"You can do it " ฐิติ กิตติพัฒนานนท์ (1)

กระทู้สนทนา
โดย : ชาลินี กุลแพทย์



เมื่อพิสูจน์แล้วว่าตลาดหุ้น คือ หนทางทำให้ 11 ชีวิตอิ่มท้อง“ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” น้องรัก"เสี่ยยักษ์" ไม่รอช้า

“คนเคยจน” สถานะชีวิตในอดีตของ “ปิง-ฐิติ กิตติพัฒนานนท์” น้องเลิฟนัมเบอร์วันของ “เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์” เซียนหุ้นชาวอยุธยา” ปัจจุบัน “ชายวัย 43 ปี” คือ นักลงทุนมือฉมัง ในฐานะเจ้าของพอร์ตหุ้น “หลักร้อยล้าน” หนึ่งในความภาคภูมิใจของ “เซียนหุ้นรุ่นลายคราม”

สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง “เซียนร้อยล้าน”กับ “เซียนพันล้าน” เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน หลังปิงมีโอกาสไปฟังงานสัมมนาหัวข้อ “7 เซียนหุ้น” คำพูดประโยคหนึ่งของ “เสี่ยยักษ์” ที่โดนใจ “ปิง” จนทำให้อยากออกตามหาคำตอบ คือ “เทคนิเคิลไม่เคยหลอกเรา” ทันทีที่ “กูรูหุ้น” เดินลงจากเวที เขาไม่รีรอที่จะเดินไปแนะนำตัว พร้อมยื่นขวดน้ำชาเขียวให้ดื่มดับอาการคอแห้ง

“ขาใหญ่” ติดใจชาเขียวของ “ปิง” หรือเปล่า เจ้าตัวก็ไม่แน่ใจ แต่ “เสี่ยยักษ์” ยื่นเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวให้คล้ายต่างตอบแทนน้ำใจ พร้อมเอ่ยปากว่า “มีอะไรก็โทรมา หากอยากรวยคงต้องอาศัยลอกหุ้นคนเก่งไปก่อน” ก่อนจะขอตัวขึ้นรถเฟอร์รารี่ สีแดงสด ราคา 22 ล้านบาท ที่จอดโชว์ความสวยอยู่หน้าตึก เขาตบไหล่ปิงเบาๆ และพูดว่า “สักวันหนึ่งคุณก็จะมีเหมือนผม”

แม้จะขึ้นแท่นน้องรัก “เซียนพันล้าน” ในเวลาไม่นานนัก แต่ตลอดเวลา “ปิง” แทบไม่เคยคิดถาม “เสือหุ้น” สักคำว่า เวลานี้ควรซื้อหุ้นตัวไหน และไม่เคยลอกการบ้าน แม้บางครั้งจะเห็นเต็มสองตาว่า เสี่ยยักษ์ กำลังจะสั่งซื้อหุ้นตัวไหน นั่นอาจเป็นเพราะเขามีเจตนารมณ์แน่วแน่ว่า “อยากรู้จักเพราะต้องการขอความรู้จากคนเก่ง มากกว่ามาลอกการบ้าน”

ก่อนจะก้าวเข้าสู่สังเวียนหุ้นในปี 2537 ช่วงชีวิตในวัยเด็กของ “ฐิติ” เข้าข่ายปากกัดตีนถีบ ครอบครัวกิตติพัฒนานนท์ ประกอบด้วย พ่อแม่ และน้องอีก 6 คน (น้องคนสุดท้องอายุห่างกับปิง 19 ปี) อาศัยอยู่แถวสามย่าน มารดาผู้เป็นกำลังหลักยึดอาชีพแม่ค้าหาเงินเลี้ยงลูกๆ ส่วนพ่อผู้เป็นกำลังเสริมเลือกขายหนังสือพิมพ์ แต่ด้วยความที่พ่อติดการพนันและหวย ทำให้เงินที่พ่อหายมาได้ต้องหมดไปกับเรื่องเหล่านี้

แม้ในอดีตเด็กชายปิงจะเกเร และติดการพนัน แต่ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโต ในช่วงเสาร์อาทิตย์เขาจึงเลือกที่จะใช้เวลาว่างไม่กี่ชั่วโมงไปช่วยแม่ขายของในตลาด ด้วยความที่แม่อยากให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ทำให้ต้องทำงานอย่างหนัก เช้าขายกาแฟชง ตกบ่ายไปรับผลไม้ที่ปากคลองตลาดมาขายในตลาดพระราม 4 ช่วงเวลาหนึ่งกาแฟชงเริ่มขายไม่ดี แม่ก็เปลี่ยนไปซื้อเนื้อหมูที่เยาวราชตอนตี 3 เพื่อนำมาขายในตลาด

