แคท ควบรวมกิจการ ทีโอที อาจเป็นแนวทางสุดท้าย เร่งดำเนินการธุรกิจใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้

กระทู้ข่าว
บมจ.กสท หรือ แคท เทเลคอม เผยควบรวม บมจ.ทีโอที อาจเป็นแนวทางสุดท้าย แต่พร้อมคุยกับไอซีที ขณะที่แผนฟื้นฟูอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ โดยสคร.สั่งให้ดำเนินการธุรกิจใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้



วิโรจน์  โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่ พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้มีการเสนอให้ควบรวมบมจ.กสท และบมจ.ทีโอที ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดไอซีทีเข้าด้วยกัน ว่า เรื่องดังกล่าวบมจ.กสท ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากไอซีทีก่อน  ซึ่งตามที่ตนเองเข้าใจคือ การควบรวมนั้น ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย  ซึ่งอาจจะไม่เกิดการควบรวมก็ได้

ทั้งนี้ หากมีการควบรวมหรือให้บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท ดำเนินธุรกิจที่มีความซ้ำซ้อนกัน ก็อาจจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เช่น ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) จากปัจจุบันที่ทั้งสององค์กรทำธุรกิจแข่งขันกันเอง ก็แบ่งเป็นให้บมจ.ทีโอทีหาลูกค้าทั่วไป ส่วนลูกค้าองค์กรหรือการเช่าวงจรเชื่อมต่อออกต่างประเทศให้บมจ.กสท เป็นผู้ดำเนินการ แต่อย่างไรก็ดี ทุกแนวทางต้องรอความชัดเจนจากไอซีทีและรัฐบาลอีกครั้ง โดยในวันที่ 2 ต.ค.57นี้ รมว.ไอซีทีจะเดินทางมาพบกับพนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการ  ซึ่งก็จะมีการหารือถึงแผนการทำงาน โครงสร้างการบริหารที่ผ่านมาด้วย

อีกทั้ง ยังคงให้ความเห็นตอนนี้ได้ไม่มากเพราะต้องดูนโยบายจากรัฐมนตรีว่าจริงๆจะต้องการแนวทางไหน เช่น แยกกันลงทุนไปเลยคนละธุรกิจไม่ลงทุนซ้ำซ้อนกัน หรือ แยกการทำธุรกิจไปเลย ธุรกิจที่เคยทำซ้ำซ้อนก็ให้สิทธิแค่บริษัทเดียวดำเนินการ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือแบ่งพื้นที่การทำธุรกิจไปเลย ให้ทีโอทีทำโซนไหน และกสททำโซนไหน ทั้งนี้ การควบรวมต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของบริษัท การลงทุน และวัฒนธรรมองค์กร

วิโรจน์  กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการขอทราบรายละเอียดของการเตรียมว่าจ้างบริษัทภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถือ เพื่อทำการทดสอบและวิเคราะห์สถานะ ทั้งทางด้านการเงิน และทางด้านกฎหมาย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ได้สั่งให้บมจ.กสทดำเนินการธุรกิจใหม่ที่ก่อให้เกิดรายได้ตามแผนฟื้นฟูองค์กร  สคร.ก็สั่งให้บมจ.กสทดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับทีโอทีโดยแยกบริการทั้ง 6 กลุ่ม เหมือนบมจ.ทีโอที

สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถสร้างกำไรได้ ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2.กลุ่มโครงสร้างเสาโทรคมนาคม 3.กลุ่มงานอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิ้ลใต้น้ำ 4.กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ 5.กลุ่มธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ (ฟิกซ์ไลน์) และ 6.กลุ่มบริการไอที ไอดีซี และคลาวด์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะส่งแผนกลับไปสคร.ได้กลางเดือนธ.ค.57นี้

ส่วนของธุรกิจโมบายล์ที่บมจ.กสทดำเนินการเองและขายส่งแบรนด์วิธ ให้แก่บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอชนั้น คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ราว 27,000ล้านบาท และรายได้จากบริการ “มาย” (my3G) ของกสทเองมีรายได้ราว 900 ล้านบาท มีลูกค้าใช้งา 300,000 ราย ส่วนรายได้รวมปีนี้กสทคาดว่าจะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท มีกำไรราว 400-600 ล้านบาท สำหรับงบดำเนินการงวด 3 เดือน สิ้นสุด 31 มี.ค.ที่ผ่านมามีรายได้ 12,673ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 12,578 ล้านบาท เหลือกำไรสุทธิ94.89 ล้านบาท โดยคาดว่าในไตรมาสนี้  งบการเงินลดลงเนื่องจากมีรายได้บางตัวอย่างโฮลเซลล์ ไร้สาย ที่ยังไม่เข้าเป้าจากแผนเดิมที่บริษัทเรียลมูฟจะต้องซื้อเพิ่มอีก17% ในไตรมาสแรก แต่ยังไม่ได้ซื้อเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 80%ทำให้รายได้ในส่วนนี้ยังไม่ขยับ ประกอบกับรายได้สัมปทานที่หายไปจากที่เคยได้รับในปี 56 และดีแทค ทำการย้ายลูกค้า ทำให้ในปีนี้น่าจะมีรายได้หายไปประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท

ที่มา [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่