ข้อถกเถียงเรื่องการโปรยทานในงานต่างๆกับจุดกึ่งกลางของคำว่า "บุญ"

กระทู้ข่าว
จากมติชนออนไลน์

การโปรยทานในงานอุปสมบทหรืองานบวชเป็นประเพณีที่ชาวไทยปฏิบัติมานานแล้ว การโปรยทานก่อนเข้าโบสถ์เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตามคติความเชื่อว่าต่อจากนี้ไป นาคได้สละสมบัติทุกอย่างเพื่อดำเนินชีวิตตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเชื่อกันว่าเงินที่นาคโปรยเป็นเงินบริสุทธิ์ ผู้ที่ได้รับมักจะนำไปเป็นขวัญถุงเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคล แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวเรื่องการโปรยทานด้วยเงิน 3 แสนบาท และโปรยโทรศัพท์มือถือภายในงานบวช ทำให้หลายคนสงสัยว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่

พระวิเชียรโมลี เจ้าอาวาสวัดหนัง ราชวรวิหาร เล่าว่า การโปรยทานในงานบวชสามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นการให้ทาน แต่ไม่ควรให้มีงานรื่นเริงมากเกินไป เพราะการบวชถือเป็นการละกิเลสต่างๆออกจากทางโลก โดยเน้นให้ผู้บวชได้รับบุญกุศล (ฟังเสียงสัมภาษณ์ในคลิป)
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การโปรยทานไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว และไม่จำเป็นต้องมีการโปรยทานก็ได้เนื่องจากไม่ใช่พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการบวช เพราะถึงจะไม่มีการโปรยทาน ผู้บวชก็สามารถสำเร็จเป็นพระได้ถ้าสามารถรักษาศีลตามข้อกำหนด

ขณะที่ในงานบุญอื่นๆเช่นงานทอดผ้าป่า งานทอดกฐิน ก็สามารถโปรยทานได้เพราะการโปรยทานเป็นการทำทานสร้างบารมีและบุญกุศลตามคติความเชื่อที่สืบทอดกันมา ดังนั้น ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ากิจกรรมต่างๆไม่ขัดต่อศีลธรรมและกฎหมายรวมถึงไม่เกินกำลังและความสามารถของตัวเองก็สามารถทำได้โดยผู้ให้และผู้รับต่างได้ประโยชน์ทางกายและใจทั้งสองฝ่าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่