หนังสือ/ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยควรเปลี่ยนการนำเสนอไหม

มีหลายครั้งที่เห็นคอมเม้นท์ในทำนองว่าคนลาวดูจะไม่ค่อยชอบไทย ดูจะชอบเวียดนามมากกว่า โดยเฉพาะในห้องกีฬาจะเห็นได้ชัด ในตอนที่แข่งกีฬาที่ลาวก็มีหลายๆ คอมเม้นท์เขียนมาทำนองนี้

ผมมองว่าคงเป็นเพราะเราคงมองประวัติศาสตร์ไม่รอบด้าน ตามประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียนกันมา เรามักจะเน้นเหตุการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศมาก เช่น พม่าบุกไทย ไทยโดนคุกคามจะถูกยึดเป็นเมืองขึ้น ทำให้ในบทเรียนประวัติศาสตร์ไทยจะไม่ค่อยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศรอบข้างที่ไม่ค่อยมีปัญหากับไทยเท่าไหร่นัก

อย่างเช่น ลาว ที่จำได้ก็คือย่าโมเท่านั้น เพราะว่ามีสงครามไทยกับลาว แต่ช่วงที่ไม่มีภัยคุกคามจากลาว ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้เอ่ยอะไรมากเท่าไหร่ พอถึงยุครัตนโกสินทร์ก็มีสงครามเก้าทัพกับพม่า(เพราะพม่ายังเป็นภัยคุกคามอยู่) และก็เรื่องภัยคุกคามจากฝรั่ง(จากการล่าอาณานิคม) จบลงตรงนั้น

แต่เรื่องสงครามอินโดจีนล่ะ เราไม่มีพูดถึงเท่าไหร่เลยว่าไทยเรามีบทบาทอะไรบ้างในช่วงนี้ ไทยเรามียิงกับทหารจากประเทศเพื่อนบ้านเหมือนกัน ไทยถูกมองว่าอยู่ฝั่งเดียวกันกับอเมริกา เมื่อสงครามเวียดนามจบลงที่อเมริกาถอยทัพ กองทัพคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายชนะ อเมริกาจึงถูกมองว่าเป็นตัวร้ายไป และก็น่าจะรวมถึงไทยด้วย ลาว/เวียดนามอยู่ฝั่งเดียวกันเมื่อชนะจึงกลายเป็นตัวเอก ฝ่ายแพ้จึงกลายเป็นตัวร้ายไป แถมไทยกับลาวก็มีปัญหาเรื่องดินแดนอีกด้วย ช่วงนั้นลาวก็ได้ทหารจากประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่ลาวจะชอบเวียดนามมากกว่า

กับประเทศอื่นอย่างมาเลเซียที่อยู่ทางใต้ อาจจะเพราะว่าไม่ค่อยมีทำศึกสงครามกัน ก็เลยไม่ค่อยมีเขียนในประวัติศาสตร์ไทย หรือจะอาณาจักรศรีวิชัยที่ไม่ค่อยได้ยินเหมือนกัน ส่วนมากจะได้ยินอาณาจักรลานนามากกว่าเพราะเวลาพม่าบุกอยุธยาก็จะมักตีล้านนาด้วย ส่วนอาณาจักรศรีวิชัยไม่ค่อยบุกอยุธยาเท่าไหร่อาจจะโดนอยุธยาบุกด้วย เลยไม่ค่อยเป็นข่าว

แต่อย่างไรก็ตามในการเรียนประวัติศาสตร์ไทยก็น่าจะมีเรื่องราวของพวกนี้บ้างนี่ เช่น ว่าไทยมีความสัมพันธ์ยังไงกับอาณาจักรศรีวิชัย ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าตอนไทยบุกยึดอาณาจักรนี้เรื่องราวมันเป็นยังไง หรือความสัมพันธ์ของไทยกับลาวหลังลาวเปลี่ยนการปกครองเป็นยังไง อันนี้ก็ไม่ค่อยรู้(หรือมันสมัยใหม่ไป?) เข้าใจว่าฝั่งลาวยังไงก็ต้องเขียนให้ประเทศตัวเองเป็นตัวเอกและประเทศที่โจมตีเค้าตอนสงครามอินโดจีนเป็นตัวร้ายอยู่แล้ว(นั่นอาจจะรวมถึงไทยด้วย)  หรือความสัมพันธ์ของอยุธยา/สยามกับมาเลเซียเป็นยังไงอันนี้ก็ไม่รู้ อย่างเรื่องรัฐปัตตานีก็เพิ่งมาได้ยินตอนที่มีเรื่องปัญหาภาคใต้กันแรงๆ นี่เอง

