Boyhood กับการถ่ายทำอันยาวนานที่ถูกให้ค่ามากเกินจำเป็น

เห็นจากหลายความเห็นที่ได้อ่านใน Pantip และ Facebook พูดในทำนองว่า Boyhood น่าทึ่งและเยี่ยมยอดที่ถ่ายทำโดยใช้เวลาถึง 12 ปี หรือในทางตรงข้ามก็คือไม่เห็นจะน่าทึ่งหรือยากเย็นตรงใหนกับการถ่ายหนังที่ใช้เวลาถึง 12 ปี


ส่วนตัวคิดว่าการที่ Boyhood “ถ่ายทำนานถึง 12 ปี” ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นที่จะหยิบยกมาตัดสินว่า หนังเรื่องนี้คือหนังที่ควรได้รับการยกย่องชื่นชมแต่อย่างใด


แต่อาจเป็นเพราะการที่ค่ายหนังเลือกใช้การโปรโมตว่า "นี่เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เวลาถ่ายทำถึง 12" มาเป็นจุดขาย เลยพาลทำให้ผู้ชมรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ยากและท้าทายและน่าทึ่ง





สำหรับผม Boyhood คือหนังทดลองที่ชวนให้ขบคิดตั้งคำถามเสียมากกว่า เพราะผู้กำกับ Richard Linklater ถ่ายทำหนังแบบไร้พล็อตเรื่อง ถ่ายกันแบบง่ายด้วยบทหลวมๆ ปีละ 3-4 วัน แล้วค่อยมาเรียงร้อยเป็นหนัง


อย่างที่ Ethan Hawk อธิบายว่านี่เป็นเหมือนการถ่ายภาพ Time-lapse (การถ่ายภาพนิ่งในแต่ละช่วงเวลาแล้วเร่งมันให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง เช่นภาพดอกไม้บานแล้วเหี่ยวในเวลา 1 นาที ที่เกิดจากการเรียงร้อยภาพที่ถ่ายไว้วันละภาพ)



ดังนั้นนี่คือหนังไม่มีมีจุดหักเห ไม่มีเทคนิคการถ่ายทำหวือหวา ไม่มีเนื้องเรื่องที่เป็นดราม่าชวนติดตาม มันคืองานทดลองบริสุทธิ์

ความน่าทึงของมันคือการที่หนังผลักดันตัวเองไปสู่ความหมายที่ต่างไปของภาพยนตร์ และชวนตั้งคำถามมากมายที่อาจทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งในเชิงความหมายของภาพยนตร์ และเรื่องราวของชีวิต





ฉากที่อธิบายหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ  ฉากในวัยเด็กเมื่อ Mason ถามพ่อ (Ethan Hawke) ว่า “ความมหัศจรรย์ (Magic) มีจริงไหม เวทย์มนต์ มีจริงในโลกไหม ?”

ซึ่งคำตอบของพ่อก็คื “ในทางเทคนิคแล้ว สิ่งเหล่านี้ ไม่มีจริง แต่ถ้าลองนึกถึงสัตว์ใต้ทะเลที่หัวใจใหญ่เท่ารถ เส้นเลือดใหญ่ขนาดคลานเข้าไปได้ (ปลาวาฬ) แบบนี้เรียกว่ามหัศจรรย์ได้ไหม”


ผู้ชมมักคาดหวังถึงสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งพิเศษที่เหนือธรรมดา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเล่าผ่านเรื่องเล่าที่เติมแต่งไปด้วยจินตนาการทั้งหลาย ซึ่งภาพยนตร์ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่าเรื่อง


แต่ Linklater กำลังบอกกับผู้ชมผ่านตัวละครว่า มันไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องราวมหัศจรรย์ พิศดาร จินตนาการล้ำลึก
แค่การเล่าเรื่องธรรมดาอย่าง “การเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่” อย่างสมจริงแบบที่ Boyhood กำลังจะเล่าให้ฟัง นี่ก็ถือเป็นเรื่องราวที่มหัศจรรย์ไม่แพ้กัน





Boyhood ตั้งคำถามว่าภาพยนตร์คืออะไร ถ้ามันคือการเล่าเรื่องด้วยภาพ แล้วเรื่องอะไรที่สมควรถูกบอกเล่า

คิดว่าโจทย์ที่ Linklater ตั้งไว้คือ “จะไม่ตั้งโจทย์ให้กับหนังว่าต้องการนำเสนออะไร แค่เริ่มต้นมันแล้วปล่อยให้มันเติบโตไปตามยถากรรม พร้อมกับการเติบโตของตัวละคร”

ดังนั้นไม่ใช่แค่ Linklater เท่านั้นที่จะเป็นผู้เขียนบทและกำกับหนังเรื่องนี้ กาลเวลาที่ผ่านไป สภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของนักแสดงคือสิ่งที่มีอิทธิพลกับหนังราวกับเป็นผู้กำกับร่วม




Boyhood เหมือนเป็นหนังที่มีชีวิตเป็นของตัวเอง มันโตขึ้นผ่านกาลเวลา และนี่คือความน่าทึ่งที่แท้จริงของมัน



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่