ยุคทองของ "สาววาย" เมื่อ "ชาย-ชาย" ช่วยเซอร์วิส !!

รายงานพิเศษ/บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ

ยุคทองของ "สาววาย" เมื่อ "ชาย-ชาย" ช่วยเซอร์วิส

ถ้า "ชายได้ชาย คือ ยอดชาย"

เมืองไทยตอนนี้คงมี "ยอดหญิง" เต็มไปหมด

ใช่ว่าพวกเธอคือ "หญิงได้หญิง" แต่หากเป็นหญิงที่ปลื้มปริ่มเมื่อเห็นชายได้กันหรือเรียกสั้นๆ ว่า "สาววาย" นั่นแหละ

เลยไม่แปลกถ้าช่วงนี้กระแส "ชายรักชาย" จะมาแรงแซงชายจริงหญิงแท้แบบไม่เห็นฝุ่น

อย่าง "ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น 2" ที่ผู้ชมลุ้น "ภู-ธีร์", "ธีร์-นนท์" ให้สุขสมอารมณ์หมายซะตัวโก่ง ยิ่งกว่าคู่พระนาง หรือใน "เลิฟซิก เดอะซีรี่ส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ" ตัวเอกชาย-ชาย เช่น "ปุณณ์-โน่" ก็ทำเอาเคลิ้มกันทั้งประเทศ

นี่ขนาดยังไม่นับนิยาย การ์ตูน ฯลฯ สำหรับคอชายรักชายที่เพิ่มจำนวนขึ้นมากในพักหลังๆ


เหตุผลของความนิยม เว็บไซต์ thaiboyslove.com ชุมชนออนไลน์แหล่งรวมสาววายบอกไว้ว่า

1. ผู้หญิงชอบเหล่ผู้ชายหน้าตาดี เมื่อผู้ชายหล่อเดินมาด้วยกันสองคน ย่อมน่ามองกว่าตอนเขาเดินมากับสาว

2. ผู้หญิงมักชอบเปรียบเทียบกับคนเพศเดียวกัน ถ้าหญิง-ชายเดินมาคู่กันแล้วหญิงทำท่าภาคภูมิใจก็อาจสร้างอารมณ์หมั่นไส้มากกว่าชื่นชม

3. ผู้หญิงชอบเรื่องโรแมนติก ดังนั้น เรื่องรักของ "ชาย-ชาย" ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน นั้นน่ะถูกจริตนักแล

"ถามว่าไม่เสียดายเหรอ ก็นิดหน่อยนะ ขณะที่ความฟินมันเยอะกว่ามากกกกก 555" คนเขียนเขาว่าไว้


ขณะที่ แอดเอ็ม (Ad.M) เด็กสาว ม.3 เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ผู้ติดตามกว่า 10,000 คนอย่าง "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสาววาย WE Love YAOI" เล่ายิ้มๆ ถึงความชอบว่า "มันเป็นความสัมพันธ์ความรัก ที่ไม่เกี่ยวกับเพศ"

"ซึ่งจริงๆ มันน่ารักหมด ชาย-หญิงก็น่ารัก แต่ในความคิดสาววาย ชาย-ชาย น่ารักสุด" ฮ่าาา

ก่อนจะย้อนถึงจุดเริ่มต้นราว 5 ปีที่แล้ว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเกาหลี ญี่ปุ่น

"เขามีศิลปินชาย บอยแบนด์ การ์ตูนบางเรื่องมีแต่ผู้ชายอยู่ด้วยกันเยอะแล้วคนเห็นก็จะจินตนาการ"

โดยคนที่ว่าก็เป็นสาวชาตินั้นๆ ซึ่งถ้าชอบสาย "ชาย-ชาย" ก็จะเรียกว่า "ยาโอย (Yaoi)" หรือหากชอบสาย "หญิง-หญิง" จะเรียก "ยูริ (Yuri)" แต่เรียกสั้นๆ ว่าสาววายเหมือนกันทั้งคู่

ส่วนในไทยเห็นกระแสเยอะๆ ก็ 1-2 ปีมานี้ ปลายปีก่อนเธอจึงสร้างเพจไว้ให้คนคอเดียวกันที่ส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุตั้งแต่ 10 กว่าๆ ไปจนถึง 20 ปลายๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรม รวมถึงปลอบใจยามผิดหวังเมื่อชายที่จิ้นไว้หนีไปฟินกับหญิงอื่น

อย่างตอน "นักแคสต์เกม" ผู้ทำหน้าที่พากย์เสียงในเกมต่างๆ ของไทยที่ชอบแคสต์คู่กัน พอคนหนึ่งไปมีแฟนทำเอาสาววายถึงกับเศร้า

ดังนั้น ที่ต้องท่องไว้คือ "ถ้าชอบมาก จิ้นให้เขารักกันมาก เราก็จะเจ็บเอง"

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของสาววาย เธอว่าอยู่สบายขึ้น

ด้วยนอกจากมีคนร่วมอุดมการณ์มากขึ้น ซึ่งดูได้จากเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีอยู่หลายสิบ แถมแต่ละเพจมีสมาชิกตั้งแต่พันต้นๆ จนถึงหมื่น ทำให้การเข้าถึงสื่อต่างๆ ง่ายเพิ่มไปด้วย

