[SR] รีวิวเจาะลึก เจลหอยทากแต้มสิวลดรอยแผลเป็น Scaderm plus

สวัสดีค่ะ วันนี้มี่แวะมารีวิวเจลหอยทากแต้มสิวลดรอยแผลเป็น ผลิตภัณฑ์คุณภาพ เป็นเครื่องสำอางของไทย สั่งผลิตโดยบริษัทยานะคะ

ขึ้นชื่อว่าบริษัทยาเป็นคนสั่งผลิต ก็น่าจะเชื่อใจได้ในเรื่องของคุณภาพแล้วในระดับหนึ่ง

ผลิตภัณฑ์วันนี้มีชื่อว่า Scaderm Plus จากบริษัท Pharmahof ค่ะ



เนื้อเจลจะเป็นเจลเกือบจะใส แต่ไม่ใสทีเดียว เรียกได้ว่าโปร่งแสงค่ะ (ทางเภสัชกรรมจะเรียกลักษณะแบบนี้ว่า Translucent คือ โปร่งแสง ไม่ใช่โปรงใส หรือ Transparent ค่ะ)

กะจะพยายามซูมให้เห็นความโปร่งแสงของเนื้อเจลค่ะ แต่ได้แค่นี้นะ คือมันจะไม่ได้ขุ่นแบบครีม แต่ก็ไม่ได้ใส มันจะมีซัมติงอยู่ค่ะ



ลักษณะแบบโปร่งแสงนี้มันสื่ออะไรได้หลายๆอย่าง เช่น ระบบนำส่งและเทคโนโลยีบางชนิด เมื่อใส่ลงมาในผลิตภัณฑ์เช่น เจล หรือโทนเนอร์ จะทำให้ผลิตภัณฑ์จากใสๆ กลายเป็นโปร่งแสงค่ะ หรือไม่ก็อาจจะเป็นแค่ส่วนผสมของน้ำกับน้ำมัน ที่ปกติมันจะเป็นน้ำนม แต่พอเราเติมสารทำให้ใสเข้ามา (ในที่นี้คือ PEG-49 Hydrogenated castor oil) หยดน้ำมันในส่วนผสมก็จะเล็กลง ถูกสารทำให้ใสเก็บกักไว้ ก็จะได้ลักษณะโปร่งแสงได้เหมือนกันค่ะ

ก็จะไปตรงกับคำโปรย คือ “Nanosphere” ที่บรรจุวิตามิน A C E F

ว่าแต่เจ้า Nanosphere นี้คืออะไร?

Nanosphere นี้เป็นระบบนำส่งรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นอนุภาคทรงกลม เป็นของแข็ง ขนาดมีได้ตั้งแต่ 0.1 – 100 ไมครอน สามารถเก็บกักสารไว้ได้ภายใน ประโยชน์ของมันก็คือ ช่วยเพิ่มความคงตัวของสาร ช่วยเพิ่มการกระจายในผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น และก็ช่วยเรื่องการค่อยๆปลดปล่อยสารออกมาช้าๆ ทีละนิดๆ เพื่อให้สารสัมผัสผิวได้นานกว่า

วิตามินแต่ละตัวเป็นอย่างไร เดี๋ยวไปดูในส่วนของตอนวิเคราะห์สูตรนะคะ

หลายๆคน อาจจะยังไม่รู้จักวิตามิน F ว่ามันคืออะไร

มีหลายๆกระแสค่ะ บางกระแสก็บอกว่า วิตามิน F คือกรดไขมัน (Fatty acid) บางกระแสก็บอกว่า วิตามิน F คือ Linoleic acid ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีความสำคัญต่อผิว ตัวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ Ceramide 1 ที่ทำหน้าที่ช่วยเรื่อง Barrier ผิวค่ะ

ลองมาดูเนื้อสัมผัสกันดูดีกว่านะคะ



ตัวนี้เวลามันแห้ง มันจะไม่ได้แห้งสนิทซะทีเดียว มันจะมีฟิล์มหนึบๆ เคลือบอยู่บนผิว แต่ไม่ได้มัน ไม่ได้เหนอะหนะ แล้วก็มองไม่เห็นค่ะ



