สงสัยมานาน ทำไมแว่นตาราคาแพงจัง ทั้งๆที่ไม่มีอะไรเลย

กระทู้คำถาม
ตอบกระทู้หนึ่งไป เลยเอาตั้งบ้าง เพราะสงสัยมานานแล้วว่า
ทำไม
ราคาแว่นตา แพงกว่าทั้งที่ไม่มีเทคโนโลยี่อะไรมากมายเหมือน
พวก มือถือ  ทีวี  วิทยุ  ไมโครเวฟ ตู้เย็น แอร์  คอมพิวเตอร์ เครื่องปรินท์
พัดลม เครื่องดูดฝุ่น กล้อง เครื่องทำน้ำอุ่น เตาแก๊ส นาฬิกา
ฯลฯ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 19
ลองอ่านดูนะครับ


เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับกรอบแว่น

แบบแรกคือแบบแพงสุดๆ แพงแบบไม่มีเหตุผล ก็พวกกรอบแว่นแบรนด์อินเตอร์ทั้งหลาย เช่น OAKLEY, NIKE, GUCCI ,TAG, RAYBAN, DIOR, CHANNEL, VERSACE และอีกหลายๆแบรนด์ดังทั้งหลาย  แบรนด์พวกนี้มีค่าลิขสิทธิ์ครับ ต้นทุนต่ออันแพงมากๆ เพราะรวมค่าลิขสิทธิ์เข้าไปด้วย  และไม่สามารถตั้งราคาถูกได้เพราะจะเสียแบรนด์เค้า ราคาขายปลีกต่ออันก็เฉียดหมื่นหรือหมื่นกว่า  แต่ถึงแม้ว่าราคาจะสูงแค่ไหน ก็ขายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะชื่อมันขายได้  ใส่แล้วดูดี มีชาติตระกูล และมันเป็นสินค้าแฟชั่น ไม่มีเหตุผลเรื่องการตั้งราคาอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าโดนหรือไม่โดนมากกว่า
กลุ่มลูกค้าส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติครับ เพราะราคาแว่นตาอันละหมื่นสำหรับชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องปกติ เพราะแว่นตาที่ต่างประเทศแบบแว่นธรรมดาโนเนมก็ตัดกันราคาหมื่นขึ้นแทบทั้งนั้น  ถ้าแบรนด์เนมที่บ้านเค้าก็ปาเข้าไปสองสามหมื่นรวมเลนส์
ส่วนลูกค้าคนไทยก็มีตามเมืองใหญ่ๆ กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เค้าไม่ค่อยคิดมากเท่าไหร่ ขอให้ถูกใจก็พอ แม่ซื้อเรียบ
คุณภาพของแว่นแบรนด์อินเตอร์ของแท้นั้น บอกได้เลยว่าดีมากๆครับ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ รายละเอียด การออกแบบ คุณภาพของสีกรอบ กล่องแว่น ทุกอย่างดีสุดๆ  เพราะถ้าไม่ดีจะเสียชื่อแบรนด์ครับ ผ่าน QC มาอย่างดี และมีการรับประกันคุณภาพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นรอยเชื่อม หรือเรื่องของการลอกของกรอบ รับรองว่าไม่เจอครับ ยกเว้นท่านใส่ไปออกรบครับอันนี้ไม่รับประกัน
ส่วนเรื่องราคาก็แพงสุดๆครับ ห้าพันถึงหมื่นกว่า สาเหตุที่แพงก็เพราะค่าแบรนด์ ค่าโฆษณา และความต้องการของผู้บริโภคมีสูงครับ
กลุ่มที่สองก็เป็นแบรนด์อินเตอร์เหมือนกัน แต่จะไม่เน้นแฟชั่นแล้ว จะไปเน้นที่คุณภาพของสินค้าแทน กลุ่มนี้จัดว่าแพงเหมือนกัน แต่แพงแบบมีเหตุผลและคุ้มที่จะเสียตังค์ เช่นยี่ห้อ Rodenstock(German), Air Titanium(Denmark), Silhoultte(Austria), HOYA(JAPAN), Charmant(FRANCE) ...  
ทำไมถึงคุ้ม  เพราะสิ่งที่มีในกรอบประเภทนี้จะหาไม่ได้ในแว่นราคาถูกเลย ยกตัวอย่างเช่น
คุณภาพของสีกรอบ จะเป็นการชุบสีแบบ IP ไอออนเพลทติ้ง เป็นการชุบผิวด้วยระบบศูนยากาศ โดยใช้การระเหิดของโลหะไตตาเนียมผสมกับก้าซต่างๆให้เป็นสีตามต้องการ การชุบผิวด้วยวิธีนี้จะได้ผิวที่มีความทนทานมากแม้ใช้ไปนานๆก็จำไม่ค่อยพบสีที่ชุบลอกหรือซีดลง

