ทำไมทีวีดิจิตอลไทยถึงไม่มีสมาร์ทการ์ด

ทำไมทีวีดิจิตอลของไทยถึงไม่มีสมาร์ทการ์ดเหมือนของญี่ปุ่นล่ะครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 5
ข้อมูลล่าสุดที่ผมค้นได้ (ข้อมูลในกระทู้เก่าๆมีผิดพลาด ตามที่ลิ้งค์แนบมาใน คห.4 ผมขอแก้ตรงนี้เลยแล้วกันครับ)

----------------

ฟรีทีวีทุกประเทศ (ทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน) เท่าที่หาข้อมูลมาได้ มีแค่ญี่ปุ่นประเทศเดียวที่ใช้บัตรสำหรับการรับชมฟรีทีวีครับ เรียกว่า B-CAS


(B-CAS ขนาดปกติ เท่าบัตรเครดิตทั่วไป)

(mini B-CAS ขนาดเท่าซิมการ์ดโทรศัพท์ [Mini Sim] ส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องเสียงรถยนต์, โน๊ตบุ๊ค กับ Blu-Ray Player บางรุ่น)

บัตร B-CAS เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด ที่ทำมาเพื่อป้องกันด้านลิขสิทธิ์, ใช้สมัครแพ็คเกจช่อง Pay-TV โครงข่ายดาวเทียม BS/CS และใช้ในการยืนยันตัวกับระบบ Datacasting ครับ

ระบบบัตรนี้ถูกวางระบบไว้ตั้งแต่วางมาตรฐานระบบแล้ว การรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ญี่ปุ่นจะต้องใช้บัตรนี้กับแทบจะทุกอุปกรณ์ ทั้งทีวี, เครื่องบันทึกรายการ (Blu-Ray Player), เครื่องเสียงรถยนต์ หรือคอมพิวเตอร์ที่มีตัวรับทีวี ถ้าไม่ใส่ไว้ ก็จะไม่สามารถรับชมได้ (จอดำ) ซึ่งจะแถมมาให้ตอนซื้ออุปกรณ์พวกนี้มาอยู่แล้วครับ (ถ้าบัตรหาย ต้องทำบัตรใหม่กับทาง DPA [หน่วยงานรัฐเกี่ยวกับด้านการออกอากาศระบบดิจิตอล] ค่าธรรมเนียม 2,050เยน)
ที่บอกว่าแทบทุกอุปกรณ์ เพราะมีอุปกรณ์ที่รับสัญญาณ One-Seg ที่ไม่ต้องใช้บัตรนี้ครับ

* ระบบ ISDB-T (ที่ใช้ในญี่ปุ่น) จะมีการซอยช่องสัญญาณแบ่งเป็น 13ช่องข้อมูล (Segment) ใน 1ช่องสัญญาณทีวี (6 MHz UHF)
โดย 12ช่องข้อมูล เรียกว่า Full-Seg ก็คือพวกช่องทีวีปกติที่เป็น HD (1080i)
อีก 1ช่องข้อมูล เรียกว่า One-Seg คือช่องทีวีสำหรับดูบนอุปกรณ์พกพาอย่างมือถือหรือเครื่องเสียงรถยนต์ที่ราคาไม่แพง (รุ่นแพงก็อาจจะมีเป็น Full-Seg) ภาพประมาณ 360p สัญญาณจะใช้น้อยกว่าของทีวี เพราะข้อมูลไม่หนัก สามารถดูในบ้าน, อาคาร หรือรถไฟความเร็วสูงก็ได้
ถ้าเทียบกับระบบยุโรป ก็คงจะคล้ายๆ PLP ของ DVB-T2 ซึ่งจะเข้าผสมสัญญาณแยกกัน แบ่งความสำคัญของช่องรายการ ว่าอันไหนข้อมูลหนัก (เช่น HD) อันไหนข้อมูลเบา (เช่น SD, Digital Radio) ซึ่งจะได้ระยะการรับสัญญาณที่ต่างกัน ไม่ไปด้วยกันทั้งพวง




(One-Seg ไว้ดูกับอุปกรณ์พกพา เรียกว่าเป็นความละเอียดแบบ LD [Low Definition] น่าจะถูก)


(Full-Seg ไว้ดูกับทีวีปกติ ความละเอียดแบบ HD [High Definition] แต่ญี่ปุ่นเรียกว่า HV [Hi-Vision] ทุกวันนี้ก็ยังใช้คำนี้อยู่)

ระบบป้องกันลิขสิทธิ์ ก็เช่นว่าถ้ารายการไหนถูกกำหนดให้เป็น Copy Lock รายการที่บันทึกมานั้นจะสามารถคัดลอกได้ไม่เกิน 10ครั้ง ถ้าเกิดจากนั้นจะคัดลอกไม่ได้แล้ว (แต่ถ้าใช้เป็น TV Tuner สำหรับคอม ออกมาเป็นไฟล์คอม ก็จะเลี่ยงตรงนี้ได้)



