[CR] ร้อยเรียงเรื่อง 'ลาว' ผ่านการเดินทางจากเชียงรายสู่หลวงพระบางโดยเรือช้า

[รีวิวนี้เป็นการเดินทางเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วนะคะ เขียนไว้ตั้งแต่กลับมาจากทริปใหม่ๆ แต่ยังไม่เคยเอามาลงในพันทิป ระหว่างที่ปั่นรีวิวทริปญี่ปุ่น (ที่ยังไปไม่ถึงไหน) ขอเอารีวิวเก่าๆ มาให้ลองอ่านดูค่ะ]

การเดินทางไปเยือนประเทศลาวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองของเรา หลังจากที่เมื่อหลายปีก่อนเราได้ไปเยือนนครหลวงเวียงจันทน์มาแล้วในฐานะนักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไปศึกษาดูงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์

แต่สำหรับครั้งนี้ เราจะไปในฐานะนักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์และเมืองที่เราตั้งใจจะไปเยือนก็คือ ‘หลวงพระบาง’ เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศลาว

เราเริ่มวางแผนการเดินทางหลังจากเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วม(เดิน)ทางเพียงคนเดียวของทริปนี้ได้รับปากว่าจะไป ‘สะบายดีหลวงพระบาง’ ด้วยกันอย่างแน่นอนแล้ว

สิ่งแรกที่เราทำก็คือ เกริ่นกับหัวหน้าว่าจะขออนุญาตหนีเที่ยวซัก 3-4 วัน และเมื่อไม่มีคำปฏิเสธใดๆ เราก็หาเวลาว่างไปทำหนังสือเดินทาง ไม่อยากจะบอกเลยว่านี่เป็นการเดินทางออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเรา

การเดินทางไปหลวงพระบางสามารถไปได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถ ทางเรือ และเครื่องบิน ซึ่งเราพยายามหาข้อมูลต่างๆ อยู่หลายวัน จนสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปที่จะน่าจะปลอดภัยสำหรับการเดินทางของผู้หญิงสองคน และที่สำคัญเหมาะสมกับวันลาและจำนวนเงินในกระเป๋าของพวกเราด้วย

แผนการเดินทางคร่าวๆ ของพวกเรา เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ > เชียงของ > ห้วยซาย > ปากแบ่ง > หลวงพระบาง > เวียงจันทน์ > หนองคาย ก่อนจะปิดท้ายที่อุดรธานี

จริงๆ แล้ว เราจัดการจองตั๋วเครื่องบินขากลับไว้แล้วก่อนที่พวกเราจะรู้เส้นทางที่จะไปเสียอีก เพราะพวกเราตั้งใจแล้วว่าจะกลับทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เชื่อมต่อระหว่างเวียงจันทน์กับหนองคาย แต่ขาไปนั้นพวกเรายังไม่แน่ใจว่าจะไปทางด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน หรือทาง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

แต่ด้วยข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตที่พวกเราเจอ การเดินทางทางด่านห้วยโก๋นยังลำบากกว่าทาง อ.เชียงของค่อนข้างมาก เพราะยังไม่มีรถโดยสารไปถึงที่ด่านโดยตรง พวกเราต้องนั่งรถไปลงที่ อ.ทุ่งช้าง จากนั้นต้องต่อรถตู้หรือรถประจำทางไปที่ด่านอีกต่อหนึ่ง ซึ่งถ้าวางแผนไม่ดี พวกเราอาจจะพลาดเที่ยวรถที่ต้องการและต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเหมารถไปที่ด่าน เพราะฉะนั้นเส้นทาง อ.เชียงของน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


เราลืมแผนที่...

คือสิ่งที่เราค้นพบระหว่างที่นั่งอยู่ที่สถานีขนส่งก่อนออกเดินทางเพียงไม่กี่นาที แต่ก็ยังโชคดีที่มีแผนที่สำรองอีกฉบับที่เพื่อนร่วมทางของเรานำติดตัวมาด้วย แม้ว่าจะละเอียดได้ไม่เท่ากับแผนที่ที่แนบมากับหนังสือท่องเที่ยวที่เรามี แต่มันก็ช่วยให้การเดินทางครั้งนี้ของพวกเราไม่ลำบากจนเกินไปนัก

จากการโทรไปสอบถามตารางการเดินรถกับบขส. 2 ครั้ง เราได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยัง อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าพวกเราขึ้นรถเที่ยว 20.00 น. ก็น่าจะถึงเชียงของไม่เกิน 7 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น และมีเวลา 2 ชั่วโมงในการทำธุระส่วนตัวและหาซื้อเสบียง ก่อนจะข้ามไปยังฝั่งลาวเพื่อขึ้นเรือตอน 9 โมงเศษ