วัสดุที่ใช้ทำกรอบ ปัจจุบันจะเป็น ไทเทเนียม เพราะน้ำหนักเบา และไม่ผุ ไม่เป็นสนิม ใส่แล้วไม่แพ้

การออกแบบจะเน้นที่การสวมใส่ที่เบาสบายที่สุด ใส่แล้วเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย ใส่ได้ทั้งวันโดยไม่รู้สึกรำคาญ ไม่เจ็บหู ไม่กดดั้งจมูก
ถ้าเป็นกรอบเจาะรู(ไม่มีขอบ) ก็จะไม่ใช้น้อตยึดแบบแว่นเจาะทั่วไป เพราะเวลาเกิดการกระแทกน้อตอาจทิ่มตาได้และเช็ดทำความสะอาดยากเพราะจะติดน้อต แว่นกลุ่มนี้จะใช้วิธีเจาะที่ด้านข้างเลนส์เช่นกรอบโฮย่า หรือเจาะด้านหน้าเลนส์แบบไม่ใช้น้อตยึดเช่นกรอบ Airtitanium หรือยึดเลนส์กับกรอบด้วยตัวยึดพลาสติกแบบกรอบ Silhoultte เป็นต้น
กลุ่มลูกค้าที่ใช้แว่นแบบที่สองนี้จะเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และใส่แว่นตาเป็นประจำ เน้นคุณภาพมากกว่าแฟชั่น ราคากรอบพวกนี้เริ่มตั้งแต่ เจ็ดพันถึงหมื่นกลางๆ แต่ลูกค้ายอมจ่ายเพราะมันใส่สบายจริงๆ  สีไม่ลอก  น้ำหนักเบา  ไม่แพ้ ไม่ผุ ไม่เป็นสนิม ใช้ไปได้เป็นสิบๆปีถ้าคุณไม่เบื่อซะก่อน เปลี่ยนแต่เลนส์อย่างเดียวก็พอ
คุณลองหารจำนวนปีดูสิแล้วคุณจะรู้ว่าแว่นแบบนี้ไม่แพงหรอก สมมติตัดมาหมื่นถ้วน ใส่สักห้าปีก็ปีละสองพัน ไม่แพงหรอก เพราะอย่าลืมว่าแว่นตาคุณใส่ทุกวันนะ ใส่บ่อยยิ่งกว่าเสื้อผ้าอีก ถ้าคุณใช้ของไม่มีคุณภาพก็พังเร็วเพราะของใช้ทุกวันย่อมเสื่อมเร็วเป็นธรรมดา
ถ้าคุณลองสังเกตทางทีวี จะพบว่าบุคคลชั้นนำ บุคคลมีชื่อเสียงส่วนใหญ่จะใส่แว่นแบบนี้ เพราะมันคุ้ม
แต่ถ้าคุณคิดว่ามันแพงไป ก็มีแบบที่สามต่อ...
