หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ
www.facebook.com./Roundfinger.BOOK
มติชนสุดสัปดาห์ 5-11 กันยายน 2557
โชคดีที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ไม่ได้รับน้องโหดสักเท่าไหร่นัก
ผมผ่านช่วงเวลารับน้องมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยปนหนุก มีบางเรื่องที่เข้าใจ บางเรื่องที่...ในที่สุดก็เข้าใจ และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจแต่ก็ทำไป
การรับน้องของคณะจบลงด้วยความประทับใจเช่นกันกับหลายๆ คณะ ถ้าปูทางกันมาเป็นอย่างดี น้ำตาแห่งความปีติในวันสุดท้ายย่อมไหลออกมาได้ไม่ยาก
หากลองลากเส้นดูแล้วเราจะเห็นเส้นทางดราม่าของการรับน้องคล้ายบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีเศร้า มีซึ้ง และสุขสมหวัง
จากน้องใหม่ที่เข้าคณะมาตัวคนเดียว ได้ใช้เวลาร่วมกันเพื่อผ่านความยากลำบากที่ต้องเอาชนะด้วยความสามัคคี และยิ่งสามัคคีมากขึ้นเมื่อเกลียดพี่ว้ากคนเดียวกัน ทั้งหมดนั้นปูทางมาสู่การโอบรับของรุ่นพี่ทุกคน เปิดประตูคณะ "รับ" เข้ามาเป็น "น้อง"
จะว่าไปก็คล้ายพิธีกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนผ่าน "คนนอก" มาเป็น "คนใน" ซึ่งต้องผ่านพิธีกรรมพิสูจน์ตัวเองเสียก่อน
อย่างที่บอกไปครับว่าโชคดีที่คณะของผมไม่ค่อยมีการรับน้องแผลงๆพิสดารอย่างที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ เช่น รุ่นพี่บังคับให้น้องกินอะไรประหลาดๆ บังคับให้น้องแก้ผ้าแล้วทำกิจกรรมฝืนใจ หรือทรมานน้องด้วยวิธีที่โหดร้ายราวกับเห็นน้องเป็นเชลยศึก
แต่กระนั้นในการรับน้องที่ค่อนข้างนุ่มนวลของพวกเราก็ยังมีบางส่วนที่เพื่อนบางคนไม่เห็นด้วย
เช่นเพื่อนบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมพี่ต้องให้ร้องเพลงเสียงดัง และทำไมต้อง (แกล้ง) ดุกันขนาดนั้น
บางคนที่ความคิดโตเกินคนในวัยเดียวกันสักหน่อยก็จะรู้สึกขำรุ่นพี่และไม่ยอมเข้าห้องเชียร์หรือบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเต้นทอมทอมที่ต้องซ้อมเต้นกันเป็นชั่วโมงๆ ก็จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม
สมัยนั้นผมแอนตี้เพื่อนพวกนี้มาก คิดว่าเป็นพวกนอกคอก ไม่น่าคบ เลยเถิดไปถึงขั้นคิดว่าพวกนี้เห็นแก่ตัว
วันไหนอารมณ์ดีหน่อยก็จะลดความรังเกียจลง นั่งปรึกษากับเพื่อนร่วมรุ่นว่าทำยังไงถึงจะไปลาก เอ้ย! ตามเพื่อนๆ พวกนี้มาเข้าห้องเชียร์ มาซ้อมเต้นกับพวกเรา เพราะรุ่นพี่ก็ย้ำกับเราเสมอว่าให้ไปตามเพื่อนมาให้ครบ
พวกที่ดื้อด้านมากๆ ผมกับเพื่อนทำนายอนาคตพวกมันไว้เลยว่า อีกห้าปีในคณะไม่มีเพื่อนแน่ๆ
แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องแบบพวกเราก็สามารถคบหากันเป็นเพื่อนได้อย่างสนิทสนมสนุกสนาน
บางคนมาเห็นน้ำใจกันตอนที่มันมาช่วยทำแบบบางคนพอได้คุยด้วยก็รู้ว่าน่าคบหา บางคนพอได้เตะบอลด้วยกันก็สนิทกันไปเอง และบางคนก็มีเพื่อนฝูงรายล้อมมากมายด้วยซ้ำไป
พอได้เป็นเพื่อนกับคนที่เราเคยรังเกียจ ก็ทำให้เราได้หันไปมองการรับน้องในมุมของเพื่อนกลุ่มนี้ ชวนให้คิดถึงการรับน้องว่า "ฟังก์ชั่น" ของการรับน้องคืออะไรกันแน่ ถ้าเป็นการทำให้น้องรู้จักกัน รักกัน สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เราจำเป็นต้องมีการว้ากหรือการบังคับไหม
ใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คิดไปด้วยกันนะครับพี่ๆ น้องๆ
