จากสงครามสู่สันติภาพ ของ “พระเซน” อดีตทหารผ่านศึก

ปัญหาสุขภาพจิตของคนในโลกปัจจุบัน ค่อนข้างสลับซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้นทุกวัน ในสหรัฐอเมริกามีทหารผ่านศึกจำนวนมาก ตั้งแต่สงครามเวียดนาม สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามในอิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน มีทหารอเมริกันเข้าร่วมรบจำนวนมาก
       
       ทหารผ่านศึกเหล่านี้มีสุขภาพจิตไม่สู้ดี ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่ประเทศเขาพยายามแก้ไขกันอยู่
       
       จริงๆแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีจิตใจเปราะบาง ไม่สามารถทนต่อความสะเทือนใจในเหตุการณ์ต่างๆที่โหดร้ายรุนแรงได้ เช่น ภาวะสงคราม อุทกภัยร้ายแรง แผ่นดินไหว การก่อวินาศภัย ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทำร้ายร่างกาย กรณีถูกข่มขืน เป็นต้น
       
       หลังจากผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ บางคนจะมีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง รู้สึกสิ้นหวัง คิดถึงเรื่องนั้นๆอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถลืมได้ ฝันร้ายทุกคืน นอนไม่หลับ ตกใจง่าย ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน บางครั้งก็ก้าวร้าวฉุนเฉียว บางครั้งก็ซึมเศร้า สมาธิและความจำแย่ลงมาก ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ จึงมักแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว และหลายคนจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย!!
       
       ทหารผ่านศึกอ่าวเปอร์เซีย ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 1 คน ทหารเวียดนามเสียชีวิตในสงคราม 58,000คน แต่หลังจากกลับบ้านแล้ว ทหารผ่านศึกเหล่านั้นฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 1 แสนราย มากกว่าตายในสงครามถึง 2 เท่า โรคนี้เรียกว่า Posttraumatic Stress Disorder หรือ PTSD ชื่อภาษาไทยยังไม่มี อาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “โรควิตกกังวลหลังเหตุการณ์รุนแรง” ก็ได้
       
       โรคนี้พบได้ในคนทั่วไปร้อยละ 8 แต่ในทหารผ่านศึกพบสูงถึงร้อยละ 30และคนเหล่านี้มีอาการเรื้อรังมากกว่า 3เดือนขึ้นไป บางคนเป็นอยู่นาน 10-20 ปี
       
       สำหรับการรักษา จิตแพทย์จะให้ยาคลายความวิตกกังวล ยาต้านอาการซึมเศร้า ยานอนหลับ และทำจิตบำบัด แต่ผลการรักษายังไม่ดีนัก
       
       มีงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า “การเจริญสติ” สามารถรักษาโรคนี้ให้อาการดีขึ้นได้ คนไข้สามารถลดความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆได้ดีขึ้น ช่วยลดการกระตุ้นอารมณ์ในอดีต คนไข้อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ลดความคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตลงได้ การนอนหลับดีขึ้น
       
       การฝึกเจริญสติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้ สามารถหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานทหารผ่านศึกสหรัฐอเมริกา (www.ptsd.va.gov)


       
       ผู้เขียนขอยกตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “คล้อด อันชิน โทมัส” (Claude Anshin Thomas) ซึ่งท่านใช้การเจริญสติช่วยให้หายจากโรคนี้ได้ และทำคุณประโยชน์แก่โลกอย่างมาก ท่านเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธนิกายเซน ท่านได้เขียนเล่าเรื่องราวของตนเองไว้ในหนังสือชื่อ At The Hell’s Gate เรื่องราวการเดินทางจากสงครามสู่สันติภาพ
       
       โทมัส เกิดปี 1947 ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันรุนแรง เขาสมัครเข้ารับราชการทหารเมื่ออายุ 18 ปี ในช่วง 1966-1967 เขาทำงานเป็นพลสำรองประจำบนเฮลิคอปเตอร์ โดนยิงตก 5 ครั้ง และได้รับบาดเจ็บที่ร่างกายครั้งหนึ่ง
       
       ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในสงคราม เขาได้ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย แต่ก็รอดมาได้หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเครื่องบินลงจอดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เขาพร้อมด้วยเพื่อนทหาร 6 คน เดินเข้าไปในหมู่บ้าน ผ่านชาย 2-3 คน ซึ่งดูเหมือนภิกษุในพุทธศาสนา
       
       เมื่อกลุ่มของโทมัสเดินคล้อยหลังไป 30-40 เมตร พวกนั้นก็หันมายิงกลุ่มทหารอเมริกัน 7 คน ด้วยปืนกล AK-47 ทำให้ทหารเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 2 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาต้องคอยระวังตัวตลอดเวลา เกิดความหวาดระแวง และไม่ไว้ใจใครอีกเลย
       
