ทูลเกล้าฯ ตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 5 รอบ 60 พรรษา


เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าวนั้น ขณะนี้สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดทำตราสัญลักษณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส และได้ส่งตราสัญลักษณ์ไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ทั้งนี้เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์แล้ว สำนักราชเลขาธิการจะพิจารณาการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ กรณีที่มีหน่วยงานแจ้งความประสงค์ขอใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อประดับในโครงการและกิจกรรมต่างๆ ต่อไป

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่อว่า รายละเอียดรูปตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย “อักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ภายในกรอบสุพรรณเบญจเพชรรัตน์ อักษร “ส.” สีม่วงชาดแก่ อักษร “ธ.” สีขาวบนพื้นสีม่วงครามอ่อน เป็นสีวันพระราชสมภพ ดวงเพชรรัตน์ 5 ดวงหมายถึง ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ โดยอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” อยู่ภายใต้พระชฎาพระกลีบปักพระยี่ก่าทองไม่ประกอบพระกรรเจียกจร เบื้องหลังพระชฎามีพระบวรเศวตฉัตร (พระสัตตปฎลเศวตฉัตร) คือ ฉัตรขาว 7 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวด 3 ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชกุมารีทั้งสองข้าง กรอบพระนามาภิไธยมีรูปเทพยดา พระกรหนึ่งประคองเชิญพระสัตตปฎลเศวตฉัตร พระกรหนึ่งกระชับเถาว์บัวทองไว้ขัดพระขรรค์ ทรงเศวตพัสตราภรณ์เขียนทอง เทพยดาข้างเลข ๖ (ด้านซ้าย) ทรงพระชฎาเดินหนปักพระยี่ก่าดอกไม้ทองทัดพระกรรเจียกจร และเทพยดาข้างเลข ๐ (ด้านขวา) ทรงพระชฎามหากฐิน (พระชฎาห้ายอด) ปักพระยี่ก่าดอกไม้ทองทัดพระกรรเจียกจร หมายถึง เทพยดาทรงมาบริรักษ์เฉลิมฉลองในมหามงคลกาลนี้ ให้ทรงเจริญพระสิริสวัสดิ์พูนพิพัฒน์พระเกียรติยศยิ่ง พ้นสิ่งสรรพทุกข์โรคันตรายทั้งปวง สำหรับเถาว์บัวทอง หมายถึง ทรงเนาวนิเวศน์ นามว่า “สระปทุม” ใต้กรอบพระนามาภิไธย มีเลขมหามงคลว่า ทรงพระเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษาบนพื้นสีหงสบาท (ส้มอ่อนหรือสีเท้าหงส์) เป็นสีวันพฤหัสบดี ในคัมภีร์พระไสยศาสตร์ว่า เป็นมงคลอายุของวันพระราชสมภพ ถัดลงมา มีเชิงลายถมสีหงชาด (ชมพู) เขียนอักษรไทยยอดสีทองว่า “ฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ” และ “๒ เมษายน ๒๕๕๘” บนห้องลายพื้นสีขาวถัดลงมา สะท้อนถึงทรงเชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณและการโบราณคดีทั้งปวงด้วย”

นอกจากนี้ สำนักช่างสิบหมู่ยังได้ดำเนินการแกะสลักแพะไม้ ซึ่งมีแนวคิดมาจากแพะเป็นสัตว์ประจำปีพระราชสมภพ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานในวันที่ 2 ต.ค. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยไม้ที่นำมาใช้แกะสลักเป็นไม้มงคลทั้งหมด ได้แก่ ไม้สักทอง ไม้ชัยพฤกษ์ และไม้พระยางิ้วดำ ส่วนฐานใช้ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงเสริมพระบารมีให้มีความมั่นคงแข็งแรง ด้านหน้าของฐานประกอบด้วยตัวอักษรฉลุโลหะ (เงินชุบทอง) คำว่า “เฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๘” และดวงตราสัญลักษณ์ฉลอง 60 พรรษา ความสูงของฐาน 5 ซม. เท่ากับ 5 รอบพระชนมายุ ความกว้างและยาวของฐานขนาด 60 ซม. ส่วนเครื่องทรงของแพะประกอบด้วย เชือกห้อยคอ ทำด้วยทองคำ กระพวนและรัดข้อเท้าสลักดุ้นทองคำ พุ่มข้าวบิณฑ์สลักดุ้นทองคำฝังพลอยสีฟ้า ประดับในส่วนต้นขาทั้ง 4 ด้าน และดวงตาของแพะทั้ง 2 ข้าง ประดับด้วยนิล

ที่มาและภาพประกอบ: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่