รีวิว Big Bad Wolves (2013) ใครชอบเควนติน ทาแรนติโน่ ผสมหนังทริลเลอร์เกาหลีใต้ห้ามพลาดเด็ดขาด

Big Bad Wolves (2013)


1) โปสเตอร์หนังเล่นขายกันสุด ๆ ว่าเป็น "หนังโปรดของเควนตินประจำปี 2013" เราก็ไม่แปลกใจว่าทำไมเควนตินถึงชอบหนังเรื่องนี้ เพราะในบางมุมมันเหมือนเป็นกระจกส่องถึงงานของตัวเขาเองเรื่อง Pulp Fiction

2) เนื้อเรื่องมันว่าด้วยคดีเด็กสาวถูกลักพาตัว ตำรวจจับผู้ต้องสงสัยมาซ้อม จากนั้นก็ต้องปล่อยตัวไปเพราะไม่มีหลักฐานเอาผิด ปรากฏว่าวันเดียวกันนั้นก็พบศพเด็กสาวถูกข่มขืนฆ่าตัดหัว ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีถูกปลดจึงหมายมั่นจะกลับมาเป็นตำรวจด้วยการซ้อมผู้ต้องสงสัยให้สารภาพที่ซ่อนศีรษะเด็ก, ผู้ต้องสงสัยที่ถูกซ้อมกลายเป็นจำเลยสังคมจนถูกปลดจากอาชีพครู, กับพ่อของเหยื่อที่กลายมาเป็นผู้ทรมานนักโทษ

3) เห็นเป็นสัญชาติอิสราเอลแบบนี้แต่ตอนดูนึกว่าหนังเกาหลีใต้ เดี๋ยวนี้พอเราเห็นหนังแนวล้างแค้นด้วยการทรมานนี่นึกถึงเกาหลีใต้ก่อนเลย แต่อันนั้นชอบขายโหดขายความรุนแรง ส่วน Big Bad Wolves ผมก้ำกึ่งว่าจะชมหรือจะด่า ในความยาวของฉากจับผู้ต้องหามัดกับเก้าอี้มากกว่า 45 นาทีมันก็ไม่แปลกอะไรที่ผมจะต้องขอบ่นว่ามันเยอะไปไหม เยอะจนรู้สึกว่าโคตรน่าเบื่อเลย เรื่องไม่ขยับไปข้างหน้าเลยร่วมครึ่งชั่วโมง แต่พอดูจนจบก็เห็นว่าความยาวของฉากนี้มันมีประโยชน์ในการดึงอารมณ์คนดูให้เห็นใจเหยื่อที่ถูกทรมาน

4) พูดถึงพล็อตแล้วอยากเปรียบเทียบกับ Prisoners (2013) ทั้งสองเรื่องพูดถึงพ่อของเหยื่อที่อาฆาตแค้นจนไม่สนใจกระบวนการตามกฎหมาย ตั้งศาลเตี้ยขึ้นมาจับผู้ต้องสงสัยไปทรมานให้สารภาพผิด ซึ่งขั้นตอนการทรมานของ Big Bad Wolves มันต้องไปเทียบเคียงกับหนังเกาหลีใต้ที่เน้นทำลายอวัยวะให้เห็นกันจะๆ ส่วนของฝั่งอเมริกันยังรู้สึกว่ามันเน้นทำลายสภาพจิตใจมากกว่า แล้วพอเทียบถึงความเป็นหนังสืบสวนจะบอกว่าเป็นจุดด้อยของทั้งสองเรื่องเลย

5) Prisoners นั้นมุ่งเน้นไปที่การถลำลึกของตัวละครจนการสืบสวนกลายเป็นยัดเยียดตัวช่วยและเก็บความลับไว้แน่นหนาโดยไม่บอกใบ้อะไรเลย เช่นเดียวกับ Big Bad Wolves ที่เลือกเก็บความลับไว้แน่นหนาเช่นกัน แต่หนังไม่ได้ทำตัวเองเป็นหนังสืบสวนเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะตลอดเกือบสองชั่วโมงของหนังนั้นสาละวนอยู่กับการทรมานเหยื่อและขายเทคนิคทริลเลอร์เพียงอย่างเดียว จึงพอจะบอกว่าทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้มีจุดขายที่การเป็นหนังสืบสวนแน่นอน

