รีวิวอัลบั้ม | Alt-J - This Is All Yours


“นิวซีดาน นิวเมสซี่ นิวเวลเบ็ค”

เหล่านักเตะดาวรุ่งที่ถูกสื่อลูกหนังขนานนามโดยใช้การใช้คำว่า “นิว” ขึ้นต้นชื่อ เปรียบเสมือนเครื่องการันตีอนาคต ว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะเดินตามรอยตำนานนักค้าแข้ง และสามารถประสบความสำเร็จในวงการลูกหนังดั่งนักเตะระดับแนวหน้าของโลก (แต่ที่น่าแปลกใจคือบรรดานักเตะที่ถูกยกยอปอปั้นด้วยคำว่า “นิว” มักมีจุดจบที่ shift หายราวกับเป็นอาถรรพ์)

ในวงการดนตรีก็ไม่ต่างจากวงการลูกหนังสักเท่าไหร่ - คำว่า “นิว เรดิโอเฮด” ก็ถูกนำมาใช้เพื่อยกย่องวงดนตรีทรีโอ้จากลีดส์นาม “alt-J” พวกเขาแจ้งเกิดอย่างภาคภูมิจากผลงานเปิดตัว “An Awesome Wave” ซึ่งสามารถกระชากรางวัลสุดหินอย่าง “เมอคิวรี่ ไพรซ์” มาครอบครองได้อย่างสมศักดิ์ศรี จากผลพวงของความสำเร็จตั้งแต่เดบิวต์ในวงการดนตรี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่แฟนเพลงต่างรอคอยและคาดหวังผลงานชุดถัดไปของพวกเขา



สองปีต่อมา alt-J หวนคืนวงการอีกครั้ง พร้อมประกาศอัลบั้มชุดที่สอง “This Is All Yours” ทางวงดึง “ชาร์ลี แอนดริว” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอัลบั้ม “An Awesome Wave นั่งแท่นโปรดิวเซอร์ แต่ทว่ามือเบสของวง ‘Gwil Sainsbury’ ได้ลาออกจากวงด้วยเหตุผลส่วนตัวก่อนที่พวกเขาจะเริ่มต้นทำอัลบั้ม -- คำถามคือการขาดหายของ ‘Gwil Sainsbury’ จะส่งผลกระทบต่ออัลบั้มชุดที่สองหรือไม่

กลับมาพูดถึง “This Is All Yours” สิ่งที่น่าหลงใหลในตัวของ alt-j คือการเรียบเรียงสตูดิโออัลบั้มให้เป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ทุกแทร็คใน “This Is All Yours” ถูกร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวที่มีจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุด สังเกตได้จากชื่อเพลงอย่าง ‘Arrival in Nara’, ‘Nara’, และ ‘Leaving Nara’ (นาระ คือชื่อเมืองในประเทศญี่ปุ่น) เสน่ห์ของแทร็คลิสต์ในอัลบั้ม “This Is All Yours” คือการเชื้อเชิญให้ฟังตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้าย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ซิงเกิ้ลแรกของวง “Hunger Of The Pine” ที่ถูกคืนชีพด้วยเสียง EKG (เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เป็นสัญญาณว่าพวกกลับมาแล้ว ก่อนจะทำให้เราผงะกับท่อน “I'm a female rebel” ที่ถูกตัดจากแทร็ค “4x4” ของสาวซ่าอย่าง Miley Cyrus เมื่อเสียงของเธอมาปรากฏในงานของ alt-j ศิลปินสุดฉาวเจ้าของซิงเกิ้ล “Wrecking Ball” จึงกลายสภาพเป็นสาวหัวขบถผู้นำขบวนการสตรีนิยมในทันใด

ส่วนใครที่หลงใหลในกลิ่นอายของอัลบั้มชุดแรก ผมขอยกให้ “Every Other Freckle” เป็นแทร็คที่มีซาวด์ใกล้เคียงกับอัลบั้ม “An Awesome Wave” มากที่สุด อาจเป็นเพราะวิธีใช้เครื่องเคาะที่ละม้ายกับแทร็ค “Fitzpleasure” และอีกหลายๆเพลงในอัลบั้มชุดแรก ผมจึงอดไม่ได้ที่จะยกเทคนิคนี้ให้เป็นสเตอรีโอไทป์ (Stereotype) ของ alt-j อย่างไม่ตั้งใจ ฮือ…