ครั้งหนึ่งปิงเคยถูกอาจารย์ที่โรงเรียนเรียกไปทวงถามค่าเทอม ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีเงินเก็บ ทำให้แม่ต้องหาเงินด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นเล่นแชร์ และกู้เงินนอกระบบ เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าเทอมให้ลูกๆ แม้ผู้เป็นแม่จะรู้อยู่เต็มอกว่า ลงทุนกับลูกไม่มีทางได้กลับคืน แต่ผู้ให้กำเนิดก็ยังคงอดทนทำงานต่อไป เพื่อให้ลูกมีชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันปิงรับหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายของคนในบ้านทั้งหมด เขาเป็นคนส่งน้อง 2 คนสุดท้ายเรียนจนจบปริญญาตรี ด้วยเงินจากการลงทุนในตลาดหุ้น..

“ชายเชื้อสายจีนวัย 43 ปี” เดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานเส้นก๋วยเตี๋ยว และฟาร์มเลี้ยงหมูของภรรยา เพื่อมาบอกเล่าเรื่องการลงทุนให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ฟัง โครงการแอมพาร์ค สามย่าน Community Mall แถวมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ คือ สถานที่นัดหมายในครั้งนี้

หลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ก็เลือกที่จะรับเงินเดือน 9,600 บาท ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบงานคอมพิวเตอร์ ธนาคารกสิกรไทย วันแรกของการทำงานมีรุ่นพี่คนหนึ่งเดินมาชวนไปกินข้างเที่ยง แต่มีข้อแม้ว่า ต้องแวะไปดูหุ้นในห้องค้าก่อนครึ่งชั่วโมง ครั้งแรกของการได้สัมผัสห้องค้าจริงๆ รู้สึกตื่นตามาก

ก่อนตลาดหุ้นจะปิดภายในอีกครึ่งชั่วโมงของภาคเช้าและเย็น รุ่นพี่จะต้องชวนไปห้องค้าทุกวัน เมื่อทำเช่นนี้จนเป็นกิจวัตรประจำวัน จากเดิมที่ตั้งใจจะแค่แวะเข้าไปเพียงเพื่อนั่งกินขนม และกาแฟฟรี (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นยังไม่มีเงินเก็บและไม่มีพอร์ตเป็นของตัวเอง ทำให้เปลี่ยนใจหันมาเล่นหุ้นครั้งแรกในชีวิตในปี 2537 ด้วยการควักเงินประมาณ 7,500 บาท เพื่อร่วมลงขันซื้อหุ้นหนึ่งตัวกับแกงค์รุ่นพี่ที่มีกันอยู่ประมาณ 5 คน ผลของการเล่นหุ้นในครานั้นได้กำไรหรือขาดทุน จำไม่ได้จริงๆ

ระลึกได้เพียงว่า ในช่วงปี 2538 รุ่นพี่คนหนึ่งมาชวนซื้อหุ้น IPO ราคา 22 บาท ของบมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO ด้วยความที่ไม่มีเงินเก็บเลยไปชวนน้องของแม่มาลงทุนแทน แม้ญาติคนนี้จะไม่มีความรู้เรื่องหุ้น แต่เขาก็เชื่อข้อมูลที่ได้รับฟังจากปากของผม พร้อมยื่นเงิน 1.32 ล้านบาท ให้ไปซื้อหุ้น IPO จำนวน 60,000 หุ้น ตอนนั้นไม่มีเวลาไปต่อคิวจองหุ้นเลยวานน้องไปทำธุระแทน

การลงทุนในครั้งนั้นมีเงื่อนไขว่า หากญาติได้กำไรจากหุ้น IPO ต้องนำกำไรมาแบ่งเราด้วย เมื่อน้องแม่ตกลงตามรูปแบบนี้ เมื่อได้ใบจองมาครอบครอง เราจึงตัดสินใจขายใบจองหุ้น EGCO จำนวน 9 ใบจอง จาก 10 ใบ นอกตลาดให้กับเหล่าโบรกเกอร์ ในราคาเฉลี่ย 32-40 บาทต่อหุ้น ส่วนใบจองใบสุดท้ายที่เหลือประมาณ 6,000 หุ้น ตัดสินใจขายในวันแรกของการซื้อขาย ในราคา 50 บาท จากการลงทุนในครานั้นทำให้ได้กำไรประมาณ 300,000 บาท

เมื่อมีเงินทุนก้อนใหญ่เป็นของตัวเอง จึงเริ่มออกตามล่าหุ้นจอง และหาหุ้นเล่นเอง ซึ่งหุ้นจองยอดฮิตสมัยก่อนก็มี หุ้น ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ TUF,หุ้น แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN และหุ้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นหุ้น ไออาร์พีซี หรือ IRPC ผลการเล่นหุ้น IPO ไม่ค่อยได้กำไรเท่าไหร่ (หัวเราะ)

