ทำไฟฉายแอลอีดีแบบพกพาใช้เองดีกว่า

เนื่องจากไฟฉายแบบต่างๆ ที่ผมซื้อมาไม่ค่อยจะถูกใจในหลายๆ ด้านทั้งความสว่าง การกระจายแสง การพกพา ถ้าจะใช้แบบพวกกระบอกละหลายๆ พันมันก็เกินความพอเพียงไปเยอะ ก็เลยคิดว่าทำเองซะดีกว่า ผมวางสเปคคร่าวๆ ในใจคือ
         -    ความสว่าง ต้องสว่างกว่าไฟฉายทั่วไปรวมถึงพวกที่เป็นแอลอีดีด้วย
         -    การกระจายแสงกว้างเห็นได้ทั่ว เพราะไฟฉายทั่วไปมักจะเป็น spot beam คือเป็นลำไปด้านหน้าเป็นหลัก ซึ่งไม่สอดคล้องกับการมองของคนที่มีมุมมองประมาณ 100 องศา ทำให้เวลาจะมองที่ไม่ใช่เส้นตรงเราจำเป็นต้องกวาดกระบอกไฟฉายตามบ่อยๆ แต่ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมการมองทั้งหมดเพราะยังไงแสงด้านหน้าก็ยังคงเป็นหลัก
       -    การพกพาต้องทำได้อย่างสะดวก อย่างน้อยก็ใส่กระเป๋าเสื้อได้

     ด้านวงจรก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ใช้แอลหลอดแอลอีดีต่อขนานกันเรื่อยๆ โดยทั้งหมดจะอนุกรมกับตัวต้านทาน 2 โอห์ม แต่ผมแยก 1 โอห์ม 2 ตัว เพราะไม่มีค่านั้นโดยตรง (จริงๆ ที่ผมคำนวนดูมันประมาณ 1.85 โอห์ม)


     ไฟฉายที่ผมทำขึ้นโดยใช้หลอดแอลอีดีขนาดกำลังต่ำ หัวกลมขนาด 3 มม. จำนวนมากถึง 35 หลอด แต่ละหลอดสว่างเฉลี่ย 10000 mcd (6370-14000 mcd) ที่การกระจายแสง 25 องศา หรือ  1.5 ลูเมนส์ ความสว่างรวมจะอยู่ที่ประมาณ 52 ลูเมนส์ กับอีกอัน ใช้หัวกลมขนาด 5 มม. 25 หลอด แต่ละหลอดสว่างเฉลี่ย 17000 mcd (10750-23660 mcd) ที่การกระจายแสง 15 องศา หรือ  0.9 ลูเมนส์ ความสว่างรวมจะอยู่ที่ประมาณ 22 ลูเมนส์  มีกระแสใช้งานหลอดละ 20 มิลลิแอมป์ทั้งคู่ เนื่องจากหลอดจะมีความร้อนสะสมน้อยกว่าจนไม่ต้องกังวล ถ้าเป็นหลอดประเภท 1 วัตต์นั้นอาจต้องคำนึงการระบายความร้อนอีก อีกทั้งขาของหลอดแบบนี้ก็ยื่นออกมาให้บัดกรีง่ายกว่าพวก SMD แน่นอน ที่สำคัญมุมการกระจายแสงพวกนี้แคบอยู่ที่ 25 กับ 15 องศาเมื่อใช้หลายหลอดก็ทำให้แสงกระจายกว้างขึ้นจนน่าพอใจ (สำหรับผม) และถึงหลอดที่ใช้จะมาจากจีนแต่ตัวบริษัทก็มีขื่อเสียงและมาตรฐานพอควร (ที่แน่อุปกรณ์ที่ผมใช้ต้องมีสเปคอ้างอิงได้ ไม่งั้นผมวิเคราะห์ออกแบบไม่ได้)





     ผมลองเทียบแสงกับไฟฉายธรรมดาขนาดเล็กของ Eveready  ไฟฉายหลอดไส้คริปตันของพานาโซนิคที่เคลมว่าสว่างถึง 2500 ลักซ์ กับ Eveready ที่ใช้หลอดแอลอีดี 3 ดวง ซึ่งมีเลนส์ที่กระจากหน้าทำให้แสงออกมาคมเป็นเส้นวงกลม ผลความสว่างก็เป็นอย่างที่เห็นนั่นคือไฟฉายทำเองสว่างกว่าและกระจายแสงได้ดีกว่าทุกแบบ


บรรยากาศทั่วไป


ไฟฉายทั่วไปขนาดเล็ก


ไฟฉายแอลอีดีของ Eveready


ไฟฉายพานาโซนิค


ไฟฉายทำเองขนาด 25 ดวง


ไฟฉายทำเองขนาด 35 ดวง


     ต่อไปผมจะพูดถึงไฟฉายที่ใช้หลอดจำนวน 35 หลอดเป็นหลัก เพราะอีกอันนึงมีเพื่อนขอซื้อไปซะแล้ว ท่าทางจะชอบมาก ขนาดของไฟฉายนั้นสามารถใส่กระเป๋าเสื้อได้ชนืดไม่ต้องกลัวหล่นแต่มีตุงขึ้นมา ก็ยังดีกว่าที่ต้องถือหรือคล้องข้อมืออยู่ตลอด