แบบที่สามจะเป็นแว่นราคากลางๆ ตั้งแต่สามพันถึงห้าพันบาท กรอบกลุ่มนี้จะเน้นที่วัสดุคุณภาพปานกลางถึงดี งานชุบสีก็เป็นแบบชุบด้วยไฟฟ้า ถ้าโชคดีคุณอาจจะเจองานไอออนเพลทติ้ง แต่มีน้อยมากเพราะต้นทุนสูง
วัสดุที่ใช้ก็จะเป็นไทเทเนียมแท้ไม่ปลอมปน หรือไม่ก็สแตนเลส ซึ่งไม่ผุ ไม่เป็นสนิม น้ำหนักเบา
กรอบพวกนี้จะเป็นแบรนด์ทั่วๆไป เน้นคุณภาพ เลียนแบบพวกแบรนด์ดัง
ส่วนมากจะไปจ้างโรงงานเดียวกับพวกแบรนด์ดัง แต่ลดออปชันลงเช่นเรื่องการชุบสี
ต้นทุนถูกกว่าเพราะเป็นสร้างแบรนด์เอง ไม่เน้นการตลาดมาก อยู่ได้เพราะเป็นตลาดราคากลางๆ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดใหญ่
คุณภาพดี ใกล้เคียงกับแว่นกลุ่มที่สอง แต่เรื่องสีจะไม่ทนใช้ไปปีสองปีสีจะซึดหรือลอก แต่จะไม่ผุ ไม่เป็นสนิม
ถ้าเป็นกรอบเจาะ ก็จะเป็นแบบใช้น้อตยึด
ส่วนมากกรอบพวกนี้จะอยู่ตามร้านแว่นตาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นสินค้าที่ซื้อผ่านบริษัท มีการรับประกันสินค้า แต่ยี่ห้อจะไม่ดัง
ยกตัวอย่างเช่นยี่ห้อ Jean Pucci, TITAMIC, KOOKI, Haruka, DUNLOP, DIFUKU, VALENTINO HARMONY, VALENTINO RUDY,เยอะแยะตาแป๊ะไก่
เป็นกลุ่มกรอบแว่นที่คุ้มกะตังค์มากที่สุด
กลุ่มที่สี่คือราคาต่ำกว่าสามพัน
กลุ่มนี้ถ้าเป็นกรอบไทเทเนียม ส่วนมากจะเป็นไทเทเนียมผสม แต่เวลาพิมพ์ที่กรอบเค้าไม่บอกหรอกว่าผสม ส่วนมากจะตีตรามาว่าเป็น Titanium ซึ่งคนซื้อไม่มีทางรู้หรอกจะบอกให้ จนกว่ามันจะผุเมื่อเราซื้อมันมาใช้แล้ว  

