แบ่งปันเป็นวิทยาทาน ค่าใช้จ่ายในงานศพ และขั้นตอนต่างๆ

กระทู้สนทนา
ขอเริ่มเรื่องเลยนะคะ  เผื่อเพื่อนๆจะได้วางแผนอนาคตในการใช้จ่ายเงินในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก่อนยายจะเสีย ในครอบครัวเราได้คุยกันว่า หากยายเป็นไรไป จะจัดงานเพียงเล็กๆ แต่ก็สมฐานะ พอดีๆ มีกันเพียงแค่นี้ แล้วเราก็มีเงินไม่มาก แต่เราก็พอมีเงินเก็บบ้างค่ะ

คุณยายเราเสียที่บ้าน เนื่องด้วยโรคชรา ตอนเช้าหลังจากทำความสะอาดเช็ดตัวให้ท่านแล้ว ก็หลับไปเลย ตอนยายเสีย แม่อยู่กับยาย ๒ คน ยายมีลูกคนเดียวก็คือแม่ และไม่มีญาติพี่น้อง  ไม่มีใครเคยเสียชีวิต ในบ้าน ไม่รู้ต้องทำอย่างไร โชคดีที่รู้จักกับลุงคนหนึ่ง ท่านเป็นมัคทายก จึงขอความช่วยเหลือให้ช่วยดำเนินการ  จะแบ่งเป็นข้อๆ ให้เข้าใจง่ายดังนี้ค่ะ  

๑. เมื่อรู้ว่ายายเสียชีวิต  แม้ด้วยโรคชรา ก็ต้องไปแจ้งความที่ สภ. ในพื้นที่ที่เราอยู่  ลูกหลานไม่ติดใจการเสียชีวิต
๒. แจ้งความเสร็จแล้ว ก็นำใบแจ้งความไปยัง อำเภอ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเกิด ตาย ย้ายที่อยู่ อย่างของเราคือ เมืองพัทยา  แจ้งเสร็จก็จะได้ใบมรณบัตร
๓. จากนั้นก็ไปติดต่อวัดที่ประสงค์จะนำศพไปทำพิธี ของเราก็ใกล้บ้าน เป็นวัดสายธรรมยุติ แจ้งทางวัดว่า เราจะจัดสวด ๓ คืน และเผาเลย ไม่มีญาติพี่น้องที่ไหน มีกันเฉพาะในครอบครัว จึงไม่มีเลี้ยงอาหารเวลาที่สวดอภิธรรมช่วงกลางคืน ทางวัดจะขอสำเนาใบมรณบัตรไป ๒ แผ่น
๓. ตอนจะกลับเข้าบ้าน ก็ซื้อกระถางธูป ทรายสำหรับใส่กระถาง และธูปดอกใหญ่ กลับมาจุดไว้ด้วย
๔. บ้านเราไม่มีรถใหญ่  จึงติดต่อให้ รถมูลนิธิ ในพื้นที่ ช่วยมารับศพยายไปวัด ทางมูลนิธิไม่คิดค่าใช้จ่าย เราก็ให้สินน้ำใจแก่พี่คนขับกับผู้ช่วย โดย พี่จากมูลนิธิจะเตรียมผ้าขาวมา พร้อมเปลนอน ห่อศพยายวางบนเปล และนำขึ้นรถ โดยมีแม่เรา ถือกระถางธูป คอยบอกทางให้ยายไปวัด นั่งไปกับรถด้วย
๕. เมื่อถึงวัด ทางวัดจะมีเจ้าหน้าที่ เหมือนเป็นทีมงาน รับจัดงานศพ ซึ่งเค้าจะเตรียมให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หน้าโลง ดอกไม้ไหว้พระ  โลง น้ำมันตะเกียง ธูป เทียน ด้ายแดง ดอกไม้จันทน์ จิปาถะ เดี๋ยวเราจะเขียนให้ในตอนท้ายค่ะ เราก็มีหน้าที่รอ ตอนเย็นรดน้ำศพยาย ก่อนนำเข้าโลง และใส่โลงเย็นอีกที