ประเพณีการรับน้องในอังกฤษเริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ในปี ค.ศ.1767 หรือเมื่อประมาณสองร้อยปีมาแล้ว สมัยนั้นเรียกกันว่าระบบ Fagging คำว่า Fag คือเด็กรับใช้ คอยวิ่งซื้อของให้รุ่นพี่ หรือแปลว่างานที่ยาก เริ่มใช้กันในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์
ในระบบนี้ รุ่นพี่สามารถใช้ fag ได้ตามใจชอบ ลงโทษรุ่นน้องรุนแรงและใช้คำพูดหยาบคายด้วยได้ เพื่อให้รุ่นน้องเรียนรู้ถึงความละอาย ความอัปยศ ก่อนที่จะประพฤติตัวให้เหมาะสม ซึ่งระบบนี้นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ บาดเจ็บ และเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
สุดท้ายการรับน้องที่โหดร้ายทารุณเช่นนี้จึงค่อยๆ จางหายไปตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
แต่ก็ใช่ว่าระบบ Fagging จะสูญหายไปจากโลก
เมื่อชาวอังกฤษอพยพไปตั้งถิ่นฐานกันที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็มีการนำเอาระบบรับน้องแบบนี้ไปใช้ในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากเกิดการปฏิวัติอเมริกา มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎนี้แล้ว นอกจากในมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างฮาร์วาร์ด เยล พรินซ์ตัน ที่คิดวิธีกดดันน้องแบบใหม่ให้น้องได้รับความอับอาย เรียกว่าระบบ Hazing
กระทั่งถึงปี ค.ศ.2011 ที่เกิดกรณีนักศึกษาใหม่เสียชีวิตจากการรับน้องที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อน้องถูกรุ่นพี่บังคับให้กินวอดก้าเมื่อตอบคำถามผิด หลังจากอาเจียนพวกรุ่นพี่ก็บังคับให้กินซอส ผงช็อกโกแลต น้ำเชื่อมสตรอว์เบอร์รี่ สุดท้ายน้องเป็นลมถูกหามขึ้นรถ และเสียชีวิตในวันต่อมา
ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยคอร์แนลมีเว็บไซต์ทางการชื่อ hazing.cornell.edu ให้นักศึกษาร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการรับน้องที่รุนแรง
นอกจากนั้น ยังมีการหยั่งเสียงจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผลออกมาว่า 82% ไม่เห็นด้วยกับการบังคับและกดดันให้น้องอับอาย ซึ่งฟังดูดี
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ยังมีอีก 18% ที่เห็นด้วยกับการรับน้องลักษณะนั้น
ส่วนระบบว้ากนั้นเริ่มเป็นประเพณีนิยมในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1 หลังจากที่ทหารหนุ่มของทั้งสองประเทศมาร่วมรบเป็นทหารสัมพันธมิตรและต้องมาเข้าค่ายร่วมกัน
ก่อนออกรบจะมีการข่มขู่กดดัน กลั่นแกล้งทหารใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีปรัชญาที่ทุกคนต้องยึดถือร่วมกันว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย"
ระบบการตะคอกสั่งแบบผู้บังคับบัญชาเช่นนี้จึงถูกสืบทอดไปยังประเทศที่เข้าร่วมรบ เมื่อสงครามจบลง วิธีแบบทหารในสงครามจึงถูกนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย และค่อยๆ เพี้ยนไปเป็นการรับน้องที่รุนแรงขึ้น กดดันมากขึ้น หยาบคายมากขึ้น เพราะความเมามันของรุ่นพี่
น่าสนใจตรงที่คำว่าว้ากหรือ Ragging นั้น ถ้าไปถามคนอังกฤษทุกวันนี้จะไม่คิดว่าเป็นการว้ากอีกต่อไป เพราะถ้าดูในพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ลองแมน จะแปลว่าแกล้งล้อเล่น และถูกตีตราว่าเป็นคำสมัยเก่าเลิกใช้ไปแล้ว
