สถาบันการบินพลเรือน วิศวกรรม vs ช่างซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน

อยากถามว่าเรียนการบินพลเรือนระหว่าง วิศวกรรม กับ ช่างซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน อันไหนดีกว่าในเรื่องเงินเดือน สายการทำงาน อัตราแข่งขันการทำงาน อนาคตต่างๆ โอกาศตกงานอะไรประมาณนี้ค่ะ อีกอย่างคือผู้หญิงมีโอกาสมากน้อยแค่ไหนคะ แล้วถ้าเรียนช่างซ่อมจะต่อให้ได้ปริญญาตรีได้ยังไงบ้างคะ แล้ววิศวะสั่งงานแล้วช่างซ่อมลงแรงทำงานอย่างนี้เข้าใจถูกมั้ยคะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ก่อนอื่นมาฟังผมเล่าคร่าวๆก่อนว่างานซ่อมบำรุงของสายการบิน มีใครทำอะไรบ้าง แล้วคุณก็ค่อยมาดูว่าตัวเองชอบทำตรงไหน แล้วเลือกเรียนในหลักสูตรที่ตรงตามที่ต้องการ

สายการบินนั้นเป็น operator ซื้อเครื่องบินมาใช้งาน ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน เพราะฉะนั้นงานที่ทำในสายการบินนั้นเป็นงานซ่อมบำรุงโดยตรงครับ การซ่อมบำรุงนั้นรวมตั้งแต่
- การรับเครื่อง/ส่งเครื่อง/ลากเครื่อง/
- การ service เครื่องบินเช่น เติมน้ำมัน, น้ำดื่ม , ส้วม
- การตรวจเช็คเครื่องตามรอบของการซ่อมบำรุง พวก transit check, daily check, weeky check, A check ,c check
- การซ่อมเวลาเครื่องเสีย
- และอื่นๆเช่นการทำ modifications, maintenance planned work, มีอีกเยอะแยะเลยครับ

งานต่างๆที่ว่ามานี้ช่างจะเป็นคนทำ และจะมีช่างที่มี licence หรือบางบริษัทก็เรียก LAME - Licensed Aircraft Maintenance Engineer หรือจะเรียกให้หรูหน่อยก็ วิศวกรซ่อมบำรุง เป็นคนดูแลรับผิดชอบและเป็นคนเซ็นต์ รวมถึงการเซ็นต์ปล่อยเครื่องเมื่องานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยเครื่องพร้อมที่จะบิน

เนื่องจากงานเครื่องบินนั้นมันเยอะมาก ระบบก็ซับซ้อน เค้าจึงแบ่งช่างเครื่องบินออกเป็นหมวดย่อย ตามสายที่เรียนมา หลักๆแล้วก็จะมีสองกลุ่มดังนี้คือ

1 ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน Airframe & Powerplant พวกนี้เรียนเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ลำตัวเครื่องบิน โครงสร้าง รวมทั้งระบบต่างๆ ช่างกลุ่มนี้จะเป็นคนที่รู้เครื่องบินโดยรวมมากที่สุด งานที่ทำก็จะรับผิดชอบ เครื่องบินทั้งลำที่ได้รับมอบหมาย รับเครื่องส่งเครื่อง ,เช็คเครื่อง ,service , ซ่อมระบบและอุปกรณ์ที่เน้นไปทาง เครื่องยนต์กลไกต่างๆ

เวลาทำงานค่อนข้างจะลำบากตรากตรำ ตากแดดตากฝน

ที่สถาบันการบินพลเรือน หลักสูตรนี้คือ AMEL-Aircraft Maintenance Engineer License

2) ช่าง อิเล็กทรอนิกส์ จะเรียนทางด้านระบบที่เน้นไปในทางอิเล็กโทรนิคส์ เช่น ระบบเครื่องวัด ระบบวิทยุสื่อสาร ระบบ avionics ต่างๆ การทำงานก็จะซ่อมระบบหรืออุปกรณ์พวก ไฟฟ้า สายไฟ รีเลย์ แผงควบคุม กล่องควบคุม รวมถึงคอมพิวเตอร์ต่างๆ  

ช่างอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ต้องรับเครื่องส่งเครื่อง ไม่ต้องรับมอบหมายเครื่องลำใดโดยเฉพาะ  เวลาเครื่องเสียเกี่ยวกับระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เค้าก็จะเรียกมาทำเป็นครั้งคราวไป เรียกว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้กับช่าง  Airframe & power plant แต่งานก็สนุกไปอีกแบบ ไม่ต้องตากแดดตากฝนมากนัก

