ระยะเวลาการทำงานของแพทย์กับความผิดพลาดทางการแพทย์ - เรื่องจริงที่หลายคนมองข้ามไป

ผมไม่แน่ใจว่าคนไทยเราเข้าใจว่าหมอทำงานกันนานหรือมากแค่ไหน แล้วมันสำคัญอย่างไร ทำไมหมอถึงต้องออกมาโวยวายเรื่องงานหนัก

โดยมากหมอไทยเราจะต้องผ่านช่วงเวลา อึด ถึก มาบ้างอย่างน้อยก็ช่วงใช้ทุนและช่วงที่มาศึกษาต่อ หลายคนอาจต้องใช้ชีวิตแบบเวรหนักไปตลอดชีวิตการทำงานก็มี หมอเหล่านี้ไม่ได้อยากจะทำ การทำงานหนักเหล่านี้แม้จะมีค่าตอบแทนสูงขึ้นแต่มักมากเกินไปโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ต้องการและมันน้อยเกินไปกว่าความสูญเสียทางสุขภาพกายและใจของหมอเหล่านั้น

ความจริงที่คุณควรรู้
1 แม้กฏหมายแรงงานจะห้ามการทำงานต่อเนื่องยาวๆ แต่มีข้อยกเว้นกับอาชีพที่จำเป็นรวมทั้งหมอ ดังนั้นทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ตลอด ปี ก็ต้องทำ
2 การอยู่เวรแม้จะเป็น ON Call คือมาดูเมื่อโดนตามแบบเวรกลางคืนนั้นก็มีผลกระทบทั้งทางกาย จิตใจ และประสิทธิภาพในการทำงาน
3 การนอนระหว่างเวรดึกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในคนที่ไม่ได้อดนอน ในคนที่อดนอนน่าจะมีผลที่ชัดเจนขึ้น
4 ในปัจุบันอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกจำกัดชั่วโมงทำงานให้หมอน้อยลงไปมากทั้งจำนวนชั่วโมงต่อสัปดาห์และระยะเวลาที่ต้องทำงานต่อเนื่อง

หมอไทยเรามักจะมีชีวิตเวร 34-36 ชั่วโมงทุกๆสามวัน บางคนอาจเลวร้ายกว่านั้น 36 ชั่วโมงจะเริ่มขึ้นที่ 7.00 น. ไปจนถึง 17.00-19.00 น. ของวันถัดไป
ดังนั้นตารางการทำงานจะเป็นแบบนี้คือ
วันแรก ทำงาน 7.00-17.00 ต่อด้วย 17.00-7.00
วันที่สองทำงาน 7.00-17.00
วันที่สามทำงาน 7.00-17.00
และเริ่มรอบใหม่ไปเรื่อยๆ การอยู่เวรนี้จะช่วยให้หมอสามคนสามารถครอบคลุมการทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวันของหน่วยงานนั้นได้

ระบบนี้เราทำกันมานมนานแล้วมันมีปัญหาอย่างไร

มีการศึกษาของอเมริกาพบว่าการอยู่เวรแบบต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมงนั้นสัมพันธ์กับความผิดพลาดร้ายแรงทางการแพทย์ โดยหากเพิ่มหมอคนที่ 4 เข้ามาช่วยแบ่งภาระงาน(คือลดเวลาทำงานต่อกะนะครับดังนั้นสูงสุดคือทำงาน สามคนเหมือนเดิมและทำงานน้อยสุดหนึ่งคนเหมือนเดิม) จะช่วยลดความผิดพลาดที่ร้ายแรงลงได้ 36%

อย่างไรก็ดีแม้จะเพิ่มหมอจนสามารถลดชั่วโมงทำงานลงได้ความผิดพลาดก็ยังสูงอยู่คือ 100 ความผิดพลาดต่อ 1000 คนไข้/วัน หรือพูดง่ายว่าๆหากหมอดูแลคนไข้ 100 คนต่อวันก็จะพบความผิดพลาดสูงถึง 10 คน แต่จะยิ่งแย่ลงหากหมอทำงานหนักเหมือนหมอไทยอีกอย่างน้อย 36%

โชคดีที่ความผิดพลาดที่ร้ายแรงนั้นหมายถึงความผิดพลาดที่เกิดผลกระทบต่อคนไข้ซึ่งอาจไม่มีผลเด่นชัดต่อการรักษาจึงทำให้การแพทย์ดูเหมือนจะผิดพลาดร้ายแรงถึงชีวิตไม่มากนัก

ความผิดพลาดที่สัมพันธ์กับชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นนั้นยังส่งผลต่อการสั่งยา การตรวจวินิจฉัย และการทำหัตถการด้วย

ที่มา [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


ตราบใดที่เรายังไร้ทางแก้ปัญหาแพทย์ทำงานเกินควร
ผมไม่แน่ใจว่าเรายังควรจะไปหาหมอโดยไม่จำเป็นตอนกลางคืนอีกมั้ย
ผมไม่แน่ใจว่าเรายังควรคาดหวังให้หมอไม่นอนตอนอยู่เวรกลางคืนมั้ย

แต่ผมคิดว่าคนไข้อาจช่วยหมอเหล่านั้นได้ด้วยการเข้าใจเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น

ปล.ชีวิตผมตอนนี้ปลอดจากเวรดึกแล้วตามสาขาเฉพาะทางที่เลือกมา เพราะส่วนตัวมีปัญหาการนอนในเวรดึกมาก มักนอนไม่หลับเลยจนทำให้ประสิทธิภาพในเวลาหลังเวรลดต่ำจนน่ากลัว
ปล2.ปัญหานี้ก็มีผลต่อพยาบาลด้วยนะครับ แต่ผลจะเด่นชัดเรื่องการเปลี่ยนกะเวลาบ่อยๆมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่