จะเห็นว่าเบื้องหลังของการรับน้องที่โหดร้ายนั้นมีวิธีคิดแบบ"ผู้บังคับบัญชา" ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ทั้งอำนาจในการสั่งและอำนาจในการตัดสินว่าสิ่งที่น้องทำนั้นผิดหรือถูก ดีพอหรือไม่ หลายคนจึงโยงใยการรับน้องโหดๆ เช่นนี้เข้ากับระบบ SOTUS ซึ่งเริ่มต้นจากโรงเรียนทหารของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ฝึกวินัย ความอดทน และเพิ่มความสมัครสมานสามัคคีให้กับนักเรียนนายร้อย
SOTUS ย่อมาจากคำ 5 คำด้วยกัน
S = Seniority เคารพผู้อาวุโส
O = Order การทำตามคำสั่ง
T = Tradition ทำตามประเพณี
U = Unity มีความเป็นเอกภาพทางความคิดและการกระทำ
S = Spirit การพร้อมพลีชีพ พร้อมเหนื่อยให้กับกลุ่มก้อนของเรา
อ่านความหมายของคำว่า SOTUS เผินๆ ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายที่ดูเหมือนจะดีทั้งนั้น แต่ถ้าลองลงรายละเอียดในชีวิตจริงก็มีสิ่งที่น่าตั้งคำถามอยู่ไม่ใช่น้อย เช่น (S) ผู้อาวุโสทุกคนน่าเคารพจริงหรือ เราควรเคารพเขาเพราะเขาอาวุโสหรือเพราะเขาเป็นคนที่น่าเคารพ (O) แล้วถ้าคำสั่งของผู้อาวุโสไม่น่าทำตามล่ะ (T) แล้วถ้าประเพณีนั้นไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้วล่ะ (U) เอกภาพเป็นเรื่องดี แต่ในบางเรื่องการมีความคิดที่แตกต่างหลากหลายก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกันมิใช่หรือ (S) ถ้าลงแรงในเรื่องที่เราเห็นด้วยก็น่ายินดี แต่ถ้ามีบางเรื่องที่ไม่เห็นด้วยเราก็น่าจะมีสิทธิเลือกใช่ไหม
โซตัสจะดีหรือไม่จึงอยู่ที่รายละเอียดด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่ระบบโซตัสให้ความสำคัญอย่างมากคือความอาวุโสเพราะตัวอักษร O-T-U-S ที่ตามมานั้นล้วนเกิดขึ้นได้เพราะ S ตัวแรกทั้งสิ้น
การให้ความเคารพเป็นสิ่งที่ดีงามแน่นอน แต่นอกจากเคารพผู้อาวุโสแล้วยังก็ควรเคารพผู้น้อย รุ่นน้อง หรือกระทั่งเพื่อนพ้องในวัยเดียวกันด้วย
น่าจะดีถ้ารุ่นพี่สอนรุ่นน้องผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้รู้จักเคารพมนุษย์คนอื่นไม่ว่าจะอ่อนหรือแก่กว่า
ถ้าเขามีสิ่งที่เราควรเคารพ และไม่จำเป็นต้องเคารพคนที่อายุมากกว่าที่ไม่มีคุณสมบัติน่าเคารพ มิเช่นนั้นเราคงต้องมานั่งยกมือไหว้คนโกง คนชั่ว คนทำผิดกฎหมาย คนเอาเปรียบคนอื่นหรือบังคับขู่เข็ญคนอื่น เพียงเพราะเขา "อาวุโส"
ในบรรยากาศการรับน้องของคณะสถาปัตย์ มีหลายกิจกรรมที่ผมรู้สึกประทับใจ แต่ที่รู้สึกดีที่สุดเพราะมันทั้งง่ายและมีประโยชน์ก็คือ พิธีปูโต๊ะ ซึ่งเป็นวันที่พี่รหัสหลายชั้นปีจะมาช่วยน้องใหม่ปูโต๊ะเขียนแบบ ติดตั้งทีสไลด์ (ไม้ทีติดโต๊ะ) พาไปซื้ออุปกรณ์ ตกเย็นก็มักจะพาไปเลี้ยงข้าวพร้อมสอนวิธีการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านการพูดคุยในมื้อนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นการรับน้องที่น่ารักและอบอุ่น
ที่สำคัญ ไม่มีการสั่งให้น้องทำอะไรเลย
หากพูดถึงการรับน้อง ผมอาจจะอยู่ฝ่ายที่ซาบซึ้งและประทับใจกับกิจกรรมรับน้อง แต่เมื่อเติบโตขึ้น ได้คุยกับเพื่อนๆ ที่ไม่เห็นด้วย ฟังเหตุผลของเขา ผมคิดว่าหลายคำถามที่เขาตั้งคำถามขึ้นมาล้วนแล้วแต่จะนำพาไปสู่การรับน้องที่สร้างสรรค์มากขึ้นทั้งนั้น
