พิธีสวมครุยกลายเป็นเทรนด์ในสมัยนี้ สำหรับสายสามัญฯเมื่อนักเรียนจบการศึกษา (ม.6) ไปแล้วหรือครับ??

ก่อนอื่นออกตัวก่อนครับ ผมเห็นภาพรุ่นน้องท่านนึง ไปรับถ่ายงานอะไรสักอย่างที่โรงเรียนหนึ่งในภาคอีสาน
ตอนแรกดูผ่านๆก็คิดว่า คงไปถ่ายรูปรับปริญญาให้กับน้องบัณฑิตที่จ้างไปถ่ายตามโรงเรียนเก่า ในธีมย้อนความหลังอะไรประมาณนั้น

แต่เปล่าครับ พอคลิกไปเรื่อยๆผมเห็นว่า เฮ้ย นี่มันเด็กๆม.หก นี่จะจบการศึกษาในปีนี้นี่หว่า

ส่วนตัวด้วยความที่จบจากมหาวิทยาลัยมานานแล้ว บวกกับเคยผ่านพิธีสวมครุย รับปริญญาบัตร ไม่ต่างจากท่านอื่น
ผมไม่มีปัญหาหรือรู้สึกอิจฉาใดๆกับ พิธีการเหล่านี้นะครับ เพราะส่วนตัวผมมองว่า ในเด็กมหาวิทยาลัยเรียนจบ ก็ยังสวมครุยได้ ทำไมเด็กมัธยมจะสวมครุยไม่ได้

เพียงแต่สิ่งที่ผมสงสัยมากขึ้นไปเรื่อยๆนั่นก็คือ ในบางโรงเรียนไม่มีพิธีกรรมที่เด็กๆม.หก จะต้องสวมครุยกันขนาดนี้ แต่ในบางโรงเรียนกลับมีสัญลักษณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น

เทรนด์การสวมครุยของเด็กๆมัธยมบางโรงเรียน เกิดขึ้นเพราะสาเหตุอะไร ความจำเป็นคืออะไร มีความหมายอย่างไรครับ

หากแต่ไบแอสของผมเองนั้น ผมมองว่าการสวมครุยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ มีพิธีการเป็นจริงเป็นจัง อาจารย์ต้องสวมครุยวิทยฐานะ แจกใบจบการศึกษาไม่ต่างจากบัณฑิตที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัย

มันคือการเลียนแบบวัฒนธรรมจากอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัย)

หากมองให้ซีเรียสขึ้น (ซึ่งอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก) นั่นก็คือเป็นไปได้ไหมครับว่า การที่เรามีประเพณียึดติดค่านิยมอะไรแบบนี้ว่า เรียนจบจะต้องสวมครุย มีพิธีต่างๆนาๆ รุ่นน้องต้องมาอวยรุ่นพี่ มาล้อมวงเชียร์ มันคือการสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดแห่งความสิ้นเปลืองและการหลงลืมถึงวัตถุประสงค์ที่สำคัญของการศึกษาโดยเฉพาะ "คุณภาพของการศึกษาในประเทศเรา"

ผมอาจจะคิดมากไปนะครับ แต่ในฐานะพ่อคนแล้ว ผมรู้สึกแปลกๆครับ
ถึงแม้ว่า ในบางโรงเรียน (โดยเฉพาะเอกชน) จะมีพิธีอะไรแบบนี้จนเป็นปกติและดำเนินนานมาแล้ว เช่น มงฟอร์ด เป็นต้น

แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ มันเกิดขึ้นกับโรงเรียนรัฐฯแห่งหนึ่ง...

เชิญร่วมแสดงความเห็นครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่