<Birdman> เพราะชีวิตขาดการยอมรับ

"Popularity is the slutty little cousin of prestige."

Birdman(2014)



Birdman ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวฮีโร่ผู้ผดุงความยุติธรรมในชุดรัดรูปสีฟ้า แต่เป็นหนังที่เกี่ยวกับการวิพากษ์ถึงความเน่าเฟะของวงการบันเทิงและตลกร้ายต่างๆที่แทรกซึมอยู่ในสังคมปัจจุบัน  ฉากLongTakeอันแสนจะเนียนตา ผนวกกับบทพูดที่เสียดสีทุกสิ่งที่ขวางหน้าไม่เว้นแม้แต่คนเสพสื่อเสพหนังที่หนังหัวโด่อยู่ในโรงก็พลอยแสบๆคันๆไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  Birdmanได้ตีแผ่ถึงความแตกต่างระหว่างศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะและ Super Starผู้สร้างกระแสทางสังคม สองสิ่งที่ดูจะคล้ายกัน แต่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในเบื้องลึก โดยได้ฝากคำถามถึงผู้ชมอย่างเราๆให้ตัดสินตนเองว่าเป็นคนประเภทไหน

-เป็นผู้เสพศิลปะหรือเพียงแค่คนเกาะกระแสสังคม

-มีความสุขที่ได้ชมความงดงามทางศิลป์ หรือเพียงแต่อยากให้ผู้อื่นเห็นว่าคุณชมผลงานทางศิลป์

-เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเพราะอะไร เพราะอยากดูหรือเพราะคนอื่นเขาดูกัน

-อยากทำในสิ่งที่อยากจะทำ หรือว่าทำในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็น





“ทำในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็น” การกระทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการสร้างผลงานทางศิลปะที่อิงกระแสสังคมเป็นหลัก มันดูหวือหวาแต่ก็กลวงโบ๋อยู่ข้างใน เปรียบเสมือนกับหนังฟอร์มยักษ์ทำเงินมหาศาลจาก การสร้างกระแสให้เข้าไปดู แต่เนื้อหากลับว่างเปล่า ไร้ซึ่งสิ่งใดให้เหลือไว้ขบคิดในตอนจบ  เมื่อสิ่งใดที่มาพร้อมกับกระแส สิ่งนั้นย่อมอยู่ไม่ยาวนาน อย่างที่เรารู้กันว่า กระแสมันเป็นอะไรที่ชั่วคราว แต่ความงดงามที่แท้จริงนี่สิที่ถาวร  เมื่อเปรียบนักแสดงประเภทนี้กับคนทั่วๆไปในสังคมแล้วมันแทบจะไม่แตกต่างกันเลย เราทุกคนล้วนเป็นนักแสดงทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงที่ไม่มีกล้องจ่ออยู่ที่ปลายคาง และไม่มีแสงแยงตา นักแสดงทุกคนย่อมต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ชม โดยอิงตามบทที่ตนเองได้รับมา พวกเขาต้องเปลี่ยนบุคลิกของตนเองให้เข้ากับบทเพื่อให้คนดูรู้สึกพอใจ

ถ้ามองย้อนกลับมาให้ใกล้ตัวยิ่งขึ้นพวกมนุษย์สังคมรอบๆตัวเราย่อมมีอาชีพเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทโดยที่บทแสดงนั้นเราอาจได้รับมาอย่างไม่รู้ตัวจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่คอยเฝ้าดูพวกเราอยู่ตลอดเวลาา  บทบาทในการแสดงนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตทางสังคมยิ่งนัก อาจเพราะเพื่อที่จะเป็นเป็นที่ยอมรับของนักแสดงร่วมอาชีพในสังคมด้วยกันนั่นเอง เราเปลี่ยนบุคลิก ความคิด บางครั้งลามไปถึงอุดมการณ์ที่เราสั่งสมมาตลอดสมัยยังไม่เข้าวงการเลยด้วยซ้ำ เราเปลี่ยนมันด้วยเหตุผลเดียวกับนักแสดงมืออาชีพนั่นก็คือเมื่อเราต้องอยู่ต่อหน้าผู้ชมนั่นเอง



มนุษย์อย่างเราๆย่อมแสดงบทบาท ปรุงแต่งเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้อื่น บางครั้งเธอแสดงเป็นนางเอกผู้มีจิตใจงดงาม บางครั้งเขาแสดงเป็นศิลปินที่หมกมุ่นในงานศิลปะ บางครั้งเขาแสดงเป็นพ่อพระผู้ที่รับไม่ได้ต่ออะไรก็ตามที่ขัดต่อศิลธรรม แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกเขาไม่อยู่ต่อหน้าผู้ชม หรือต่อหน้ากล้อง จะเกิดอะไรเมื่อพ้นเสียงคำพูดว่า “Cut” จากผู้กำกับ พวกเขาเหล่านั้น ก็กลับมาเป็นตัวตนของเขาเองอีกครั้งโดยครั้งนี้ไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้นเขาเป็นตัวของตนเองเมื่อไร้ซึ่งผู้รับชม


