ไขวิสัชนา ธุดงค์ธรรมกายลุยกรุง อุ้มศีลธรรมโลก หรืออวดอลังการ?



เดินธุดงค์ธรรมชัย ของวัดพระธรรมกาย ตะลุยป่าคอนกรีตโปรเจกต์ 4 อันเป็นกระแสร้อนแรง ซึ่งกำลังตกเป็นที่พูดถึงจากวงกว้างของคนในสังคมอย่างล้นหลาม อาทิ ควรแล้วหรือที่พระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์เข้าเมือง จนเกิดปัญหาจราจรติดขัด และแน่ใจแล้วหรือ ที่ธุดงค์ธรรมชัยจะไม่ขัดต่อหลักพระพุทธศาสนา จนทำลายความตั้งมั่นที่หวังให้ผู้คนเลื่อมใส แต่กลับกลายเป็นเสื่อมถอย...ทุกอย่างที่ธรรมกายกระทำ ควรแล้วหรือ?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ร่วมพูดคุยกับ พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ประชาสัมพันธ์โครงการธุดงค์ธรรมชัย และ ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 8 ม.มหิดล ผอ.วิจัยพัฒนาพระพุทธศาสนาแห่งโลก ถึงประเด็นร้อนธุดงค์ธรรมกายลุยป่าคอนกรีต คนใจแคบไม่ซึ้งธรรม หรือ หลักคำสอนแสนผิดเพี้ยน?

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่สงสัยเกี่ยวกับ ธุดงค์ธรรมกาย แหกหลักพุทธหรือไม่? ไยต้องโปรยดอกไม้แสนสวย? ด้วยเหตุอันใดต้องวิลิศมาหรา? ที่นี่เรามีคำตอบ!



ธุดงค์ธรรมกาย แหกหลักพุทธศาสนาหรือไม่?
พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ตอบ : เนื่องด้วยในสังคมปัจจุบัน ได้มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ศีลค่อยจางหายไปจากสังคม จึงเป็นเหตุให้มีการนำพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มาเตือนสติสังคม ทำให้เกิดการบรรลุธรรมเห็นแจ้ง เพื่อนำไปสู่การนิพพาน จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด โดยนำพระ 1,000 กว่ารูปจากทั่วประเทศ มาเดินให้เห็นว่า ยังมีคนที่มุ่งไปนิพพานได้ ให้มากระตุกจิตสำนึกของญาติโยมทั้งหลาย จึงเกิดกิจกรรมอย่างนี้ขึ้นมา

ทั้งนี้ พระก็เดินปฏิบัติธุดงค์ของตนเองไป ขณะเดียวกัน ก็เผยแผ่ศาสนาด้วยการเชิญญาติโยมมาต้อนรับ เมื่อได้มาเห็นพระเป็น 1,000 รูป เดินอย่างสงบ ก็ทำให้รู้สึกอยากมาสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือเด็กบางคนที่ตามพ่อแม่มารับพระธุดงค์ ก็บอกว่าอยากบวชเป็นพระ และมาเดินธุดงค์แบบนี้บ้าง ความตั้งใจจริงคือ มาเดินเพื่อให้กระตุกต่อมศีลธรรม วัตถุประสงค์ทั้งหมดทั้งปวง คือ การที่พระได้มาเดินธุดงค์ และเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเมืองด้วย

ผอ.วิจัยพัฒนาพระพุทธศาสนาแห่งโลก ตอบ : คำว่า “ธุดงค์” มีความหมายดั้งเดิม คือ การจาริกของพระภิกษุ เพื่อละวางความยึดมั่นในตัวตน สังขาร และทรัพย์สิน โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การปล่อยวางทั้งกาย ใจ และไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้น การธุดงค์ที่มีการโปรยดอกไม้ ปูเสื่อ หรือล้างเท้า หากมีวัตถุประสงค์เพื่อการปล่อยวาง ก็ถือว่าตรงตามหลักพุทธศาสนา

“หากการธุดงค์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเดินขบวนใหญ่โต พร้อมกับมีการจัดฉาก หรือมีผู้เตรียมการอย่างดี โดยนำดอกดาวเรืองบรรทุกใส่คันรถมาให้ อีกทั้งยังเกณฑ์คนจากพื้นที่ต่างๆ มา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีลักษณะของการบริหารจัดการเป็นระบบ และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติดตามมา หากเป็นเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าผิดวัตถุประสงค์เดิมของคำว่า ธุดงค์” ดร.ทวีวัฒน์ แสดงทรรศนะอย่างตรงไปตรงมา