พี่จะทำให้น้องเคารพรักได้โดยไม่ต้องดุได้ไหมวิธีโหดร้ายต่างๆ นานาตกลงว่าสร้างสรรค์หรือทำลาย (อันนี้หมายถึงการรับน้องทั่วๆ ไปอีกหลายแห่งที่มีข่าวให้เห็นอยู่ทุกปี)
เราจำเป็นต้องรับนักศึกษาด้วยวิธีเดียวกับการฝึกทหารจริงหรือในเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เพื่อเพาะบ่มทางปัญญาซึ่งการได้คิดเอง ได้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และคำถามที่คนไม่เข้าห้องเชียร์ถามแบบง่ายๆ เลยว่า "ทำไมผมต้องเข้าห้องเชียร์" ก็เป็นคำถามที่ชวนคิด
แน่นอนครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ที่อยากให้คนเข้าห้องเชียร์ ให้คนร่วมกิจกรรมรับน้องก็คงมีคำตอบชุดหนึ่ง แต่ถ้าคำตอบนั้นไม่ตรงกับคำตอบของน้องใหม่คนนั้น ซึ่งเขาอาจมีเหตุผลอื่นๆ ที่น่ารับฟังเช่นกัน เราจะตัดสินความถูกต้องกันอย่างไรดี
คำตอบไม่น่าใช่ "ว่าตามผู้อาวุโส" หรือ "ตามเสียงส่วนใหญ่"
ถึงที่สุดแล้ว นักศึกษาทุกคนน่าจะมีสิทธิในการเลือกชีวิตของตัวเองว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องหรือไม่ เข้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นน้องที่ดีกว่า ไม่เข้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นน้องที่ย่ำแย่หรือไม่ควรถูกนับเป็นน้อง แหม เรายังมีกิจกรรมอื่นให้ทำร่วมกันอีกตั้งเยอะ
สิทธิในการเลือกว่าจะเข้าร่วมก็ได้ไม่เข้าร่วมก็ได้ รวมถึงค่านิยมว่า-ไม่เข้าเราก็ไม่ว่าคุณ เราเคารพคุณ ย่อมสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับพี่และน้อง น้องที่ไม่เข้าร่วมก็กล้าบอกพี่เมื่อไม่เห็นด้วยกับบางอย่าง กระทั่งอาจเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าก็ยังได้ เมื่อรุ่นพี่เปิดกว้างและไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา แต่เป็นมิตร
เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราได้จากการรับน้องย่อมมิใช่เพียงแค่ทำให้น้องได้เคารพรุ่นพี่ แต่ยังฝึกให้พี่ได้เคารพรุ่นน้อง เคารพในความคิด เคารพในการตัดสินใจ เคารพในความแตกต่าง
ผมยังสนับสนุนให้มีการรับน้อง คำถามก็คือเราสามารถมีการรับน้องที่สร้างสรรค์และมีวัตถุประสงค์ที่เปิดโอกาสให้พี่กับน้องได้รู้จักกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง ทำอย่างไรให้เราตระหนักถึงศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของคนอื่น และทุกคนมีโอกาสที่จะคิดเห็นและเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสม
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อรุ่นพี่ไม่ได้ใช้สมการว่า"ความอาวุโส = ความถูกต้อง" ให้น้องได้มามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดในการรับน้อง "ฟัง" แทนที่จะ "สั่ง" นั่งลงชวนคุยกันแทนที่จะตะโกนบอกให้ทำตาม
เสียงดังของการร้องเพลงเชียร์ไม่ได้แปลว่าเพลงที่ร้องออกมานั้นจะไพเราะเสมอไปถ้ามันเป็นเสียงที่ประสานออกมาจากการถูกบังคับ บรรยากาศช่วงรับน้องอาจจะน่ารักรื่นรมย์กว่าด้วยซ้ำ ถ้าพี่ๆ น้องๆ จับกลุ่มร้องเพลงตามรสนิยมอยู่กันคนละมุม แต่ละกลุ่มแต่งเพลงเชียร์ขึ้นมาใหม่ตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ แล้วมาแลกกันฟัง มีเพลงที่น้องอยากร้อง ร้องด้วยใจ ร้องแล้วเพราะ มากกว่าจะต้องมาร้องเพลงเดียวกัน ร้องให้ดัง ร้องให้พร้อมเพรียง
จาก Seniority เป็น Equality
จาก Unity เป็น Diversity
จากรับน้อง เป็น รับฟังน้อง
ลองดูมั้ยครับพี่?
