" จตุรมิตรสามัคคี " จัดขึ้นเพื่ออะไร ???

แน่นอนครับว่าผมก็เป็นคนคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับงานครั้งนี้แน่นอน ทำให้ผมได้เห็นสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนในโรงเรียน ในกลุ่มเพื่อน เพราะถ้าเทียบกับปีการศึกษาที่ไม่มีการจัดงาน "จตุรมิตร" นี้ขึ้นหลายๆสิ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้น เช่น การให้นักเรียนซ่อมอุปกรณ์เชียร์หรือแม้แต่การซ้อมเชียร์โดยให้เป็นความรับผิดชอบของนักเรียนซึ่งจะมีการเช็คชื่อหรือแม้แต่จากการคิดคำต่างๆนานาขึ้นมาว่า ถ้าไม่ทำแบบนั้นแบบนี้แสดงว่า "ไม่รักโรงเรียน" ... ถ้าไม่ได้มองอะไรก็คงจะคิดว่าเป็นการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนพร้อมที่จะทำตามทั้งร่างกายและจิตใจ....แล้วมันไม่ดียังไง? แน่นอนครับมันจะทำให้เชื่อและ "คลั่งโรงเรียน" กันไปจนเกิดสิ่งที่มักเรียกกันว่า "ความรักโรงเรียน" ...แล้วถ้ามีใครคนหนึ่งไม่ทำตามอะไรแบบนี้หรือทำแต่เกิด"พลาด" พูดออกมาว่า..ทำไมต้องทำด้วยหวะ.. เท่านั้นหละเขาคนนั้นจะถูกแบ่งแยกทันทีว่าเป็นคนไม่รักโรงเรียน ไม่มีความเสียสละ เห็นแก่ตัว อกตัญญูต่อโรงเรียน ทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออก.....แล้ว"จตุรมิตร" "สามัคคี" จริงไหมหละเนี่ย?? ขนาดในโรงเรียนเดียวกันยังสามารถสร้างรอยแตกที่มองไม่เห็นได้ขนาดนี้ แล้วถ้ากับโรงเรียนอื่นๆที่ร่วมจัดการแข่งขันหละจะ"สามัคคี" กันจริงๆหรอ เพราะถ้าปีไหนมีการจัดจตุรมิตรปีนั้นจะต้องได้ยินข่าวการทะเลาะวิวาทระหว่างโรงเรียนแน่นอน ถ้าไม่มีการจัดการแข่งขันนี้จะเป็นยังไง ชมพูฟ้าจะรู้สึกบางอย่างกับเขียวเหลืองไหม หรือ ชมพูฟ้าจะรู้สึกบางอย่างกับม่วงทองไหม  ผมผ่านงานจตุรมิตรมาเเล้วทำให้ผมพบว่าครั้งที่จะมาถึงในปีการศึกษานี้แต่ผมก็ยังเห็นปัญหาเดิมๆ วนกลับมาใหม่ทุกๆ 2 ปี เท่าที่ผมพอจะคิดได้ก็คือ "จตุรมิตรสามัคคี" จัดขึ้นเพื่อต้องการสร้างจุดหมายร่วมกันของในแต่หละโรงเรียนให้เป็นเครื่องมือในการสร้าง"ความรักโรงเรียน" สร้างความเป็น"โรงเรียน" ให้กับแต่หละโรงเรียน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงทำไมไม่สร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยวิธีอื่น ทำไมต้องสี่โรงเรียนนี้ ทำให้ผมอยากรู้ว่า "จตุรมิตรสามัคคี" จัดขึ้นเพื่ออะไรกันแน่...

ผมไม่ได้บอกนะครับว่า "การรักโรงเรียน" เป็นสิ่งที่ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดีครับ....แต่ความ "รัก" = "เกลียด" ไม่ใช่หรอครับการรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันก็เท่ากับว่าเราต้องเกลียดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปพร้อมๆกันไม่ใช่หรอ...ลองคิดดูดีๆสิครับว่ามันเป็นแบบนั้นจริงรึไหม

ปล. ถ้าพวกคุณเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนต่างๆ ก็เริ่มคิดตามด้วยว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆรึป่าวเพราะไม่แน่ว่าเวลาเปลี่ยนไปบางสิ่งบางอย่างก็อาจเปลี่ยนไป นี้เป็นแค่มุมมองๆหนึ่งจากศิษย์ปัจจุบันที่มีคำถามเกิดขึ้นเท่านั้นครับ .....และถ้าใครคิดว่าผมเข้าใจอะไรผิดสามารถชี้แจงได้นะครับผมพร้อมที่จะรับฟัง

