อาชีพอิสระ และ AEC ???

ชาวพันทิปหลายคนอาจจะเคยอ่านกระทู้ของผมเรื่อง AEC ไปแล้วนะครับ
แต่ผมอยากมาตั้งกระทู้ใหม่สั้นๆให้ได้อ่านกัน ตรงเฉพาะประเด็นการเคลื่อนย้ายอิสระของอาชีพ 8 อาชีพที่กำหนดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน

หลายคนอาจจะดีใจที่มีการเคลื่อนย้ายอาชีพอิสระหลังจากAECเริ่มบังคับใช้ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพเหล่านั้น นักศึกษาที่กำลังจะจบสาขาพวกนั้น หรือไม่ก็พ่อแม่ที่อยากจะให้ลูกได้เรียนตามสาขานั้นๆ รวมถึงผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการที่มีธุรกิจด้านนั้นๆ

อาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อิสระได้แก่ วิศวกร พยาบาล สถาปนิก อาชีพด้านการสำรวจ อาชีพด้านบัญชี ทันตแพทย์ แพทย์ และอาชีพด้านการท่องเที่ยว(ไกด์) ไม่ใช่แรงงานทุกสาขาอาชีพ!! ...ฟังดูแล้วอาชีพเหล่านั้นเป็นแรงงานขั้นสูง (high-skilled labour) ซึ่งก็หมายความว่าไม่ใช่ทุกคนเป็นกันได้ง่ายๆ เป็นอาชีพที่พูดง่ายๆว่าต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

ผมจะมาวิเคราะห์ตามอาชีพนะครับ
วิศวกร      
   อาชีพนี้มีความเฉพาะทางหลายด้าน อาทิ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเคมี วิศวกรโยธา วิศวกรคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งก็แปลว่ามีช่องว่างสำหรับอาชีพนี้มากเลย เพราะวิศวกรในไทยก็มีพอสมควร แต่ถ้าคุณจบด้านวิศวะที่ลงเฉพาะทางและไม่มีคนจบมามาก โดยเฉพาะวิศวะเคมี หรือไม่ก็วิศวะที่ต้องการในตลาดอย่างมาก คือ วิศวะอุตสาหกรรม ทำให้คุณน่าจะหาอาชีพในไทยได้ง่ายกว่าวิศวกรด้านอื่นๆ และถ้าเปิดเออีซีแล้วคุณก็คงจะอยากไปทำงานในประเทศสมาชิก เพราะรายได้ในประเทศนั้นอาจจะเยอะกว่า รวมถึงบริษัทในประเทศนั้นอาจจะมีทุนและนำร่องด้านวิศวกรรมมากกว่าไทย ซึ่งตามเออีซีก็สามารถทำได้นะครับ แต่ถ้าคุณจะย้ายไปประเทศสมาชิกเพื่อทำงานด้านนี้เลยเฉพาะ (โดยไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทในไทยส่งไป หรือเป็นพนักงานบริษัทของเค้าซึ่งมีบริษัทย่อยในไทย) คุณต้องสอบใบประกอบวิชาชีพของประเทศเขาครับ ซึ่งประเทศASEAN มีแค่ประเทศเดียวที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ นอกนั้นก็มีภาษามาเลย์ ภาษาอินโดนิเซีย ภาษาทากอล็อก ภาษาเวียดนาม และอื่นๆ  ที่เดียวที่คุณอาจจะไปได้ก็คือสิงคโปร์เพราะคุณไม่ต้องลงทุนไปเรียนภาษาที่สาม (ถ้าภาษาอังกฤษของคุณดีอยู่แล้วนะครับ) แต่ก็อีกเพราะการแข็งแข่งในสิงคโปร์สูงมาก ประเทศเค้ามีแรงงานชั้นสูงเองอยู่แล้วจำนวนมาก แต่ตามความคิดเห็นผมว่าหลังจากมีเออีซีน่าจะมีวิศวกรไทยจำนวนไม่มากที่คงไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการลงทุนด้านพลังงานมาก เช่น อินโดนิเซีย มาเลเซีย แต่คงไม่มีการเคลื่อนย้ายจำนวนมากแบบวิศวกรในอียู