เมื่อนักเขียน 'นิ้วกลม' เขียนเรื่อง 'รับน้อง'
www.facebook.com./Roundfinger.BOOK
มติชนสุดสัปดาห์ 5-11 กันยายน 2557
โชคดีที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ไม่ได้รับน้องโหดสักเท่าไหร่นัก
ผมผ่านช่วงเวลารับน้องมาด้วยความรู้สึกเหนื่อยปนหนุก มีบางเรื่องที่เข้าใจ บางเรื่องที่...ในที่สุดก็เข้าใจ และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจแต่ก็ทำไป
การรับน้องของคณะจบลงด้วยความประทับใจเช่นกันกับหลายๆ คณะ ถ้าปูทางกันมาเป็นอย่างดี น้ำตาแห่งความปีติในวันสุดท้ายย่อมไหลออกมาได้ไม่ยาก
หากลองลากเส้นดูแล้วเราจะเห็นเส้นทางดราม่าของการรับน้องคล้ายบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีเศร้า มีซึ้ง และสุขสมหวัง
จากน้องใหม่ที่เข้าคณะมาตัวคนเดียว ได้ใช้เวลาร่วมกันเพื่อผ่านความยากลำบากที่ต้องเอาชนะด้วยความสามัคคี และยิ่งสามัคคีมากขึ้นเมื่อเกลียดพี่ว้ากคนเดียวกัน ทั้งหมดนั้นปูทางมาสู่การโอบรับของรุ่นพี่ทุกคน เปิดประตูคณะ "รับ" เข้ามาเป็น "น้อง"
จะว่าไปก็คล้ายพิธีกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนผ่าน "คนนอก" มาเป็น "คนใน" ซึ่งต้องผ่านพิธีกรรมพิสูจน์ตัวเองเสียก่อน
อย่างที่บอกไปครับว่าโชคดีที่คณะของผมไม่ค่อยมีการรับน้องแผลงๆพิสดารอย่างที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ เช่น รุ่นพี่บังคับให้น้องกินอะไรประหลาดๆ บังคับให้น้องแก้ผ้าแล้วทำกิจกรรมฝืนใจ หรือทรมานน้องด้วยวิธีที่โหดร้ายราวกับเห็นน้องเป็นเชลยศึก
แต่กระนั้นในการรับน้องที่ค่อนข้างนุ่มนวลของพวกเราก็ยังมีบางส่วนที่เพื่อนบางคนไม่เห็นด้วย
เช่นเพื่อนบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมพี่ต้องให้ร้องเพลงเสียงดัง และทำไมต้อง (แกล้ง) ดุกันขนาดนั้น
บางคนที่ความคิดโตเกินคนในวัยเดียวกันสักหน่อยก็จะรู้สึกขำรุ่นพี่และไม่ยอมเข้าห้องเชียร์หรือบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเต้นทอมทอมที่ต้องซ้อมเต้นกันเป็นชั่วโมงๆ ก็จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม
สมัยนั้นผมแอนตี้เพื่อนพวกนี้มาก คิดว่าเป็นพวกนอกคอก ไม่น่าคบ เลยเถิดไปถึงขั้นคิดว่าพวกนี้เห็นแก่ตัว
วันไหนอารมณ์ดีหน่อยก็จะลดความรังเกียจลง นั่งปรึกษากับเพื่อนร่วมรุ่นว่าทำยังไงถึงจะไปลาก เอ้ย! ตามเพื่อนๆ พวกนี้มาเข้าห้องเชียร์ มาซ้อมเต้นกับพวกเรา เพราะรุ่นพี่ก็ย้ำกับเราเสมอว่าให้ไปตามเพื่อนมาให้ครบ
พวกที่ดื้อด้านมากๆ ผมกับเพื่อนทำนายอนาคตพวกมันไว้เลยว่า อีกห้าปีในคณะไม่มีเพื่อนแน่ๆ
แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายคนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องแบบพวกเราก็สามารถคบหากันเป็นเพื่อนได้อย่างสนิทสนมสนุกสนาน
บางคนมาเห็นน้ำใจกันตอนที่มันมาช่วยทำแบบบางคนพอได้คุยด้วยก็รู้ว่าน่าคบหา บางคนพอได้เตะบอลด้วยกันก็สนิทกันไปเอง และบางคนก็มีเพื่อนฝูงรายล้อมมากมายด้วยซ้ำไป
พอได้เป็นเพื่อนกับคนที่เราเคยรังเกียจ ก็ทำให้เราได้หันไปมองการรับน้องในมุมของเพื่อนกลุ่มนี้ ชวนให้คิดถึงการรับน้องว่า "ฟังก์ชั่น" ของการรับน้องคืออะไรกันแน่ ถ้าเป็นการทำให้น้องรู้จักกัน รักกัน สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เราจำเป็นต้องมีการว้ากหรือการบังคับไหม
ใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ คิดไปด้วยกันนะครับพี่ๆ น้องๆ
ประเพณีการรับน้องในอังกฤษเริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ในปี ค.ศ.1767 หรือเมื่อประมาณสองร้อยปีมาแล้ว สมัยนั้นเรียกกันว่าระบบ Fagging คำว่า Fag คือเด็กรับใช้ คอยวิ่งซื้อของให้รุ่นพี่ หรือแปลว่างานที่ยาก เริ่มใช้กันในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ และโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์
ในระบบนี้ รุ่นพี่สามารถใช้ fag ได้ตามใจชอบ ลงโทษรุ่นน้องรุนแรงและใช้คำพูดหยาบคายด้วยได้ เพื่อให้รุ่นน้องเรียนรู้ถึงความละอาย ความอัปยศ ก่อนที่จะประพฤติตัวให้เหมาะสม ซึ่งระบบนี้นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ บาดเจ็บ และเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
สุดท้ายการรับน้องที่โหดร้ายทารุณเช่นนี้จึงค่อยๆ จางหายไปตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว
แต่ก็ใช่ว่าระบบ Fagging จะสูญหายไปจากโลก
เมื่อชาวอังกฤษอพยพไปตั้งถิ่นฐานกันที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็มีการนำเอาระบบรับน้องแบบนี้ไปใช้ในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากเกิดการปฏิวัติอเมริกา มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีการบังคับใช้กฎนี้แล้ว นอกจากในมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างฮาร์วาร์ด เยล พรินซ์ตัน ที่คิดวิธีกดดันน้องแบบใหม่ให้น้องได้รับความอับอาย เรียกว่าระบบ Hazing
กระทั่งถึงปี ค.ศ.2011 ที่เกิดกรณีนักศึกษาใหม่เสียชีวิตจากการรับน้องที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อน้องถูกรุ่นพี่บังคับให้กินวอดก้าเมื่อตอบคำถามผิด หลังจากอาเจียนพวกรุ่นพี่ก็บังคับให้กินซอส ผงช็อกโกแลต น้ำเชื่อมสตรอว์เบอร์รี่ สุดท้ายน้องเป็นลมถูกหามขึ้นรถ และเสียชีวิตในวันต่อมา
ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยคอร์แนลมีเว็บไซต์ทางการชื่อ hazing.cornell.edu ให้นักศึกษาร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการรับน้องที่รุนแรง
นอกจากนั้น ยังมีการหยั่งเสียงจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผลออกมาว่า 82% ไม่เห็นด้วยกับการบังคับและกดดันให้น้องอับอาย ซึ่งฟังดูดี
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ยังมีอีก 18% ที่เห็นด้วยกับการรับน้องลักษณะนั้น
ส่วนระบบว้ากนั้นเริ่มเป็นประเพณีนิยมในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1 หลังจากที่ทหารหนุ่มของทั้งสองประเทศมาร่วมรบเป็นทหารสัมพันธมิตรและต้องมาเข้าค่ายร่วมกัน
ก่อนออกรบจะมีการข่มขู่กดดัน กลั่นแกล้งทหารใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีปรัชญาที่ทุกคนต้องยึดถือร่วมกันว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย"
ระบบการตะคอกสั่งแบบผู้บังคับบัญชาเช่นนี้จึงถูกสืบทอดไปยังประเทศที่เข้าร่วมรบ เมื่อสงครามจบลง วิธีแบบทหารในสงครามจึงถูกนำไปใช้ในมหาวิทยาลัย และค่อยๆ เพี้ยนไปเป็นการรับน้องที่รุนแรงขึ้น กดดันมากขึ้น หยาบคายมากขึ้น เพราะความเมามันของรุ่นพี่