ส่วนกลิ่น ตอนแรกเห็นว่ามีสารสกัดหัวหอมอยู่ 12% ก็นึกว่าจะเหม็นหัวหอมเหมือนที่เคยรู้สึก แต่อันนี้ไม่เลย กลิ่นหัวหอมจางมาก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ แทนค่ะ (ใช้น้ำหอมแต่งกลิ่น)

ตามทฤษฎี บอกว่า การที่มีฟิล์มหรืออะไรไปกดทับแผลเป็นนูนอยู่ มันจะช่วยให้แผลเป็นยุบตัวลงไวขึ้นค่ะ
ค่า pH อยู่ที่ราวๆ 5-6 ก็โอเคค่ะ ใกล้เคียงกับผิวดี



ก่อนจะไปดูส่วนผสม เราลองมาดูหลักการและทฤษฎีก่อนซักนิดนะคะ

เวลาผิวหนังบาดเจ็บ/มีบาดแผลก็จะเกิดการซ่อมแซม ซึ่งก็จะมีด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ ขั้นตอนการอักเสบของผิว (Inflammation) ขั้นตอนการสร้างเนื้อเยื่อ (Tissue formation) และขั้นตอนการปรับโครงสร้างเนื้อเยื่อ (Tissue remodeling)
    ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแผลเป็น ซึ่งการเดาว่าใครจะเป็นหรือไม่เป็นแผลเป็นเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัด และทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย
    การดูแลแผลเป็นที่เราสามารถทำได้เองก็จะมี การทาผลิตภัณฑ์เพื่อลดรอยแผลเป็น และการใช้ซิลิโคนเจล มีรายงานการวิจัยหลายๆฉบับถกเถียงกันว่า ผลิตภัณฑ์ทาแผลเป็นให้ผลดีจริงหรือไม่ บางฉบับก็ทดสอบออกมาแล้วให้ผลไม่ดี บางฉบับก็ให้ผลดี ซึ่งมีงานวิจัยเชิงคลินิกชิ้นหนึ่งที่ทำในประเทศไทย ทดสอบในผู้หญิงผ่าท้องคลอดที่ทาเจลทดสอบที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากหัวหอมเข้มข้น 12% เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ารอยแผลเป็นมีความนูนลดลง มีสีจางลง และมีความเจ็บปวดบริเวณแผลลดลง (Dermatol Res Pract. 2012; 2012:212945.)
    และก็มีอีกหลายๆงานวิจัยที่บอกว่าสารสกัดจากใบบัวบกเองก็มีส่วนช่วยเรื่องแผลเป็นได้ดี

ผลิตภัณฑ์ลดรอยแผลเป็นที่ดีควรจะมีอะไรบ้าง สรุปมาให้เป็นแผนภาพแล้วค่ะ



ลองมาดูส่วนผสมกันดูดีกว่านะคะ

Aqua, Allium cepa bulb extract, Glycerin, Centella asiatica extract, Aloe barbadensis leaf extract, Glyceryl linoleate, Snail secretion filtrate extract, Caprylyl glycol, Cyclopentasiloxane, Propylene glycol, Acrylate/C10-30 alkyl acrylates crosspolymer, Glycolipids, Panax ginseng root extract, Tocopheryl acetate, Triethanolamine, Dimethicone, Phenoxyethanol, Sodium ascorbyl phosphate, Sorbitol, Xanthan gum, Perfume, Allantoin, Disodium EDTA, PEG-40 hydrogenated castor oil, Polysorbate 20

รูปถ่ายค่ะ แต่ไม่ค่อยชัดนะคะ เลยพิมพ์ให้ดูเอาต่างหาก



ถ้าดูจากคำโปรย หัวหอม 12% หอยทาก 3% จะเห็นว่า สารสกัดของ บัวบก กับ ว่านหางจรเข้ ใส่มาค่อนข้างเยอะอยู่นะ