เพราะฉะนั้นขอเตือนว่าถ้ากรอบไทเทเนียมราคาต่ำกว่าสามพันส่วนมากจะผสมครับ ไม่นิเกิล ก็ Alu ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลง ซึ่งถ้าเหงื่อท่านเค็มใส่ไปนานๆกรอบก็จะผุเป็นสนิม หรือถ้าท่านแพ้โลหะก็ใส่แล้วอาจจะแพ้ได้
แต่ถ้าใส่แล้วไม่ผุ ไม่แพ้ ก็ถือว่าท่านโชคดี ได้ของดีราคาถูก

ส่วนเรื่องสีก็ตามราคาครับ มีซีดมีลอกแน่นอน ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาครับ

คำแนะนำเวลาซื้อกรอบกลุ่มนี้ ให้เลือกกรอบที่ขาเป็นพลาสติก หรือเป็นโลหะหุ้มพลาสติก จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องผุ หรือแพ้วัสดุส่วนมากเป็นโลหะ ไทเทเนียมผสม  ,สแตนเลส , Flex   ส่วนสีก็เลือกสีเบสิกๆ เช่น ทอง เงิน เทา ดำ  อย่าไปเลือกสีพิสดารแบบเด็กแนวเช่น สีแดงแป๊ด สีน้ำเงิน สีส้ม ม่วง เขียว สีประหลาดๆตามแฟชั่น เพราะสีมันจะลอกเร็วมากๆ (ยุงบินเฉียดก็ลอกแล้ว..อันนี้เว่อร์ไปนิด)
กลุ่มลูกค้าจะเป็นลูกค้าที่ไม่คิดมาก เปลี่ยนแว่นได้บ่อยๆ เจ้าแม่แฟชั่น  กรอบจะลอกก็ช่างมัน   พังก็ซื้อใหม่เพราะราคาไม่แพงพบกรอบกลุ่มนี้ได้ตามร้านแว่นทั่วไป และร้านแว่นแบรนด์ดัง ลดแลกแจกแถมทั้งปี  ตั้งราคาเว่อร์ๆ แล้วลดเยอะๆ ไม่รู้ทำทำไม คงเห็นว่าเราโง่มั้ง
สุดท้ายแล้ว
แว่นยอดนิยม ได้แก่แว่นตลาดนัด แว่นคลองถม  กรอบกุ๊กกุ๋ย ราคาหลักสิบหลักร้อย  
แว่นกลุ่มนี้คุณภาพตามราคาครับ ใส่แก้ขัดได้ ใส่ประจำก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจและกะตังค์ของแต่ละบุคคล

วัสดุส่วนมากจะเป็นโลหะ นิเกิล หุ้มพลาสติกที่ขา เพราะรู้อยู่แล้วว่าผุแน่ๆ แต่ถ้าไม่หุ้มไม่ควรซื้อเพราะถ้าท่านแพ้โลหะท่านจะใส่ไม่ได้ หน้าจะเป็นแผลงานสีไม่ต้องห่วง ลอกแน่ๆ ไม่ต้องซีเรียส พังซื้อใหม่รอยเชื่อม ไม่ค่อยแข็งแรง หลุดง่าย  เวลาท่านไปตามร้านแว่นเค้าจะไม่กล้าดัดกรอบให้เพราะกรอบพวกนี้โดนคีมดัดกรอบแล้วชอบหัก หรือไม่ก็รอยเชื่อมหลุด

ไหนๆก็จะเสียตังค์แล้ว แนะนิดนึงว่าพยายามเลือกกรอบที่หุ้มพลาสติกที่ขา  และกรอบจะต้องมีน๊อตยึดที่ตัวกรอบและบานพับ  เพราะไม่งั้นเวลาไปใส่เลนส์สายตาอาจยุ่งยากได้เพราะต้องอัดเลนส์เข้ากรอบ ซึ่งกรอบอาจจะพังได้
กรอบกลุ่มนี้ตาดีได้ตาร้ายเสีย ถ้าโชคดีก็ใช้ได้ทนนาน ถ้าได้กรอบกุ๊กกุ๋ยไม่นานก็พัง

ข้อเตือนใจ  ก่อนตัดสินใจซื้อกรอบกลุ่มนี้ให้ท่านชั่งใจนิดนึงว่ามันจะคุ้มกับค่าเลนส์ที่ท่านจะไปตัดแว่นหรือไม่ เพราะถ้าท่านเลือกเลนส์ดีๆ ราคาเลนส์ก็ หกเจ็ดร้อยถึงพันกว่าสำหรับเลนส์ชั้นเดียว  ถ้าหากกรอบมันพังง่าย ท่านก็ต้องเอาเลนส์เดิมไปใส่กรอบใหม่ซึ่งมันอาจจะใส่เข้ากรอบใหม่ไม่ได้ หรือถ้าใส่ได้ก็อาจจะไม่ได้จุดเซ็นเตอร์ของตาท่าน ไปๆมาๆอาจต้องเสียค่าเลนส์อีก  บานปลาย
สินค้าทุกชนิด ต้องตั้งราคาเผื่อไว้อยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น อย่างเช่นเสื้อผ้า  รองเท้า  ทำไมแต่ละยี่ห้อราคาต่างกันเหลือเกิน