นี้คือขั้นตอน จากบ้านมาวัด ก็ใช้เวลาไปเกือบวันค่ะ ต่อไปจะเป็นช่วงที่อยู่ที่วัด ทางวัดไม่ให้เฝ้าศพจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าและต่อธูปให้ เพราะจะปิดศาลาเพื่อป้องกันพวกโจรขโมย

ทุกๆคืน (๓ คืน) จะมีพระสวดอภิธรรม คืนละ ๔ รูป แต่คืนสุดท้ายคือคืนที่ ๓  จะมีพระเทศน์เพิ่ม ๑ รูป

๑. คืนที่ ๑ เวลา ๑ ทุ่ม พระสวดอภิธรรม ๔ รูป ก็มี ดอกไม้พระ ๔ กำ ,ติดใบปวารณา รูปละ เท่าไหร่ก็แล้วแต่เราถือว่าเป็นการทำบุญ   และค่าน้ำดื่ม (ที่นี่ไม่มีการจ่ายเงินสด ในระหว่างพิธี จะจ่ายให้เจ้าหน้าที่วัด ก็คือวันเผาเท่านั้น)
๒. คืนที่ ๒ เหมือนกับคืนแรก
๓. คืนที่ ๓ ในช่วงประมาณ ๖ โมงเย็น จะมีพระเทศน์ก่อน ๑ รูป ติดกัณฑ์เทศน์ เท่าไหร่ก็แล้วแต่เราถือว่าเป็นการทำบุญ และตอนนี้เราจะต้องถวายของ ติดกัณฑ์เทศน์ด้วย เช่นพวกเครื่องครัว หอม กระเทียม พริกแห้ง เขียง มีด จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ น้ำดื่ม ใส่เข่งใบใหญ่    ส่วนครก กระทะ เตาถ่าน ถ่าน ทางวัดให้ยืม เพราะอย่างอื่นยังได้ใช้ แต่ถ้าซื้อ ครก กระทะ อะไรมา ยังไงก็ไม่ได้ใช้ เมื่อพระเทศน์เสร็จ ก็มีพระ ๔ รูปลง สวดอภิธรรมเหมือนเดิม  วันนี้ถวายดอกไม้ ๕ กำ

ช่วงคืนสวดพระอภิธรรม ๓ คืน ไม่ได้จัดเลี้ยงอาหาร เพราะเราไม่ได้เชิญใครไม่ได้บอกใคร จะมีบ้างก็แต่เพื่อนร่วมงานของเรา และพ่อ  ๔ – ๕ คน มีแค่น้ำดื่มเท่านั้น ส่วนน้องชายก็เรียนที่กรุงเทพ จะมาได้ก็ตอนวันเผา และก็กลับ จึงไม่มีเพื่อนๆน้อง  เพื่อนแม่ก็ไม่มี จะมีก็แต่สมัยเรียน เพราะแม่ไม่ได้ทำงานมานานเพราะดูแลยาย

สุดท้ายในวันเผา  ก่อนเที่ยง เราจะมีเลี้ยงเพลพระ ๑๐ รูป  เราจ้างแม่ครัวที่เค้ารับจ้างทำอยู่แล้ว มีค่าใช้จ่าย รวมค่าแรง ๑,๕๐๐ บาท  ทั้งหมดรวม ๖,๐๐๐ บาท โดยให้เค้าเตรียมกับข้าว สำหรับพระ ๕ วง   แต่พระฉันจริงๆ ๓ วง  แต่เราทำเผื่อ เผื่อใครจะมาและก็คนในครอบครัวกิน แต่น้ำดื่มพระ เราซื้อมาถวายเอง  กับข้าว ๕ อย่างก็มี  ทอดมันปลา ต้มจืดหมูสับ น้ำพริกมะขามผักสด ไข่เจียว ผัดเผ็ดไก่ และข้าว  ส่วนค่าน้ำแข็งก็ซื้อถุงใหญ่ ๒ ถุง ๔๐ บาท  

