รู้หรือไม่... ที่มาวันลอยกระทง

รู้หรือไม่..ที่มาวันลอยกระทง
วันลอยกระทงเป็นวันสำคัญของไทยมาอย่างช้านาน ต้นกำเนิดนั้นต้องย้อนหลังไปถึงยุคสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นราชธานี (ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัย) ณ เวลานั้นเป็นยุคแห่งความข้าวยากหมากแพง นกกะปูดตาแดง น้ำแห้งก็ตาย ผู้คนทั่วพระนครอดอยากยากไร้ไปถ้วนทั่วทุกตัวตน จึงมีผู้หญิงนางหนึ่งขันอาสาเป็นตัวแทนขอขมาแก่เทพเจ้าแห่งสายฝนเพื่อให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เธอจึงนำแมวมาแห่ขอให้ฝนตก เกิดเป็นพิธี "แห่นางแมว" อันลือชื่อตราบจนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อนางได้เสียชีวิตลง ลูกสาวของนาง คือ เด็กหญิงนพมาศ จึงต้องสืบทอดพิธีนี้ แต่แมวตัวนั้นก็ได้ตายตามเจ้าของไปแล้ว หล่อนจึงคิดค้นวิธีใหม่ที่จะขอพรกับสายน้ำ แต่ยังคิดไม่ออกจนถึงอายุ 15  เธอจึงไปทำบัตรประชาชนและกลายเป็น "นางสาวนพมาศ" นางสาวนพมาศได้คิดค้นหาวิธีที่จะนำสิ่งของไปถวายเพื่อตอบแทนพระคุณพระแม่คงคาหลายอย่าง เช่น ขนมไทย ข้าวปลาอาหารนานาชนิด และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่นำไปครั้งใด สิ่งของเหล่านี้ก็จมลงสู่ก้นแม่น้ำทั้งสิ้น หล่อนจึงเสียใจมาก และไปปรึกษากับขุนนางจากต่างแดนสุดยอดนักประดิษฐ์สิ่งลอยน้ำ ซึ่งมีชื่อว่า ลอร์ดเฟอร์รี่ (ภายหลังเป็นผู้คิดค้นเรือเฟอร์รี่สำเร็จเป็นคนแรก)

เมื่อท่านลอร์ดได้ฟังคำต้องการของหล่อนจึงเฝ้าคิดคำนึงถึงทางออกของปัญหานี้เป็นเวลาหลายเดือน และจากการได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ปรึกษากันอยู่เสมอนี่เอง ท่านลอร์ดจึงเกิดความผูกพัน รักใคร่นางสาวนพมาศโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่กล้าที่จะเอ่ยความในใจออกมา จนกระทั่งคืนเดือนเพ็ญคืนหนึ่งท่านออกไปเดินคิดสิ่งประดิษฐ์ด้านนอกเรือนไทยประจำตำแหน่ง

ขณะนั้นเอง ท่านลอร์ดได้ยินเสียง "พลั่ก พลั่ก พลั่ก" จึงหันไปมองดู ปรากฏเห็นทาสนายหนึ่งกำลังยืนสับขาเตะใส่ต้นกล้วยอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเป็นการซ้อมมวย ท่านลอร์ดเห็นดังนั้นจึงปิ๊งไอเดียในทันที บอกให้เจ้าทาสคนนั้นเตะต้นกล้วยหนักขึ้น! แรงขึ้น! เจ้าทาสจึงสับขาหลอกสองที แล้วใส่เต็มแรงจนต้นกล้วยหักโค่นลงมา ท่านลอร์ดไม่ช้าที จึงปรี่เข้าไป รีบเด็ดเอากล้วยหลายหวีมากินอย่างเอร็ดอร่อย ท่านจึงหันไปบอกกับทาสด้วยสำเนียงผู้ดีอังกฤษว่า "ข๋อบหน่ำใจ๋เจ้าม๊าก เจ๋ามีหนามว๋าเยี่ยงไร๋" ทาสจึงเอ่ยตอบว่า

"นายขนมต้ม ขอรับนายท่าน"

