ชาวบ้านบางระจันปกป้องมาตุภูมิบ้านเกิด หรือปกป้องชาติ ??

คือเราไปรับน้องชายที่มหาลัย ระหว่างรอก็ไปอ่านอะไรเล่นๆที่ศูนย์หนังสือ ไปเจอหนังสือชื่อ ศึกบางระจัน ที่อ้างอิง และอิงนิยาย

แล้วก็มีคำนิยมเล็ก เอามาจากอินเตอร์เน็ต จากนิธิ เอียวศรีวงศ์

ตํานานการต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันที่ถูกเล่ากันมาในระยะหลัง คือหนึ่งในกระบวนการบิดเบือนสำนึกชาตินิยมไทย จนทำให้ชาติไม่เป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนไทยสืบมาจนทุกวันนี้


พูดกันอย่างเคร่งครัดชาวบ้านต่อสู้พม่าด้วยสำนึกรักมาตุภูมิ(patriotism-ที่จริงควรแปลว่าปิตุภูมิตามภาษาฝรั่งแต่ในวัฒนธรรมไทยสมัยนั้นการแต่งงานส่วนใหญ่คือการย้ายไปอยู่กับครอบครัวผู้หญิง หรือเรียกเป็นศัพท์ทางมานุษยวิทยาว่า matrilocal จึงขอใช้คำว่ามาตุภูมิแทน) แทบจะพูดได้ว่าสำนึกนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ต้องพัฒนาเป็นความคิดอันสลับซับซ้อนแต่อย่างไร เพราะนับตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก มนุษย์ก็เป็นสัตว์ฝูงแล้ว จึงต้องเกิดสำนึกรักมาตุภูมิเป็นธรรมดา ไม่อย่างนั้นก็คงสืบเผ่าพันธุ์มาถึงบัดนี้ไม่ได้


ทั้งรูปศัพท์และอิทธิพลของชาตินิยมในปัจจุบันทำให้เราจำกัดความหมายของ"มาตุภูมิ"ให้แคบเหลือเพียงดินแดนอันมีขอบเขตที่ชัดเจนแน่นอนแต่สำนึกรักมาตุภูมิตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความหมายกว้างกว่านั้น ดินแดนหรือแผ่นดินก็ใช่ เช่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเผ่า ย่อมเป็นความอยู่รอดของเผ่าและญาติพี่น้องทุกคน จึงต้องหวงแหนไว้ใช้ต่อไป ในชนเผ่าเร่ร่อน ฝูงสัตว์คืออาหารและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งหากถูกปล้นสะดมไป ก็อาจทำให้กลุ่มเครือญาติทั้งหมดที่เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ร่วมกันถึงกับอดตายได้ แน่นอนภัยอันตรายที่อาจคร่าชีวิตของเผ่าหรือของกลุ่มเครือญาติไปมากๆ บังคับให้มนุษย์ต้องลุกขึ้นต่อสู้ (หรือหนี) เพราะความตายจำนวนมากพร้อมๆ กันในสังคมโบราณ คุกคามความอยู่รอดของสังคมอย่างร้ายแรง


โดยสรุป สำนึกรักมาตุภูมิ คือสำนึกรักเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมเผ่าพันธุ์ เครือญาติ หรือร่วมใช้และบำรุงทรัพยากรร่วมกันนั่นเอง



ตํานานชาวบ้านระจัน(หรือบางระจัน)ที่เล่ากันมาในหลักฐานประวัติศาสตร์ที่พอเชื่อถือได้สะท้อนสำนึกรักมาตุภูมิดังที่กล่าวข้างต้น


ผมต้องเตือนไว้ก่อนว่าหลักฐานเกี่ยวกับบ้านระจันนั้นหาที่เป็นอิสระต่อกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้แต่มีหลักฐานร่วมสมัยหรือใกล้สมัยในเรื่องอื่นที่ช่วยส่องให้เห็นความเป็นไปได้เกี่ยวกับบ้านระจันอยู่มากผมขอสรุปเรื่องราวตามที่ผมได้เคยวิเคราะห์ไว้ในที่อื่นดังนี้