ถ้าจะเปลี่ยนตำราเรียนประวัติศาสตร์ มันคงจะยาก แต่พวกสื่อต่างๆ เช่น หนังสือ/สารคดีหรือภาพยนตร์ที่อิงประวัติศาสตร์ ก็น่าจะลองเอาเนื้อหาประวัติศาสตร์อื่นๆ มานำเสนอน่าจะง่ายกว่า เช่น ช่วงสงครามอินโดจีนที่ไทยก็ส่งทหารไปเวียดนามไปลาวเหมือนกัน คนที่ดูก็จะได้รู้ว่า อ้อ ไทยก็เคยทำเรื่องอย่างนี้ไว้ ก็ไม่แปลกที่เพื่อนบ้านเราเค้าจะมองเราอย่างนี้

ได้อ่านเนื้อหาในกระทู้นี้ http://topicstock.ppantip.com/writer/topicstock/2010/06/W9357239/W9357239.html มีข้อความนึงถูกใจ คือ ข้อความนี้


แต่ในท่ามกลางสิ่งที่ได้มานั้น ประเทศไทยก็ได้สูญเสียอะไรไปมากมายจากการเข้าร่วมในสงครามเวียดนามด้วยเช่นกัน โดยนอกจากชีวิตของเหล่าทหารหาญชาวไทยที่สูญเสียไปในการต่อสู้แล้ว ผู้ให้สัมภาษณ์มองว่า สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไป ก็คือโอกาสในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศ เพื่อนบ้านในอินโดจีนหลังสิ้นสุดสงคราม

“ที่ไทยมีปัญหามากในการปรับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนเพราะเราทำกับเขาไว้มากช่วงสงคราม เราส่งทหารไปรบ มีเครื่องบินบินออกจากประเทศเราไปทิ้งระเบิดประเทศเขาแทบจะทุกวัน หลังสงครามเลิก จะขอโทษเขาสักคำก็ไม่มี ไม่มีจริง ๆ ตอนนั้นไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ลูกของชาติชาย ก็ออกมาบอกว่าไทยควรจะขอโทษเวียดนาม ที่เราไปรบ ส่งทหารไป ก็เลยโดยหนังสือพิมพ์จวกเลยว่า ถ้าอย่างนั้น พม่าก็ควรจะมาขอโทษไทย ที่เคยส่งทหารเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้ก็เลยเงียบไปเลย”


คือถ้าคนที่ได้รับรู้ตรงนี้แล้วคงพอเข้าใจว่าทำไมคนลาวบางส่วนถึงไม่ค่อยชอบไทย จะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมหว่า ภาษาพูดก็คล้ายๆ ก็น่าจะสนิทกัน แต่ทำไมถึงดูไม่ค่อยชอบกันเลย

หรืออย่างวีรกรรมดอนแตง http://ppantip.com/topic/31185163 แต่อันนี้มันคงจะยังใหม่ไปมั๊ง อาจจะยังไม่เหมาะ

เรื่องบางเรื่องคนรุ่นก่อนทำไว้ แต่ไม่เคยเล่าให้ฟัง เราก็งงว่าทำไมเค้าถึงมีปฏิกิริยาอย่างนั้น เหมือนเพื่อนบ้านกันแต่ผู้ใหญ่ในบ้านเค้าทำเรื่องอะไรกันไว้เราก็ไม่รู้ เค้าก็ไม่เล่าให้ฟัง เล่าให้ฟังแต่ว่าบ้านเราโดนรังแกอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เรื่องอื่นๆ ไม่เคยเล่าให้ฟังเลย พอมีปัญหาทีก็งงว่าทำไมเค้าถึงคิดอย่างนั้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่