ถ้าใครสงสัยว่า"จตุรมิตรสามัคคี" คืออะไร มันก็คือประเพณีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสี่โรงเรียนครับ


จริงๆอยากแท็กให้ครบทั้งสี่โรงเรียนแต่บางโรงเรียนก็ไม่มีแท็กนะครับ
ขอบคุณครับ ^__^
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 40
เวอร์ชันสรุปสั้น ๆ สำหรับ TL;DR

การตั้งคำถามเป็นเรื่องดี แต่ชีวิตนี้ยังต้องไปอีกไกล
ไม่อยากให้คิดเล็กคิดน้อยกับเรื่องนี้ ยกเว้นถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน



สวัสดีครับน้องเจ้าของกระทู้
ขอแทนตัวเองว่าพี่แล้วกันนะครับ ผมจบมาก็นานหลายปีมากแล้ว

ก่อนอื่น พี่ชื่นชมที่น้องกล้าตั้งคำถามนะครับ การที่เรากล้าตั้งคำถาม
นั่นหมายถึงเราเป็นคนมีความคิด และมีความเป็นขบถ ซึ่งถ้าใช้ในทางที่ถูก
อาจจะช่วยให้เกิดการพัฒนาได้

แต่สิ่งหนึ่งที่พี่ยังไม่ค่อยมั่นใจคือ น้องต้องการอะไรจากการตั้งคำถามนี้
น้องแค่อยากแสดงความคิดเห็น หรือน้องไม่แน่ใจว่าการที่น้องสงสัยมันถูกต้องไหม

อย่างไรก็ตาม พี่จะขออนุญาตแสดงความเห็นของพี่โดยแยกประเด็นดังนี้นะครับ

1. ปัญหาที่น้องพูดถึงเรื่องความรัก ความสามัคคี และความเกลียด ฯลฯ

พี่กล้าพูดเลยครับ ว่าตอนพี่โดยบังคับให้ไปทำแปรอักษร พี่ก็รู้สึกในเชิงลบกับมัน
ทำไมต้องตากแดด ทำไมต้องตะโกน ทำไมต้องไปทรมานบนสแตนด์ ฯลฯ
ตอนนั้นรู้สึกว่าพี่จะโดนบังคับโดยมีวิชากิจกรรมในสมุดพกหรืออะไรซักอย่างมาพ่วงด้วย
แล้วก็ได้รับคำแนะนำว่าถ้าผ่านตรงนี้ จะได้ใบรับรองการผ่านกิจกรรมพิเศษ
ซึ่งอาจจะช่วยได้เมื่อนำไปยื่นตอนสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัย

(ทั้งหมดนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรเลยครับ ใช้คะแนนเอนทรานซ์อย่างเดียว)

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความรู้สึกที่พี่ได้รับตอนกิจกรรมมันจบ ตอนได้เห็นภาพวิดีโอ
ว่าเราได้แปรอักษรอะไรไป มันแบบว่า เฮ้ย เจ๋งว่ะ นี่เราเป็นส่วนหนึ่งของอะไรเจ๋ง ๆ แบบนี้ด้วยเหรอ
เมื่อมันผ่านมา ก็รู้สึกดีเหมือนพี่ ๆ คนอื่น ๆ ครับ คือเราได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่มันดูยิ่งใหญ่
แม้จะโดนบังคับไปในตอนแรก มันก็รู้สึกภาคภูมิใจดีครับ

สำหรับตัวพี่เอง พอเรียนจบไปเข้ามหาวิทยาลัย ไปเจอกับกิจกรรมรับน้อง
(ที่ในปัจจุบันเป็นกระแสสังคม เรื่องการว้าก เรื่อง ฯลฯ)
พี่กลับรู้สึกโชคดี ที่เราผ่านอะไรคล้าย ๆ กันมา เพราะตอนซ้อมเชียร์และแปรอักษร
มันก็แทบจะมีบริบทไม่แตกต่างกัน ทำให้ชีวิตช่วงมหาลัยผ่านฉลุยไปได้อย่างง่ายดาย