สถาปนิก
   ในปัจจุบันอาชีพนี้อาจจะไม่เป็นอาชีพที่ฮิตสำหรับนักศึกษาไทยแล้ว เพราะเป็นอาชีพเฉพาะทางและก็ไม่ได้สอบเข้าไปเรียนกันง่ายๆ สถาปนิกไทยอาจจะไม่เยอะเท่าวิศวกรไทย แต่ก็เป็นอาชีพที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากเวลาประเทศพัฒนาแล้วจะมีการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์สูง ทำให้สถาปนิกเป็นที่ต้องการในตลาด ในประเทศอาเซี่ยนประเทศที่มีการพัฒนาเช่นนี้ก็คือ สิงคโปร์ ประเทศเขามีราคาที่ดินที่สูงมากติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เขาสูงมาก แต่ก็อย่าลืมว่าสถาปนิกที่เก่งส่วนมากนั้นจะทำงานกับบริษัทสถาปนิกข้ามชาติหมด เพราะบริษัทพวกนี้มีชื่อและทุนสูง พวกคุณเห็นตึกสูงๆในเมืองไทย รีสอร์ทโรงแรมๆ ทั้งห้างสยามพารากอนห้างเอมโพเรี่ยม สถานที่เหล่านี้ล้วนออกแบบโดยบริษัทต่างชาติหมด ซึ่งบริษัทพวกนี้ไม่มีบริษัทดังๆอันไหนเลยเป็นสัญชาติอาเซี่ยน  สรุปตามความคิดเห็นผมไม่คิดว่าอาชีพสถาปนิกจะมีการเคลื่อนย้ายในอาเซี่ยนเลย

อาชีพด้านการสำรวจ และอาชีพนักบัญชี
   อาจจะดูเป็นอาชีพที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ แต่อาชีพเกี่ยวกับการสำรวจ (surveyor) นั้นก็เริ่มมาฮิตในหมู่คนไทยแล้วนะครับ เพราะคนพวกนี้เป็นคนที่เก็บข้อมูล หรือทำวิจัยศึกษาเพื่อการพัฒนาบางสิ่งบางอย่าง อาชีพนี้ผมบอกตรงๆเลยว่าไม่ชัวร์ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไหม เพราะในไทยก็เป็นอาชีพที่ยังขลาดแคลนอยู่และมีบัณฑิตที่จบมาทำงานสายอาชีพอื่นเยอะ  ส่วนนักบัญชีก็รู้จักกันดีอยู่แล้ว นักบัญชีก็เหมือนสถาปนิกที่ส่วนใหญ่เราจะเห็นนักบัญชีที่จบดีๆในไทยไปทำงานเป็น auditor ตามบริษัทบัญชีข้ามชาติยักษ์ใหญ๋ (Big Four) อาทิ PwC KPMG Ernst&Young หรือไม่ก็เป็นนักบัญชีอิสระ แต่จากประสบการณ์ของผมจะเห็นได้ว่านักบัญชีไทยบางคนเลือกที่จะทำงานอิสระ เพราะงานบัญชีมันก็ไม่ค่อยเป็นเวลาอยู่แล้ว ผมรู้จักกับบัญชีหลายคนที่ทำงานอยู่กับบ้าน ซึ่งก็คิดได้ว่าอาชีพบัญชีดูเป็นอาชีพที่เคลื่อนย้ายยาก เพราะการทำบัญชีต้องใช้ภาษาและการทำงานในประเทศสมาชิกอาเซี่ยนก็คงต้องเรียนภาษาเขาขั้นสูง ไม่ใช่เรียนพอพูดก็ทำงานได้