นั่นคือแผนการคร่าวๆ ที่พวกเราวางไว้

แต่ในความเป็นจริง เวลาที่คิดว่าจะได้เดินเล่นอยู่ริมแม่น้ำโขงพวกเรายังอยู่บนรถทัวร์ปรับอากาศ ม.4(ข) ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่าน จ.ลำปางเข้าสู่ จ.พะเยา ตอนนั้นเรายังมองโลกในแง่ดีว่าอีกไม่เกินหนึ่งชั่วโมงพวกเราน่าจะถึงเชียงของ ซึ่งก็ยังเหลือเวลาให้พวกเราได้เตรียมตัวอีกเล็กน้อย

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป (ไวเหมือนโกหก)

พวกเรายังไม่ถึงเชียงของและยังนั่งอยู่บนรถทัวร์ปรับอากาศ ม.4(ข) เหมือนเดิม
แล้วที่นี่ที่ไหน?

เราเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่าง เพราะเส้นทางที่รถแล่นผ่านเริ่มเปลี่ยนจากถนนสายหลักเป็นถนนสายรองที่ตัดผ่านหมู่บ้านต่างๆ ที่สำคัญความเร็วของรถก็ลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับความเร็วของเข็มบนหน้าปัดนาฬิกา

ถ้านับรวมเวลาที่พวกเรานั่งรถมา 11 ชั่วโมงบวกกับเวลาที่รถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตอีกหนึ่งชั่วโมง (พวกเราขึ้นรถที่รังสิต) เท่ากับว่ารถคันนี้ใช้เวลามาแล้ว 12 ชั่วโมง แต่จนป่านนี้พวกเราก็ยังไม่เห็นป้ายบอกทางที่เขียนว่าเชียงของแม้แต่ป้ายเดียว

สุดท้ายเราเลยต้องหันมาใช้บริการแผนที่ของอากู๋แห่ง Google

ปรากฏว่า ณ เวลา 8.00 น. พวกเราสองเรากำลังอยู่ที่ ต.เชียงเคี่ยน อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งห่างจาก อ.เชียงของ เป็นระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร และด้วยความเร็วของรถในตอนนั้นจะต้องใช้เวลาอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงจะถึงจุดหมายแรกของพวกเรา


ฤาคืนนี้จะได้นอนที่เชียงของอีกหนึ่งคืน?

เพราะตามข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เรือช้าที่ไปหลวงพระบางจะมีประมาณ 9.00 น. - 9.30 น. แล้วถ้าพวกเราต้องใช้เวลาเดินทางอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งกว่าจะถึงเชียงของก็ถือว่าเฉียดฉิวแบบสุดๆ

แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ เราก็ได้แต่ภาวนาให้วันนี้เรือไม่เต็มและออกช้ากว่าเวลาปกติ

หวังว่าฟ้าคงจะเมตตาผู้หญิงไทยตัวดำๆ คนนี้ ^^

ยิ่งผ่านเขตชุมชน ความเร็วของรถก็ยิ่งช้าลง เพราะผู้โดยสารเริ่มทยอยลงเป็นระยะๆ แต่อะไรก็ไม่เท่ากับตอนที่คนขับจอดรถให้พนักงานประจำรถลงไปซื้อไส้กรอกอีสานข้างทางในเขต อ.พญาเม็งรายอย่างสบายใจ ขณะที่ผู้โดยสารอย่างน้อยสองคนกำลังนั่งนับเวลาถอยหลังเพื่อให้การเดินทางเป็นไปตามแผนที่วางไว้

และแล้วเวลาก็ผ่านไปอีกหนึ่งชั่วโมง

พวกเรายังไม่ถึงเชียงของและยังนั่งอยู่บนรถทัวร์ปรับอากาศ ม.4(ข) เหมือนเดิม

อีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้?

ยังเหลือระยะทางกว่า 50 กิโลเมตรกว่าจะถึง อ.เชียงของ แม้ในใจเราจะยังหวังเล็กๆ ว่าพวกเราจะทันเรือช้าที่ไปหลวงพระบาง แต่เราก็เริ่มคิดแผนสำรองสำหรับการท่องเที่ยวในเชียงของอีกหนึ่งวัน เพราะเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พวกเราจะไม่สามารถไปถึงเชียงของได้ก่อนเวลาเก้าโมงครึ่ง

จาก อ.พญาเม็งราย เข้าสู่ อ.เวียงเชียงรุ้ง ที่นี่เราเริ่มเห็นป้ายบอกทาง ‘อ.เชียงของ’ ไม่อยากจะบอกเลยว่าดีใจจนน้ำตา(แทบ)ไหล ในที่สุดก็ใกล้ความจริงซะที

