The Exodus : เมื่อสกอตต์วิพากษ์พระเจ้า (สปอล์ย)

ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่า กระทู้นี้อาจจะไม่สะดวกใจสำหรับศาสนิกนัก แต่กระทู้นี้เพียงต้องการวิเคราะห์ว่าหนัง “สื่อสารอะไร” มิได้บอกว่าสิ่งที่หนังสื่อสารนั้น ถูกต้อง ดีงาม หรือไม่ หากมีการล่วงเกินใดๆ ก็ขออภัยไว้ก่อนด้วยครับ

ผมได้มีโอกาสดูหนังโมเสสมาเพียงสองเวอร์ชั่นเท่านั้น นั่นคือ The prince of Egypt และเรื่องนี้ The Exodus gods and the kings
Exodus gods and the kings สื่อสารบางอย่างในสิ่งที่ The prince of Egypt ไม่ได้สื่อสารเลย (และเข้าใจว่าหนังโมเสสเวอร์ชั่นก่อนหน้านั้นก็คงไม่ได้ทำ)

นั้นคือการวิพากษ์พระเจ้า และจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเสียใหม่ ซึ่งทั้งสองประเด็นแทบจะเป็นแก่นแกนของเรื่องนี้เลย (ในขณะที่เวอร์ชั่น ที่ The prince of Egypt เน้นเรื่องศรัทธาและการปลดปล่อยทาส)

ว่าด้วยเรื่องการวิพากษ์พระเจ้าก่อน ในระหว่างการเกิดภัยพิบัติต่างๆนั้น โมเสสซึ่งเชี่ยวชาญด้านสงครามก็วางแผนจรยุทธ์ในการโค่นล้มรามเสส โดยการก่อวินาศกรรมหลายรูปแบบเพื่อตัดเสบียงพลเมืองชาวอียิปต์ เมื่อถึงจุดหนึ่งพระเจ้า(ผ่านผู้นำสาส์นในร่างเด็กน้อย) ก็ไม่เห็นด้วย เพราะดูจะ “ชักช้า” เกินไป จึงเริ่ม “ลงมือเอง” และให้โมเสส ดูเฉยๆ

จากนั้นภัยพิบัติต่างๆ ก็ถาโถมเข้าใส่อียิปต์โดยไม่เลือกหน้า ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงแค่ฟาโรห์รามเสสหรือราชสำนัก แต่กลับเดือดร้อนหนักไปแทบทุกฝ่าย จนโมเสสต้องตั้งคำถามว่า

“ท่านกำลังลงโทษใครกันแน่?”

หรือแม้แต่ตอนท้ายที่พระเจ้าคร่าชีวิตเด็กอียิปต์ไปทั้งเมือง สิ่งที่รามเสสพูด ก็มีเหตุผลไม่น้อย(คือไม่ใช่แค่คำด่าจาก “ผู้ร้าย” ดาดๆ )
“พระเจ้าแบบไหนกันที่ฆ่าแม้แต่เด็กบริสุทธิ์ พวกเจ้าบูชาพระเจ้าแบบนี้ได้ยังไงกัน?”

ในการต่อสู้ “ทางการเมือง” (ใช่ครับ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาติพันธุ์หนึ่งหรือชนชั้นหนึ่งจากการเป็นทาส นี่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแท้ๆ นี่แหละครับ) ในหลายภูมิภาคทั่วโลกและตลอดประวัติศาสตร์ ก็มีคำถามถึง “ความชอบธรรมเชิงวิธีการ” แบบนี้เสมอ เช่น เพื่อต่อสู้กับอีกฝ่าย เราทำอะไรได้แค่ไหน? วางระเบิดใส่ผู้บริสุทธิ์ได้หรือไม่ ฆ่าเด็กได้หรือไม่? ต้องสันติวิธีหรือไม่?

ในขณะที่ผู้นำสาส์นเถียงกลับโดยใช้เหตุผลที่ถ้าจัดเป็นสมัยนี้ ก็ต้องเรียกว่าเป็น “สายเหยี่ยว” ของขบวนการต่อสู้คือ “แล้วไง จะบอกว่ามันไม่มีมนุษยธรรม ไม่มีเมตตาธรรมกระนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นจะปล่อยให้พวกเขา(ชาวฮิบรู)โดนกระทำแบบนี้ต่อไปหรือไร”  (โควตมาไม่เป๊ะนำครับ จากความทรงจำในโรง)

จะเห็นว่าในเรื่องนี้ ไม่มีฝ่ายขาวล้วนดำล้วน บางครั้งโมเสสกับรามเสส ก็เห็นร่วมกัน ว่าสิ่งที่พระเจ้าทำนั้นโหดร้ายเกินไป แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่รามเสสทำก็โหดร้ายไม่แพ้กัน  ส่วนโมเสสเองก็ยอมจำนนต่อเหตุผลว่าในวิธีทางของตัวเองนั้นอาจจะต้องใช้เวลาชั่วชีวิตคนหนึ่งเลย และความสูญเสียย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน

“จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง(ด้วยวิธีของโมเสส) หากกองทัพยังอยู่ข้างรามเสส” ผู้นำสาส์นจากพระเจ้าบอก แล้วโถมภัยพิบัติชนิดฮาร์ดคอร์ไม่เลือกหน้าเข้าใส่อียิปต์ทั้งเมือง (โอเค จะบอกว่าเด็กฮีบรูไม่ตายก็ได้ แต่เด็กอียิปต์เขาก็เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ใช่หรือ? ไม่นับรวม “ชาวบ้าน” อียิปต์ด้วย)

บทสนทนาเหล่านี้ แทบจะถอดออกมาจากการวิพากษ์ขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในโลกทั่วไปล้วนๆ เลย จะใช้ความรุนแรงหรือจะใช้สันติวิธี? จะจำกัดเหยื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์โดนทำร้ายหรือจะทำความเสียหายไม่เลือกหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย? ฯลฯ
จะเห็นว่าหนังเวอร์ชั่นนี้เต็มไปด้วยคำถามและคำวิพากษ์เกี่ยวกับความถูกผิด ดีงาม อย่างไม่เลือกฝ่าย ไม่ใช่ว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าจะต้องดีงามถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ล้วนๆ แบบเวอร์ชั่นก่อนๆ

ประเด็นต่อมา การจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า

หนังโมเสสในเวอร์ชั่นก่อนๆ ใช่ โมเสสเวอร์ชั่นก่อน ก็มีความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ในประสงค์(หรือวิธีการ)ของพระเจ้า แต่สุดท้าย เมื่อ “มีศรัทธา” ทุกอย่างก็ลุล่วง แต่ในเวอร์ชั่นนี้  หนังทำให้พระเจ้า “ให้ทางเลือก”กับโมเสสมากกว่า และสถานะระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์เหมือนจะเป็นการ “ต่อรอง” กันมากกว่าจะเป็น บัญญัติตายตัวให้ต้องปฏิบัติตาม

“ถ้าหากไม่เห็นด้วยก็วางค้อนและสิ่วนั่นเสียเจ้าไม่จำเป็นต้องทำ” ผู้นำสาส์นบอกโมเสสในขณะบันทึกบัญญัติสิบประการในตอนท้าย
หรือที่ข้าหลวงผู้ควบคุมชุมชนชาวฮิบรูบอกกับโมเสสในตอนต้นเรื่อง “ชาวฮิบรูนั้นสู้กับพระเจ้าตัวเอง” ซึ่งอ้างอิงมาจากคัมภีร์โตราห์ในตอนที่ยาโคบ “เล่นมวยปล้ำ” กับพระเจ้า

และตลอดการ “ต่อสู้เพื่อปลดแอก” นั้น โมเสสกับพระเจ้าก็ดูเหมือนต่อรองกับพอสมควร พระเจ้าให้โมเสส “ลองทำ” ตามสงครามจรยุทธ์ตามความชำนาญของตนเอง พอถึงระยะหนึ่งแลเห็นว่าไม่ได้ผล จึงค่อยออกมา “จัดการเอง” ด้วยวิธีของพระเจ้าเอง
หรือแม้แต่ฉากไคลแมกซ์ในการผ่าทะเล การตัดสินใจเดินข้ามทะเลก็เป็นการตัดสินใจที่โมเสสคิดเอง (เพราะตอนนั้นโมเสสมองว่าพระเจ้าทอดทิ้งแล้ว) และฤทธานุภาพของพระเจ้าค่อยมาช่วยถล่มเอาทีหลัง
สถานะของพระเจ้าจึงเหมือนเป็น “แนวร่วมในการต่อสู้” มากกว่าจะเป็น พระเจ้าผู้ทรงศักดิ์ บัญชาการโองการต่างๆ ล้วนๆ

**************************************************

ทั้งหมดนี้สะท้อนอะไร ผมคิดว่าจำกัดความสั้นๆ ได้ว่าเป็นตำนานศาสนาในมุมมองของ Atheist อย่างสกอตต์จริงๆ กล่าวคือ เขาอยากให้มนุษย์และพระเจ้ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ พ่อกับลูก หรือนายกับบ่าว แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีโอกาสคิด โอกาสตัดสินใจ ต่อรองและวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยได้

หากสุดท้ายจะ “เห็นร่วมกับพระเจ้า” นั่นเพราะไม่ใช่ “ศรัทธา” แต่เพราะไตร่ตรองเหตุผลแล้วจึง “เห็นร่วม” ด้วยนั่นเอง

นัยยะนี้ หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่การเล่าเรื่องปลดปล่อยชาวยิวออกจากอียิปต์เท่านั้น แต่ได้ปลดปล่อยมนุษย์ออกจาก “คำสั่งของพระเจ้า” ด้วยนั้นเอง สถานะของพระเจ้าเปลี่ยนจากผู้ชี้ชะตากรรมมาเป็น “แนวร่วมปลดปล่อย” เท่านั้นเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่