บัตรนี้สามารถนำไปสมัครช่อง Pay-TV บนดาวเทียมโครงข่าย BS/CS ได้ครับ ช่องมีให้เลือกเยอะ อยากดูช่องนั้นก็จ่ายของช่องนั้นๆ มีโปรโมชั่นซื้อเหมาช่องราคาเดียวก็มี



อีกข้อก็คือบัตรนี้มีหมายเลขประจำบัตร 16หลัก ไว้ใช้อ้างอิงตัวตนเมื่อใช้ Datacasting ซึ่งเป็นระบบ Interactive ในการดูข้อมูลต่างๆที่ส่งมาจากสถานี เช่นการดูข้อมูลข่าว, รายการน่าสนใจ, รายละเอียดรายการต่างๆ, พยากรณ์อากาศ หรือหุ้น (ไม่ต้องใช้เน็ต ส่งมาพร้อมกับช่องทีวีอยู่แล้ว) รวมถึงการร่วมตอบคำถาม, เล่น Mini-Game หรือร่วมลุ้นชิงรางวัลได้อีกด้วย (ใช้เน็ตในการส่งข้อมูล เช่น เล่นเกมส์แล้วโชว์คะแนนขึ้น Scoreboard, โหวตว่าใครเป็นนายก 9ล9 SMS ไม่ต้อง ใช้อันนี้แหละ ใช้ได้ฟรี)


(ระหว่างดูการ์ตูน ก็กดแต่งตัวให้กับตัวการ์ตูนไปเพลินๆก็ได้)

(ก่อนออกจากบ้าน เช็คอากาศซักหน่อย)

(บางทีจังหวัดที่เราอยู่ มีข่าวเรื่องโรคระบาด เราก็กลัวเนอะ สามารถเช็คข้อมูลได้ว่าเขตพื้นที่ไหนมีการระบาด มีผู้เสียชีวิตกี่คน ดูรายละเอียดต่างๆได้รวมถึงวิธีป้องกันโรค ได้จากหน้าจอทีวี)

(สามารถกดโหวตเลือกศิลปินฝั่งที่ชอบได้ ข้อมูลจะถูกรวบรวมและสรุปมาแจ้งผลท้ายรายการ)

โดยปกติบัตรนี้ เมื่อซื้ออุปกรณ์ต่างๆมา เช่น เราไปซื้อทีวีมา มีบัตรนี้มาให้ (จะมาพร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับบัตร+ใบลงทะเบียนยืนยันตัวตนกับบัตร) เราใช้บัตรนี้ใส่ไว้กับทีวีได้เลย ไม่ต้องลงทะเบียนก็ดูทีวีได้ (การลงทะเบียน เป็นการยืนยันตัวบุคคลผูกไว้กับบัตร B-CAS ใบนั้นๆ)
ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เค้าไม่ลงทะเบียนยืนยันตนกัน ไม่ต้องทำมันก็ดูทีวีได้เหมือนกันอะ..... (ส่วนนึงก็กลัวถูกแฮกเหมือนที่ คห.3 บอกครับ)

* ประเทศอื่นๆที่นำระบบญี่ปุ่นไปใช้ (ISDB) มีการปรับมาตรฐานเพื่อให้เข้ากับประเทศตัวเอง ซึ่งทุกประเทศที่ใช้ระบบของญี่ปุ่น (เว้นญี่ปุ่นเอง) ไม่ต้องใช้บัตรในการรับชมทีวีครับ
* การสมัครเพื่อรับชมช่องในโครงข่าย BS/CS นั้น ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนผูกบัตรกับทาง DPA ครับ
ตอนที่เราสมัครช่อง Pay-TV สามารถสมัครผ่านเน็ตของช่องที่ต้องการได้ โดยแต่ละช่องก็ต้องกรอกข้อมูลทั่วไป ในส่วนของบัตรนั้น จะเอาแค่เลข 16หลักพอครับ พอสมัครเสร็จ รอไม่นานก็ดูได้แล้ว คิดง่ายๆครับ เหมือนสมัคร GMM Z Pay TV แบบนั้นเลย (ข้อมูลส่วนตัวอยู่กับ Pay-TV ไม่ได้อยู่ในบัตร ถ้ามีคนเอาบัตรไปแกะข้อมูล ก็ไม่เจอข้อมูลส่วนตัว เจอแค่ว่าบัตรนั้นสมัครช่องอะไรไป หมดเวลาสมาชิกเมื่อไร)
* เรื่องสัญญาณทีวีตาม คห.4 ในกระทู้นั้นผมเข้าใจผิดแบบมหันต์เลยทีเดียว ไปหาข้อมูลมาแล้ว
สัญญาณทีวีของญี่ปุ่นส่งไม่ถึงเกาหลีใต้ครับ เสาส่งทีวีของญี่ปุ่น ที่ใกล้เกาหลีใต้สุด อยู่ที่เกาะ Tsushima ส่งสัญญาณเฉพาะบริเวณเกาะ ห่างจากชายแดนเกาหลีใต้ที่ใกล้ที่สุดประมาณ 70กม. (ชายแดนเกาหลีใต้ ห่างจากเสาส่ง Fukuoka Tower ประมาณ 200กม. ซึ่งยังไงก็ส่งไม่ถึง แถมทิศทางการส่งเน้นไปทางใต้ เพื่อให้เข้าไปตัวจังหวัด ไม่ใช่ออกทะเล) และไม่มีการกวนสัญญาณทีวีแต่อย่างใดครับ เพราะยังไงสัญญาณก็ส่งไปไม่ถึงอยู่ดี และถ้ากวน จะส่งผลกระทบต่อทีวีประเทศตัวเอง เนื่องจากใช้แผนความถี่เหมือนกันเด๊ะ (เว้นแต่เกาหลีเหนือจะกวนสัญญาณทีวีของเกาหลีใต้ที่เข้าไปในประเทศตัวเอง)
และเรื่องโลโก้ช่อง ไม่มีสิทธิพิเศษสำหรับคนลงทะเบียนครับ อยู่ที่สถานี บางทีก็ใส่ บางทีก็ไม่ใส่ (เมื่อก่อนก็สลับไปมาแบบนี้ ปัจจุบันโลโก้ขึ้นตลอด ผมเข้าใจผิดมานานทีเดียว)