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แต่ถ้าพูดถึงแทร็คที่รู้สึกแปลกแยกอย่างที่สุดคงหนีไม่พ้น “Left Hand Free” ที่นึกว่ามีศิลปินรับเชิญคนละขั้วอย่าง Jake Bugg เข้ามาร่วมร้องและโปรดิวซ์ ถึงแม้งานจะดูมีรายละเอียดน้อยกว่าแทร็คอื่นๆในอัลบั้ม แต่แทร็คนี้ก็มีความดิบธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง และฉีกตัวตนของวงมากที่สุด ว่ากันว่าเพลงนี้ใช้เวลาแต่งเพียง 20 นาทีเท่านั้น (ดิบจริง กูยอม!)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ในอัลบั้มชุดแรก alt-j ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์หลากหลายประเภท อาทิ Léon, American Psycho, Where the Wild Things Are อัลบั้มชุดนี้ก็เช่นกัน ในเพลง ‘The Gospel of John Hurt’ พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Sci-Fi ชื่อดัง ‘Alien’ จากฉากที่ตัวอ่อนเอเลี่ยนกัดทะลุงท้องของหนึ่งในลูกเรืออวกาศ (นำแสดงโดย John Hurt) ออกมาอย่างน่าสยดสยอง จากงานเพลงชิ้นนี้ทำให้เห็นว่า ทั้งสามยังคงบ้าดูหนังเช่นเคย (อัลบั้มหน้าผมขอ Gone Girl ไม่ก็ Interstellar บ้างนะเพ่!)

สำหรับ “This Is All Yours” ผมค่อนข้างถูกชะตากับ “Hunger of the Pine”, "Left Hand Free", และ "Every Other Freckle" สามแทร็คที่ทางวงเลือกตัดเป็นซิงเกิ้ล ที่ไม่ลึกออกอ่าวจนเกินไป และเปิดระยะให้แฟนเพลงเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงแทร็ค “Warm Foothills” กับการดูเอทคู่ศิลปินสาว Marika Hackman ที่ให้ความรู้สึกถึงความ “โรแมนติค” และ “อบอุ่น” ในเวลาเดียวกัน ส่วนแทร็คอื่นๆจะเน้นในการสร้างบรรยากาศโดยใช้เสียงธรรมชาติ ซึ่งคอยสะกดแฟนเพลงเข้าสู่ภวังค์อย่างไม่รู้ตัว

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอัลบั้มสร้างชื่ออย่าง “An Awesome Wave” ผมกลับคิดว่าอัลบั้มชุดล่าสุดนี้ยังไม่สามารถสร้างความน่าตื่นเต้นให้แก่ผู้ฟังมากพอ ถึงแม้จะมีแทร็คฉีกตัวตนแบบสุดโต่งอย่าง "Left Hand Free" แต่มันก็ไม่ถึงกับทำให้เราร้อง ว้าวว! ล้ำหว่ะ! จนต้องนำหยิบกลับมาฟังบ่อยๆ

ส่วนคำถามที่ว่า การขาดหายของ ‘Gwil Sainsbury’ จะส่งผลกระทบต่ออัลบั้มชุดนี้หรือไม่? – ขอตอบว่าไม่มากถึงขั้นสาหัส เพราะ alt-j ยังเก็บกลิ่นอายในแบบที่พวกเราคุ้นเคยไว้ได้อย่างครบถ้วน ‘This Is All Yours’ ถือเป็นอัลบั้มที่ตอกย้ำตัวตนของพวกเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องโหนชื่อรุ่นใหญ่ อย่าง “นิว เรดิโอเฮด” เพื่อดึงดูดให้คนมาเสพย์ผลงาน

(หากอยากเป็น “เรดิโอเฮด” ที่แท้จริง ต้องทำให้ผู้ฟังประสาท "แดรก" อย่างสมบูรณ์ให้ได้เสียก่อน ฮา)


ไม่แน่นะครับ แนวเพลงของ alt-j อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นถัดไป
จนมีวงรุ่นใหม่ที่ถูกสื่อขนานนามภายใต้ชื่อ “new alt-j” ก็เป็นได้...

คะแนน: 3.5/5
รีวิวโดย เสพย์สากล
https://www.facebook.com/addictmusic
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่