แว่นตาเป็นสินค้าแฟชั่นครับ หากท่านเลือกแบรนด์ ราคาก็ย่อมแพงเป็นธรรมดา ไม่ต้องหาเหตุผลว่าทำไมแพง

แต่ถ้าท่านเลือกคุณภาพก็ให้เลือกแว่นในกลุ่มที่สองถ้ากะตังค์ถึง แต่ถ้าคิดว่ามันแพงไปก็เลือกกลุ่มที่สาม

แต่ถ้าเน้นถูกให้เลือกแว่นกลุ่มที่สี่ครับ ใส่ได้ดีเหมือนกัน

ส่วนกลุ่มที่ห้าไม่แนะนำ เหมือนซื้อของจีนแดง ใช้ได้แต่ไม่ทน

ส่วนแว่นตาที่ตั้งราคาสูงๆ แต่โนเนม แล้วลดราคาลงมา 50% ให้ท่านเอาราคาที่ลดแล้วเป็นตัวตั้ง  แล้วดูว่าควรจะเข้ากลุ่มไหน แต่ผมบอกได้เลยว่าอยู่กลุ่มที่สี่ บางที ห้าก็มี
ราคาสูงแต่คุณภาพด้อยเมื่อเทียบกับราคา ถ้าราคาที่ลดแล้วยังสูงกว่าสองสามพัน ก็อย่าเอาเลย เพราะจะเจอของแพงเกินคุณภาพ
กรอบไทเทเนียมแท้ ทุกรุ่นกรอบจะแข็งมาก ดัดยาก  เวลาซื้ออย่าลืมถามด้วยว่ารับประกันรอยเชื่อมหลุดมั้ย เพราะกรอบไทเทเนียมราคาปานกลางมักจะมีปัญหาเรื่องรอยเชื่อมหลุด และที่สำคัญมันเชื่อมแบบโลหะปกติไม่ได้ ต้องใช้ความร้อนสูงเป็นพิเศษ โปรดระวัง
ความคิดเห็นที่ 20
ส่วนแว่นตา Lindberg จริงๆมันซับซ้อนกว่าที่คิดครับ เรื่องบานพับไม่ใช้น๊อตนี่เรื่องเล็กๆน้อยๆของยี้ห้อนี้เท่านั้นครับ
เอาเฉพาะเป็นรุ่นไร้กรอบที่เป็น Rimless น่ะครับ
แล้วมาดูว่าร้านแว่นจะรีดออกมาเต็มประสิทธิภาพหรือเปล่า หรือขายแค่เพียงให้มันจบๆไป
ลองดูแล้วกันน่ะครับ
ตัวอย่างง่ายๆเลย ขาแว่นมีความยาว 135 ,145,155 มม ให้เลือกตามขนาดศีรษะ อันนี้ไม่ยากเท่าไร มีแค่ 3 Steps โดยมากแล้วร้านแว่นสั่ง 145 มาขาย
ต่อไปตัวสะพานจมูกมีความกว้างตั้งแต่ 14-22 มม ให้เลือก โดยมีรูปร่างให้เลือกอีก 4 แบบ คือ Round nose,Flatnose อีก 2 อันจำไม่ได้แล้ว แฮะๆๆ อันนี้ลำบากแล้วโดยมากแล้วร้านแว่นสั่ง Standard size M มาขาย อันนี้เริ่มไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว เพราะว่าใช้มาตรฐานแต่ไม่แน่ว่าจะเข้ากับรูปหน้าเราได้ ร้านแว่นที่ขาย Lindberg โดยมากของมีไม่เยอะหรอกครับ เพราะมันแพง จะให้ได้เปะ ต้องร้านตัวแทนจำหน่าย