-----------------

หลังจากร่ายมา(ยาว)แล้ว ก็คงจะพอเห็นภาพแล้วนะครับว่า ญี่ปุ่นมีบัตร B-CAS ทำไม

ซึ่งประเทศอื่นๆ ฟรีทีวีภาคพื้นดิน ไม่ต้องใช้บัตรครับ ทีวีรองรับ+หาสัญญาณได้ ก็รับชมได้เลย เพราะช่องฟรีทีวีไม่มีการเข้ารหัส (แต่ถ้าประเทศนั้นๆ มีการส่งช่อง Pay-TV ทางภาคพื้นดิน ก็ต้องใช้บัตรในการถอดรหัส เพื่อรับชมช่องเหล่านั้น)

เรื่องว่าประเทศอื่นๆมี Interactive หรือไม่ ที่จริงมันก็มีครับ แต่อยู่ในพวก Pay-TV ดาวเทียมในบางประเทศ (ซึ่งมันต้องมีบัตรสมาร์ทการ์ด สำหรับสมาชิกอยู่แล้ว)

ของประเทศอื่นๆ เช่น แถบยุโรป จะเป็น Digital Teletext แสดงผลข้อมูลได้ ดึงข้อมูลจากเน็ตได้ แต่ไม่โต้ตอบ เปิดดูได้อย่างเดียว (ส่งข้อมูลด้านเดียว)

ปัจจุบันมีพัฒนามาเป็น Hbbtv ที่ใช้อินเทอร์เน็ตร่วม ใช้ในหลายๆประเทศ (ข้อมูลส่งมาจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ใช้ ID แทนการใช้บัตรหรือหมายเลขประจำเครื่องสำหรับ Interactive หรือ On-Demand)


(ประโยชน์ของ Hbbtv นอกจากจะใช้เรียกดูข้อมูลต่างๆ รวมถึง On-Demand ได้แล้ว ยังสามารถส่งเป็นหน้า EPG [ข้อมูลจากศูนย์กลาง] สำหรับดูผังรายการของทุกช่องได้ ทีวีทุกรุ่นได้หน้าตาเหมือนกันหมด สวยเท่าๆกัน [EPG ของทีวีเองก็ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน] ในรูปที่เห็นนี้เป็นของที่ออสเตรเลีย)

สำหรับประเทศไทย ผมว่าไม่มีบัตรสมาร์ทการ์ดก็ดีแล้วครับ รับชมได้ง่ายไม่ยุ่งยาก
ที่อยากให้ทำพวกบัตรสมาร์ทการ์ด (กสทช. ทำได้ป่าว) ก็คือให้บัตรสมาร์ทการ์ด 1ใบ หรือหมายเลข 1ชุด สามารถเลือกสมัครช่อง Pay-TV ที่ต้องการดูกับทุกกล่องดาวเทียม (ไม่ต้องสมัครแบบเหมาแพ็ค เอาเฉพาะช่องที่อยากดูก็พอ หรืออยากให้มีเป็นแพ็คเสริมมาก็ได้) จะได้ไม่ต้องไปสลับกล่อง ซื้อกล่องนู่นนี่กันวุ่นวาย

ระบบ Interactive สำหรับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (รวมถึงดาวเทียมและเคเบิ้ล) ยังไม่มีให้บริการ ถ้ามีก็คงมาเป็น Hbbtv ที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการใช้งาน (ไม่มีเน็ตก็เรียกขึ้นมาไม่ได้) ซึ่งคิดว่าคงจะผูกกับ User ID มากกว่าใช้หมายเลขบัตรครับ (ออสเตรเลียมี Hbbtv แล้ว ไม่ต้องใช้บัตรครับ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่