อาชีพด้านพยาบาล ทันตแพทย์ แพทย์
   อาชีพเหล่านี้ล้วนแล้วสำคัญมากในอาเซี่ยน เพราะภูมิภาคเราขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์จำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งก็เฉลี่ยประชากรต่อหมอน้อยอยู่แล้ว อาชีพในแผนกสาธารณสุขนี้เป็นอาชีพที่เข้มงวดมาก เพราะต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ หรือใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งไม่ได้ได้มาง่ายๆและเป็นอาชีพที่ไม่ได้เล่นๆ ทำงานเป็น freelance ได้เพราะเกี่ยวกับชีวิตคน ในความคิดเห็นผมหลังจากเปิดเออีซีน่าจะมีอาจารย์แพทย์หรือแพทย์ไทยเก่งๆหลายคนซึ่งอาจจะย้ายไปทำงานในประเทศด้อยพัฒนาจำนวนหนึ่ง (อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า) บางคนอาจจะไปทำงานในโรงพยาบาลที่คนไทยไปเปิด (อาทิ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ) แต่ก็น่าจะมีแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลทำงานอยู่ในไทยอยู่จำนวนหนึ่งนะครับ เพราะในไทยขาดแคลนอาชีพเหล่านี้ บวกกับอาชีพพวกนี้ไม่ค่อยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมาก เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เนื่องจากเป็นอาชีพที่สำคัญและต้องการอยู่ตลอดเวลา แพทย์ไทยหลายคนอาจจะเลือกทำงานในเมืองไทยอยู่เหมือนเดิม เพราะโรงพยาบาลหน่วยงานรัฐบาลนั้นลงทุนด้านสาธารณสุขเยอะมาก และส่งแพทย์ไปเรียนไปดูงานต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้หมอไทยอาจจะเลือกที่จะอยู่ในไทย ถ้าหมอคนไหนอ่านอยู่และอยากไปทำงานที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ พวกคุณก็ต้องไปสอบใบประกอบโรคศิลป์ที่สิงคโปร์ และเตรียมตัวที่จะต้องแข่งขันกับหมอสิงคโปร์จำนวนมากที่มีตั้งแต่จบจากต่างประเทศ จนจบจากมหาวิทยาลัยในประเทศเขา(ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก) แต่ในความเห็นผมว่าก็ต้องมีหมอไทยที่ยอมจะสามารถแข็งขันกับหมอสิงคโปร์ได้  ยังไงก็เถอะหมอไทยตามความคิดผมคงเลือกที่จะอยู่ไทยมากกว่า เพราะอาชีพหมอในไทยเป็นอาชีพที่มั่นคง มีเกียรติ เงินดี บวกกับการแข็งขันไม่มากเท่าไหร่ อาทิ ประเทศพัฒนาจะมีหมอหลายคนกลัวโดนฟ้อง ฯลฯ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการฟ้องร้องหมอมากเท่าประเทศตะวันตก

อาชีพด้านการท่องเที่ยว(ไกด์)
   สุดท้ายนะครับ ผมฝากความหวังไว้กับอาชีพนี้มากที่สุด เพราะอาชีพด้านการท่องเที่ยวไม่ได้ยากเท่าอาชีพ7อาชีพอื่น ซึ่งแม้ว่าอาชีพไกด์ต้องมีใบอนุญาติ แต่ก็คงสอบไม่ยากเท่าแพทย์ครับ และการสอบเข้าเรียนก็ไม่ได้แข็งขันมากด้วย อาชีพไกด์ดูจะเป็นอาชีพที่น่าจะเคลื่อนย้ายได้มากนะครับ อย่างตอนนี้เริ่มมีชาวฟิลิปปินส์มาทำงานในร้านอาหารไทยและบริษัทท่องเที่ยวไทยแล้ว อาชีพนี้ดูน่าจะประสบความสำเร็จที่สุดเพราะอาชีพไกด์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ภาษา ใช้การสื่อสาร และการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมอยู๋แล้ว ถ้าไกด์ไทยจะไปทำงานในอินโดนิเซียพวกเขาก็คงมีกำลังใจที่จะเรียนภาษามากกว่าแพทย์หรือวิศวะ เพราะอาชีพเขาต้องการภาษาอยู่แล้ว ทำให้การสอบใบประกอบวิชาชีพในประเทศอื่นๆไม่ยากและไม่เบื่อหน่ายมากเท่าไหร่ อาชีพไกด์ยังเป็นอาชีพที่ต้องเดินทางตลอด โดยปกติคนที่ทำงานอาชีพนี้ก็ต้องรักในการท่องเที่ยวและการเรียนรู้วัฒนธรรมในประเทศอื่น ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ต้องปรับตัวมากถ้าต้องไปอยู่ประเทศอื่นๆ  สมมุตินะครับ หลังจากเปิดเออีซีไกด์สัญชาติไทยย้ายไปทำงานที่อินโดนิเซีย แต่ผ่านไป3ปีเขาก็สามารถย้ายไปประเทศสมาชิกอื่นได้ หรือไม่ก็กลับมาประเทศไทยก็ได้ เพราะอาชีพเขาโดยธรรมชาติมีความคล่องแคล้วอยู๋แล้ว สามารถเป็นfreelanceได้ ไม่ต้องเป็นพนักงานประจำ  ตามความคิดผมคิดว่าอาชีพไกด์น่าจะมีการเคลื่อนย้ายในอาเซี่ยนอย่างมาก เพราะทุกประเทศในอาเซี่ยนมีจำนวนนักท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวที่เยอะมาก ทำให้ไกด์เป็นอาชีพที่ต้องการอย่างมาก