จากนางเอกจิตใจงดงามอาจจะดูต่ำทรามน่าหวาดกลัว จากศิลปินผู้มีใจรักในศิลปะอาจจะโยนพู่กันทิ้งและก้มหน้ากดมือถือ ผู้ใหญ่ใจดีผู้รับไม่ได้ต่อสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอาจจะลืมคำนิยามของคำว่าศีลธรรมทันทีหลังสิ้นเสียง “Cut” ดังมาจากเก้าอี้ผู้กำกับ  แล้วเราทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร ทำไมต้องไปแสดง ปรุงแต่งตนเองให้ผู้อื่นรับชม การยอมรับของคนในสังคมในปัจจุบันนี้ดูค่อนข้างมีความหมายต่อมนุษย์สัตว์ทางสังคมมากขึ้นทุกที เมื่อเราก้าวขาเข้าสู่โลกออนไลน์ ทุกอย่างเป็นเรื่องของการยอมรับทางสังคม โดยมี ไลค์ เป็นตัว ประมวลผลของ “การยอมรับทางสังคม”ออกมาเป็นตัวเลขจำนวนเต็มไร้ซึ่งหลักทศนิยม การทำอะไรแผลงๆเพื่อเรียกไลค์เป็นอะไรที่เราพบได้ในปัจจุบัน ถ้าจะพูดให้ถูกพวกเขาไม่ได้เรียกไลค์หรอก เขาเรียกการยอมรับทางสังคมต่างหาก เพราะเหตุนี้สังคมโซเชียลเน็ตเวิร์กก็เปรียบเหมือนกับวงการบันเทิงของนักแสดงสมัครเล่น ที่คอยให้โอกาสให้เราแสดงบทบาทที่ต้องการได้อย่างเต็มที่



มีคนหลายคนเหลือเกินในสังคมเราที่มีความสามารถที่จะแสดงได้ทุกบทบาทแต่น่าเศร้าที่มีบทบาทเดียวที่เขาแสดงไม่ได้นั่นก็คือบทที่แสดงเป็นตัวของตัวเขาเอง ราวกับว่าการยอมรับในจุดด่างพร้อยของตนเองเป็นข้อห้ามสำคัญของวงการนี้  ประเด็นหลักทางการเสียดสีสังคมบันเทิงนี้ทำให้ Birdman เป็นหนังที่เล่าถึงประเด็นการเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีที่ไร้สมองเพียงใด ไม่สิยิ่งไร้สมองก็ยิ่งสร้างกระแส  คุณสามารถทำการทดลองนี้ง่ายๆโดยการแชร์คลิปสองคลิปในเวลาเดียวกันคลิปหนึ่งเป็นคลิปของพระที่กำลังเทศนาที่วัด กับอีกคลิปหนึ่งเป็นคลิปที่มีสาวนุ่งน้อยห่มน้อยมาเต้นโชว์ เมื่อผ่านไปครึ่งชั่วโมงก็รอดูกระแสว่ากระแสมันจะไหลไปทางไหน คุณก็พอเดาได้! มันบ่งบอกได้ว่า กระแสและ การเป็นที่ยอมรับ กับสิ่งดีงามเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะสวนทางกันในสังคมปัจจุบัน และพวกเราก็ให้น้ำหนักกับสิ่งแรกเยอะกว่าเสียด้วยสิ

ตัวตนที่สร้างขึ้นก็เหมือนกับชุดฮีโร่เบิร์ดแมนสีฟ้ารัดรูป  ที่คอยปิดบังใบหน้าตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่สวมใส่เอาไว้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเหนื่อยและถอดชุดออกเมื่อนั้นตัวตนที่แท้จริงใบหน้าที่แท้จริงของคุณก็คงไม่มีใครคนไหนจดจำได้   เพราะอะไรหรือถึงเป็นเช่นนี้?

คำตอบมันก็เป็นที่ชัดแจ้งอยู่แล้ว เพราะคนอื่นเขาจดจำได้แต่ตอนคุณสวมหน้ากากไง อย่าลืมสิ
คุณ คือ Birdman


ปล. Birdman ไม่ใช่หนังฮีโร่ เพียงแต่เป็นหนังสไตล์ที่ “เอาความจริงมาล้อเล่น” นั่นเอง


เครดิต บทความผ่านแผ่นฟิล์ม

ฝากเพจและผลงานอื่นๆ วิจารณ์ ติชมได้เลยครับ

https://www.facebook.com/pages/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1/680159158772066?ref=hl
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่