บ้านระจันคงเป็นชุมชนมาก่อนแล้วเพราะมีวัดของตัวเองอยู่ก่อนจะเกิด"ค่าย"ขึ้นแต่จำนวนของประชากรคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อก่อนกรุงแตก เพราะมีผู้คนอพยพหลบหนีจากที่อื่นๆ มาอยู่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก (และคงจะมากกว่าชาวบ้านที่อยู่เดิม)


ผู้คนที่อพยพเข้ามานี้ บ้างก็เป็นคนที่เคย "เข้าเกลี้ยกล่อม" กับพม่ามาแล้ว แต่ทนอยู่ใต้พม่าไม่ได้เพราะถูกเรียกทรัพย์สินเงินทองบุตรภรรยาไปมาก จึงพาครอบครัวหลบหนี บ้างก็คงเป็นผู้คนที่พากันหลบหนีเข้าป่า และอดอยาก กลัวถูกปล้นสะดมจากคนที่อดอยากด้วยกัน จึงพาครอบครัวหนีมาพึ่งบ้านระจัน คนทั้งนี้มาจากที่ไกลๆ มาก ไม่ใช่จากชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น เช่น จากวิเศษชัยชาญ, สิงห์บุรี, สรรคบุรี ไปจนถึงสุพรรณบุรี เพราะพระราชพงศาวดารกล่าวว่าอาจารย์จากวัดนางบวชได้หลบมาอยู่วัดบ้านระจัน ดึงเอาผู้คนที่นับถือท่านตามมาอีกมาก


(ทุกวันนี้หากเดินทางบนถนนชัยนาท-สุพรรณบุรี ก็จะผ่านข้างวัดนี้ที่อำเภอเดิมบางนางบวช)






ทําไมจึงต้องเป็นบ้านระจันเหตุผลก็เพราะชุมชนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพสู่กรุงศรีอยุธยาของพม่าจึงบอบช้ำไม่มาก(ซึ่งแปลว่ายังมีข้าวกิน)ซ้ำไม่มีกองทหารพม่าอยู่ใกล้ จึงอาจขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงคนที่เพิ่มขึ้นได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าพม่าจะมากวาดเอาเสบียงอาหารไป


ชุมนุมที่หลบหนีพม่าคงมีทั่วไปในช่วงนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่ผู้คนจะเอาตัวรอดในยามบ้านเมืองเป็นจลาจลแต่มักเป็นชุมนุมขนาดเล็กที่สามารถอพยพหลบหนีได้ง่ายหากจำเป็นหลายชุมนุมคงมีเด็กและผู้หญิงไม่มากเพราะครอบครัวกระจัดพลัดพรายกันไป ซึ่งยิ่งทำให้คล่องตัวในการหลบหลีกภัยมากขึ้น


บ้านระจันต่างจากชุมนุมทั่วไปตรงนี้คือมีผู้คนค่อนข้างมากมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์กว่า(โดยเปรียบเทียบ)และที่สำคัญคือมีครอบครัวอยู่ค่อนข้างพร้อมหน้า ทำให้เป็นชุมนุมที่ไม่อาจอพยพหลบหนีภัยได้ง่ายๆ ฉะนั้น เมื่อพม่ายกมาปราบ จึงต้องตั้ง "ค่าย" ขึ้นต่อสู้ และสู้อย่างวีระอาจหาญ


พวกเขาสู้เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว, ญาติมิตร และชุมชนที่ให้ความปลอดภัยแก่คนอันเป็นที่รักของเขา จนในที่สุดก็ถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ เพราะพม่าเห็นอันตรายที่จะปล่อยให้มีชุมชนอิสระอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพของตนเองเช่นนั้นได้ คนที่เหลือคงหนีกระเซอะกระเซิงต่อไป หรือบางกลุ่มก็อาจยอมจำนนถูกกวาดต้อนไปอยู่กับพม่า ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะไม่อดตาย


