“หญ้ารีแพร์ – หญ้าฮี๋ยุ่ม” หรือจะสู้ หมั่นขมิบพิชิตหย่อน (ตอนที่ 1)

“หญ้ารีแพร์ – หญ้าฮี๋ยุ่ม” หรือจะสู้ หมั่นขมิบพิชิตหย่อน (ตอนที่ 1)
http://drchawtoo.com/2014/09/29/centotheca-lappacea/



เมื่อได้ยินชื่อก็อดอมยิ้มไม่ได้ว่า ใครกันนะช่างคิดตั้งชื่อนี้ให้เตะหูได้ขนาดนี้ อีกอย่าง ณ ตอนนี้ก็คงไม่มีสมุนไพรตัวไหนมาแรงเท่า “หญ้ารีแพร์” หรือ “หญ้าฮี๋ยุ่ม” เป็นแน่ จนกลายเป็นที่ต้องการของตลาด ขายดิบขายดี ทั้งสาวเล็กสาวใหญ่ วุ่นวายเสาะหามาใช้ เกิดเป็นกระแสหญ้ารีแพร์ฟีเวอร์ ถึงขั้นมีการขโมยหญ้ารีแพร์จากสวนชาวบ้านไปขายกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตกันเลยทีเดียว


รีแพร์คืออะไร ???


เชื่อว่าหลายๆคนในที่นี้ คงคุ้นหูกับคำว่า “รีแพร์” กันมาบ้าง และโดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าการรีแพร์เป็นการผ่าตัดเพื่อทำสาว มุ่งเน้นเพิ่มความสุขทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก แต่จริงๆแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการทำรีแพร์นั้นสามารถแก้ไขปัญหาการขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะในผู้ที่มีปัญหาอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนได้อีกด้วย โดยการผ่าตัดรีแพร์นั้นสามารถแบ่งแยกการผ่าตัดตามตำแหน่งการหย่อนย้อย ได้ดังนี้


• การหย่อนย้อยของผนังช่องคลอดส่วนหน้า

• การหย่อนย้อยของผนังช่องคลอดส่วนหลัง

• การหย่อนย้อยของมดลูก

• รวมไปถึงการผ่าตัดตกแต่งบริเวณปากช่องคลอด ให้เล็กลง แคบลง


การรีแพร์จึงเหมือนเป็นการผ่าตัดเพื่อจัดระเบียบอวัยวะในอุ้งเชิงกรานให้กลับเข้าที่เข้าทาง อีกทั้งยังทำให้ช่องคลอดกระชับขึ้นตลอดจนปากช่องคลอดยังเล็กลง แคบลง เหมือนตอนเป็นสาวๆอีกครั้ง นอกจากจะส่งผลให้เพิ่มความสุขทางเพศให้กับทั้งตัวคนไข้และคู่นอนได้แล้ว ยังช่วยทำให้ลดอาการผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ- ปัสสาวะให้ดีขึ้นอีกด้วย


การผ่าตัดทำรีแพร์ส่วนใดบ้างนั้น ขึ้นกับตำแหน่งที่มีการหย่อนย้อยและอาการของคนไข้ที่มาปรึกษาแพทย์ เช่น


- อาการหน่วงในช่องคลอด หรือรู้สึกว่ามีก้อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือบางรายมีก้อนโผล่พ้นออกมาภายนอกช่องคลอด อาจเกิดได้ทั้งจากมีการหย่อนย้อยของผนังช่องคลอดส่วนหน้า ผนังช่องคลอดส่วนหลัง หรือแม้กระทั่งตัวมดลูกเอง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายในการวินิจฉัยหาตำแหน่งที่มีความผิดปกติ


- อาการเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ลำปัสสาวะไหลช้า รู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด ต้องกดบริเวณผนังช่องคลอดเพื่อช่วยในการปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยๆหรือปวดปัสสาวะอย่างมากจนรอไม่ได้ และปัสสาวะเล็ดเมื่อมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ขณะออกแรง, วิ่ง, ไอ, จาม เป็นต้น มักเกิดจาก การหย่อนย้อยของผนังช่องคลอดส่วนหน้า


- อาการเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ขับถ่ายอุจจาระลำบาก รู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่สุดหรือต้องกดบริเวณผนังช่องคลอดเพื่อช่วยในการถ่ายอุจจาระ การหย่อนย้อยของผนังช่องคลอดส่วนหลัง


- รู้สึกไม่สุขสบายขณะร่วมเพศหรือไม่สามารถร่วมเพศได้ เพราะว่ามีก้อนยื่นมาขวาง หรือ ปากช่องคลอด และช่องคลอดหลวมทำให้สัมผัสทางเพศหายไป





พราะเหตุใดจึงเกิดการหย่อนย้อยของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ???

ปกติแล้วภายในอุ้งเชิงกรานจะมีกล้ามเนื้อมัดเล็กๆจำนวนมากคอยพยุงให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมตามธรรมชาติ แต่เมื่อกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานเหล่านี้มีการอ่อนแรงลง จึงส่งผลให้อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ซึ่งได้แก่ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ช่องคลอด ลำไส้ตรง มีโอกาสยื่นหย่อนลงมาตามแรงโน้มถ่วงโลก เป็นสาเหตุให้มีอาการต่างๆนานาตามตำแหน่งที่มีการหย่อนคล้อย ดังได้ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น



แล้วอะไรล่ะที่เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแรง???

- การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรทางช่องคลอดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อที่พยุงช่องคลอดอ่อนแอลง พบภาวะนี้ได้หนึ่งในสามของสตรีที่มีบุตรแล้วอย่างน้อย 1 คน และมากขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่คลอดบุตรทางช่องคลอด

- อายุที่มากขึ้นและการเข้าสู่วัยทองเป็นเหตุให้โครงสร้างที่พยุงอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลงได้จากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ

- ภาวะที่มีแรงดันมากระทำต่ออุ้งเชิงกรานเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง การยกของหนัก และการออกแรงเบ่งบ่อยๆ เป็นต้น

- โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่อาจมีผลต่อความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั่วร่างกาย




นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่