น่าสนใจตรงที่คำว่าว้ากหรือ Ragging นั้น ถ้าไปถามคนอังกฤษทุกวันนี้จะไม่คิดว่าเป็นการว้ากอีกต่อไป เพราะถ้าดูในพจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ลองแมน จะแปลว่าแกล้งล้อเล่น และถูกตีตราว่าเป็นคำสมัยเก่าเลิกใช้ไปแล้ว
จะเห็นว่าเบื้องหลังของการรับน้องที่โหดร้ายนั้นมีวิธีคิดแบบ"ผู้บังคับบัญชา" ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ทั้งอำนาจในการสั่งและอำนาจในการตัดสินว่าสิ่งที่น้องทำนั้นผิดหรือถูก ดีพอหรือไม่ หลายคนจึงโยงใยการรับน้องโหดๆ เช่นนี้เข้ากับระบบ SOTUS ซึ่งเริ่มต้นจากโรงเรียนทหารของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ฝึกวินัย ความอดทน และเพิ่มความสมัครสมานสามัคคีให้กับนักเรียนนายร้อย
SOTUS ย่อมาจากคำ 5 คำด้วยกัน
S = Seniority เคารพผู้อาวุโส
O = Order การทำตามคำสั่ง
T = Tradition ทำตามประเพณี
U = Unity มีความเป็นเอกภาพทางความคิดและการกระทำ
S = Spirit การพร้อมพลีชีพ พร้อมเหนื่อยให้กับกลุ่มก้อนของเรา
อ่านความหมายของคำว่า SOTUS เผินๆ ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายที่ดูเหมือนจะดีทั้งนั้น แต่ถ้าลองลงรายละเอียดในชีวิตจริงก็มีสิ่งที่น่าตั้งคำถามอยู่ไม่ใช่น้อย เช่น (S) ผู้อาวุโสทุกคนน่าเคารพจริงหรือ เราควรเคารพเขาเพราะเขาอาวุโสหรือเพราะเขาเป็นคนที่น่าเคารพ (O) แล้วถ้าคำสั่งของผู้อาวุโสไม่น่าทำตามล่ะ (T) แล้วถ้าประเพณีนั้นไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้วล่ะ (U) เอกภาพเป็นเรื่องดี แต่ในบางเรื่องการมีความคิดที่แตกต่างหลากหลายก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นกันมิใช่หรือ (S) ถ้าลงแรงในเรื่องที่เราเห็นด้วยก็น่ายินดี แต่ถ้ามีบางเรื่องที่ไม่เห็นด้วยเราก็น่าจะมีสิทธิเลือกใช่ไหม
โซตัสจะดีหรือไม่จึงอยู่ที่รายละเอียดด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่ระบบโซตัสให้ความสำคัญอย่างมากคือความอาวุโสเพราะตัวอักษร O-T-U-S ที่ตามมานั้นล้วนเกิดขึ้นได้เพราะ S ตัวแรกทั้งสิ้น
การให้ความเคารพเป็นสิ่งที่ดีงามแน่นอน แต่นอกจากเคารพผู้อาวุโสแล้วยังก็ควรเคารพผู้น้อย รุ่นน้อง หรือกระทั่งเพื่อนพ้องในวัยเดียวกันด้วย
น่าจะดีถ้ารุ่นพี่สอนรุ่นน้องผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้รู้จักเคารพมนุษย์คนอื่นไม่ว่าจะอ่อนหรือแก่กว่า
ถ้าเขามีสิ่งที่เราควรเคารพ และไม่จำเป็นต้องเคารพคนที่อายุมากกว่าที่ไม่มีคุณสมบัติน่าเคารพ มิเช่นนั้นเราคงต้องมานั่งยกมือไหว้คนโกง คนชั่ว คนทำผิดกฎหมาย คนเอาเปรียบคนอื่นหรือบังคับขู่เข็ญคนอื่น เพียงเพราะเขา "อาวุโส"
ในบรรยากาศการรับน้องของคณะสถาปัตย์ มีหลายกิจกรรมที่ผมรู้สึกประทับใจ แต่ที่รู้สึกดีที่สุดเพราะมันทั้งง่ายและมีประโยชน์ก็คือ พิธีปูโต๊ะ ซึ่งเป็นวันที่พี่รหัสหลายชั้นปีจะมาช่วยน้องใหม่ปูโต๊ะเขียนแบบ ติดตั้งทีสไลด์ (ไม้ทีติดโต๊ะ) พาไปซื้ออุปกรณ์ ตกเย็นก็มักจะพาไปเลี้ยงข้าวพร้อมสอนวิธีการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านการพูดคุยในมื้อนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นการรับน้องที่น่ารักและอบอุ่น
ที่สำคัญ ไม่มีการสั่งให้น้องทำอะไรเลย
หากพูดถึงการรับน้อง ผมอาจจะอยู่ฝ่ายที่ซาบซึ้งและประทับใจกับกิจกรรมรับน้อง แต่เมื่อเติบโตขึ้น ได้คุยกับเพื่อนๆ ที่ไม่เห็นด้วย ฟังเหตุผลของเขา ผมคิดว่าหลายคำถามที่เขาตั้งคำถามขึ้นมาล้วนแล้วแต่จะนำพาไปสู่การรับน้องที่สร้างสรรค์มากขึ้นทั้งนั้น