ต่อมา เมื่อเรียนจบ เข้าทำงานในองค์กร ไอ้เรื่องการถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบ
การแบ่งพรรคแบ่งพวก และเรื่องทำนองไม่รักองค์กร ฯลฯ ก็ยังมีอยู่ทั่วไป
แม้จะไม่ชัดเจนและรุนแรงเหมือนสมัยเรียนครับ

โดยรวม ๆ จากมุมมองของพี่นะครับ น้องไม่ผิดที่ตั้งคำถาม ถ้าบางอย่างน้องรู้สึกว่ามันทำเกินไป
เช่น เป็นการเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชน เสี่ยงต่อการทำให้ได้รับบาดเจ็บ ฯลฯ
เรื่องพวกนี้ควรนำออกมาสู่ที่แจ้ง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ครับ เพราะมันต้องได้รับการแก้ไข

ในทางตรงกันข้าม ถ้าน้องแค่รู้สึกไม่อยากทำสิ่งที่โดนบังคับให้ทำ โดยน้องมองว่า
น้องกำลังเป็นตัวแทนของเสียงที่ไม่พอใจ และอยากให้ยกเลิกมันไปเสีย จึงเลือกเวที Pantip
ในการเปิดประเด็นเรื่องนี้ พี่คิดว่าผลลัพธ์อาจจะไม่เป็นตามที่น้องหวังเท่าไหร่

เหตุผลหนึ่งก็เพราะใน Pantip มีพี่ ๆ ที่เรียนจบมาแล้ว และได้เห็นได้เข้าใจ
แยกแยะได้ว่า ตัวกิจกรรมเอง มันอาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ในชีวิต
อาจจะเป็นความทรงจำที่ทั้งดีและไม่ดี แต่มันไม่ใช่สาระสำคัญขนาดที่จะเอาเป็นเอาตายกับมัน
เพราะในชีวิตของน้อง น้องอาจจะมีโอกาสต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบ และเกิดคำถามขึ้นอีกหลายครั้ง

สิ่งสำคัญคือถ้าน้องกล้าที่จะตั้งคำถาม น้องก็ควรจะเปิดใจรับเอาคำตอบไปคิด
อย่าตั้งคำถามโดยคาดหวังว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับน้อง แล้วพอถูกตำหนิถูกแย้งมาก ๆ เข้า
ก็นึกน้อยใจว่าไม่มีใครเข้าใจเรา เพราะนั่นจะทำให้น้องเสียเวลาเปล่า
(พี่ไม่ได้ว่าน้องกำลังทำแบบนั้นนะ แค่ดักไว้เฉย ๆ ฮา ฮา)

สำหรับตัวพี่เอง พี่มองว่ามันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำก็ดี ไม่ทำก็ไม่เป็นไร
มันไม่ได้เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของพี่ในปัจจุบัน แต่มันก็ไม่ได้ทำลายชีวิตพี่เช่นกัน
ทว่า มันมีผู้ใหญ่ รุ่นพี่ และคนอื่น ๆ อีกหลายคน ที่รู้สึกดีกับกิจกรรมนี้
ดังนั้น การได้มีส่วนร่วมในจตุรมิตรก็เป็นอะไรที่บวกนิด ๆ แต่ไม่ใช่ลบแน่ ๆ สำหรับตัวพี่

สรุปก็คือ พี่ก็อยากให้น้องหันมาสนใจอนาคตของตัวเองต่อจากนี้ดีกว่า
มองจตุรมิตรเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ผ่านมาและผ่านไปเถอะครับ
มันไม่ได้ดีเด่ แต่ก็ไม่ได้แย่อะไรสำหรับพี่
ตราบใดที่ยังมีคนให้ความสำคัญกับมัน เราก็ควรเคารพสิทธิของเขา
(ถ้าเขาไม่ละเมิดสิทธิของเราจนเกินควรน่ะนะ)

ขออภัยถ้ามันยาวเหยียดและอาจจะตอบคำถามของน้องไม่ได้
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 24
ลูกชายแปรอักษรปีนี้ค่ะ
ลูกตื่นเต้นและภูมิใจมากค่ะ
เป็นประเพณีที่ดี ฝึกความอดทน
ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา
น้องซ้อมแปรอักษรที่สนามฟุตบอล
ฝนตกปรอยๆ พี่บอกให้น้องอดทน
จนกระทั่งตกหนักขึ้น
พี่จึงปล่อยน้องกลับบ้าน
ระหว่างที่น้องกำลังวิ่งหลบฝนชุลมุน
พี่ม.ปลายประกาศว่า
"ไม่ต้องรีบครับ ระวังล้ม พี่จะออกเป็นคนสุดท้าย"

