เครื่องบินไฟฟ้า พาหนะส่วนตัวคนในปี 2030

บังเอิญได้เข้าไปดูคลิ๊ปการประกวดออกแบบประดิษฐ์เครื่องบินที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมของ NASA ( Green Flight Challenge) ดูวิสัยทัศน์ ทั้งผู้จัดการแข่งขัน และผู้เข้าร่วมแข่งขัน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม มันเป็นอะไรที่น่าสนใจและน่าทึ่งมาก  

ลองคิดตามนะ... ในเช้าวันหยุด คุณใช้ชีวิตเรียบง่ายในชนบทของจังหวัดราชบุรี คุณวางแผนจะขับเครื่องบินส่วนตัวชื่อ”โซกู๊ด” ไปเยี่ยมญาติที่ อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช  หลังจากอีเมล์ส่งแผนการบินแล้ว เดินไปชาร์ตแบตให้ โซกู๊ด เครื่องบินไฟฟ้าปีกพับได้ที่จอดในโรงเก็บข้างบ้านแล้วนั่งจิบกาแฟรอให้แบตเต็ม หลังแบตเต็ม แทกซี่ไปที่สนามบินโพธาราม สนามบินประจำอำเภอ ใช้เวลา15 นาที แล้วเทคอ๊อฟ ทะยานขึ้นท้องฟ้า รักษาระดับที่ความสูง 3500 ฟิต ที่ความเร็วเดินทาง 250 กม./ชม ปล่อยให้เครื่อง บินอัตมัติ สามชั่วโมงผ่านไปโซกู๊ดก็ร่อนลงที่สนามบินดอนสัก หลังจากล้อถึงพื้น โซกู๊ดก็พับปีกตัวเองแล้วแทกซี่ออกจากสนามบินวิ่งตามถนนไปถึงที่หมาย ..ระยะทางจากหน้าบ้านถึงหน้าบ้านญาติ 726 กิโลเมตร คุณใช้เวลาอยู่บนอากาศสามชั่วโมง และวิ่งอยู่บนทางหลวง 30 นาที ที่สำคัญคุณเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ (ค่าไฟในการชาร์ทแบต) 70 บาท เสียเวลาไป 3.5 ชั่วโมง ถามว่าเหตุการณ์ข้างบนจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า ?...ผมว่าอีกไม่20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้แน่นอน !!! และเป็นไปได้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย จากข้อมูลด้านล่างครับ

มีการแข่งขันเครื่องบินไฟฟ้าประหยัดพลังงาน  Green Flight Challenge 2011
ผู้ชนะเลิศจากการประกวดครั้งนั้นคือทีม Pipistrel ด้วยเครื่องบินไฟฟ้าสองที่นั่งชื่อ Taurus G4  รางวัลที่ 2 คือ ทีม E-Genius  ในงานมอบรางวัล หัวหน้าทีม Pipistrel ได้กล่าวว่าไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในปี 1903 พี่น้องตระกูลไรท์บินขึ้นฟ้าครั้งแรกได้ระยะทาง120ฟิตในเวลา12 วินาที เพียงสองปีถัดมาพวกเขาก็บินไกลมากกว่า 20 ไมล์ ในเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมงแสดงให้เห็นว่าภายใน 2 ปี ความก้าวหน้าทางการบินไปได้เร็วมาก ในปี2008 เครื่องบินไฟฟ้าของสมาคม EAA บินด้วยความเร็ว70ไมล์/ชม เป็นระยะเวลา 45 นาที  หลังจากนั้นอีก 3 ปี ที่ Green Flight Challenge เครื่องบินไฟฟ้าสองลำ ได้บินได้ระยะทาง 200ไมล์ ต่อเชื้อเพลิง1แกลลอน/1ที่นั่ง ที่ความเร็วมากกว่า 100 ไมล์ต่อชั่วโมง  Pipistrel บินที่ความเร็ว 113 ไมล์/ชั่วโมง สิ้นเปลืองชื้อเพลิง 403 ไมล์ต่อแกลลอน  E-Genius บินที่ความเร็ว 107ไมล์ต่อชั่วโมง สิ้นเปลืองพลังงาน 375/ไมล์/แกลลอน นี่ก็เป็นอีกความก้าวหน้าที่สำคัญในวงการบิน แสดงให้เห็นว่า เครื่องบินไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ แต่ทางที่สวยงามที่จะเลือกไป เมื่อเครื่องบินไฟฟ้าบินที่ความสูงเกินกว่า2000ฟุตเหนือหัวคุณ คุณจะไม่ได้ยินเสียงมัน ผมจ่ายค่าชาร์ทแบตเตอรี่ 8 ดอลล่าในการบินTaurus G4 2ชั่วโมง เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในเครื่องบินสี่ที่นั่งส่วนตัวทั่วไป มันคนละเรื่องกันเลย เมื่อเปรียบกันทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นเรื่องความประหยัด สองประเด็นนี้จะเห็นว่าการเดินทางส่วนตัวทางอากาศด้วยเครื่องบินไฟฟ้าเป็นไปได้ ทั้งประหยัดและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีหลายคนในขณะนี้กำลังทดลองสร้างเครื่องบินไฟฟ้าส่วนตัว ไม่ว่าจะสร้างเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือสร้างในโรงรถหลังบ้าน  เราจะต้องส่งเสริมและผลักดันพวกเขาพวกเขา ” ...นี่เป็นวิสัยทัศของผู้ชนะการแข่งขันในครั้งนั้น

