ปิดฉากโคตรโกง 1500 ล้าน สจล.! มหกรรมปาหี่...ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ?

กระทู้ข่าว
หลังกองปราบสรุปสำนวนคดี “โคตรโกง สจล.” ที่ใช้เวลากว่า 2 เดือน ในการแกะรอยเส้นทางความโยงใยทางการเงินของขบวนการยักยอกเงินฝาก สจล.กว่า 1,500 ล้านบาท ก่อนจะสรุป สำนวนส่งฟ้องผู้ต้องหาไป 14 ราย ซึ่งล่าสุดอัยการมีนบุรี ได้นำเอกสารหลักฐาน ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดมีนบุรีไปแล้ว 11 ราย เหลืออีก 3 รายที่ยังหลบหนีคดี...

เป็นการ “ปิดฉาก” ขบวนการโคตรโกง สจล.ที่สังคมให้ความสนใจตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา...

แม้ว่า 1 ในผู้ต้องหาที่กองปราบออกมาระบุว่านี่คือ “บอส” ของขบวนการนี้ที่ทำเอาสังคม ตื่นตะลึงอย่างคาดไม่ถึงคือ ศ.ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.จะออกมายืนยัน นั่งยัน ในความบริสุทธิ์ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการเร่งรัด “ปิดบัญชี” ขบวนการโคตรโกง สจล.ครั้งนี้ แต่ดูเหมือนในส่วนของกองปราบจะยืนยัน นั่งยันเช่นกันว่า ทุกอย่างจบลงแล้ว ทางกองปราบคงจะไม่มีการสืบสาวราวเรื่องใดๆ เพิ่มเติมอีกแล้ว!

อย่างไรก็ตาม ประสาคนทำสื่อ เราเองมีความเห็นที่คล้อยตามข้อมูลที่อดีต อธิการบดี สจล.ออกมาตั้งข้อสังเกตก่อนหน้า ทำไมกองปราบถึงมีความพยายามจะ“ตัดตอน”คดีนี้ ทั้งที่เมื่อพลิกแฟ้มคดีโคตรโกง สจล.ที่กองปราบปรามแกะรอยมาเองนั้น ต่างก็ยอมรับว่าขบวนการยักยอกเงิน สจล.นั้นมีการดำเนินการกันมาแต่ปี 2555 ก่อนหน้าที่ ศ.ถวิลจะเป็นอธิการบดี สจล.เสียอีก

ขณะที่ผลการตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายของ สจล.เองก็พบว่า ในใบเบิกจ่ายเงินก้อนโตที่ขบวนการนี้ยักยอกเงินออกไปจากบัญชี สจล.ทั้ง 68 ใบที่มีปัญหานั้น เป็นใบเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้าที่ ศ.ถวิลจะเป็นอธิการบดีอยู่ถึง 24 ใบ และหลังจากที่ ศ.ถวิล พ้นจากตำแหน่งมาแล้วก็ยังมีการเบิกจ่ายนี้อยู่ถึง 10 ใบ ขณะที่ในส่วนที่ตัวอธิการบดีถวิลนั้น มีการเซ็นเบิกจ่ายที่มีปัญหาอยู่ 34 ใบ

แล้วจู่ๆ เรื่องจะมาถูกตัดตอนลงไปได้อย่างไร?

เป็นการ “ตัดตอน” เพื่อปัดความรับผิดชอบในการสาวหา “ตัวการใหญ่” ที่แท้จริง และพลิกคดีจากการที่แบงก์ต้องตกเป็น “ผู้ต้องหา” มาเป็นการขอร่วมเป็นโจทย์หรือไม่?

ทั้งนี้ จากผังเครือข่ายไซฟ่อนเงินฝาก สจล. ออกไปเข้าเครือข่ายขบวนการยักยอกที่กองปราบแกะรอยและจัดทำผังโยงใยขบวนการโคตรโกง สจล.นั้น ยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ในขณะที่ กองปราบอ้างว่าในการโยกหรือโอนเงินปิดบัญชีธนาคารต่างๆ เพื่อนำมาฝากหรือโยกเข้าไปยังเครือข่ายขบวนการนั้น โดยมีผู้บริหาร สจล.เป็นผู้อนุมัติ ให้ดำเนินการชัดเจนนั้น

คำถามก็คือ ผู้บริหาร สจล.บ้าบอที่ไหนจะกล้าเซ็นอนุมัติให้ถอนเงินจากบัญชี สจล.ไปเข้าบัญชี บุคคลอื่น? จะเซ็นด้วยเหตุผลอะไร? หรือเพื่อการใดหรือ?

