เมื่อวาน อ.นิธิ วิพากษ์ บทความ ส. ศิวรักษ์ มาวันนี้ ส. ศิวรักษ์ ตอบกลับ

วิวาทะปัญญาชนอาวุโส: "ส.ศิวรักษ์" เขียน "ตอบคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ ด้วยความขอบคุณ"
จาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1415116254


วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 06:45:00 น.



เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เพจเฟซบุ๊ก Sulak Sivaraksa ได้เผยแพร่บทความของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนอาวุโส ที่เขียนตอบบทความชื่อ "ถึงคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ด้วยความนับถือ" เขียนโดยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน มีเนื้อหาดังนี้




[ ตอบคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ ด้วยความขอบคุณ ]




ผมเป็นคนเคารพนับถือคุณนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดยถือว่าเขาเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งกล้าตักเตือนผม ด้วยความหวังดีตลอดมา ผมรับฟังคำเตือนของเขา แล้วเอามาใคร่ครวญอยู่เสมอ ข้อเขียนล่าสุดใน "มติชน" ฉบับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๗ นั้น มีเนื้อหาสาระน่ารับฟังยิ่งนัก แม้เราจะมีจุดยืนต่างกัน ก็รับฟังคำเตือนของกันและกันได้




ผมอาจจะเป็นนักศีลธรรมตามยี่ห้อที่คุณนิธิมอบให้ก็ได้ และผมอาจจะติดวลีจากกวีอังกฤษมากไปก็ได้ ดัง Alexander Pope เขียนไว้ว่า




For forms of Government let fools contest;

Whate’er is best administer’d is best.




ผมอาจจะจำมาไม่แม่นก็ได้ แต่สาระก็อยู่ตรงที่ว่า รูปแบบการปกครองนั้น ให้พวก fools (ซึ่งจะแปลเป็นไทยว่ากระไรดีนะ) อภิปรายโต้เถียงกันไป โดยที่การปกครองที่บริหารได้อย่างดีที่สุด นั่นแหละคือสิ่งที่ประเสริฐสุด ถ้าจะอ้างคำของ Churchill เขาก็บอกว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ไม่มีระบอบใดดีไปกว่านี้ ซึ่งผมไม่แน่ใจ ถ้าใครจำนาง Margaret Thatcher ได้ ก็จะทราบได้ว่าเขาปกครองอังกฤษ ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปในทางเผด็จการอย่างสุด ๆ และเมื่อ Tony Blair ซึ่งมาจากพรรคตรงกันข้าม มาเป็นนายกรัฐมนตรี คนอังกฤษก็พูดกันว่า เขาคือ Thatcher ที่นุ่งกางเกงเท่านั้นเอง แล้วการสืบทอดสันตติวงศ์ของ Bush พ่อลูกเล่า เลวร้ายขนาดไหนในสหรัฐอเมริกา




คุณนิธิบอกว่า การแก้ไขในทางประชาธิปไตยนั้นง่ายกว่าระบอบอื่น Jerry Brown ซึ่งบัดนี้เป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เคยย้ำอยู่เสมอว่าการที่อุดหนุนเงินช่วยเหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีนั้น ควรกำหนดให้ช่วยได้ไม่เกินคนละ ๑๐๐ เหรียญสหรัฐฯ ไม่ว่าจะปัจเจกบุคคล หรือนิติบุคคลก็ตามที เพราะการช่วยเงินดังกล่าวเอาภาษีคืนได้จากรัฐ และถ้าเป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าวนี้ ประชาธิปไตยในสหรัฐฯจะเข้าถึงเนื้อหาสาระได้ หาไม่ ตราบเท่าทุกวันนี้ บรรษัทข้ามชาติอุดหนุนผู้สมัครของเขาด้วยจำนวนเงินอันมหาศาล และเมื่อผู้สมัครคนนั้นได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะไม่อยู่ใต้อาณัติของบรรษัทข้ามชาติได้อย่างไร ความข้อนี้ ดูแล้วก็น่าจะแก้ไขได้ไม่ยาก แต่แล้วก็ไม่เห็นแก้ไขได้สักที โดยผมไม่จำเป็นต้องพูดว่า คนรวยในสหรัฐฯนั้นได้อภิสิทธิ์เพียงใด ในขณะที่คนจนถูกเอาเปรียบอย่างไรบ้าง




ก่อนจบ ผมขออ้างคำของ Tony Judt ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาแล้วทั้งที่ออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ และแล้วเขาอพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยนับถือกันว่า เขาเป็นปัญญาชนชั้นแนวหน้า จนกระทั่งเขาเพิ่งตายจากไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง




ผมขอแปลถ้อยคำของเขามาให้อ่านกันดังต่อไปนี้




“ประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่ระบอบที่จำเป็น หรือเป็นสถานะที่ช่วยให้เกิดสังคมที่ดี และสังคมที่โปร่งใส ข้าพเจ้าไม่ต้องการที่จะบ่งว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ซึ่งขาดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง และข้าพเจ้าก็ไม่ใช่คนซึ่งพอใจในระบอบอภิชนาธิปไตย และสังคมเสรีในสมัยศตวรรษที่ ๑๙ แต่ข้าพเจ้าอยากจะแสดงจุดยืนตามแนวทางของ Isaiah Berlin ว่าเราต้องยอมรับว่า สังคมในระบอบเก่า ก่อนมีประชาธิปไตยนั้น ในบางแง่มุมแล้ว ถือได้ว่าดีกว่าระบอบประชาธิปไตย”




นอกไปจากนี้แล้ว Judt ยังกล่าวด้วยว่า “แนวโน้มของระบอบประชาธิปไตย ในแนวทางของมวลมหาประชาชนนั้น ผลิตนักการเมืองประเภทกึ่งดิบกึ่งดี ข้อนี้ทำให้ข้าพเจ้าวิตก นักการเมืองมากหลายในสังคมที่มีเสรีภาพในโลกปัจจุบัน เป็นคนที่เข้าไม่ถึงมาตรฐาน ไม่ว่าคุณจะเริ่มที่อังกฤษแล้วไปจบลงที่อิสราเอล หรือคุณเริ่มที่ฝรั่งเศสแล้วไปจบลงที่ไหนก็ได้ในยุโรปตะวันออก หรือคุณจะเริ่มที่อเมริกาแล้วเดินทางเรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย การเมืองไม่ใช่สถานะสำหรับผู้คนซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเอง อย่างมีชีวิตจิตใจ และเป็นคนซึ่งหายใจเข้าออกอย่างอิสรเสรี จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”




คุณนิธิจะเห็นด้วยกับความข้อนี้หรือไม่ ก็สุดแท้ และที่ผมเขียนถึงข้อบกพร่องของประชาธิปไตยนั้น ผมไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สมัยโรมัน ดังคำของ Tony Judt ที่แปลมาให้อ่านกันนี้ เน้นในสมัยปัจจุบันนี้เลยทีเดียว




ด้วยไมตรีจิต

ส. ศิวรักษ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่