เปิดพิมพ์เขียว 2 ข้อ เสนอสุดขั้ว เฟส 2 สุวรรณภูมิ

กระทู้สนทนา
เปิดพิมพ์เขียวแผนแม่บท “คู่ขนาน” เก่า-ใหม่ หลัง “บิ๊กจิน” กระตุกเบรกข้อเสนอบอร์ด ทอท. ที่มีมติหั่นแผนแม่บทเฟส 2 เดิม อ้างประหยัดงบ ได้ประสิทธิภาพทัดเทียมของเดิม วงในเผยรายละเอียดหมกเม็ดปั้นโครงการลงทุน ทั้งที่ไม่รู้จะตอบโจทย์อะไร

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอการปรับรูปแบบก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นำเสนอ กับแผนแม่บทสุวรรณภูมิเดิม โดยเห็นว่า จำเป็นจะต้องดำเนินไปตามกรอบของแผนแม่บทเดิมที่วางเอาไว้ และหากมีโครงการใหม่เพิ่มเติม ก็ให้คณะทำงานเร่งจัดทำข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น

จากการศึกษาเปรียบเทียบข้อเสนอปรับแบบก่อสร้างสุวรรณภูมิ เฟส 2 ที่บอร์ด ทอท.นำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมนั้น พบว่า มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากของเดิมอย่างมาก และน่าจะถือได้ว่าเป็นการนำเสนอโครงการใหม่ที่ไม่อยู่ในแผนแม่บทเดิม ยกเว้นในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับแท็กซี่เวย์ และระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่ในส่วนของการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และการก่อสร้างหลุมจอดระยะไกลนั้น จำเป็นต้องจัดทำรายงานและนำเสนอรายละเอียดโครงการใหม่เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใหม่ทั้งหมด

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ก่อนการประชุมร่วมครั้งล่าสุดนั้น หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดบอร์ด ทอท.ถึงยังคงดันทุรัง ที่จะเดินหน้าปรับปรุงมาสเตอร์แพลนสุวรรณภูมิเฟส 2 นี้ โดยยืนยันที่จะเดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร Multi Terminal ด้านเหนืออาคารเทียบเครื่องบิน A พร้อมสิ่งอำนวยการสะดวกที่ต้องใช้วงเงินลงทุนสูงถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งที่หากดำเนินการก่อสร้าง เฟส 2 ทั้งโครงการก็ใช้งบประมาณลงทุนเพียง 62,000 ล้านบาทเท่านั้น

“น่าแปลกที่การปรับแผนแม่บทสุวรรณภูมิ เฟส 2 เวอร์ชั่นใหม่นี้ ทำไปทำมากลับใช้เงินลงทุนสูงถึง 60,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ ทอท.ได้กลับมามีเพียงอาคารผู้โดยสารหลังใหม่พื้นที่เพียง 80,000-100,000 ตารางเมตร พร้อมหลุมจอดประชิดอาคารราว 8-12 หลุมจอดเท่านั้น โดยมีการเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างรถไฟฟ้าโมโนเรลที่ใช้งบลงทุน 29,000 ล้านบาท และการก่อสร้างหลุมจอดเครื่องบินระยะไกล 28 หลุมจอดพร้อมระบบอุโมงค์ทางเชื่อมเข้ามาเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับมาสเตอร์แพลนเดิมแล้วถือว่าแตกต่างกันลิบลับ”

ทั้งนี้ โครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 เดิมนั้น นอกจากจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านตะวันออก พร้อมอาคารที่ทำการสายการบินและที่จอดรถหลังใหม่แล้ว ยังมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังรอง หรือ Satellite Terminal พื้นที่ 2.15 แสนตารางเมตร ที่สามารถเพิ่มหลุมจอดประชิดอาคารได้อีก 28 หลุมจอด รองรับเครื่องบิน A380 ได้ถึง 8 ลำ และ Boing 747-400 ได้ 20 ลำ นอกจากนี้ ทอท.ยังได้พื้นที่รองรับหลุมจอดอีก 900,000 ตร.ม. เพิ่มหลุมจอดได้จากปัจจุบันเป็น 69 หลุมจอด เป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 51 หลุม และ Remote Parking 18 หลุม พร้อมกับระบบทางขับ Taxiway พร้อมระบบขนส่งผู้โดยสารลอดอุโมงค์ APM และระบบขนส่งกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร BHS รองรับผู้โดยสารได้เพิ่ม 15-20 ล้านคน ขยายศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคน ในปัจจุบันขึ้นเป็น 60-65 ล้านคน

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ข้อเสนอปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิข้างต้น ถือเป็นอีกผลงานของ 2 ผู้บริหาร ทอท.ที่มีการตั้งฉายาว่า ไอ้ห้อย-ไอ้โหน คอยทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ และตั้งโต๊ะเคลียร์หน้าเสื่องานรับเหมาต่างๆ โดยมีการดึงเอา 2 ผู้บริหาร ทอท. ที่ต้องการสร้างผลงานเข้ามาปรับปรุงแบบ และปัดฝุ่นเอาโครงการเดิมที่ถูกกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลชุดก่อนฝังไปแล้วกลับมาดำเนินการ โดยที่ยังคงต้องลงทุนเท่าเดิม ถือเป็นการลดไซส์และลดเนื้องานลง แต่ยอดผลาญเม็ดเงินลงทุนยังคงเดิม เทียบเท่ากับการดำเนินโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2 เต็มรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลทำให้โครงการดังกล่าว จะต้องล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 1 ปี เห็นได้ชัดจากการที่แม้แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒน์เอง ยังถึงกับส่ายหน้าออกปากถึงนโยบายที่ไม่นิ่งของ ทอท.เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงเป้าหมายการผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่