ายแต่อย่างใด กลับเป็นตัวละครสร้างสีสันให้กับผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ด้วยสมบัติที่สุดโต่งของมัน ถ้าใช้งานที่ความเข้มข้นที่เหมาะสมก็ถือว่าเป็นสารชำระล้างที่ดีที่สุดตัวนึง แต่โดยมากผู้ผลิตระดับล่างที่ไม่ได้มีงานวิจัยมักจะใส่ในปริมาณสูงเกินไปครับ
7. สารลดแรงตึงผิวที่ไม่มีประจุหลายๆตัวทั้งที่มีฟองและไม่มีฟอง แพ้ง่ายกว่า SLES ตั้งเยอะ
8. สารสกัดธรรมชาติไม่ได้ว่าปลอดภัยต่อคุณเสมอ และเป็นตัวการทำให้เกิดการแพ้โดยที่คุณไม่รู้ตัว เนื่องจากคนอื่นใช้แล้วดี แต่คุณใช้แล้วแพ้ เนื่องจากสารธรรมชาติมักจะมีการต่อต้านจำเพาะ แต่ละบุคคลครับ (เปรียบเทียบกับกรณีที่บางคนแพ้อาหารทะเล หรือ แพ้เกสรดอกไม้ล่ะครับ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่