กลายเป็นวีรกรรมอันเดียวของชาวบ้านก่อนกรุงแตก แต่ที่จริงแล้ว คงมีชุมนุมชาวบ้านอีกหลายแห่งที่เมื่อมีโอกาส ก็ปล้นสะดมหรือลักขโมยเสบียงอาหารกองทัพพม่า แต่ไม่ได้ทำเพื่อชาติหากทำเพื่อประทังชีวิตของกลุ่มตนเองเท่านั้น






การต่อสู้ของชาวบ้านระจันก็ตามของชุมนุมชาวบ้านต่างๆก็ตามล้วนเป็นสำนึกรักมาตุภูมิทั้งสิ้น


ไม่ใช่ไม่เกี่ยวกับ"ชาติ" อย่างเดียวนะครับ ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกับรัฐด้วยซ้ำ จุดมุ่งหมายของชาวบ้านคือเอาครอบครัวญาติมิตรให้รอด ไม่ได้คิดจะไปกู้กรุงศรีอยุธยาหรืออะไรที่น่าขนลุกแก่เราขนาดนั้น ที่ชาวบ้านระจันติดต่อขอปืนใหญ่จากอยุธยา (หากเป็นเรื่องจริง) ก็เพราะอยุธยาเป็นศูนย์อำนาจที่เหลือเพียงอันเดียว ที่พอจะช่วยเหลือได้ ถ้ากำปั่นวิลันดาซึ่งยังเหลือค้างที่อยุธยาลำหนึ่งพร้อมจะแบ่งปืนใหญ่มาให้ ผมเชื่อว่าชาวบ้านระจันก็ไม่รังเกียจแต่อย่างใด


สำนึกรักมาตุภูมิคือความผูกพันที่มีต่อลูกเมีย,เครือญาติ,เพื่อนฝูง,สมาชิกของชุมชนอื่นๆที่ร่วมใช้และจัดการทรัพยากรร่วมกัน (คนบ้านเดียวกัน) จึงมีผลประโยชน์อันหนึ่งอันเดียวกัน, รวมไปถึงข้าวปลาอาหารและทรัพย์สมบัติที่สั่งสมกันไว้ เป็นของส่วนตัวบ้าง ของ "หน้าหมู่" หรือของชุมชนบ้าง


ตำนานชาวบ้านระจันสะท้อนสำนึกนี้อย่างเด่นชัด ที่หนีมาอยู่ร่วมกันที่บ้านระจันก็เพราะจะรักษาครอบครัวเครือญาติของตนไว้จากภัยพม่า (และอาจรวมภัยโจรไทยซึ่งต้องมีชุกชุมในยามข้าวยากหมากแพงเช่นนั้นอย่างแน่นอน) ที่ลุกขึ้นสู้อย่างไม่คิดชีวิตก็เพราะไม่มีทางเลือกอื่น การสู้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นไปได้ที่สุดในเงื่อนไขที่พวกเขาเผชิญอยู่






สํานึกรักมาตุภูมิอย่างเดียวกับชาวบ้านระจันนี่แหละครับที่เราอาจอธิบายการกระทำของสุกี้พระนายกองและชุมชนมอญที่อยุธยาได้เหมือนกัน


ส่วนใหญ่(หรืออาจทั้งหมด)ของมอญเหล่านี้เพิ่งอพยพหนีพม่าเข้ามาอยู่อยุธยาไม่นานเข้าใจว่าหลังจากสมิงทอผู้นำต่อต้านพม่าประสบความล้มเหลว (ไม่ใช่มอญที่อพยพเข้ามาในสมัยพระนเรศวร ซึ่งคงถูกกลืนไปหมดแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้นำ) หากพม่าสามารถตีกรุงแตก มอญเหล่านี้รู้ดีว่าชะตากรรมของตนคือถูกกวาดต้อนกลับทั้งหมด หรือร้ายไปกว่านั้น อาจถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด ฐานที่เคยกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดินพม่ามาก่อน ทางเลือกของคนเหล่านี้จึงมีจำกัดมาก หนีเอาตัวรอดเสียก่อน ก็ต้องไปเที่ยวหากิน นับตั้งแต่ปล้นสะดมหรือเที่ยวหลบซ่อนตั้งซ่องทำไร่นาเลี้ยงชีพ แต่มอญพวกนี้ยังไม่ได้ถูกกลืนเข้าไปในสังคมอยุธยา บางคนหรืออาจจะหลายคนยังพูดภาษาไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ จึงไม่ง่ายเลยที่จะเลือกทางนี้


ทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด ที่จะรักษาครอบครัวและญาติพี่น้องให้รอดได้คือ รีบสยบยอมต่อพม่าและรับใช้เป็นกำลังให้แก่พม่าก่อนกรุงแตก เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากพม่าเมื่อตีกรุงได้แล้ว สุกี้หรือนายทองสุกซึ่งเป็นหัวหน้าของมอญกลุ่มนี้ชักชวนให้มอญส่วนใหญ่รับทางเลือกอันชาญฉลาดนี้ และให้ผลดีตามคาดหมาย คือพม่าเว้นให้มอญกลุ่มนี้ได้อยู่ในชุมชนของตนต่อไป ไม่ฆ่าไม่ตี แถมยังตั้งนายทองสุกเป็นหัวหน้าคุมมอญดูแลรักษากรุงในนามของพม่าต่อไปด้วย


ทั้งหมดนี้ก็มาจากสำนึกรักมาตุภูมิไม่ต่างจากชาวบ้านระจัน เพียงแต่เลือกทางเดินกันคนละทางเท่านั้น






เรื่องอย่างนี้หากเขียนขึ้นเป็นนวนิยายคงประทับใจและกระตุ้นสำนึกรักมาตุภูมิของผู้อ่านได้ไม่น้อยไปกว่าเรื่องบ้านระจัน(ทั้งจบในลักษณะเดียวกันคือพระเอกตาย-หรือถูกจับ-ในการรบเพื่อรักษา "มาตุภูมิ" ไว้) แต่ในปัจจุบัน เราคงไม่มีนักเขียนที่มองอะไรได้ลึกลงไปถึงก้นบึ้งของความเป็นมนุษย์อย่างไม้ เมืองเดิมเสียแล้ว นายทองสุกจึงเป็นได้แค่ผู้ร้ายสืบมา


หากเล่าวีรกรรมของชาวบ้านระจันจากมิติของสำนึกรักมาตุภูมิเช่นนี้ก็ไม่เกี่ยวกับสำนึกชาตินิยมล่ะสิ?ไม่เกี่ยวโดยตรงครับแต่เกี่ยวอย่างยิ่งขนาดที่ว่าหากไม่เล่าวีรกรรมนี้จากสำนึกรักมาตุภูมิ สำนึกชาตินิยมที่แต่งปลอมเข้ามาก็ไร้ความหมาย


ทั้งนี้เพราะฐานของลัทธิชาตินิยมแท้จริงคือสำนึกรักมาตุภูมินี่เองชาติเป็นเพียงสิ่งสมมติทางนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากเครือข่ายความสัมพันธ์ของรัฐสมัยใหม่(การสื่อสาร,คมนาคม, ตลาดร่วมกัน, ระบบการศึกษาร่วมกัน, ระบบราชการรวมศูนย์, ตลาดงานร่วมกัน ฯลฯ) ผลกระทบต่อชีวิตคนรู้สึกได้ไม่ชัดเท่ากับมาตุภูมิ ซึ่งสมาชิกของมาตุภูมิมีความสัมพันธ์ต่อกันโดยตรง หรือโดยไม่ต้องใช้จินตนากรรมไกลนัก จึงตอบสนองต่อสัญชาตญาณสัตว์ฝูงของเราได้ตรงดี