       เขาเล่าว่า “บางปฏิบัติการเราต้องให้การสนับสนุนกองร้อยซึ่งถูกโจมตี เราต้องออกบิน แบบปฏิบัติการด้วยอาวุธหนัก เปิดฉากยิงถล่มเข้าใส่หมู่บ้าน ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างอย่างบ้าคลั่ง ที่ตรงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ไม่ใช่ศัตรู เราฆ่าทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก สัตว์เลี้ยง บ้าน รถ ทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยไม่รู้สึกใดๆเลย หน้าที่ของเราคือ การฆ่าคน ใน 2-3 เดือนแรกเราฆ่าคนไปหลายร้อยคน ใบหน้าคนเหล่านั้นยังลอยเด่นติดตาอยู่ตลอดเวลา”
       
       เขาได้รับเหรียญ Purple Heart หลายครั้ง กระทั่งปลดประจำการในปี 1968 หลังจากได้รับบาดเจ็บและกลับมารักษาตัวที่อเมริกาอีกครั้ง หลังจากรักษาตัวอยู่นาน 9 เดือน จึงได้ออกจากโรงพยาบาล แต่เขาก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและผู้คนรอบข้างได้ รู้สึกแปลกแยกเหมือนอยู่คนละโลก รวมทั้งสังคมรอบข้างยังหมางเมินทหารผ่านศึกเหล่านี้เหมือนคนไร้ค่า
       
       ภาพเหตุการณ์ในสงครามยังคุกรุ่นอยู่ในความคิดคำนึงของโทมัสตลอดเวลา ทำให้เขานอนไม่หลับ ต้องหันมาใช้ยาเสพติด บุหรี่ เหล้า เซ็กซ์ วนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพื่อเยียวยาตนเอง กว่า 10ปีที่เขาต้องเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดคนติดยาเสพติด
       
       ในปึ 1983 เขาได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ให้เข้าปฏิบัติธรรมในสถาบันโอเมก้า ที่นิวยอร์ค ตามแนวของท่านติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม รวมทั้งได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัม ที่ฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
       
       การฝึกจิตภาวนาแบบเซนช่วยให้ชายหนุ่มรู้จักการเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบัน ใจไม่ตกไปสู่การนึกคิดถึงเรื่องราวในอดีต ช่วยให้ท่านนอนหลับได้ ช่วยลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า และเกิดสันติสุขในใจ
       
       ต่อมาในปี 1995 โทมัสได้บวชเป็นพระภิกษุแบบโซโตะเซน กับท่านเบอร์นีย์ แกลสแมน พระอาจารย์เซน ประธานชุมชนเซนในนิวยอร์ค หลังจากนั้นท่านโทมัสก็เริ่มสอนสมาธิภาวนาแก่บรรดาทหารผ่านศึก และนักโทษในเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตในรูปแบบต่างๆ ท่านมักสอนเรื่องของการตามดูลมหายใจ หรืออานาปานสติ ท่านเห็นว่าวิธีการนี้ช่วยให้อยู่กับปัจจุบันได้ดี


       
       ท่านโทมัสและคณะได้เริ่มโครงการเดินธรรมจาริกเพื่อสันติภาพ จากค่ายกักกันเอาซวิทซ์ ในโปแลนด์ ผ่านไปยังออสเตรีย โครเอเชีย ฮังการี เซอร์เบีย โรมาเนีย บัลแกเรีย กรีซ เขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา อิสราเอล จอร์แดน อิรัก อินเดีย มาเลเซีย ไทย กัมพูชา จบลงที่ ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
       
       ขณะที่ตัวท่านเองได้แยกเดินไปเวียดนาม เพราะต้องการจะผ่านไปตามพื้นที่ที่เคยมีสงครามและความรุนแรง เพื่อเผชิญหน้ากับมันอย่างเปิดเผยและมีสติ ท่านได้พูดคุยกับผู้คนที่พบในระหว่างทาง เพื่อเล่าถึงสิ่งที่ท่านประสบมาในระหว่างสงคราม
       
       ท่านใช้ชีวิตแบบนักบวชผู้ปราศจากเรือน อาศัยการบิณฑบาตอาหาร ของจำเป็น ตั๋วรถ เรือเฟอร์รี่ รถไฟ เครื่องบิน การเดินทางลักษณะนี้ทำให้ท่านได้เรียนรู้เพื่อฝึกฝนตนเองในปัญหาต่างๆ ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในการเดินทาง การใช้ชีวิตข้างถนน ฝึกการใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบัน
       
       ท่านตั้งใจจะใช้ชีวิตแบบผู้ปราศจากเรือนตลอดไป โดยเดินทางไปทั่วโลก ปีละ 260 วัน เพื่อไปบรรยาย สอนจิตตภาวนา พูดคุยกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตามที่ต่างๆ ท่านต้องการทำความเข้าใจว่า เราสามารถจะเปลี่ยนบาดแผลที่เกิดจากความรุนแรงในใจไปสู่สันติสุขได้ โดยการฝึกจิตตภาวนา


       
       และท่านได้จัดตั้งมูลนิธิซัลโธ (www.zaltho.org) เพื่อสนับสนุนงานของท่าน ซึ่งสามารถจะศึกษาชีวิตของท่านโทมัสได้ในหนังสือ At Hell “s Gate รวมทั้งฟังคำบรรยายที่น่าสนใจได้ใน www.youtube.com/claude anshin Thomas


       
ที่มา : นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557
โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ
www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000137320
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่