พี่จะทำให้น้องเคารพรักได้โดยไม่ต้องดุได้ไหมวิธีโหดร้ายต่างๆ นานาตกลงว่าสร้างสรรค์หรือทำลาย (อันนี้หมายถึงการรับน้องทั่วๆ ไปอีกหลายแห่งที่มีข่าวให้เห็นอยู่ทุกปี)
เราจำเป็นต้องรับนักศึกษาด้วยวิธีเดียวกับการฝึกทหารจริงหรือในเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เพื่อเพาะบ่มทางปัญญาซึ่งการได้คิดเอง ได้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และคำถามที่คนไม่เข้าห้องเชียร์ถามแบบง่ายๆ เลยว่า "ทำไมผมต้องเข้าห้องเชียร์" ก็เป็นคำถามที่ชวนคิด
แน่นอนครับ พี่ๆ เพื่อนๆ ที่อยากให้คนเข้าห้องเชียร์ ให้คนร่วมกิจกรรมรับน้องก็คงมีคำตอบชุดหนึ่ง แต่ถ้าคำตอบนั้นไม่ตรงกับคำตอบของน้องใหม่คนนั้น ซึ่งเขาอาจมีเหตุผลอื่นๆ ที่น่ารับฟังเช่นกัน เราจะตัดสินความถูกต้องกันอย่างไรดี
คำตอบไม่น่าใช่ "ว่าตามผู้อาวุโส" หรือ "ตามเสียงส่วนใหญ่"
ถึงที่สุดแล้ว นักศึกษาทุกคนน่าจะมีสิทธิในการเลือกชีวิตของตัวเองว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องหรือไม่ เข้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นน้องที่ดีกว่า ไม่เข้าก็ไม่ได้แปลว่าเป็นน้องที่ย่ำแย่หรือไม่ควรถูกนับเป็นน้อง แหม เรายังมีกิจกรรมอื่นให้ทำร่วมกันอีกตั้งเยอะ
สิทธิในการเลือกว่าจะเข้าร่วมก็ได้ไม่เข้าร่วมก็ได้ รวมถึงค่านิยมว่า-ไม่เข้าเราก็ไม่ว่าคุณ เราเคารพคุณ ย่อมสร้างบรรยากาศใหม่ให้กับพี่และน้อง น้องที่ไม่เข้าร่วมก็กล้าบอกพี่เมื่อไม่เห็นด้วยกับบางอย่าง กระทั่งอาจเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์กว่าก็ยังได้ เมื่อรุ่นพี่เปิดกว้างและไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา แต่เป็นมิตร
เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เราได้จากการรับน้องย่อมมิใช่เพียงแค่ทำให้น้องได้เคารพรุ่นพี่ แต่ยังฝึกให้พี่ได้เคารพรุ่นน้อง เคารพในความคิด เคารพในการตัดสินใจ เคารพในความแตกต่าง
ผมยังสนับสนุนให้มีการรับน้อง คำถามก็คือเราสามารถมีการรับน้องที่สร้างสรรค์และมีวัตถุประสงค์ที่เปิดโอกาสให้พี่กับน้องได้รู้จักกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง ทำอย่างไรให้เราตระหนักถึงศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันของคนอื่น และทุกคนมีโอกาสที่จะคิดเห็นและเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสม
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อรุ่นพี่ไม่ได้ใช้สมการว่า"ความอาวุโส = ความถูกต้อง" ให้น้องได้มามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดในการรับน้อง "ฟัง" แทนที่จะ "สั่ง" นั่งลงชวนคุยกันแทนที่จะตะโกนบอกให้ทำตาม
เสียงดังของการร้องเพลงเชียร์ไม่ได้แปลว่าเพลงที่ร้องออกมานั้นจะไพเราะเสมอไปถ้ามันเป็นเสียงที่ประสานออกมาจากการถูกบังคับ บรรยากาศช่วงรับน้องอาจจะน่ารักรื่นรมย์กว่าด้วยซ้ำ ถ้าพี่ๆ น้องๆ จับกลุ่มร้องเพลงตามรสนิยมอยู่กันคนละมุม แต่ละกลุ่มแต่งเพลงเชียร์ขึ้นมาใหม่ตามสไตล์ที่ตัวเองชอบ แล้วมาแลกกันฟัง มีเพลงที่น้องอยากร้อง ร้องด้วยใจ ร้องแล้วเพราะ มากกว่าจะต้องมาร้องเพลงเดียวกัน ร้องให้ดัง ร้องให้พร้อมเพรียง
จาก Seniority เป็น Equality
จาก Unity เป็น Diversity
จากรับน้อง เป็น รับฟังน้อง
ลองดูมั้ยครับพี่?