"ตอนนั้นในไทยยังไม่ค่อยมีคนสนใจ ต้องอ่านเว็บต่างประเทศ ไม่มีใครแปลให้ก็แปลเอง เลยทำให้ได้ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่นกับเกาหลีนิดหน่อย" เธอว่า

ขณะที่ตอนนี้ของไทยมีขายเกลื่อนในแบบออนไลน์ตั้งแต่นิยาย รวมไปถึงหนัง ละคร ซีรี่ส์ และหนุ่มๆ คู่จิ้น ซึ่งมีให้เลือกตั้งแต่ดาราศิลปิน เน็ตไอดอล จนกระทั่งเพื่อนในโรงเรียนที่บ้างก็ไม่รู้ตัว แต่พวกรู้ตัวและตั้งใจโชว์ซีนหวานๆ เรียกเรตติ้งก็มีไม่น้อย

แถม "ต่อไปคงมีหนัง ละครเยอะขึ้นแน่นอน เพราะว่าจริงๆ แล้วสาววายมีเยอะกว่าที่อยู่ในเพจเราหลายเท่า แล้วคนที่เป็นมีถึงรุ่นคนทำงาน ซึ่งบางคนอาจหลงไปเป็นผู้กำกับฯ บ้าง" สาวเจ้าว่าพลางหัวเราะ


ฟากผู้กำกับฯ ตัวจริง ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร แห่งฮอร์โมนส์ 2 ว่าที่หนังละครประเภทนี้มากขึ้น ด้วย "คนเปิดกว้างขึ้น"

"เพศสภาพยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าก่อนหน้า สัมผัสได้ชัดเจนว่าวัยรุ่นเปิดใจกับเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนจะมีสิทธิเผยสภาพตัวเอง"

"เท่าที่เราวิเคราะห์คนน่าจะชอบความสัมพันธ์ของภู-ธีร์ ที่ดูชัดเจนแต่ก็มีความคลุมเครือบางอย่าง คนจะถามว่าใครฝ่ายรุก ฝ่ายรับ ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของคน 2 คนที่เราไม่รู้ แต่มันมีความหวาน ทำให้จินตนาการความสัมพันธ์ได้กว้างกว่า"

"และเป็นเพราะคนอาจจะอยากเห็นภาพแบบนี้ เห็น 2 คนนี้อยู่ด้วยกัน ชอบทั้งสองคนอยู่แล้ว พอเขามาชอบกันเองบวกความชอบดับเบิลเป็น 2"

ตรงนี้อาจจะเหมือนความสัมพันธ์ของคู่สาว "ดาว-ก้อย" เพียงแต่ของ "ภู-ธีร์" จะมีเรื่องความหลงใหล ความใคร่มากกว่า ทว่า ถึงจะดึงดูดกระแสได้ดี

แต่ "ถ้าถาม เราให้ความสำคัญทุกคู่เท่ากันหมดในแง่ความเป็นคน ไม่เอาเพศสภาพมาคิด"

ขณะที่ผู้กำกับฯ และผู้สร้างเลิฟซิกฯ อย่าง ราชิต กุศลคูณสิริ ที่หยิบนิยายออนไลน์ "Love Sick : ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน ของ INDRYTIMES" มาทำเป็นซีรี่ส์ และตอนนี้ก็ความนิยมไม่ใช่แค่ในบ้านเรา แต่ดังไกลไปถึงต่างประเทศทั้งจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ บอกว่า

"ผู้ชายเล่นกันมันดูน่ารัก"

"เหมือนเพื่อนเล่นกัน ดูแล้วจรรโลงใจ แต่ก็ไม่ได้เห็นบ่อยๆ พอออกในสื่อคนก็เลยติดตาม" เขาว่าถึงเหตุผล

กระนั้นก็ยอมรับว่า ยังไม่กล้านำเสนอเรื่องของชาย-ชายเท่านั้น เพราะ "บ้านเรายังหลายคนไม่พร้อมให้พื้นที่คนกลุ่มนี้ 100%"

"สปอนเซอร์หลายเจ้าก็ยังติดเรื่องชายรักชาย"

ดังนั้น จึงต้องเพิ่มคู่ชาย-หญิงไปในเรื่อง

ตรงกับที่แหล่งข่าวในแวดวงโฆษณาเล่าว่า การจะสนับสนุนงานชาย-ชาย นั้น จำเป็นต้องคิดหนัก เพื่อไม่ให้ขัดกับภาพลักษณ์สินค้า

ก็ถ้าสินค้านั้นทำไว้เพื่อชายมาดแมน การไปโฆษณาในงานอย่างนั้น มันก็เสี่ยงเกินไป

อย่างไรก็ดี งานนี้เรตติ้งก็มีเกี่ยว เพราะไม่ว่าจะเป็นรักของเพศไหน ถ้า "คนดู" มา "สินค้า" ส่วนใหญ่ก็พร้อมตาม

ซึ่งถ้าดูจากจำนวนสปอนเซอร์ที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เห็นทีว่าน่าจะเป็นข่าวดีของสาววายว่าจะได้จิ้น ฟินเว่อร์ กันแบบยาวๆ

เพราะมี "ชาย-ชาย" มาช่วยเซอร์วิส

(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 12-18 ก.ย.2557)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่