ทุกอาชีพเหล่านี้มีใบประกอบวิชาชีพ สำหรับคนที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานในอาชีพเหล่านี้ตามประเทศสมาชิกต้องสอบผ่าน รวมถึงหลักเกณฑ์ในการสมัครที่ประเทศบางประเทศอาจจะกำหนดให้คุณสอบข้อสอบความสามารถทางภาษาของเขาอีกด้วยก็ได้

สรุป
   ผมคิดว่าคงมีการเคลื่อนย้ายอาชีพในอาเซี่ยนจำนวนหนึ่ง แต่คงไม่มากเท่าไหร่ ยกเว้นแต่อาชีพไกด์นะครับ เพราะอาชีพเหล่านี้เป็นแรงงานชั้นสูง พูดง่ายๆพวกคนทำอาชีพพวกนี้ก็ "อยู่ดีกินดี" ในประเทศของเขาเองอยู่แล้ว เค้าจะไปทำงานประเทศอื่นให้ลำบากทำไม? รวมทั้งวัฒนธรรม ภาษา และประเพณีในประเทศสมาชิกอาเซี่ยนมีความแตกต่างกันมาก แรงงานชั้นสูงเหล่านี้คงไม่เลือกที่จะปรับตัวหรอก เว้นแต่เขาจะต้องย้ายจริงๆ(อาทิ มีสงครามการเมือง/ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เขาไม่สามารถอยู่ในประเทศตัวเองได้ )  ถ้ารัฐบาลประเทศสมาชิกอยากให้มีการเคลื่อนย้ายจริงๆ คงต้องไปโฟกัสที่แรงงานชั้นล่าง หรือแรงงานปกติ เพราะพวกเขามีจำนวนมากและมีโอกาสเคลื่อนย้ายได้มากกว่า แต่ผมคิดว่าคงไม่มีวันมีการเคลื่อนย้ายแรงงานปกติ เพราะแต่ละประเทศสมาชิกเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือ ด้อยพัฒนา (ยกเว้น สิงคโปร์) ซึ่งพวกเขาคงไม่ไว้ใจคนชนชั้นแรงงานในแต่ละประเทศสมาชิกที่จะเคลื่อนย้ายมา อาจจะทำให้กระทบต่อปัญหาความมั่นคง หรือกระทบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อาทิ แรงงานพม่าย้ายมาทำงานประเทศไทยหมด จนประเทศพม่าเองขาดแคลนแรงงาน ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง  หรือไม่ก็พวกแบ่งแยกดินแดงตามชายแดนไทย-มาเลเซียย้ายเข้ามาทำงานใน3จังหวัดชายแดนใต้ แต่จริงๆแล้วมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโจรใต้ฯ  ปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเพราะประเทศสมาชิกในอาเซี่ยนแต่ละประเทศไม่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และปัญหาการเมืองของหลายประเทศไม่สงบ ทำให้มีภัยเยอะ  ขณะนี้อียูก็ประสบปัญหานี้เพราะตัวอย่างเช่น ในปารีสมีข้อทานและโจรวิ่งราวจากประเทศสมาชิกอียูในยุโรปตะวันออกมาอยู่จำนวนมาก (ซึ่งเป็นผลของอียู และสัญญาเชคเก้น ที่ให้การเคลื่อนย้ายอิสระของประชากร ไม่มีวิซ่าไม่มีกำหนดพำนัก)  เช่นนั้นอาเซี่ยนไม่มีวันทำแบบอียูแน่ๆ เพราะขนาดยุโรปมีการพัฒนามนุษย์สูงมาก แต่ก็ยังประสบปัญหานี้ แต่เทียบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่การพัฒนามนุษย์เฉลี่ยแค่ปานกลาง-ต่ำ

ใครที่คิดจะย้ายผมก็ไม่ได้ขัดข้องนะครับ แต่ยังไงก็คิดถึงวิธีการในการเคลื่อนย้ายอาชีพของตัวเองให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่ประสบปัญหาในประเทศนั้นๆ รวมถึงคำนวนรายได้และข้อดีข้อเสียในการย้ายไปทำงานนะครับ เพราะบางทีอยู๋ในประเทศไทยอาจจะสบายกว่าก็ได้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่