เทพศิรินทร์ ลูกแม่รำเพยค่ะ
ความคิดเห็นที่ 30
พูดกันตรงๆ สมัยที่ผมเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์
ผมก็ไม่รู้จักหรอกคำว่า สามัคคี อะไรแบบนั้น
แต่ที่รู้จักคือ หน้าที่ ผมทำตามเพื่อนๆพี่ๆไป
วันที่ขึ้นสแตนแปรอักษร ด้วยวัยเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวไรเลย
มันก็มีทั้งร้อน ทั้งหงุดหงิด ทั้งหิว ทั้งเหนื่อย
แต่ทุกครั้งที่หรีดเขาสั่งให้พูดว่า "เทพศิรินทร์"
จะมีเสียงจากสแตนอีกฝั่งตอบมาว่า "สู้ๆ"
นี่แหละที่ทำให้ผมรู้จักคำว่า สามัคคี
.........
และเมื่อผมจบออกมาอยู่ในรั้วมหาลัย
ผมก็ยังเฝ้ารอให้ถึง "จตุรมิตรสามัคคี" อีกครั้ง
"เสียงปรบมือ จะกลับมาพร้อม มิตรภาพ ที่ห่างหาย"
ท.ศ. 40049
เทพศิรินทร์ 50-53 (125)
ประธานรุ่น
ความคิดเห็นที่ 21
จตุรมิตร ทำไมต้องจตุรมิตร

เพราะคือโรงเรียนประจำ 4 แห่งแรกของประเทศไทย

โรงเรียนประจำ มีอดีตอันยาวนาน ซึ่งตั้งขึ้นครั้งแรกในสมัย ร. 4

เรารับเอาระบบโรงเรียนประจำมาจากอังกฤษ ซึ่งสมัยก่อน

การเรียนของอังกฤษจะแยกเป็นระบบ ชาย หญิง

เพื่อฝึกให้นักเรียนชายเป็นสุภาพบุรุษตามแบบอังกฤษ

ซึ่งถ้าโตขึ้นจะมีคลับสำหรับสนทนาคุยกัน เฉพาะชายโดยเฉพาะ

และที่อังกฤษจะมีฟุตบอลประเพณีหว่างสถาบันกันอยู่เสมอ

ซึ่งผู้บริหารไทยที่ไปเรียนอังกฤษก็เอาระบบอังกฤษมาใช้กับโรงเรียนประจำ

ชายล้วน 4 แห่งแรกของประเทศไทย  โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียน (เอกชน)
เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 161 ปี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2395

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย
เปิดสอนเฉพาะนักเรียนชายในระดับชั้นมัธยมศึกษา ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2425 ปัจจุบันมีอายุ 131 ปี

โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้รับการสถาปนาจาก องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2428 ปัจจุบันมีอายุ 128 ปี

โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนของชาวยุโรปแห่งแรกในประเทศไทย (เอกชน)
เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ?
พ.ศ. 2428 ปัจจุบันมีอายุ 128 ปี
ความคิดเห็นที่ 1
ผมชอบมันในแง่การได้ทำกิจกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีคนร่วมเยอะ ต้องทำงานเป็นทีม จาก ศิษย์เก่าอัสสัมครับ ส่วนเรื่องคลั่งโรงเรียน ผมว่าเข้ามหาลัยก็ไม่มีความคิดนี้อยู่ในหัวแล้วครับ หันไปคลั่งคณะแทน 5555
ความคิดเห็นที่ 4
มันก็เป็นช่วงๆหนึ่งที่เพื่อนร่วมตัวกันได้เกือบครบมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อนในกลุ่ม เจอทั้งเพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่รุ่นน้องและอาจารย์

และ กิจกรรมจตุนี้แหละ ที่ทำให้ผมรู้จักคำว่า
เสียสระ
รับผิดชอบ
รู้แพ้รู้ชนะ (ถึงจะด่ากันก็ตาม)

สุดท้ายคงเป็น ความประทับใจ สนุก มัน ที่หาไม่ได้จากไหนแล้ว ใครไม่ได้อยู่ 4 จตุ คงไม่เข้าใจมัน

DS120
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่