ส่วนกรณีที่ ธุดงค์ เพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือน้อมนำให้คนเข้ามาซึมซับในรสพระธรรมมากขึ้นนั้น มองว่า เป็นเพียงวิธีที่ฉาบฉวย เสมือนเปลือก หรือกระพี้ของศาสนาเท่านั้น เพราะถึงแม้จะมีพระเป็นจำนวนกว่าพันรูปออกมาธุดงค์ให้คนได้เห็น มิใช่ว่าจะไม่เป็นประโยชน์ แต่ก็ทำให้คนเหลียวหลังหันมามองศาสนาได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้น หากอยากให้คนหันหน้าเข้าหาพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ก็ควรใช้วิธีการที่ดีกว่านี้ และควรเลือกเส้นทางที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อสังคมโดยรวม



ดาวเรืองโปรยบุญ ดาวโรยรองเท้าสงฆ์ จำเป็นแล้วหรือ? ...
พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ตอบ : สุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เขามีหน้าที่นำดอกไม้มาถวายพระเจ้าพิมพิสารทุกวัน กระทั้งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ สุมนมาลาการ เห็นอัตภาพของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงคิดว่าจะนำดอกไม้ที่จะต้องถวายพระเจ้าพิมพิสารมาถวายพระพุทธเจ้า แม้ว่าอาจจะต้องรับโทษโดนฆ่า หรือโดนไล่ออกจากเมืองก็ยอม สุมนมาลาการ จึงนำดอกไม้โปรยขึ้นข้างบนระหว่างที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน และเมื่อกลับไปบ้านไปบอกภรรยา ก็โดนภรรยาด่าว่าและรีบนำเรื่องเข้ากราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันแล้ว พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยศรัทธา จึงพระราชทานสิ่งของแก่สุมนมาลาการ และสุมนมาลาการก็ได้ไปเกิดในชั้นสวรรค์

ขณะที่ก่อนที่พระจะเริ่มธุดงค์ประมาณ 2 เดือน ทางวัดได้ให้ญาติโยมปลูกดาวเรืองไว้ก่อน โดยที่ระหว่างปลูกก็สวดมนต์ไป นั่งสมาธิไป ใจก็ก่อเกี่ยวกับบุญกุศล ดอกไม้ที่ปลูกเอง เก็บเอง และมาโปรยเอง ใจก็อยู่ในบุญกุศลตลอด

ผอ.วิจัยพัฒนาพระพุทธศาสนาแห่งโลก ตอบ : การทำบุญในพระพุทธศาสนาต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ พร้อมพรั่งด้วยความศรัทธา ดังนั้น ทุกคนที่ต้องการทำบุญจะต้องนำดอกไม้มาเอง ซึ่งการเอาข้าวตอกดอกไม้มาโปรยเท้าให้พระภิกษุสงฆ์เช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในพุทธกาล มิหนำซ้ำยังไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่



รถนำขบวนธุดงค์ จัดไว้เพื่อสิ่งใด เสพวัตถุโก้หรูมากไปหรือ?
พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ตอบ : รถนั้นเปรียบเสมือนดอกบัวของพระพุทธเจ้า จัดไว้สำหรับอัญเชิญพระเทพญาณมหามุนี และมองว่าเป็นอุบาย ไม่ได้ผิดเพี้ยนจากหลักคำสอน พระก็ปฏิบัติสมาธิไป ส่วนโยมก็ได้ทำทานศีลภาวนาไป

ผอ.วิจัยพัฒนาพระพุทธศาสนาแห่งโลก ตอบ : หากการธุดงค์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการแห่แหน มิต่างอะไรกับงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเข้าพรรษา งานบุญสงกรานต์ ที่มีการนำพระพุทธรูปขึ้นรถแล้วแห่ไปตามท้องถนนนั้น ลักษณะการปฏิบัติเช่นนี้เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ทำให้ผู้คนได้เห็น แต่ไม่สามารถชักจูงให้บุคคลเข้าหาพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ฉะนั้น การน้อมนำให้ประชาชนหันหน้าเข้าหาศาสนาได้มากขึ้น ควรใช้วิธีน้อมนำจากหลักศีล สมาธิ ปัญญา จะเหมาะกว่า

“การกระทำเช่นนี้ เสมือนการแสดงแสนยานุภาพ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หรืออวดวัตถุ อวดคน ซึ่งสวนทางกับคำว่า ธุดงค์ หากเพราะความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของพุทธศาสนา อยู่ที่การเข้าถึงธรรมะ จิตใจสงบ ละความโลภ โกรธ หลง” ดร.ทวีวัฒน์ แนะแนวทางธุดงค์ที่แท้จริง

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่