หลายทริปที่ผ่านมา เราใช้บริการรถของบขส. มาโดยตลอด แต่ไม่มีครั้งไหนที่ต้องคอยลุ้นเท่ากับครั้งนี้ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาเส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นทางหลวงสายหลักที่เชื่อมระหว่างจังหวัดมากกว่าถนนสายเล็กๆ ที่ตัดผ่านตัวอำเภอ และที่สำคัญรถทุกคันจะมีจุดส่งผู้โดยสารที่ชัดเจน ไม่เหมือนกับคันที่พวกเรากำลังนั่งอยู่ตอนนี้ที่จอดทุกจุดที่ผู้โดยสารต้องการจะลง ถ้าบ้านใครอยู่ริมถนนก็เรียกได้ว่าส่งถึงประตูบ้านกันเลยทีเดียว

ก็ไม่บ่อยมาก แค่เหลือผู้โดยสารไม่ถึง 10 คนจากจำนวนที่นั่ง 50 ที่นั่งเท่านั้นเอง

จริงๆ แล้ว เราพอจะเข้าใจเรื่องการจอดรถส่งผู้โดยสาร แต่สิ่งที่เรารับไม่ได้และเริ่มรู้สึกไม่พอใจก็คือ คนขับรถจอดให้พนักงานประจำรถวิ่งลงไปถามราคาถังน้ำที่ร้านค้าข้างทาง โชคดีที่ไม่มีแบบที่พวกเขาต้องการ ไม่เช่นนั้นคงต่อราคายืดเยื้อกันไปอีกหลายนาที

ก่อนการเดินทางครั้งนี้ เราเตรียมใจเรื่องเวลาการเดินทางในประเทศลาวมาก่อนแล้วว่าอาจจะมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนและถนนหนทางยังไม่ดีนัก แต่เราก็ไม่เคยคิดเลยว่าอะไรๆ จะผิดแผนตั้งแต่ตอนพวกเรายังไม่ทันได้ข้ามแดน

เราไม่แน่ใจว่ามีใครบางคนบนฟ้าต้องการให้พวกเราปรับตัวให้พร้อมก่อนไปใช้ชีวิตแบบ Slow Life ในประเทศลาวรึเปล่า ถึงส่งบททดสอบมาให้พวกเราเป็นระยะๆ

และเราก็เกือบจะสอบตก

เมื่อมีผู้โดยสารลงที่บ้านครึ่ง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของ อ.เชียงของ แล้วพนักงานประจำรถดันเหลือบไปเห็นผลบะหลอด (หรือมะหลอด ผลไม้ชนิดหนึ่งลูกเล็กๆ สีแดงสด) ที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง และเธอพยายามบอกคนขับรถให้ขอกับเจ้าของบ้านที่น่าจะรู้จักกัน

ตอนนั้นเราตัดสินใจเลยว่าถ้าเธอลงจากรถเพื่อไปเก็บผลไม้ที่ว่านี้ คงถึงเวลาที่เราต้องลุกจากที่นั่งเพื่อทำอะไรซักอย่างก่อนที่จะสายไปกว่านี้

และเหมือนพวกเขาจะได้ยินสิ่งที่เราคิด เพราะรถเคลื่อนตัวต่อไป โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรแม้แต่คำเดียว

ความเร็วของรถเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อพ้นเขตชุมชนแล้ว ทิวทัศน์สองข้างทางเริ่มเปลี่ยนจากบ้านเรือนเป็นทุ่งนาสีเขียว ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เราชอบมากที่สุดช่วงหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้

เราหลงรักทุ่งนา เพราะความเขียวขจีของมันทำให้เรารู้สึกสดชื่นและสบายใจอย่างบอกไม่ถูก

หลังจากเพลิดเพลินกับการชมธรรมชาติของทุ่งนาและภูเขาอยู่พักใหญ่ พวกเราก็กลับสู่แหล่งชุมชนอีกครั้ง ตามแผนที่ของอากู๋ที่เราเปิดไว้ตลอดสองชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้พวกเรารู้ว่า

ที่นี่คือเชียงของ

รถทัวร์ปรับอากาศม.4(ข) จอดให้พวกเราลงที่หน้าตลาดตอน 9.55 น. เหลืออีกเพียง 5 นาทีเท่านั้นก็จะครบ 14 ชั่วโมงของการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงของ

แล้วเวลา 10 ชั่วโมงที่เจ้าหน้าที่ของบขส. บอกกับเรา มันมาจากไหน?
ชื่อสินค้า:   หลวงพระบาง-เวียงจันทร์
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่