ในช่วงที่ไม่มีหุ้น IPO ให้ลงทุน เราก็หันไปลงทุนพวกตระกูลใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrants) หลังเห็นว่า ราคาขึ้นแรง แถมมีราคาถูกกว่าหุ้นแม่ สมัยโน้นทางการยังปล่อยให้นักลงทุนเล่นมาร์จิ้นใน Warrants ได้ สมมุติ มีเงิน 40 เปอร์เซ็นต์ คุณสามารถเล่นมาร์จิ้นได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ช่วงนั้นอัดหุ้นเต็มพอร์ตตลอด ผลการลงทุนในปี 2539 ทำให้มีเงินในมือเพิ่มขึ้นเป็น 700,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเล่นหุ้นอย่างเดียว แต่มีทั้งเงินเดือน โบนัส และกำไรจากหุ้น ผสมรวมกันอยู่

“เป้าหมาย 1 ล้านบาท คือ ฝันแรก หลังมีเงินในมือ 700,000 บาท” แต่สุดท้าย “ฝันสลาย” หลังเมืองไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งการลงทุนเริ่มไม่ค่อยปกติในช่วงปี 2542 หลังดัชนีลงมาซื้อขายแถวๆ 200 จุด ช่วงนั้นพอร์ตเริ่มขาดทุนแล้ว เพราะเล่นเก็งกำไรใบสำคัญแสดงสิทธิ และหุ้นบุริมสิทธิ (preferred stock) แบบวันต่อวัน ตอนนั้นลาออกจากธนาคารกสิกรไทยไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพธนาทร

แต่มา “ขาดทุนหมดตัว” จริงๆ ในปี 2544 ช่วงเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือ 911 หลังเกิดเหตุไม่คาดฝันราคาตระกูล Warrants ที่ถือลงทุนอยู่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ด้วยความที่เล่นหุ้นแบบมวยวัด ส่งผลให้เหลือเงินติดพอร์ตแค่ “หลักหมื่นบาท” ชีวิตการลงทุนเดินทางมาถึง “จุดเกือบต่ำสุด” ปิง บอกอย่างนั้น

ด้วยความที่มีเงินสินสอดฝากแบงก์ไว้ประมาณ 500,000 บาท จึงตัดสินใจเดินไปขอเงินก้อนนี้กับภรรยา “อยากเอาเงินมาสู้ต่อ ถ้าเงินก้อนนี้หมดคงตัดมือทิ้งเลิกเล่นตลอดชีวิต” ผมบอกประโยคนี้กับคู่ชีวิต ซึ่งเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร และยินยอมให้ถอนเงินฝากประจำมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง

ตัดสินใจนำเงินไปซื้อหุ้น IPO บมจ.ปตท.หรือ PTT จำนวน 20,000 หุ้น ราคา 35 บาท ตอนนั้นหุ้น PTT “ฮอตมาก” ใครๆ ก็อยากได้ ด้วยความที่ครอบครัวฝ่ายภรรยาสนิทกับพนักงานแบงก์แห่งหนึ่ง เพราะปล่อยวงเงินสินเชื่อเบิกเกินบัญชี (OD) ให้ธุรกิจของภรรยา จึงขอให้เขาช่วยคีย์ข้อมูลซื้อหุ้น IPO รอไว้ เมื่อตลาดหุ้นเปิดให้กดคลิ๊กทันที ถ้าไม่ทำแบบนี้คงไม่มีทางได้

หุ้น PTT เปิดวันแรก 39 บาท ก่อนจะลงมาต่ำสุดที่ 28 บาท แต่ดันไปขายขาดทุนที่ 32 บาท ตอนนั้นงงๆ ทำไมหุ้นไม่ขึ้น ช่วงนั้นยังไม่มีความรู้ และไม่ได้ศึกษาข้อมูลอะไรเลย คิดเพียงว่า “อยากรวย” ตอนนั้นเจ็บตัวพอสมควร หลังจากนั้นก็ลงทุนหุ้นตัวโน้นตัวนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยกลยุทธ์แบบเดิมๆ

ผ่านมาถึงปี 2546 เกิดวิกฤตชีวิตอีกครั้ง หลังคุณพ่อวัย 62 ปี ในขณะนั้น ป่วยหนักต้องนอนห้องไอซียูนานถึง 14 วัน ค่าใช้จ่ายห้องไอซียูตกวันละ 7,000 บาท ด้วยความที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการรักษาคุณพ่อ จึงตัดสินใจตัดขายขาดทุนหุ้นบางตัว เช่น หุ้น IPO บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ซื้อมาแถวยอดดอย 26 บาท เป็นต้น ส่งผลให้เงินในมือลดลงเหลือเพียง 250,000 บาท แต่โชคดีที่เคยทำประกันให้พ่อ แถมญาติๆ และพ่อตาแม่ยายยังช่วยออกค่ารักษาพยาบาล ทำให้วิกฤตครานั้นผ่านไปด้วยดี ปัจจุบันคุณพ่ออายุ 73 ปี ท่านยังอยู่ดีมีสุข