ถัดมาเลือกระยะห่างจากกระจกตา ถึงเลนส์แว่นตาได้ 5 ระดับ ( step ละ 1 มิลลิเมตร )
แฮะๆๆ เห็นไหมล่ะครับ ความละเอียดของแว่น Lindberg ว่ากันที่ล่ะดับ มิลลิเมตร เพื่อรีดประสิทธิภาพแว่นออกมาให้ได้สูงสุด
ต่อมาเจาะกรอบใส่เลนส์ ต้องใช้เครื่องมือเจาะ Lindberg เพราะแว่น Rimless ของ Lindberg ใช้เครื่องมือของร้านแว่นโดยทั่วไปไม่ได้ ร้านที่ขาย Lindberg ก็ต้องลงทุนอีก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าLindberg ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ใครปุ๊ป รู้ป็ป ใส่แล้วหล่อครับ
แล้วแว่นทุกอันจะมี Serial อยู่ เอา Serial ไปเช็ดแล้วจะให้รู้ได้ว่าแว่นตามี Spec อย่างไร

ผมใส่แว่นมาหลายอัน แต่รู้สึกฉงนกับแว่น Lindberg เพราะถ้าดูที่หน้า Web เขา
จะรู้ได้เลยว่าโคตรธรรมดา ผมอยากรู้มาก เลย Mail ไปถามตรงเลย ว่า
ทำไม ไม่ Promote เรื่องเทคนิค หรือว่าความซับซ้อนของแว่นหน่อย คนดูเขาจะได้รู้
และที่สำคัญ โอกาสซื้อ Lindberg มาใส่แล้วไม่ฟิตกับรูปหน้ามีสูงมาก เพราะอย่างที่บอกไว้ แบบแว่นมีตั้งเยอะ ร้านแว่นไม่มานั่ง Customize ให้เราหรอก เพราะต้องมีเครื่องมือวัดหน้าอีกเยอะแยะได้คำตอบมาว่า คนจ้องจะเลียนแบบตรู (Lindberg) มันมีเยอะ เลยขอสงวนไว้เป็นความลับทางการค้า ในเรื่องของแบบและอะไรอีกหลายอย่าง
แนะว่าว่าตัดกับตัวแทนจำหน่าย จะมั่นใจได้มากกว่า
ถึงตอนนี้เลยถึงบางอ้อ ว่า Lindberg แน่จริงๆ ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ คนซื้อ Lindberg ซื้อทีใส่กันชั่วชีวิต เบื่อก็เปลี่ยน Shape ของเลนส์เอา โอกาสซื้อซ้ำอีกมันน้อย แต่ด้วยจำนวนคนใส่แว่นจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ต้องมีบ้างที่อยากใส่ Lindberg จนต้องไปคว้ามาเพราะความคุ้มค่า ซื้อทีใส่กันเกือบทั้งชีวิต จึงทำให้ Lindberg อยู่ได้
Lindberg หาคนเลียนแบบได้ แต่ผมเหร่ตาด้วยหางตาก็รู้แล้วครับว่าไม่ใช่ ใช้ Lindberg เป็นตัวต้นฉบับเฉยๆ 555


ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเรื่องวัสดุน่ะครับ ซึ่งจริงๆขั้นตอนคงมีอีก แต่เขาเก็บเป็นความลับ หาแหล่งข้อมูลไม่ได้ ถ้าจะขอไปดูงานที่โรงงานเลยคงกะไรอยู่ ผมแค่นักเล่นแว่นครับ ฮิๆๆ
ความคิดเห็นที่ 4


นั่นสิ ผมก็เคยสงสัย ไอ้เส้นลวดเล็กๆ Air titanium ของ Lindberg ที่หนักแค่ 3 กรัม หนักเท่าคลิปหนีบกระดาษอันนี้ ดีไซน์ง่ายๆ ขายเฉพาะตัวลวดนี่ไม่รวมเลนส์ เกือบๆสองหมื่นแพงกว่า ทองคำน้ำหนักเท่ากันซะอีก

ยังศื้อมาใส่ทำไมฟะ ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่