     ผมติดแม่เหล็กแรงสูงเอาไว้ด้วยกาวร้อนเพื่อสำหรับยึดเกาะกับแผ่นเหล็กเพื่อประโยชน์ในด้าน hand free เช่นดูดกับฝากระโปรงในกรณีซ่อมรถ หรือทำไฟเสาขนาดมินิในบางงานเช่นแข่งกีฬา จัดงานปาร์ตี้เล็กๆ ฯลฯ (กรณีนี้แสงที่กระจายมุมกว้างจะเป็นสิ่งจำเป็นมากเพราะไม่ต้องคอยส่องไปที่ target )



     อีกอย่างผมติดสติ้กเก้อร์เรืองแสงสำหรับการค้นหาในที่มืด อันนี้ซื้อมาจาก Daiso สเปคความสว่างที่เขาระบุคือ 5 mcd (mill candela) ซึ่งก็เห็นในที่มืดชัดแน่นอน (แผ่นละ 60 บาท มีประมาณ 12 ชิ้น)



     น้ำหนักของตัวไฟฉายก็ประมาณ 50 กรัม ถ้ารวมแบตก็ราวๆ 110 กรัมซึ่งถือว่าเบามากจับถือได้นาน และโอกาศที่จะหล่นเวลาใช้แม่เหล็กยึดเกาะน้อยมาก



     การบริโภคกระแสวัดด้วยการใช้แรงดันตกคร่อมตัวต้านทาน 1 โอห์มที่อยู่ในวงจร อ่านค่าได้ 470 มิลลิโวลต์ หรือคำนวนกลับก็เป็น 470 มิลลิแอมป์นั่นเอง เฉลี่ยกระแสต่อหลอดอยู่ที่ 13.4 มิลลิแอมป์ต่อหลอดเท่านั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องความทนทาน เพราะมันอยู่ที่เกือบๆ 70 เปอร์เซนต์ของค่าใช้งานปกติเท่านั้น ส่วนชั่วโมงใช้งานถ้าคำนวนจากขนาดของถ่าน(ประมาณ 2700 mAH) ก็จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง อาจดูไม่เยอะแต่โดยปกติผมใช้งานไม่ได้บ่อยมากเปิดทีนึงก็ไม่เกิน 15 นาที ดังนั้นมันจะอยู่ได้เป็นเดือน


     อาจมีบางคนสงสัยว่าแล้วอย่างนี้กระแสมันจะไหลเยอะตรงหลอดที่อยู่ไกล้แบตเตอรี่หรือเปล่าทำให้หลอดบริเวณนั้นรับกำลังงานมากเกินไปจะเสียง่ายขณะที่หลอดที่อยู่ห่างจากแบตเตอรี่จะมีกระแสไหลน้อยจนไม่สว่าง ผมจึงทดลองใช้แรงดันค่าต่ำๆ  ในที่นี่จะอยู่ที่ 2.4 โวลต์ซึ่งเกือบเป็นจุดที่หลอดแอลอีดีไม่ทำงาน โดยตั้งสมมติฐานว่าถ้าแสงสว่างมากที่สุดบริเวณใกล้ตัวต้านทาน และสว่างน้อยสุดบริเวณมุมล่างหรือมีรูปแบบเป็น pattern แสดงว่าสายตัวนำที่ใช้ยังไม่เหมาะสม แต่จากการสังเกตดูจะเห็นว่าความสว่างนั้นมีความต่างแบบไม่เป็น pattern ซึ่งผมพบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวางตำแหน่งหลอดไม่ตรงเพราะมุมกระจายแสงแต่ละหลอดแคบมาก กับคุณลักษณะของหลอดเองที่มีความเบี่ยงเบนค่อนข้างสูง คือ 10000 +/- 4000 mcd หรือ +/-40 เปอร์เซนต์ (จริงๆ จะได้แคบกว่านี้ถ้าตัวแทนเขาไม่ mix มา เนื่องจากโรงงานเขาแบ่ง binning ไว้แล้วถึง 3 categories (ดูจากสเปค))



     ที่นี้มาดูราคาค่างวดมัน หลอดแอลอีดีตกดวงละ 2 บาท 35 หลอดก็ 70 บาท แผ่นวงจร 12 บาท ทำได้ 2 ชุด รังถ่าน 15 บาท สติ้กเกอร์เรืองแสงเฉลี่ยอันละ 5 บาท รวมตะกั่วและอื่นๆ ก็ไม่น่าจะเกิน 120 บาท ขณะที่ไฟฉายพานาโซนิค 145 บาท ไฟฉายแอลอีดี Eveready 270 บาท ซึ่งถ้าเทียบระหว่างคุณสมบัติ ประสิทธิภาพ กับราคาแล้วผมก็พอใจกับมันมาก

สเปคหลอดไฟที่ใช้ 35 หลอด
http://www.es.co.th/Schemetic/PDF/HL-308H256WC-MD.PDF

สเปคหลอดไฟที่ใช้ 25 หลอด
http://www.es.co.th/Schemetic/PDF/HL-508H256WC-MD-CW.PDF
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่