กว่า 4 ปี “ดอกส้มสีทอง” ... บทพิสูจน์นิยายน้ำเน่าผ่าน “สังคมปากว่าตาขยิบ”

“ความสุขของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ย่อมหมายถึงความทุกข์ของอีกฝ่ายเสมอไป
ไฟริษยาที่รุมร้อนอยู่เป็นนิจ มักนำมาซึ่งความทุกข์ลุกโหมในดวงจิต ดังเพลิงนรกที่ไม่รู้ดับ
มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับสตรีที่เลือกทางเดินชีวิตแบบนี้
ไม่ว่าจะจงใจหรือบุญกรรมชักนำไป...”



          นี่ก็ครบ 4 ปีแล้ว จากนวนิยายชื่อดัง ... ที่โล่ดแล่นสู่จอแก้ว “ดอกส้มสีทอง” ภาคต่ออันลือเลื่อง จาก “มงกุฎดอกส้ม” ... จุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จทั้งปวงมาจากบุคคลผู้นี้... “คุณถ่ายเถา สุจริตกุล” ผู้ประพันธ์



“คุณถ่ายเถา สุจริตกุล” ผู้ประพันธ์



          “ดอกส้มสีทองคือ ... นวนิยายน้ำเน่าที่มีน้ำดี” ผู้ประพันธ์ประกาศจุดยืนในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ...ดอกส้มสีทอง ... ก็คงไม่ต่างกับนวนิยายหลายเรื่อง ที่ถูกนำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ แต่จะมีสักกี่เรื่องที่สามารถครองความนิยมของผู้ชมได้อย่างมากมาย ทั้งยังสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม จนสามารถกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่แก่ ... “สังคมปากว่าตาขยิบ”



นวนิยาย "ดอกส้มสีทอง"



>>> จุดเริ่มต้นเรื่องราว... สะท้อนสังคม

          “เรยา วงศ์เสวต” หญิงสาวหน้าตาคมเข้ม ผิวคล้ำนวล เธอขี้เกียจเรียนหนังสือตั้งแต่เล็ก และมักหาข้ออ้างไม่ไปโรงเรียนเสมอ
ด้วยความที่เรยาไม่สนใจเรียน เส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตจึงริบหรี่... ในวัยเด็กเธอถูกกลั่นแกล้งสารพัด จึงไม่แปลกเลยหากความใฝ่ฝันของเรยาคือได้อยู่จุดที่สูงสุดฟ้า ทว่าวิธีการไปสู่ความฝันนั้นอาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด แต่สำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกมากนักอย่างเรยา การหาคู่ครองชีวิตเป็น “ผู้ชายรวยๆ” อาจเป็นหนทางเดียวที่จากดินจะกลายเป็นดาวได้ ... แต่การได้มาของเธอนั้น มันคือการแย่งชิง “สามี” ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

          “ฉันต้องทำ ฉันต้องท้อง” คำประกาศกร้าวจากเรยา “การท้อง” คือหนทางเดียวที่เธอจะผูกมัดสามีคนอื่นมาเป็นของตนได้ เธอมองว่า “ความสวย” ของเธอมีค่า มีราคา เธอยอม... แม้กระทั่งกินน้ำใต้ศอกของคนอื่นเพื่อทลายข้อจำกัดของชนชั้น มุ่งหวังจะไปให้ถึงเป้าหมายที่สูงสุดเอื้อม
เธอโยนความผิด คำดูถูกเหยียดหยามของคนอื่นไปที่ “แม่” บังเกิดเกล้า เธอมองเสมอว่าอาชีพ “คนใช้” ที่แม่เธอทำเพื่อเลี้ยงดูเธอมาทั้งชีวิตนั้น คือ ... สิ่งที่ไร้เกียรติ์ ไร้ศักดิ์ศรี หารู้ไม่ว่าแม่ของเธอคือ ... คนเดียวที่รักเธอสุดหัวใจ ...อย่างแท้จริง แตกต่างกับผู้ชายคนอื่นที่หวังเสพความสุขจากเรือนร่างของเธอ... แล้วก็จากไป





>>> จากนวนิยาย... สู่จอแก้วอันลือเลื่อง

          จากตัวอักษรในนวนิยาย ... ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านจอแก้ว เป็นเสมือนการปัดฝุ่นนวนิยายเล่มหนาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง “ดอกส้มสีทอง” เป็นละครที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งปี 2554 ทั้งในด้านกระแสตอบรับจากบุคคลในสังคม อีกทั้งยังสามารถการันตรีความสำเร็จด้านคุณภาพด้วยการคว้ารางวัลอันทรงเกียรติ์แทบทุกสถาบัน

          การที่ตัวละครเอกอย่าง “เรยา” ได้มีชีวิตโลดแล่นอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ เสมือนหนึ่งตัวละครที่สามารถสะท้อนความเป็นจริงหลากหลายมุมในชีวิตมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องแก่งแย่งชิงดีที่มีให้พบเห็นในทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งการแบ่งชนชั้น ผู้มีบารมีมากกว่ามักกดขี่ผู้น้อยกว่า
ตัวละครทุกตัวถูกสร้างขึ้นอย่างมีเหตุผล เช่นเดียวกันกับ “เรยา” การเลี้ยงดูลูกของ “แม่” แบบเอาใจทูนหัวทูนเกล้า ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน ล้วนมีส่วนทำให้เรยาเป็นแบบนี้ การโดนดูถูกตั้งแต่เด็กส่งผลให้มีความทะเยอะทะยานจนเกินพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้... เขาอยากก้าวหน้าไปยืนในจุดที่ต้องการให้ได้เร็วที่สุด หารู้ไม่ว่าเส้นทางนั้นมันยิ่งนำพาเธอดำดิ่งสู่ขุมนรกอเวจีให้ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าเดิม หากมองถึงมุม “เรยา” เองนั้น เธอก็ใช่จะมีความสุข การที่อยากได้อยากมี อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง สิ่งนี้คงบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ... เธอมีความสุขจริงๆ หรือ?





