กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังจะ "คิกออฟ" เตรียมโครงสร้างคณะพูดคุยดับไฟไต้

กระทู้คำถาม


ความคืบหน้าที่ผ่านมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเพียง 2 อย่าง คือ

          1.เปลี่ยนชื่อจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นกระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ และ

          2.เสนอชื่อ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย โดยเปลี่ยนตัวจาก พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีประสบการณ์เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจนยอมวางปืน สร้างความสงบสุข ณ ดินแดนมาเลเซีย และด้ามขวานทองของไทยเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน

          ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ ยังไม่ปรากฏชัด ยกเว้นการเดินทางไปประสานการพูดคุยของ นายถวิล เปลี่ยนศรี ก่อนเกษียณจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จากนั้นมีการส่งคณะทำงานไปร่วมยกร่างทีโออาร์ หรือเอกสารกำหนดรายละเอียดและขอบเขตภารกิจ ที่ประเทศมาเลเซีย

          ทว่าโฉมหน้าคณะพูดคุยกลับยังไม่ถูกเปิดเผยและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ  ขณะที่การเดินทางเยือนมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นโอกาสของการประกาศ "คิกออฟ" พูดคุยดับไฟใต้รอบใหม่ กลับถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสข่าวที่สื่ออินโดฯรายงานว่ารัฐบาลไทยดอดติดต่อประสานงานรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย "นายยูซุฟ คัลลา" ในฐานะคนหน้าเดิม ให้ยื่นมือเข้าช่วยบริหารจัดการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ จนมาเลเซียไม่ค่อยสบายใจ และไม่ยอมพูดคุยแบบทวิภาคีกับนายกฯประยุทธ์ ระหว่างร่วมประชุมอาเซมที่อิตาลี

          อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการ สมช. ได้ออกมายืนยันชัดเจนว่าไทยไม่เคยขอให้อินโดนีเซียเข้ามาช่วยจัดการพูดคุยหรือแก้ไขปัญหาไฟใต้ พร้อมย้ำว่าจะยังคงใช้บริการมาเลเซียในฐานะ "ผู้อำนวยความสะดวก" ต่อไป

          ประกอบกับล่าสุดมีข่าวว่า มาเลเซียเปิดทางให้นายกฯประยุทธ์ เดินทางเยือนและพบปะหารือข้อราชการกับ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลย์แล้ว ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จึงเชื่อกันว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุข น่าจะได้ฤกษ์ "คิกออฟ" เสียที

          มีรายงานว่า สมช.และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เสนอโครงสร้างองค์กรพูดคุยดับไฟใต้และกรอบการพูดคุยไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

          ทั้งนี้ โครงสร้างคณะพูดคุยที่มีการเสนอ คล้ายๆ กับที่เคยปรากฏเป็นข่าว คือ มี 3 ระดับ แต่ที่ชัดเจนมากขึ้นคือเรื่ององค์ประกอบและที่มาของตัวบุคคล กล่าวคือ

          ระดับที่ 1 คณะกรรมการระดับอำนวยการ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ สมช. เลขาธิการ กอ.รมน. เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ร่วมเป็นกรรมการ

          นอกจากนั้นยังมีคณะที่ปรึกษาของคณะพูดคุย คาดว่ามี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษา

          ระดับที่ 2 คณะกรรมการพูดคุยสันติสุข ประกอบด้วยประธานและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราวๆ 10-12 คน ได้แก่ พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้รับการเสนอชื่อเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทน สมช. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทน กอ.รมน. ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทน สขช. ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 4 นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ

          ระดับที่ 3 คณะกรรมการประสานงานในพื้นที่ มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

          แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง เปิดเผยว่า โครงสร้างและกรอบการพูดคุยนั้น ได้เสนอขึ้นไปยังนายกรัฐมนตรีระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการอนุมัติ โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ

          1.ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนนายกฯเดินทางเยือนมาเลเซีย โดยการนำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน หรือหารือวงเล็กโดยนายกฯ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการ สมช. เลขาธิการ กอ.รมน. และ ผบ.ทบ. เพื่อเห็นชอบในหลักการก่อนออกเป็นคำสั่ง

          2.ดำเนินการหลังจากนายกฯเยือนมาเลเซียแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้มีการหารือระหว่างผู้นำสองประเทศลงตัวก่อน มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าฝ่ายไทยจัดทำโครงสร้างเรียบร้อยแล้วไปเสนอให้มาเลเซียอนุมัติ ซึ่งไม่ถูกต้อง และเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับประเทศ


http://www.isranews.org/south-news/documentary/item/34373-kick.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่