เมื่อเผาเสร็จก็รอวันรุ่งขึ้น มาเก็บอัฐิยาย  วันนี้จะเรียกว่าวันแปรธาตุ สิ่งที่ต้องเตรียมก็มี ผ้าขาว ๑ คูณ ๑ เมตร  พวงมาลัยมะลิข้อมือ  ดอกกุหลาบและมะลิ เล็กน้อย เด็ดกลีบ น้ำอบ  วันที่มาเก็บก็จะมีพระมาทำพิธีแปรธาตุให้  สิ่งที่จะต้องเตรียมถวายพระใส่ปิ่นโต คือถวายทั้งปิ่นโต (วัดให้ยืมปิ่นโต) ก็มี ข้าว อาหารคาวหวาน น้ำดื่ม ดอกไม้ถวายพระ และติดใบปวารณา

พระทำพิธีเสร็จ เจ้าหน้าที่เค้าจะจัดอัฐิเรียงลงบนผ้าขาว ให้เราโปรยกลีบกุหลาบและมะลิ รดน้ำอบ  เสร็จ เจ้าหน้าที่ก็จะหาและให้เราเอาพวงมาลัยมะลิคล้องไว้  เสร็จพิธี   เราฝากอัฐิยายไว้ที่วัด รอ ๑๐๐ วันจะนำไปลอยอังคาร  เอาแต่เพียงรูปหน้าศพยายกลับบ้าน



ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในงานยายเรา มีดังนี้ค่ะ
ส่วนนี้แล้วแต่ทางเราค่ะ ทำบุญวัด
๑. บำรุงศาลาเมรุ    ๓,๐๐๐ บาท
๒. บำรุงน้ำไฟ    ๒,๐๐๐ บาท
๓. บำรุงผ้าบังสุกุล ผ้าไตร ดอกไม้จันทน์ ๓,๐๐๐ บาท
๔. ถวายพระเลี้ยงเพล และมาติกา เป็นชุดเดียวกัน  ๑๐ รูป รูปละ ๒๐๐ บาท รวมเป็นเงิน  ๒,๐๐๐ บาท
๕. ถวายพระเทศน์ ๑,๐๐๐ บาท
๖. ถวายพระสวดพระอภิธรรม จำนวน ๓ คืน คืนละ ๘๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๔๐๐ บาท
๗. บำรุงน้ำมันเผาศพ ๒,๔๐๐ บาท (คิดตามจริงจากหัวจ่ายค่ะ อันนี้กำหนดไว้ตายตัว)
๘. พระแปรธาตุ ๑,๐๐๐ บาท
รวมทั้งหมด  ๑๖,๘๐๐ บาท   ถวายวัด ๑๗,๐๐๐ บาท  ส่วนนี้ใส่ซองให้ เจ้าหน้าที่วัด

ส่วนที่มีบิลมาเก็บคือ
๑. โลงบรรจุศพ ๓,๕๐๐ บาท
๒. ดอกไม้หน้าศพ ไฟติดโลง ธูปยาว เทียน ด้ายแดง ซอง ถุง ตะเกียง น้ำมัน สายสิญจน์ ดอกไม้รดน้ำ (ใส่ข้อมือยายตอนรดน้ำศพ) ดอกไม้ถวายพระทุกวัน  รวมทั้งหมด ๗,๕๙๐ บาท
๓. ค่าอาหารเพลพระ รวมค่าแรง   ทั้งหมด ๖,๐๐๐ บาท  (อันนี้เราไม่ได้ถ่ายรูปไว้)
๔. ใส่ซองให้เจ้าหน้าที่ ๓ คน คนละ ๑,๐๐ บาท  รวมเป็น ๓,๐๐๐ บาท

สรุปรวมทั้งหมด  ๓๗,๐๙๐ บาท  แต่ความจริงมันจะมีค่าใช้จ่ายจุกจิกเล็กๆน้อย สรุปค่าใช้จ่ายๆจริงก็เกือบๆ ๔๐,๐๐๐ บาท  ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี    อาจจะละเอียดไม่มากพอ  ตกหล่นอะไรไปบ้างหรือพิมพ์ผิด  ก็ขออภัยมานะที่นี้ด้วย ปล. ทางวัดและเจ้าหน้าที่ดีมากๆ ทุกสิ่งที่ถวายวัดถือว่าทำบุญ   ยังไงก็วางแผนอนาคตกันไว้บ้างนะคะ      ขออภัยด้วยนะคะถ้าแท็กห้องไม่ถูกต้อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่