ที่ สถาบันการบินพลเรือน หลักสูตรที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์จะมีอยู่ 3 หลักสูตรคือ

a)  Avionics ( AT -AE )  ( 2ปี )
b) Aircraft Instruments ( AT-AI )  (2 ปี )
c) Avionic Engineering Programe ( AEE) โดยตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่าวิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน ( 4 ปี )

หลักสูตร a) กับ b) ข้างบนนั้นเป็นหลักสูตรเก่าดั้งเดิม มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่เครื่องบินยังไม่รู้จักคำว่า high speed data bus ตั้งแต่การทำงานของระบบเป็นแบบ Analog แต่ปัจจุบันระบบของเครื่องบินพัฒนาขึ้น มีการใช้การส่งสัญญานไฟฟ้าแบบ digital มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงมีการเปิดสอนหลักสูตรใหม่ ที่มองดูแล้วเหมือนรวมเอาสองหลักสูตรข้างบนเข้ามาไว้ด้วยกัน เรียกว่า Avionics

และเนื่องจากทางสถาบันการบินอยากให้เป็นหลักสูตรที่มีวุฒิปริญญาตรี เพื่อการแข่งขันกับสถาบันอื่นๆจึงได้จับมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารี ผนวกวิชาวิศวกรรมศาสตร์พื้นฐานเข้าไปด้วย ก็เลยได้หลักสูตร 4 ปีนี้มาครับ คือหลักสูตร Avionics Engineering Programe

ย้อนกลับไปเรื่องการทำงานอีกครั้ง ในบริษัทใหญ่ๆอย่างเช่นการบินไทย เค้ามีคนมากมีการแบ่งงานหน้าที่รับผิดชอบ ระหว่างช่างแต่ละหมวดหมู่ตามที่ผมเล่าข้างบนอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นสายการบินเล็กๆ หรือสายการบินต่างชาติที่เปิดซ่อมบำรุงในเมืองไทย ช่างทุกคนไม่ว่าจบอะไรมา จะทำงานเหมือนกันหมดเรียกว่าเหมาเข่ง ไม่ต้องมาแยกว่า Airframe & Powerplant หรือ Avionics ทุกคนต้องเรียนรู้งานทุกอย่าง

แล้วอนาตคของช่างจะไปไหนต่อ ? ความใฝ่ฝันของช่างทุกคน คือการสอบ Licence เพื่อก้าวขึ้นมาเป็น LAME- Licensed Aircraft Maintenance Engineer มีหน้าที่ตามที่ผมอธิบายไว้ข้างบน การสอบ licence ของไทยนั้น ช่างแต่ละหมวดหมู่ต้องมีประสบการณ์ ต่างกันตามกฎของกรมการบินพานิชย์ จึงจะไปสอบ licence ได้

- ช่าง Airframe & powerplant ที่เรียนหลักสูตร AMEL ต้องมีประสบการณ์ 2 ปี
( ขอแก้ไขตาม พรบล่าสุดปี 2557 ผู้ที่จบหลักสูตร AMEL รุ่น 1- 46 ต้องมีประสบการณ์ 1 ปี ใครจบรุ่น 47 ขึ้นไปต้องมีประสบการณ์ 2 ปี)
- ช่าง อิเล็กทรอนิกส์ ทุกหลักสูตร รวมถึง Avionics Engineering Programe ต้องการประสบการณ์ 4 ปี
- บุคคลอื่นที่จบจากหลักสูตร มหาวิทยาลัยอื่นๆ ต้องการประสบการณ์ 4 ปี

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ถ้าคุณเลือกเรียนหลักสูตร Avionics Engineering Programe ( วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน 4 ปี ) จบมาถ้าจะทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องบิน ก็ต้องไปเริ่มงานเหมือนช่างเครื่องบินที่จบหลักสูตรอื่น ทำงานเหมือนกันทุกอย่าง แต่ทำในสาย Avionics  และใช้เวลา 4 ปีจึงจะสอบ licence ได้

แต่ถ้าไม่อยากทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องบิน ก็มีทางเลือกอื่นเหมือนกัน มาดู .........

สายการบินนั้น นอกจากงานซ่อมบำรุงแล้วยังมีงานด้านอื่น ที่น่าสนใจอีกครับ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง เป็นงานนั่งโต๊ะทำอยู่ในออฟฟิส ไม่ต้องออกไปตากแดดตากฝน และยังได้ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาให้เป็นประโยชน์ด้วยครับ จริงๆแล้วเดิมทีสายการบินรับคนที่จบปริญญาตรีทั่วไปมาทำงานพวกนี้  แต่ปัจจุบันมีสถาบันและมหาวิทยาลัยต่างๆเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบินมากขึ้นเช่น หลักสูตรวิศกรรมการบิน เราจึงเห็นสายการบินรับคนเหล่านี้มาทำงานด้านนี้มากขึ้น งานเหล่านี้มีเยอะมาก แต่ผมจะขอยกตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกนะครับ

1) Maintenance Planning เป็นงานที่เกี่ยวกับการวางแผนการซ่อมบำรุงของเครื่องบิน

2) Technical service หรือ Tecnical engineer บางบริษัทอาจจะเรียกชื่อต่างกัน มีหน้าที่ช่วยในการติดตาม แก้ไขปัญหาต่างๆของเครื่องบิน การวางแผนการซ่อม จัดหาอะไหล่และอุปกรณ์

3) Maintenance Control มีหน้าที่จัดตรางการบินของเครื่องแต่ละลำ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ฝ่ายช่าง ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เวลาเครื่องเสีย เป็นเหมือนศูนย์กลางต้อง co กับทุกแผนกตั้งแต่ฝ่าย ช่าง, planning, flight operation, technical service

บุคลากรที่ทำในแผนกนี้ ส่วนมากมาจากหลายสายงาน เช่น ช่างที่มีประสบการณ์มากๆ, ปริญญาตรีทั่วไป, วิศวะ, เด็กจบใหม่ก็มี  เรียกว่ามาอยู่รวมๆกันแบ่งหน้าที่ตามความเหมาะสม

4) QA ก็เป็นอีกแผนกที่น่าสนใจ การรับคนก็เลือกๆเอาจากคนที่มีประสบการณ์จากหลายแผนก เด็กจบใหม่ก็รับ คละเคล้ากันไป

สุดท้ายผมสรุปพร้อมตอบคำถามให้นะครับ ในคำถามคุณถามถึงหลักสูตร " วิศวกรรม " ของสถาบันการบินพลเรือน ผมเข้าใจว่าหมายถึงหลักสูตร วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน ( Avionics Engineering Programe ) ใช่มั้ยครับเพราะเห็นมีอยู่หลักสูตรเดียว .....

1) ถ้าให้เลือกระหว่าง ช่างซ่อมบำรุง กับ วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน ของสถาบันการบินพลเรือน ?

- ผมดูตามความเหมาะสมแนะนำให้เลือกวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครับ น่าจะเหมาะกับผู้หญิงมากกว่า

2) อย่างไหนเงินดีกว่ากัน ?

- เงินได้เท่าๆกันครับเพราะจบมาก็ทำงานเป็นช่างเหมือนกัน เพียงแต่ถนัดคนละสายคือ สาย Avionics กับ Airframe & powerplant  นอกจากว่าคุณเลือกที่จะไม่ทำงานเป็นช่าง แต่ถ้าทำแผนกอื่นส่วนมาก เงินเดือนจะน้อยกว่าช่างครับ

3) การแข่งขันการทำงาน ?
- ณ ชั่วโมงนี้สายการบินเปิดรับตลอดเวลาครับ เพียงแต่ว่าเด็กจบใหม่ออกมา มีเยอะมาก คงต้องแย่งงานกันหน่อย การแข่งขันถือว่าสูงมากครับ

4) อนาคต ?
- ก็อย่างที่ผมบอกในตอนต้น คือสอบ Licence ก้าวขึ้นไปเป็น LAME ให้ได้ ผู้หญิงก็มีโอกาสไม่แพ้ผู้ชายครับ  แต่ความจริงคือผู้หญิงจบมามีน้อย ยังไม่ค่อยเห็นใครได้ขึ้นมาเป็น LAME

สายงานนี้ง่ายๆไม่ซับซ้อนหรอกครับ แค่ได้เป็น LAME ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว เงินเดือนดีพอสมควร จากนั้นถ้าใครเก่งด้านบริหารก็อาจจะได้ขึ้นไปต่อเป็นพวก Maintenance Manager อะไรงี้ครับ  

5) วิศวะเป็นคนสั่งงานส่วนช่างเป็นคนออกแรงทำงานใช่หรือไม่..
- ไม่ใช่ครับ คนที่ออกคำสั่งและรับผิดชอบงานทั้งหมดคือ LAME ( licensed aircraft maintenance engineer )

6) ช่างซ่อมจะต่อให้ได้ปริญญาตรีได้อย่างไร ?

- ต้องเอาหน่วยกิจไปเทียบโอน เรียนต่อมหาวิทยาลัยเปิด ในสาขาอื่นๆครับ สาขาซ่อมบำรุงอากาศยานไม่มีเปิดสอนถึงปริญญาตรี แต่ผมบอกได้เลยว่า ปริญญาตรีไม่ได้ช่วยในเรื่องของความก้าวหน้าในการงานเลยครับ ช่างเครื่องบินส่วนมาก 90% ไม่มีใครคิดที่จะไปเรียนต่อ นอกจากคนที่รักเรียนจริงๆ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่