“คุณพ่อลูกสอง” เล่าต่อว่า หยุดเล่นหุ้นไปเกือบเดือน เพื่อใช้เวลาดูแลพ่อ ก่อนจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง คราวนี้ตัดสินใจนำรถยนต์ส่วนตัวไปรีไฟแนนซ์ได้เงินมา 200,000 บาท หวังนำมาสมทบรวมกับเงินที่มีอยู่ 250,000 บาท เพื่อนำมาเล่นหุ้นใหม่ กลยุทธ์ลงทุนช่วงนั้น คือ “เล่นหุ้นด้วยเงินสด และอัดมาร์จิ้น”

“จุดเปลี่ยนชีวิตการลงทุนเกิดขึ้นตอนนี้”

บังเอิญน้องชายแท้ๆคนหนึ่ง ขายสุกี้อยู่ในซอยละลายทรัพย์ วันหนึ่งน้องบ่นว่า ราคาเนื้อสันในไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 35 บาท เป็น 50 บาทต่อกิโลกรัม หลังประเทศญี่ปุ่นเปิดให้เนื้อไก่ของเมืองไทยสามารถนำเข้าไปขายได้ เมื่อวิเคราะห์เรื่องนี้แล้วพบว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะเติบโตดี ประกอบกับอยากเล่นหุ้นแบบเซฟๆ จึงตัดสินใจซื้อ “หุ้น จีเอฟพีที” หรือ GFPT จำต้นทุนไม่ได้ แต่ได้กำไรกลับมาประมาณ 200,000-300,000 บาท หลังถือลงทุนนาน 1 เดือน

จากนั้นนำกำไรไปลงทุนต่อใน หุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ หรือ ZMICO “ความมหัศจรรย์” ของการลงทุนเกิดขึ้นจากหุ้นตัวนี้ คุณลองฟังดู หลังเล่นหุ้น ZMICO ประมาณ 12 รอบ ภายใน 7 เดือน ต้นทุนแรก คือ 27 บาท ก่อนจะไปขายที่ 29 บาท และไปซื้ออีกครั้งที่ราคา 31 บาท ขาย 34 บาท และซื้อ 40 บาท ขาย 42 บาท ราคานี้ย้ำอยู่หลายรอบ ก่อนจะมาซื้ออีกครั้งในราคา 45 บาท ขาย 48 บาท

ราคาหุ้น ZMICO วิ่ง เพราะในช่วงปลาย 2546 วอลุ่มตลาดเด้งขึ้นจาก 30,000-40,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท ทำให้หุ้นโบรกเกอร์ได้รับผลดีตามไปด้วย เนื่องจากตอนนั้นนักลงทุนยังต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นเต็มๆที่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นเช่นนั้นในฐานะที่ ZMICO มีวอลุ่มซื้อขายวันละ 7,000 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 2 รองจากบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ก็น่าจะได้ประโยชน์ตามไปด้วย ตอนนั้นบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังไม่เข้าตลาดหุ้น และมีหุ้นโบรกเกอร์ให้เล่นไม่กี่ตัว

แต่ช่วงที่ซื้อหุ้น ZMICO ในราคา 70 บาท ราคาหุ้นดันลงมาอยู่ 60 กว่าบาท ตอนนั้นเครียดมาก “มือสั่น ใจสั่น” เราลองอธิฐานในใจว่า “พ่อช่วยลูกนะ” จากนั้นอีก 15 นาที คุณเชื่อหรือไม่!! ราคาดีดกลับเท่าทุน แต่ไม่ยอมขาย สุดท้ายไปปล่อยออกตอน 77 บาท ช่วงนี้ถือเป็นเวลาที่ได้ “กำไรมากสุด” เพราะใช้เงินสดบวกอัดมาร์จิ้นมากถึง 4-5 ล้านบาท มากกว่าตอนเล่นช่วง 27-48 บาท ที่ใช้เงินสดบวกมาร์จิ้นแค่ 2 ล้านบาท เมื่อราคาลงมา 72 บาท ก็ซื้อใหม่ ซึ่งรอบสุดท้าย คือ ราคากว่า 80 บาท แล้วไปขาย 110-130 บาท ตอนนั้นเล่นสตอรี่แตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท

อ่านต่อ...

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่