แต่เราก็พยายามมองแล้วมองอีก แต่เหมือนวิตเอ จะหายไปจากรายการส่วนผสม

ลองดูทีละองค์ประกอบดีกว่านะคะ

ปกติเราแบ่งส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็น 3 หมวดหลักๆ คือ
1.    Actives หรือ สารออกฤทธิ์ เป็นสารที่ทำให้เครื่องสำอางมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ
2.    Base หรือ ส่วนเนื้อของผลิตภัณฑ์ เป็นตัวอุ้มและเก็บสารออกฤทธิ์ไว้
3.    Additives หรือ ส่วนของสารเติมแต่ง เป็นตัวเติมแต่งให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าใช้ มีความปลอดภัย เช่น พวกสารกันเสีย พวกน้ำหอม พวกซิลิโคน ตัวเพิ่มความหนืด ฯลฯ


เรามาดูไปทีละส่วนนะคะ
1.    Actives ได้แก่
-    Allium cepa extract หรือ สารสกัดจากหัวหอม เรียกได้ว่าเป็นตัวชูโรงในเครื่องสำอางดูแลแผลเป็นเลยก็ว่าได้ สารสกัดจากหัวหอมมีรายงานเกี่ยวกับคุณสมบัติในการสมานแผล ลดรอยแผลเป็น ทดสอบในผู้หญิงผ่าท้องคลอดที่ทาเจลทดสอบที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากหัวหอมเข้มข้น 12% เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ารอยแผลเป็นมีความนูนลดลง มีสีจางลง และมีความเจ็บปวดบริเวณแผลลดลง (Dermatol Res Pract. 2012; 2012:212945.) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ Antioxidant ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีผลระงับเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด
-    Centella asiatica extract คือ สารสกัดจากบัวบก บัวบกเป็นพืชที่มีรายงานถึงฤทธิ์ทางชีวภาพไว้ค่อนข้างเยอะ ฤทธิ์ทางชีวภาพของบัวบกได้แก่ ฤทธิ์กระตุ้นการสมานแผล กระตุ้นการทำงานของเซลล์ Fibroblast กระตุ้นการสังเคราะห์ Collagen และ Fibronectin ในผิว ลดริ้วรอยที่เกิดก่อนวัย (เรียกริ้วรอยก่อนวัยว่า Photoaging) (Postepy Dermatol Alergol. 2013; 30(1):46-9.) ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ MMP, Hyaluronidase และ Elastase ที่เป็นเอนไซม์ที่ไปทำลาย Collagen, Hyaluronic acid และ Elastin ในผิวตามลำดับ (Postepy Dermatol Alergol. 2013; 30(1):46-9.) ปกป้องผิวไม่ให้ถูกทำลายโดยรังสี UV (Int J Mol Med. 2012; 30(5):1194-202.)
-    Aloe barbadensis leaf extract คือ สารสกัดจากว่านหางจรเข้ มีรายงานการวิจัยกล่าวว่าสามารถออกฤทธิ์เป็นสารช่วยให้ผิวขาวได้โดยไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ Melanin aggregation ทำให้สีผิวจางลง โดยตัวที่เป็นตัวออกฤทธิ์คือ Aloin ที่พบในใบ (Planta Med. 2012; 78(8):767-71.) การทดสอบผลของไลโปโซมที่บรรจุว่านหางจรเข้ต่อผิวหนังพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งเซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte proliferation) และกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน (J Oleo Sci. 2009;58(12):643-50.)
-    Snail secretion filtrate extract ส่วนที่ได้จากเมือกของหอยทาก ที่ Claim ว่ามีโปรตีนหลายชนิด มีประสิทธิภาพหลายอย่าง เช่นเพิ่มความชุ่มชื้น ส่งเสริมการสมานแผล ผลัดเซลล์ผิว ฯลฯ แต่มีหลักฐานที่เป็นการทดสอบเชิงคลินิกยืนยันอยู่ 2 ชิ้น เกี่ยวกับเรื่องการลดริ้วรอย และการดูแลผิวที่เป็นริ้วรอยก่อนวัยจากรังสี UV ที่เรียกว่า Photoaging (Cosmetic Dermatology. 2009; 22(5):250 กับ Journal of drugs in dermatology. 2013; 12(4):456.)