ต่อมาเมื่อท่านลอร์ดกินกล้วยอิ่มจึงกลับขึ้นไปบนเรือนเพื่อคิดต่อ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่นางสนมคลานเข่าเข้ามาพร้อมกับขนมปังของชอบของท่านเต็มตะกร้า ปรากฏว่าท่านลอร์ดอิ่มมากจนกินไม่ไหวแล้ว จึงต่อว่านางสนมที่เอาของกินมาให้ไม่ถูกเวลาพร้อมกับเขวี้ยงก้อนขนมปังนั้นออกไปนอกเรือน ท่านลอร์ดมองตามขนมปังก้อนนั้นด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องสะใจในความแข็งแกร่งของตัวเอง เห็นเจ้าก้อนขนมปังพุ่งทะยานแหวกผ่านสวนและตกลงไปในแม่น้ำข้างเรือนและสิ่งที่ท่านลอร์ดเห็นคือ.... มันลอยน้ำได้!! ท่านลอร์ดเห็นดังนั้นจึงดีใจเป็นอย่างมาก เพราะท่านพบคำตอบสำหรับนางสาวนพมาศแล้ว ท่านตะโกนดีใจบอกว่า "ลอยได้! ลอยได้!" และขอขนมปังจากเหล่านางสนมเพื่อจะนำไปลอยเป็นตัวอย่างให้คนรักดู นางสนมเกิดความฉงนเป็นอย่างยิ่งจึงถามว่าจะไปลอยกับใคร ด้วยความเร่งรีบอยากพบนางอันเป็นที่รัก ท่านจึงบอกว่าขอเวลาสักครู่เดี๋ยวจะกลับมาบอกอีกที ลอร์ดเฟอร์รี่รีบบึ่งวิ่งไปบ้านนางสาวนพมาศเพื่อบอกเล่าถึงการค้นพบอันยิ่งใหญ่นี้ พร้อมๆกับจะได้โอกาสเผยความในใจที่เก็บงำมาเป็นเวลานานหลายปีด้วยซะเลย เมื่อไปถึง ท่านลอร์ดก็หยุดอยู่หน้าบ้านก่อนเพื่อให้หายเหนื่อยและดูไม่กระโตกกระตากมากนัก หลังจากนั้นจึงเอื้อมมือผลักประตูเข้าไปอย่างช้าๆ...

ภาพที่อยู่เบื้องหน้าทำให้ท่านเกือบหยุดหายใจ... นางสาวนพมาศกอดจูบอย่างดูดดื่มกับคนรักกลางสวนบ้าน พลันได้ยินเสียงตะโกนด่าจากป้าข้างบ้านว่าไม่อายฟ้าดินเลยหรืออย่างไร.. ท่านลอร์ดทรุดตัวลงคุกเข่าพร้อมๆกับหัวใจที่ร่วงหล่นแหลกอยู่บนพื้นที่ยืนอยู่เช่นเดียวกัน เมื่อนางสาวนพมาศหันมาเห็นจึงเดินเข้ามาหาและถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ท่านลอร์ดจึงเผยสิ่งที่ค้นพบให้เจ้าหล่อนได้เข้าใจจนหมดสิ้น นางสาวนพมาศก็ดีใจมากที่เจอทางออกซะที หล่อนหยิบขนมปังขึ้นมาพร้อมกับชักชวนคนรักรีบนำขนมปังนั้นไปลอยขอขมาสายน้ำดั่งที่ใจปรารถนามาเป็นเวลาช้านาน ก่อนจะกลับมาแนะนำคนรักให้ท่านลอร์ดรู้จักว่าเขาชื่อ "ธง"

ท่านลอร์ดกลับมาถึงบ้านด้วยความสิ้นหวังและน้ำตาไหลรินอาบสองแก้ม  เหล่านางสนมที่รอลุ้นอยู่จึงถามท่านว่าตกลงลอยกะใคร ท่านลอร์ดจึงเอื้อนเอ่ยตอบด้วยน้ำเสียงสิ้นเรี่ยงแรงว่า... "ลอยกะธง" และท่านก็ได้สิ้นใจไป ณ เวลานั้นเอง

ตั้งแต่นั้นมาเรื่องราวรักสามเส้าแห่งสยามนี้จึงเป็นตำนาน และเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วเมือง คนรุ่นหลังจึงทำพิธีนำขนมปังไปลอยน้ำทุกวันเพ็ญเดือน 12 เพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพต่อการบูชาความรักของลอร์ดเฟอร์รี่ พร้อมกับนำคำพูดสุดท้ายของท่านลอร์ดมาตั้งชื่อประเพณีนี้ว่า "ลอยกะธง" เสมอมา ส่วนนางสาวนพมาศเมื่อได้แต่งงานกับธงคนรักและเปลี่ยนคำนำหน้าเป็น "นาง" แต่ไม่เปลี่ยนนามสกุล ผู้คนจึงขนานนามสาวสวยที่เป็นผู้ลอยกะธงว่า "นางนพมาศ" ภายหลังเมื่อยุคแห่ง Social Media มาถึง ทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือ จึงเกิดที่มาของการเล่นคำตามสมัยนิยมมากขึ้น เช่น คะ/ค่ะ เพี้ยนเป็น คระ/คร่ะ คำว่า "ลอยกะธง" จึงเพี้ยนเป็น "ลอยกระทง" ควบคู่กับ "นางนพมาศ" จวบจนทุกวันนี้  


ปล. ลูกหลานของท่านลอร์ดเฟอร์รี่รู้สึกช้ำใจที่บรรพบุรษต้องเสียชีวิตจากสิ่งลอยน้ำ ภายหลังจึงล้มเลิกกิจการเรือเฟอร์รี่ มาผลิตรถยนต์และมุ่งมั่นจนกิจการยิ่งใหญ่สามารถเข้าไปแข่ง F1 ได้ แต่ด้วยความที่ไม่อยากตั้งชื่อกิจการเหมือนเดิม จึงตั้งชื่อที่ใกล้เคียงกันเป็น "เฟอร์รารี่" แทน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่