ศรัทธาในพระพุทธเจ้า จะมีความเพียรในกุศลธรรม...

อินทรีย์ ๕ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา
การปฏิบัติที่จะได้ผลเร็วหรือช้า ก็เนื่องด้วยอินทรีย์ ๕
พระสูตรที่ยกมานี้ เป็นพระสูตรที่พระสารีบุตรตรัสตอบพระพุทธเจ้าเรื่องศรัทธา
แต่ไม่จบแค่ศรัทธา
พระพุทธเจ้าตรัสถาม ๑
พระสารีบุตรตอบ ๕
เนื่องด้วยปัญญาของพระสารีบุตรที่ไม่มีประมาณ จึงตอบครอบคุมทั้งหมด
เมื่อตอบแล้ว พระพุทธเจ้าก็รับรองในคำตอบนั้น

ตรงนี้จะเจอบ่อยนะครับที่พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตร เหตุใดจึงถามพระสารีบุตร
ถ้าให้ผมเดา... ผมเดานะครับ เพราะผมไม่รู้จริงได้ในขณะนี้
ก็เนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์และความสุขของสาธุชนทั้งหลาย
ได้ประโยชน์ในคำตอบนี้ของพระสารีบุตร ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่าตอบได้แน่นอนครบถ้วน
และก็เพื่อยกย่องพระสารีบุตรด้วยอีกประการหนึ่ง ว่าเป็นผู้มีปัญญามาก

อนึ่งในพระสูตรนี้จะทำให้เราทราบรายละเอียดเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอินทรีย์ ๕

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

สัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธาของพระอริยสาวก
             [๑๐๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ ในแคว้นอังคะ
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาแล้วตรัสว่า ดูกรสารีบุตร อริยสาวกผู้ใดมีศรัทธามั่น
เลื่อมใสยิ่งในพระตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัยในตถาคตหรือในศาสนาของตถาคต.

             [๑๐๑๑] พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด มีศรัทธามั่นเลื่อมใสยิ่ง ในพระตถาคต
อริยสาวกนั้น ไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคตหรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา
พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม
มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

             [๑๐๑๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่า
อริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำพูดแม้นานได้.

             [๑๐๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร
เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.

             [๑๐๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มีศรัทธา
ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่าจักรู้ชัดอย่างนี้ว่า
สงสารมีที่สุดและเบื้องต้นอันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้
ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืดคืออวิชชา นั้นเป็นบทอันสงบ
นั่นเป็นบทอันประณีตคือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน.

             [๑๐๑๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวก
นั้นแล พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้น
ตั้งมั่นแล้ว รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้
ฟังมาแล้วนั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.
             [๑๐๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ศรัทธาของอริยสาวก เป็นสัทธินทรีย์ ดังนี้แล.
             [๑๐๑๗] พ. ดีละๆ สารีบุตร อริยสาวกใดมีศรัทธามั่น เลื่อมใสในตถาคต
อริยสาวกนั้นไม่พึงเคลือบแคลงหรือสงสัย ในพระตถาคต หรือในศาสนาของพระตถาคต ด้วยว่า
อริยสาวกผู้มีศรัทธา พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยัง
กุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.
             [๑๐๑๘] ดูกรสารีบุตร ก็วิริยะของอริยสาวกนั้น เป็นวิริยินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวก
ผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียรแล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่อง
รักษาตนอย่างยิ่ง จักระลึกถึง ตามระลึกถึง กิจที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้.
             [๑๐๑๙] ดูกรสารีบุตร ก็สติของอริยสาวกนั้น เป็นสตินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวกผู้มี
ศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้แล้ว พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักยึดหน่วงนิพพานให้เป็น
อารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต.
             [๑๐๒๐] ดูกรสารีบุตร ก็สมาธิของอริยสาวกนั้น เป็นสมาธินทรีย์ ด้วยว่าอริยสาวก
ผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร เข้าไปตั้งสติไว้ มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ชัด
อย่างนี้ว่า สงสารมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลรู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์
ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกไว้ ผู้แล่นไปแล้ว ท่องเที่ยวไปแล้ว ก็ความดับ
ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งกองมืด คืออวิชชา นั่นเป็นบทอันสงบ นั่นเป็นบทอันประณีต
คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด
ความดับ นิพพาน.
             [๑๐๒๑] ดูกรสารีบุตร ก็ปัญญาของอริยสาวกนั้น เป็นปัญญินทรีย์ อริยสาวกนั้นแล
พยายามอย่างนี้ ครั้นพยายามแล้ว ระลึกอย่างนี้ ครั้นระลึกแล้ว ตั้งมั่นอย่างนี้ ครั้นตั้งมั่นแล้ว
รู้ชัดอย่างนี้ ครั้นรู้ชัดแล้ว ย่อมเชื่อมั่นอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้ ก็คือธรรมที่เราเคยได้ฟังมาแล้ว
นั่นเอง เหตุนั้น บัดนี้ เราถูกต้องด้วยนามกายอยู่ และเห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา.
             [๑๐๒๒] ดูกรสารีบุตร สิ่งใดเป็นศรัทธาของอริยสาวกนั้น สิ่งนั้นเป็นสัทธินทรีย์
ของอริยสาวกนั้น ดังนี้แล.

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=5886&Z=5948&pagebreak=0

ปล. ในพระสูตรนี้ ยังมีเรื่องให้น่าคุยอีก แต่คงเก็บไว้คุยในกระทู้ต่อไป

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ศาสนาพุทธ พระไตรปิฎก ปฏิบัติธรรม
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่