-    Glycolipids สารอนุพันธ์ของไขมันที่ประกอบด้วยน้ำตาลจับกับไขมัน มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ไขมันมาทดแทนของเดิมในผิวหนัง
-    Panax ginseng extract สารสกัดจากโสม มีรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพไว้เยอะมาก และเกือบจะครบทุกด้าน เช่น ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว (Pharmacogn Mag. 2014; 10(Suppl2):S272-5.) ลดการอักเสบ เสริมสร้างความแข็งแรงของ Barrier ผิว ลดการระเหยของน้ำออกจากผิว (J Ethnopharmacol. 2013; 145(1):294-302.) กระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน (J Ethnopharmacol. 2007; 109(1):29-34.) และการรับประทานสารสกัดโสมช่วยป้องกันไม่ให้ Ceramide ในผิวถูกทำลายจากรังสี UV (J Med Food. 2009; 12(4):746-54.) อาจจะเอามาประยุกต์ใช้กับการทาได้
-    Tocopheryl acetate เป็นอนุพันธ์ของวิตามินอี มีคุณสมบัติเป็น Antioxidant แต่ส่วนมากจะให้ผลแค่ป้องการสารในผลิตภัณฑ์ไม่ให้เสื่อมสภาพไปเพราะอากาศ
-    Sodium ascorbyl phosphate อนุพันธ์ของวิตามินซี ชนิดละลายน้ำ มีประโยชน์เป็น Antioxidant, Whitening และช่วยเรื่องการสังเคราะห์คอลลาเจน
-    Sorbitol เป็นอนุพันธ์ของน้ำตาล ให้ผลเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
-    Allantoin สารสำคัญในรากคอมเฟรย์ มีประโยชน์ช่วยลดการแพ้ ลดการระคายเคือง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง มีรายงานการวิจัยสนับสนุนเรื่องคุณสมบัติในการช่วยสมานแผล (Acta Cir Bras. 2010;25(5):460-6.)
2.    Base หลักๆเป็นน้ำ มีน้ำมันอยู่ตัวนึงกับซิลิโคนอีกสองตัว ดังนี้
2.1 ส่วนของน้ำ ได้แก่ น้ำ. Glycerin, Caprylyl glycol ตัวนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้ด้วย, Propylene glycol
2.2 ส่วนของน้ำมัน ได้แก่ Glyceryl linoleate ตัวนี้เป็น Fatty ester ที่เมื่อซึมเข้าไปในผิว จะปลดปล่อย Glycerin กับ Linoleic acid ให้ผิว สองตัวนี้ชวยเรื่องความชุ่มชื้น และก็ Barrier ของผิว Linoleic acid นี่บางที่เรียกว่าเป็น Vitamin F ค่ะ
3.    Additives ได้แก่
3.1    Silicones ได้แก่ Cyclopentasiloxane เป็นซิลิโคนที่ระเหยได้ ให้สัมผัสบางเบา ไม่เหนอะหนะ กับ Dimethicone ที่ช่วยเคลือบผิวให้สัมผัสที่ดีตอนทา
3.2    Emulsifier/Surfactant ได้แก่ PEG-40 hydrogenated castor oil กับ Polysorbate 20 สองตัวนี้มีสมบัติเป็นสารทำให้ใสได้
3.3    สารเพิ่มความหนืด ได้แก่ Acrylate/C10-30 alkyl acrylates crosspolymer กับ Xanthan gum
3.4    สารปรับ pH ได้แก่ Triethanolamine ใช้ปรับ pH ให้สูงขึ้น
3.5    Preservatives ได้แก่ Caprylyl glycol, Phenoxyethanol และสารจับโลหะ EDTA
3.6    สารแต่งกลิ่น/Perfume

เดี๋ยวสรุปคะแนนดูที่ Rep 1 นะคะ พื้นที่เต็มค่ะ



สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณบริษัท Pharmahof ด้วยนะคะที่ส่งผลิตภัณฑ์ดีๆมาให้มี่ทดลองใช้
ชื่อสินค้า:   Scaderm plus
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่