อะไรที่ทำให้เครื่องบินส่วนตัวเป็นเรื่องไกลเกินตัวสำหรับเราในปัจจุบัน ?
...เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูง
...เพราะมันเสี่ยง
...เพราะมันมีข้อจำกัดเรื่องสนามบินมันมีมากไม่ได้เหมือนถนน
...เพราะมันขับยากไม่เหมือนรถ

ok เราจะมาดูทีละประเด็นกัน

เพราะมันมีค่าใช้จ่ายสูง....มีหลายคนบอกว่าค่าใช้จ่ายสูงนั้นเกิดจากค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัย การออกแบบเครื่องยนต์ต้องซับซ้อนเป็นสองเท่าของรถยนต์ กระบอกสูบต้องมีระบบจุดระเบิดสองระบบเพื่อสำรองไว้ น้ำมันที่ใช้กับเครื่องบินต้องเป็นน้ำมันอ๊อกเทนสูงทำให้ราคาน้ำมันสูงเป็นสองเท่าของน้ำมันธรรมดา เครื่องมือวัดหรือเครื่องช่วยเดินอากาศที่ติดตั้งในเครื่องบินรุ่นเก่าซับซ้อนและมีราคาสุง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องหาทิศทางอัตโนมัติ (ADF) เครื่องวัดระยะทางจากเครื่องไปที่สนามบิน (MDE) เครื่อง ทรานสปอนเดอร์ หรือแม้แต่เครื่องใจโรสโคป เครื่องมือวัดรุ่นเก่าราคาแพงสุดโต่งเหล่านี้ถ้าติดตั้งครบชุดอาจมีราคาหลายแสนแต่มันจะถูกแทนที่ด้วย GPS เครื่องเดียวราคาไม่กี่หมื่น  ผมลองมาเรียงสาเหตุแต่ละข้อ

-เครื่องยนต์ชนิดกระบอกสูบราคาสูงและมีประสิทธิภาพต่ำ (ประมาณ30%)….จะแทนที่ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ง่ายต่อการบำรุงรักษาราคาต่ำและประสิทธิภาพสูงกว่า (70%)
-น้ำมัน Avgas ราคาลิตร 70 บาท จะถูกแทนที่ด้วยไฟฟ้า ราคา กิโลวัต/ชม. ไม่เกิน 10 บาท
-เครื่องบินที่เป็นโครงสร้างโลหะน้ำหนักมาก จะถูกแทนที่ด้วย วัสดุคอมโปสีต เบา แข็งแรง  
-เครื่องช่วยเดินอากาศราคาแพงและมีค่าคลาดเคลื่อนสูง จะถูกแทนที่ด้วย GPS ราคาต่ำแต่แม่นยำสูง (ได้ยินมาว่าในการประชุม ICAO ไม่นานมานี้ ระบบนำร่องแบบเก่าของสนามบินจะถูกแทนที่ด้วยระบบGPS)
-ค่าเช่าที่จอดเครื่องในโรงจอดเดือนละ 7000 จะถูกแทนด้วยการ แลนดิ้งแล้วพับปีกวิ่งตามถนนมาจอดที่โรงเก็บหลังบ้าน  

