ข้อคิด : แม้เป็นธรรมะที่ดีที่แท้ แต่เพราะตั้งแง่ว่า ต้องออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า กามนิตจึงไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม

กระทู้สนทนา
... เปรียบเทียบกับท่านปุกกุสาติ


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

๑๐. ธาตุวิภังคสูตร (๑๔๐)

             [๖๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยัง
พระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อชื่อภัคควะยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า
ดูกรนายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่ง
เถิด นายภัคควะทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ใน
โรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตาม
สบายเถิด ฯ

             [๖๗๔] ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตอุทิศพระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา ปุกกุสาติกุลบุตรนั้นเข้าไปพักอยู่ในโรง
ของนายช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่าน
ปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ถ้าไม่เป็นความ
หนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกร
ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด ฯ

             [๖๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้ว ทรง
ลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรง
พระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก แม้ท่าน
ปุกกุสาติก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรง
พระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถามดูบ้าง ต่อนั้น
พระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านบวช อุทิศใครเล่า หรือว่า
ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ฯ

             [๖๗๖] ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้
ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดมผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์ฟุ้งไป งามอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มี-
*พระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ
จรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้
เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้า
บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดา
ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ

             พ. ดูกรภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น
ประทับอยู่ที่ไหน ฯ

             ปุ. ดูกรท่านผู้มีอายุ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถีอยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ
เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นั่น ฯ

             พ. ดูกรภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่าน
เห็นแล้วจะรู้จักไหม ฯ

             ปุ. ดูกรท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย
ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก ฯ

             [๖๗๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวช
อุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า
ดูกรภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าวต่อไป ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ ฯ

            [๖๗๘] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖
มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็น
ธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป
ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียก
เขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ
พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก ฯ

...

            [๖๙๔] ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า พระศาสดา
พระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ จึงลุกจากอาสนะ
ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้า
แล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกพระผู้มี-
*พระภาคด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ขอพระผู้มีพระภาคจงรับอดโทษล่วงเกินแก่
ข้าพระองค์ เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด ฯ

             [๖๙๕] พ. ดูกรภิกษุ เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่
เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งเธอได้สำคัญถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ
แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษแล้วกระทำคืนตามธรรม เราขอ
รับอดโทษนั้นแก่เธอ ดูกรภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ
แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้ นั่นเป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ

             ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสมบทในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคเถิด ฯ

             พ. ดูกรภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ ฯ

             ปุ. ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า ฯ

             พ. ดูกรภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบ
อุปสมบทไม่ได้เลย ฯ

             [๖๙๖] ลำดับนั้น ท่านปุกกุสาติ ยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้-
*มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
หลีกไปหาบาตรจีวร ทันใดนั้นแล แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหา
บาตรจีวรอยู่ ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว
ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุกกุสาติที่พระผู้มี-
*พระภาคตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ คนนั้น ทำกาละเสียแล้ว เขาจะมีคติ
อย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร ฯ

             [๖๙๗] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุกกุสาติกุลบุตรเป็นบัณฑิต ได้บรรลุ
ธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ เพราะสิ้นสัญโญชน์อันเป็นส่วน
เบื้องต่ำ ๕ เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีกเป็น
ธรรมดา ฯ

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ


             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๘๗๔๘ - ๙๐๑๙.  หน้าที่  ๓๗๐ - ๓๘๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=8748&Z=9019&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=673

----------------------

ท่านปุกกุสาติแม้จะไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า แต่เลื่อมใสในธรรมของพระองค์ ถึงกับบวช(เอง) อุทิศพระองค์
วันหนึ่ง ขณะที่พักอยู่ที่บ้านนายช่างหม้อ ได้สนทนากับภิกษุรูปหนึ่ง ได้ฟังธรรมจากภิกษุรูปนั้น
เมื่อฟังธรรมจบ จึงคิดว่า ผู้ที่แสดงธรรมได้จริงแท้ผู้นี้จะเป็นใครอื่นไม่ได้ นอกจากพระพุทธเจ้า
ท่านปุกกุสาติเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุเป็นพระอนาคามี

☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆☆


เรื่องกามนิต-วาเสฏฐี เนื้อเรื่องโดยย่อ
(วรรณกรรมอิงพุทธศาสนา)

ในเรื่องกามนิต กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งผู้ซึ่งมีนามว่า กามนิต ผู้ที่หวังจะได้เข้าพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อที่จะได้ขจัดความทุกข์ต่างๆ ที่ตนได้เผชิญมา และได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์