เรารักชาติก็เพราะเรารักครอบครัวญาติพี่น้องมิตรสหายครูบาอาจารย์(เช่นพระอาจารย์จากวัดเขาสนางบวช) และระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เราเคยชิน เราสามารถเสี่ยงอันตรายร่วมกันเพื่อรักษาสิ่งนี้ หรือแม้แต่เสี่ยงอันตรายแทนคนอื่นเพื่อรักษาสิ่งที่เราหวงแหนร่วมกันนี้ได้ ถ้าชาติไม่ได้หมายถึงผู้คน, สิ่งของ และสภาพที่เราคุ้นเคยและให้คุณค่าเช่นนี้ ก็ไม่รู้จะรักชาติไปทำไม


สำนึกอย่างนี้แหละคือสำนึกรักมาตุภูมิ ดังนั้น สำนึกรักมาตุภูมิจึงเป็นฐานให้แก่สำนึกชาตินิยม ขาดฐานอันนี้ สำนึกชาตินิยมก็ค่อนข้างกลวง สำนึกชาตินิยมที่จะมีความหมายต่อทุกคนได้จริง ต้องถ่ายโอนสำนึกรักมาตุภูมิมาสู่สำนึกชาตินิยม ไม่ใช่ไปกดทับหรือบิดเบือนสำนึกรักมาตุภูมิให้กลายเป็นสำนึกชาตินิยม






ตํานานชาวบ้านระจันก็เหมือนสำนึกรักมาตุภูมิอื่นๆในประวัติศาสตร์ไทยที่มักจะถูกกดทับหรือบิดเบือนให้กลายเป็นสำนึกชาตินิยมที่ผิดยุคผิดสมัยทั้งนี้เป็นเพราะเหตุอย่างที่อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ นั่นคือชาตินิยมไทยเป็นสำนึกที่ถูกผลักจากคนข้างบนลงมา ไม่ได้งอกออกมาจากสำนึกรักมาตุภูมิแบบใหม่ที่เกิดในหมู่ประชาชนวงกว้าง เมื่อต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงจากกำเนิดของรัฐสมัยใหม่ ชาตินิยมไทยจึงเป็นอุดมการณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของชนชั้นปกครองและบริวาร ไม่ใช่การถ่ายโอนสำนึกผูกพันต่อมาตุภูมิแบบเก่า มาสู่มาตุภูมิแบบใหม่ นั่นคือรัฐประชาชาติ


สำนึกรักมาตุภูมิคือความรู้สึกผูกพันต่อคนอื่นและธรรมชาติรอบตัวและต่อระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ต่อสิ่งเหล่านั้นอันล้วนเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ของคนดังนั้นสำนึกรักมาตุภูมิจึงเป็นเรื่องของผู้คน(หรือประชาชนในภาษาของรัฐประชาชาติ) ซึ่งมีอำนาจในการธำรงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ดังที่กล่าวแล้ว


สำนึกรักมาตุภูมิจึงยอมรับว่าประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในขณะที่ชาตินิยมซึ่งถูกผลักจากข้างบนลงล่างแบบไทยไม่มีพื้นที่ให้แก่ประชาชนเลยและด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องกดทับหรือบิดเบือนสำนึกรักมาตุภูมิในประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นการต่อสู้เสียสละของประชาชนเพื่อรักษาระบอบปกครองของชนชั้นสูง เพราะระบอบปกครองของชนชั้นสูงนั่นแหละ ที่ถูกนิยามว่าคือชาติ


ความตายและความเสียสละของชาวบ้านระจันในละคร จึงเป็นความตายและความเสียสละแก่ระบอบปกครองของชนชั้นสูง ดังราวกับว่า วีรชนเหล่านั้นไม่มีลูกมีเมีย ไม่มีครูบาอาจารย์ที่พวกเขานับถือ ไม่มีความผูกพันในวิถีชีวิตที่เขาชื่นชอบ


ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาชาติให้ปลอดภัยจากประชาชน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่