6) ค่อนข้างชื่นชมเทคนิคกำกับฉากระทึกขวัญทริลเลอร์ของผกก. Big Bad Wolves อยู่หลายฉาก แค่ฉากเปิดเรื่องที่เล่าถึงเด็กหญิงหายตัวไประหว่างโชว์เครดิตทีมงานก็เจ๋งแล้ว เขาเลือกใช้ slow-motion ผสมการตัดต่อได้ชวนระทึกขวัญดี ยิ่งพอเห็นหลายฉาก ๆ ที่มันไม่มีอะไรเลยแต่ด้วยพล็อตหนังด้วยการกระทำของตัวละครมันชวนให้คนดู "คิดไปเอง" ว่าจะเกิดเหตุร้าย ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่อัลเฟรด ฮิตช์ค็อกเคยใช้ในหนังเรื่อง North by Northwest ฉากที่แครี่ แกรนท์ยืนโล่ง ๆ กลางทุ่งตั้งนานโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก่อนจะถูกเครื่องบินไล่โฉบจนเป็นฉากคลาสสิกตลอดกาล ซึ่งใน Big Bad Wolves เองถูกนำมาใช้ในฉากซื้อบ้านที่นายหน้าต้องอยู่ในห้องใต้ดินเพียงคนเดียว ด้วยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างของฉากมันชี้นำคนดูทันทีว่าจะต้องเกิดเหตุร้ายกับหญิงคนนี้แต่มันกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

7) รู้สึกว่าหนังมันมีความเป็น Pulp Fiction มากกว่า In Bruges หลายฉากมันตลกร้ายมันคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรบ้า ๆ ขึ้นเหมือนกับใน Pulp Fiction ที่อยู่ดี ๆ ตัวละครก็โดนตุ๋ย เข้าห้องน้ำอยู่ดี ๆ ก็โดนยิงตาย ซึ่งใน Big Bad Wolves ก็มีตลกร้ายแบบนี้อยู่บ้าง แถมบทสนทนาโต้ตอบกันในหลาย ๆ ฉากยังจิกกัดกันดีเหลือเกิน (เช่นอิสราเอลเหยียดเลบานอน, หรือฉากเอาเด็กมานั่งเรียนรู้งานกับพ่อ) ตอนดูจึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมเควนตินถึงชอบหนังเรื่องนี้

8) ส่วนที่รู้สึกว่าหนังยังด้อยอยู่คือเราไม่อินกับการทรมานโดยพ่อของเหยื่อ คือพวกค้อนทุบนิ้ว ตัดนิ้ว ใช้ไฟลนอะไรพวกนี้มันต้องมีความโหดอยู่ในตัวสูงมาก ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ใครจะไปลงมือก็ได้ พอเห็นพ่อของเหยื่อลงมืออย่างไร้ปราณีเลยค่อนข้างรู้สึกว่ามันถูกจับยัดเข้ามาโดยที่เรายังไม่เชื่อว่าความรักลูกสาวจะก่อให้เกิดความแค้นได้ขนาดนี้

9) หนังมันมีหักมุม แต่ช้าก่อนถ้าใครสังเกตดี ๆ มันอาจจะไม่ใช่หักมุมเลยก็ได้สำหรับคุณ ชื่นชมความฉลาดของการกำกับตรงนี้เล็กน้อย คือมันใส่คำใบ้มาในระดับกำลังดี ถ้าคุณรู้จากคำใบ้ก็อาจจะมีมุมมองต่อหนังอีกอย่าง ถ้าไม่รู้ก็อาจจะมีมุมมองอีกอย่าง (ส่วนผมเพิ่งมารู้ตอนอ่านที่คนเขาคุยกันหลังหนังจบ แล้วมาเปิดย้อนสังเกตดูอีกที)

10) ยังคงแนะนำ Big Bad Wolves สำหรับคนที่คิดถึงงานเควนติน ทาแรนติโน่ หรือใครเบื่อหนังฮอลลีวูดก็มาลองชิมหนังอิสราเอล(ที่เหมือนเกาหลีใต้)กันดูได้ครับ

Directors: Aharon Keshales, Navot Papushado

Genre: crime, thriller
7/10

-----------------------------------------------------------------
ติดตามรีวิวหนังเรื่องอื่น ๆ ได้ที่ หนังโปรดของข้าพเจ้า
https://www.facebook.com/MyFavouriteFilms
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่