(แอบดูมาแล้ว) The Purge: Anarchy (2014) : 12 ชั่วโมงหายนะแห่งความจน



(ข้อเขียนนี้พูดถึงเนื้อเรื่องโดยรวม แต่ไม่ได้เฉลยความลับสำคัญของหนัง)

The Purge ภาคแรกพาคนดูไปถึงเป้าหมายได้อย่างหมดจดงดงามในฐานะของ "หนังสยองขวัญในพื้นที่ปิด" จากพล็อตแรงๆ ที่พูดถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมแนวใหม่ของประเทศสหรัฐในอีก 19 ปีข้างหน้า ที่ประกาศให้หนึ่งวันของทุกๆ ปี เป็น "วันล้างบาป" ซึ่งอาชญากรรมทุกประเภท (ปล้น ฆ่า ข่มขืน ฯลฯ) จะกลายเป็นสิ่งถูกกฏหมายเป็นเวลา 12 ชั่วโมง หรือนัยหนึ่งก็คือเป็นการพยายามจัดระเบียบอาชญากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้มารวมอยู่ไว้ภายในวันเดียว ส่วนคนที่ไม่อยากล้างบาป ไม่อยากเกี่ยวข้อง ก็ต้องขังตัวเองไว้ในบ้าน เพื่อเอาชีวิตรอดผ่านพ้น 12 ชั่วโมง ที่ว่านี้ไปให้ได้  

ในเบื้องต้นหนังสามารถสอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นเข้าไปได้อย่างแยบยล จากการโยนตัวละครผิวสีเข้าไปเป็นตัวขัดแย้งในบ้านหลังหนึ่ง ท่ามกลางโมงยามสุดบ้าระห่ำของการล้างบาป ก่อนที่หนังจะปิดสรุปเรื่องราวได้อย่างลงตัว (แต่ตามฟอร์มเดิมๆ) ด้วยการบอกว่าความดี-เลวหาได้อยู่ที่สีผิว หรือรูปโฉมโนมพรรณ หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ลึกๆ ข้างในที่เราไม่อาจมองเห็นได้ว่าเนื้อแท้ของใครคนไหนเป็นอย่างไร

และถ้ามองเข้าไปให้ลึกกว่านั้น เรื่องของ "เงิน" ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ The Purge ภาคแรก สามารถเกี่ยวโยงเข้ามาได้อย่างน่าสนใจ เพราะถึงแม้ 12 ชั่วโมงของประเพณีล้างบาปจะให้สิทธิ์กับคนรวย-คนจนในการก่ออาชญากรรมอย่างเท่าเทียม แต่ที่สุดแล้ว เงิน ก็ยังเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาค่างวดในชีวิตของคนไม่เท่ากันอยู่ดี ในเมื่อคนที่มีเงินมากกว่า ย่อมสรรหาอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเพื่อคุ้มกันตนเอง หรือ อาวุธยุทธโธปกรณ์มาทำลายล้าง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนจนที่ไม่มีสตังส์อยู่วันยังค่ำ

มาถึงภาคสอง The Purge: Anarchy หนังเลือกที่จะฉีกรูปแบบการเล่าเรื่องออกไปจากเดิม ด้วยการพาคนดูออกจาก "พื้นที่ปิด" ไปตระเวนทั่วเมืองพร้อมๆ กับหลากหลายตัวละคร ที่จำต้องออกมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่นอกบ้าน ตลอด 12 ชั่วโมงของค่ำคืนนรกแตก ซึ่งหลักๆ แล้วแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน    

ส่วนแรกคือคู่รักหนุ่มสาวที่ออกมาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ตอนขากลับรถเกิดเสียขึ้นมากระทันหัน ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถกลับถึงบ้านทันเวลา ก่อนที่ช่วงเวลาของการล้างบาปจะเริ่มต้น / ส่วนที่สองคือคู่แม่-ลูกผิวสี ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านอย่างปลอดภัย แต่อยู่ดีๆ ก็ถูกจู่โจมโดยกลุ่มคนลึกลับที่มากันเป็นทีม พร้อมกับเครื่องป้องกัน และอาวุธหนักเต็มอัตราศึก ประหนึ่งมาจากหน่วยสวาท / ขณะที่ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของชายวัยกลางคนที่วางแผนจะออกไปล้างบาปด้วยการฆ่าใครบางคน

และเมื่อหนังเดินเรื่องไปได้ไม่นาน เส้นเรื่องทั้งสามส่วนก็ถูกนำมาผนวกเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะนำพาคนดูไปสู่เหตุการณ์ในช่วงท้ายที่ไกลกว่าจุดที่หนังเริ่มต้นไว้พอสมควร พ้นจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องขององค์กรใต้ดินที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนจนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกฏของวันล้างบาป ที่ถูกแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ

เรียกว่าหนังภาคนี้มาพร้อมกับเรื่องราวแยกย่อยที่มากขึ้นกว่าเดิมอยู่หลายช่วงตัว แต่หนังก็เล่าเรื่องออกมาได้ดี สามารถขมวดเรื่องทั้งหมดให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยที่ไม่รุ่มร่ามเยิ่นเย้อ และมีจังหวะจะโคนที่พลิกผัน น่าติดตาม ขณะที่การขายความระทึกขวัญแบบโฉ่งฉ่าง ครึกโครม ในฉากไล่ล่า ก็ต้องแลกมาด้วยการหายไปของความลุ้นระทึกกดดันแบบเย็นเยียบอันเป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นในหนังภาคแรก ซึ่งถือเป็นจุดที่แฟนหนังบางคนอาจจะไม่ปลื้มหนังภาคนี้เท่ากับงานต้นฉบับ

ในเชิงเนื้อหาหนังไม่ถึงกับมีอะไรใหม่ หรือมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจเพิ่มเติมไปมากกว่าเดิม เหมือนเป็นการเอาประเด็นเรื่องความจนความรวย ในสถานการณ์ที่ทุกคนสามารถก่ออาชญากรรมอย่างเท่าเที่ยมกันในภาคแรก มาขยี้ให้แตกแยกย่อย ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกนิดว่า...สุดท้ายแล้ว 12 ชั่วโมงของวันล้างบาป ที่ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยข้ออ้างที่ว่า เป็น 12 ชั่วโมงที่ทุกคนมีสิทธิ์ในชีวิตเท่าๆ กันนั้น แท้จริงแล้วเป็น 12 ชั่วโมงที่คนจนจะถูกกำจัดให้หมดไปเรื่อยๆ ต่างหาก และดูเหมือนว่าการกำจัดคนจนในภาคนี้จะเป็นเรื่องแสนสำราญของคนรวยมีกะตังส์เสียด้วยสิ  

คะแนน ★★★1/2

อ่านรีวิว และข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pages/เกรียนหนัง/112834835539518
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่