คน′เกาหลีใต้′ มีสิทธิสูญพันธุ์!ภายในปีค.ศ.2750!?

คอลัมน์ ไฮไลต์โลก
โดย มนต์ทิพย์ ธานะสุข hilight@matichon.co.th

อาทิตย์ที่แล้วเพิ่งจะเขียนถึงความเสี่ยงกลายเป็นเมืองร้างของหลายพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่นอันเป็นผลจากปัญหาอัตราการเกิดต่ำสวนทางกับประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด

วันนี้ขอฉายซ้ำปัญหาทำนองเดียวกันที่อาจเกิดกับเกาหลีใต้ได้เช่นกัน หากไม่คิดหามาตรการป้องกันจัดการให้ดี เนื่องจากมีรายงานการคาดการณ์ออกมา เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่าภายในปี ค.ศ.2750 หรืออีก 736 ปีข้างหน้า ชาวเกาหลีใต้ทั้งหมดอาจสูญพันธุ์ไปจากโลก หากอัตราการเกิดของประชากรเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในระดับต่ำเยี่ยงปัจจุบัน

การคาดการณ์ข้างต้น ได้มาจากการศึกษาและการจำลองสถานการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มประชากรของเกาหลีใต้ ที่จัดทำโดยสำนักงานวิจัยสมัชชาแห่งชาติของเกาหลีใต้ ระบุว่า หากสภาพการณ์ทางประชากรในเกาหลีใต้ยังคงเป็นไปเหมือนปีที่แล้ว คือ อัตราการเกิดในประเทศยังคงอยู่ที่ ทารก 1.19 คนต่อผู้หญิง 1 คน ก็จะทำให้ประชากรเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 50 ล้านคน จะสูญพันธุ์ไปภายในปี ค.ศ.2750

ภายใต้การจำลองสถานการณ์การเกิดของทารกที่ยังอยู่ในอัตราต่ำดังข้างต้น จะทำให้ประชากรเกาหลีใต้ลดลงเหลือ 50 ล้านคนในปี ค.ศ.2056 และภายในปี ค.ศ.2100 จะหดลงเหลือ 20 ล้านคน ซึ่งจะอยู่ประมาณเดียวกับยุคที่เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ.1930

ปี ค.ศ.2200 เกาหลีใต้จะเหลือประชากรอยู่ราว 3 ล้านคน และ 1 ล้านคนในปี ค.ศ.2556 จนกระทั่งถึงกาลสูญพันธ์ในปี ค.ศ.2750

ปูซาน เมืองท่าสำคัญที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดเมืองหนึ่งของเกาหลีใต้ ขณะที่มีการไหลออกของคนวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนอย่างรวดเร็ว จะกลายเป็นเมืองแรกของเกาหลีใต้ที่ร้างผู้คน และจะเห็นการเกิดของประชากรในเมืองปูซานคนสุดท้ายในปี ค.ศ.2413 ส่วนชาวโซล (เมืองหลวงเกาหลีใต้) คนสุดท้ายจะเกิดมาดูโลกในปี ค.ศ.2621

อัตราการเกิดต่ำในปีที่แล้วของเกาหลีใต้ ถือว่าต่ำกว่าระดับที่ต้องการให้มีการเติบโตของประชากรอย่างยั่งยืนอยู่มาก และยังต่ำกว่าอัตราการเกิดของจีน ทั้งๆ ที่จีนบังคับใช้นโยบายลูกโทนหรือให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน และยังต่ำกว่าญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเช่นกัน

แนวโน้มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความไม่สมดุลทางประชากรที่น่าห่วง ซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญ แน่นอนว่าทุกสิ่งอย่างบนโลกเยอะไปก็ไม่ดี น้อยเกินไปก็ไม่ดี การรักษาสมดุลเอาไว้จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

มติชนรายวัน
ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่