เพราะคนกลัวเรื่องความปลอดภัย.....ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าผมขับรถที่ความเร็ว 100 กม/ชม  กับขับเครื่องบินที่ความเร็ว 95 น๊อต (180 กม/ชม.)อยู่บนอากาศ แล้วอยู่ ๆ ผมวูบหมดสติไป ผมว่าผมตายทั้งสองเหตุการณ์ แต่ถ้าเหตุการณ์เดียวกัน แต่ผมไม่ได้หมดสติเครื่องยนต์ดับไป เป็นรถผมก็จอดข้างถนน ถ้าเป็นเครื่องบิน ผมก็หาจุดร่อนลงฉุกเฉิน ถ้าผมบินสูงพอ และระยะห่างแต่ระสนามบิน มีไกล้พอ (สมมุตว่ามีหนึ่งอำเภอหนึ่งสนามบิน) ผมก็เลือกร่อนลงสนามบินที่ไกล้ที่สุดได้อย่างปลอดภัย เครื่องบินทุกลำมันมีอัตราร่อน หลายคนกลัวเพราะคิดว่าถ้าเครื่องมันดับมันก็จะตกลงมาเหมือนก้อนหินที่ตกมาจากฟ้า ...ไม่ใช่หรอกมันร่อนลงได้และในการฝึกขับเครื่องบินก็มีการฝึกดับเครื่องลงจอดอยู่แล้ว  แต่จากสถิติ 40 % ของสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก มากจากเครื่องบินบินช้าจนไม่เกาะอากาศ (Stall) และ เลี้ยวหักมุมมากเกินไปทำให้ควงส่วานตก(Spin) ทั้งสองสาเหตุนี้ถูกแก้ไขได้เรียบร้อยแล้วจากการออกแบบเครื่องบินรุ่นใหม่เช่นเครื่อง Icon 5  

สนามบินมันไม่ได้มีมากเหมือนถนน....ณ ตอนนี้ใช่ สนามบินส่วนใหญ่เป็นสนามบินพานิชขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาสูง แต่ถ้าในอนาคตเครื่องบินเล็กมีมากขึ้น ความต้องการเพิ่มมากขึ้น สนามบินเล็กๆ ก็จะต้องมีมากขึ้น ผมเคยได้ยินว่า เคยมีนโยบายรัฐบาล “หนึ่งอำเภอ หนึ่งสนามบิน” ถ้ามันเกิดขึ้นได้จริง !!! ลองคิดดูซิ บ้านทุกหลังในประเทศไทยจะอยู่ไกลจากสนามบินไม่เกิน 20 กม.  

ตัวอย่างเครื่องบินไฟฟ้าที่น่าสนใจ
E-Spyder เครื่องบิน อัลตราไลท์ไฟฟ้าหนึ่งที่นั่ง สัญชาติ อเมริกัน เชื้อชาติจีน จากบริษัท GreenWing Interation ความเร็วเดินทาง 61 กม./ชม. บินได้นานสุด 1-1.5 ชั่วโมง เวลาที่ใช้ในการชาร์ทแบตแต่ละครั้ง 2-3 ชม. ราคา 1,200,000 บาท  

E-Genius ออกแบบโดยสถาบันออกแบบเครื่องบินของมหาวิทยาลัย สตุ๊ตการท เยอร์มัน เป็นเครื่องบินที่ติดตั้งมอเตอร์ขนาด60 Kwไว้ที่หาง ในการทดลองบินในเดือน กค.2011 E-Genius บินได้นาน 2 ชม.ที่ความเร็ว 160 กม/ชม. E-Genius ยังอยู่ในช่วงการทดลอง ยังไม่ผลิตออกมาจำหน่าย

E-Fan  เครื่องบินไฟฟ้าต้นแบบ ผลิตโดยบริษัท แอร์บัส รุ่น E-Fan 2 เป็นรุ่นขนาดสองที่นั่ง ออกบินโชว์ครั้งแรกในงาน แสดงการบินที่อังกฤษ ในเดือน กค.ที่ผ่านมา ตลาดของ E-Fan 2 คือ เพื่อฝึกนักบิน และเครื่องบินส่วนตัว E-Fan 2 จะเข้าสู่การผลิตในปี 2017  E-Fan 2 มีความเร็วเดินทาง 160 กม/ชม บินได้นาน 1 ชม.  ทาง แอร์บัสวางแผนไว้ว่าหลังจาก E-Fan 2 เข้าสู่การผลิตอีกสองปีจะออก E-Fan 4 เครื่องบินไฟฟ้า 4 ที่นั่ง

จากข้อมูลทั้งหมด ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเป็นไปไม่ได้ในคนทั่วไป  ภายในไม่เกิน 15 ปี ผมว่าเหตุการณ์ที่ผมเขียนไว้ในย่อหน้าที่สองเกิดขึ้นได้จริงแน่ และเกิดขึ้นได้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย

พิธีมอบรางวัล Green Flight Challenge award 2011  
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

Taurus G4
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

E-Genius
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

E-Fan
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่