>>> ปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่แห่ง ... สังคมไทย

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ดอกส้มสีทอง” สามารถเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้ก็เพราะ ... การถูกถ่ายทอดเป็น “ละครโทรทัศน์” ส่งผลให้เป็นที่สนใจจากผู้ชมและนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม เหรียญยังมีสองด้าน เฉกเช่นเดียวกันกับกระแสตอบรับของคนในสังคม ... ย่อมมีทั้งคนชื่นชอบและด่าทอ

          สังคมไทยกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ชื่อ "เรยา" คงเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า “ละคร ... คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย” ความร้อนแรงของวิวาทะที่ “เห็นต่าง” ต่อเรื่องราวใน “ดอกส้มสีทอง” โดยเฉพาะพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุพการี และการมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายมากหน้าของตัวละคร “เรยา วงศ์เสวต” ในท้องเรื่อง ได้กลายมาเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอย่างไม่สิ้นสุดในสังคม ผู้ชมจำนวนหนึ่งที่มองว่าไม่เหมาะสมได้ทำการเรียกร้องผ่านไปยังกระทรวงวัฒนธรรม ... ซึ่งได้มีการตัดเนื้อหาบางส่วนออกในเวลาต่อมา

          กระแสตอบรับในสังคมนี้นำพามาซึ่ง ... “ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญแห่งวงการโทรทัศน์” แฟนละคร แฟนนิยายจำนวนมากล้วนต้องการอยากหวนกลับไปอ่านนวนิยายฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง นวนิยาย “ดอกส้มสีทอง” ที่เรียกได้ว่าถูกปิดตายไปแล้ว ถูกตีพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง ...กลับมาโล่นแล่นบนแผงหนังสืออย่างสง่างาม ...ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา





>>> ก้าวต่อไปใน ... สังคมปากว่าตาขยิบ

          “ดอกส้มสีทอง” ได้กลายเป็น “นวนิยาย” น้ำเน่าที่สามารถเป็นกระจกสะท้อนสังคม “ปากว่าตาขยิบ” ได้เป็นอย่างดี การคิดอย่างแล้วพูดอีกอย่างของคนไทยเป็นนิสัยที่แก้ได้ยากยิ่ง ... เรื้อรังจนเกินเยียวยา... ถึงเวลาอันควรแล้วหรือยัง? ที่เราควรร่อนตะแกรงหาประเด็นสำคัญ มากกว่าแค่เพียงตัดสินจากเปลือกนอก ถึงเวลาอันควรแล้วหรือยัง? ที่เราควรจะก้าวข้ามสังคมปากว่าตาขยิบนี้ไปให้ได้ และถึงเวลาอันควรแล้วหรือยัง? ที่เราควรยอมรับโดยศิโรราบว่าเส้นแบ่งระหว่างศีลธรรมในอุดมคติกับความเป็นจริงนั้นต่างกัน?

          คุณอาจลืมคิดไปหรือเปล่า? แท้จริงแล้วมีคนแบบ “เรยา” อยู่รอบตัวคุณ คนที่ทะเยอทะยาน คนที่เห็นเงินคือพระเจ้า คนที่มองว่าการแย่งของรักของคนอื่นได้คือ “ชัยชนะ” ...อยู่ที่ว่าคุณเลือกที่จะยอมรับหรือไม่เท่านั้น ... เรื่องๆ หนึ่งมีหลายแง่มุม ทุกความเลวมีที่มา ทุกความดีมีเหตุผล... สีดำมันจะชัดเจนก็ต่อเมื่อมีสีขาว สีขาวจะชัดเจนก็ต่อเมื่อมีสีดำ เราต้องพร้อมยอมรับโลกทั้งสองด้าน เสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

          การเรียนรู้ผ่าน “ดอกส้มสีทอง” ... มันคือบทเรียนชีวิตที่เราไม่ต้องลงภาคสนามเอง สุดท้ายแล้วเราก็จะเห็นว่าคนไม่ดีจะได้รับผลกรรมอย่างไรบ้าง แต่... ในสังคมจริงบางครั้งเราก็ไม่มีโอกาสได้เห็น ... “ดูหนัง ดูละครแล้วย้อนดูตัว” เราจะได้รับบทเรียนมากมาย จากสิ่งที่ใครๆ บอกไม่ดี ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า


“คนมีปัญญานั้น ต้องรู้จักแสวงหาปัญญา... จากสิ่งซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็น”






          ท้ายสุดนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนที่อ่านบทความนี้จนจบนะครับ หวังว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน "ดอกส้มสีทอง" คงเป็นเรื่องราวในดวงใจของใครหลายๆ คนเช่นเดียวกับผมนะครับ ผมเพิ่งเขียนบทความยาวๆ เป็นบทความแรก หากบทความมีข้อผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่