คนระดับอาจารย์ จะอธิการบดี รองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมาย หรือใครก็ตามที่ได้รับมอบหมาย ใครมันจะกล้าเซ็นโอนเงินจากบัญชี สจล.ออกไปเข้าบัญชีบุคคลหรือคณะบุคคลภายนอกได้? แค่คิดก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

แน่นอน! ในการอนุมัติให้โยกเงินฝากจากธนาคารใดๆ เพื่อไปฝากยังสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อ้างว่าให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารอื่นๆ นั้น ประเด็นนี้ย่อมเป็นเรื่องปกติของฝ่ายบริหาร สจล.ที่คงเซ็นอนุมัติให้อยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ขององค์กร เพราะเงินต้นก้อนมหึมาเช่นว่านี้ ที่นัยว่ามีกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น แค่ส่วนต่างดอกเบี้ย 1-2% ที่จะได้รับย่อมทำให้องค์กร สจล.ได้ประโยชน์มหาศาล

การเซ็นอนุมัติในขั้นตอนนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายบริหาร สจล.คงต้องอนุมัติให้แน่!

แต่คำถามและสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ เมื่อฝ่ายบริหาร สจล.ได้เซ็นอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปตามนี้หรือไม่?

เพราะหากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามที่ขออนุมัติ คือแทนจะโยกเงินฝากไปฝากเข้าธนาคาร แต่กลับหอบเงินฝากทั้งหมดไปเข้าบัญชีเครือข่ายที่มีการเปิดบัญชีไว้รอ หรือไปดำเนินการซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อโยกไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นแทน โดยมีคนของธนาคารเป็นตัวตั้งตัวตีดำเนินการให้เอง แล้วจัดแจงตกแต่งบัญชีตบตาฝ่ายบริหาร สจล.ว่าได้ดำเนินการไปตามคำสั่งแล้ว

กรณีเช่นนี้จะโทษเป็นความสับเพร่าและบกพร่องของฝ่ายบริหาร สจล.ที่อนุมัติไป หรือโทษเป็นความรับผิดชอบของแบงก์ดี? เพราะหลายกรณีของการสืบสวนก็พบว่า ผู้จัดการธนาคาร (นายทรงกลด) มีการดำเนินการเบิก – ถอนเงินจากบัญชีธนาคารไปเข้าบัญชีบุคคลอื่นโดยไม่ได้มีการอนุมัติให้เบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ปกติของแบงก์

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ความผิดปกติและเสียหายส่วนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กองปราบและแบงก์เอง ต้องล้วงลูกลงไปตรวจสอบให้ได้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? และโดยเฉพาะต้องตรวจสอบด้วยว่า ทำไมปล่อยให้มีการเบิกเงิน/โยกเงิน ไซฟ่อนเงินออกไปเป็น 10-20-30 ล้าน หรือเป็น 100 ล้านได้ โดยปราศจากการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ทั้งยังไม่มีการรายงานธุรกรรมที่ว่านี้ตามระบบและกฎหมาย

ทั้งหมดมันเป็นความพยายาม “ตัดตอน” เพื่อไม่ให้มีการสืบสาวราวเรื่องไปถึงตัวการใหญ่ที่แท้จริง ซึ่งยังคงลอยนวลอยู่หรือไม่ และเพื่อปกปิดความบกพร่องของแบงก์เองหรือไม่ เป็นการ “ตัดตอน”เพื่อไม่ให้สาวไปถึงความบกพร่องของระบบแบงก์เองหรือไม่?

แน่นอน! หากท้ายที่สุดแล้ว ตัวอดีตอธิการบดีสามารถต่อสู้คดีในชั้นศาลจนหลุดข้อกล่าวหาไป หรือลงโทษในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ หรือบนความบกพร่องจากการลงนามเบิก-จ่ายเงินโดยไม่รอบคอบ และศาลสามารถลงโทษได้แต่บรรดาปลาซิวปลาสร้อยขบวนการโคตรโกง สจล.นี้ได้

ทั้งหมดก็จะไม่สาวลึกลงไปถึงตัวการใหญ่และสาวไปถึงความบกพร่องใดๆ ของแบงก์อยู่ดี!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่