ในระหว่างการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น กามนิตได้เข้าขอพักที่บ้านของช่างปั้นหม้อท่านหนึ่งเป็นการชั่วคราว และในวันเดียวกันนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้เสด็จมาขอพักอาศัยที่บ้านหลังนั้นด้วยพอดี กามนิตจึงได้มีโอกาสเล่าเรื่องของตนเองและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่รู้เลยว่า สมณะที่สนทนาอยู่นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ทรงฟังกามนิตเล่าเรื่องในอดีตที่มีความรักผูกพันต่อวาเสฏฐี ว่าโดยสรุปจากเรื่องที่ฟังกามนิตเล่ามา ก็จะเห็นได้ว่า

เมื่อใดมีรัก เมื่อนั้นมีทุกข์

ซึ่งกามนิตหนุ่มก็ค้านอย่างเต็มที่ เพราะในความเห็นของเขา เมื่อชีวิตมีรัก ก็หมายถึงมีความสุขเกิดขึ้นในชีวิต
ทั้งนี้เป็นการมองชีวิตที่ยังไม่รอบ เพราะมองแค่ความสุขที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นที่เกิดความรักขึ้นเท่านั้น

ถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้เห็นถึงความจริงของชีวิตต่อไปอีกว่า เมื่อคนเรามีความรักหรือมีสิ่งที่รัก ในบั้นปลายก็จะเกิดทุกข์ขึ้น คือ
ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการพลัดพรากจากสิ่งรัก

โดยทรงตรัสต่อว่า ธรรมดาในชีวิตมนุษย์ย่อมประสบกับความทุกข์สองประการ คือหนึ่งการประสบกับสิ่งไม่รัก และการพลัดพรากจากสิ่งรัก ย่อมเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

ซึ่งในชีวิตของเรานั้นไม่สามารถปฏิเสธความจริงนี้ได้เลย หรือไม่อาจหาญที่จะกล่าวได้ว่าเราสามารถหลีกพ้นจากทุกข์สองประการในชีวิตนี้ได้

ในชีวิตของเรา จะเลือกพบหรือปรารถนาให้ในชีวิตมีแต่สิ่งที่ดี หรือประสบกับสิ่งที่รักและที่ชอบเสมอตลอดไปไม่ได้
ในทำนองเดียวกันก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการพลัดพรากจากสิ่งที่รักได้ตลอดกาล
เพราะไม่ช้าวันใดวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักนั้นจำต้องพรากจากเราไปแน่นอน

ไม่เราพลัดไปจากเขา หรือเขาพรากจากเราไป

สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา คือความทุกข์เสมอ

กามนิตหนุ่มได้ฟังก็คอตก เพราะเห็นจริงตามนั้น แต่อาศัยมานะทิฏฐิอันดื้อรั้น แทนที่จะกล่าวสาธุรับธรรมกลับไพล่เฉไฉกล่าวทำนองว่า

กามนิต : สิ่งที่ท่านกล่าวออกมานั้น ก็จริงอยู่ดูมีเหตุผล แต่เป็นคำที่ท่านกล่าวเองหรือว่าได้ยินมาจากพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า : เป็นคำที่เราพูดเอง


กามนิตจึงถอนหายใจแสดงความโล่งอกและกล่าวเสริมว่า ตนอยากไปกราบทูลถามธรรมข้อนี้ต่อพระองค์
หากเป็นคำที่ได้ยินออกจากพระโอษฐ์พระพุทธองค์เองจึงจะเชื่อถือตาม

พระพุทธองค์ทรงได้ยินดังนั้น จึงแสดงอาการดุษฎี คือนิ่งเฉยเงียบไม่ต่อล้อต่อเถียงให้ยาวความ

ตอนรุ่งเช้ากามนิตเร่งรีบออกเดินทางแต่เช้าด้วยดวงจิตที่ร้อนรน กระหายที่อยากจะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า โดยไม่เฉลียวใจเลยว่าตนมีโอกาสอันประเสริฐที่ได้สนทนาธรรมกับพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิดตลอดคืน แต่อนิจจาชีวิตตนถึงวาระสุดท้ายถูกวัวบ้าที่วิ่งสวนมาขวิดตาย
ที่มา www.gotoknow.org


คงพอที่จะน้อมนำมาเป็นอุทธาหรณ์ของชีวิตเราได้ว่า ธรรมะไม่ว่าจะหลุดออกมาจากปากผู้ใด หากได้ยินได้ฟังแล้ว เป็นธรรมแท้หรือความจริงแท้ ก็ให้น้อมใจรับฟังไว้ อย่าได้ประมาทว่าจะต้องได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่