คลัง สั่งถอย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เลื่อนชง ครม. ขอทบทวนอัตราใหม่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือ แจ้งไปยังฝ่ายกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ว่า ขอทบทวนในชั้นนโยบายเกี่ยวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังดำเนินการอยู่และเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน มี.ค.นี้
ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องสอบถามในเชิงนโยบายให้ชัดเจนว่า ต้องการให้แก้ไขกฎหมายนี้เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะหลังจากที่ได้เสนอแนวทางการแก้ไขกฎหมายเบื้องต้นออกมา โดยแยกการเก็บกัน ทำให้บ้านอยู่อาศัยต้องเสียภาษีด้วย แต่ได้มีแนวคิดจะยกเว้นภาษีให้บ้านที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนอัตราภาษีที่จะเก็บจริงเท่าไรนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่



โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในวันที่ 5 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังเตรียมหารือแนวทางการร่างกฎหมาย จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการปฏิรูปภาษี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปอัตราภาษี
นายรังสรรค์ กล่าวว่า อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้อัตราจะลดลง แต่ฐานการจัดเก็บจะสูงขึ้น ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังกำหนดเพดานการจัดเก็บภาษี คือ ที่ดินการเกษตรกำหนดเพดานจัดเก็บ 0.25% ที่อยู่อาศัยเพดานจัดเก็บ 0.5% ที่ดินพาณิชยกรรม เพดานจัดเก็บ 2% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่ากำหนดอัตราจัดเก็บในขั้นแรกคือ 0.5% หากไม่ทำประโยชน์ จะเพิ่มอีก 1 เท่า ทุก 3 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 2%
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า จะออกกฎหมายลูกประกาศอัตราการจัดเก็บภาษีจริงทุกประเภทใหม่อีกครั้ง เช่น บ้านราคา 1-3 ล้านบาท เก็บภาษีครึ่งหนึ่งของเพดาน หากราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี โดยใช้ประเมินราคาที่ดินเป็นฐานคำนวณภาษี ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างเร่งประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2558 "หากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่ากฎหมายจะประกาศได้ภายใน ปีนี้" นายรังสรรค์ กล่าว
ขณะที่รายงานข่าว ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้จะถูกคัดค้านจาก สมาชิก สนช.หนักกว่ากฎหมายภาษีมรดก

ที่มา  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1425510809
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่