ฤาจะเป็นอาทิตย์อับแสง: บทเรียนความเสี่ยงที่"สก็อตแลนด์"ควรเรียนรู้จาก"สเปน"ก่อนแยกตัวเป็นอิสระ กรณีวิกฤตเศรษฐกิจ

สก็อตแลนด์จะแยกหรือไม่แยกจากสหราชอาณาจักร กำลังเป็นประเด็นในความสนใจของผู้คน และยิ่งนานวัน เสียงสนับสนุนให้แยกก็มีมากขึ้น แต่น่าสนใจว่า หลังจากโพลเมื่อไม่กี่วันมานี้ ชี้ว่าคนสก็อตมากกว่าครึ่งหนุนให้แยกสก็อตแลนด์ ค่าเงินปอนด์ก็ร่วงลงต่ำสุดในรอบสิบเดือน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา พอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดัง เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2008 ได้เขียนบทความลง The New York Times เตือนชาวสก็อตว่า จงกลัวให้มากเข้าไว้ ความเสี่ยงของการอยู่ตามลำพังนั้นใหญ่หลวงมาก คุณอาจคิดว่าสก็อตแลนด์สามารถเป็นอย่างแคนาดา แต่มันก็อาจจบลงด้วยการกลายเป็น สเปนที่ปราศจากแสงอาทิตย์

ครุกแมนบอกว่า แม้สก็อตแลนด์กับแคนาดาจะมีขนาดเศรษฐกิจเล็กเหมือนๆกัน และแคนาดาดูเหมือนจะประสบความสำเร็จแม้จะน่ากังวลอยู่บ้างในเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนและฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แต่แคนาดานั้นมีสกุลเงินตราของตนเองซึ่งหมายความว่าถ้ามีปัญหาใดๆก็จะสามารถระดมเงินจากธนาคารของตนเองได้

แต่สก็อตแลนด์ทำไม่ได้ แถมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของสก็อตแลนด์ ยังแสดงท่าทีชัดเจนเสียอีกว่า ตั้งใจจะใช้สกุลเงินปอนด์ของอังกฤษต่อไป ซึ่งสำหรับครุกแมนแล้วส่วนผสมของอิสรภาพทางการเมืองกับสกุลเงินตราที่ต้องใช้ร่วมกับประเทศอื่นนั้น เป็นสูตรแห่งความหายนะอย่างที่เกิดขึ้นในสเปน

ครุกแมน ยกตัวอย่างสภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อนเกิดภาวะฟองสบู่แตกขั้นรุนแรงในสเปนกับรัฐฟลอริด้าของสหรัฐ ซึ่งเขามักยกมาพูดถึงบ่อยๆในระยะหลังมานี้ โดยชี้ว่าสเปนตกอยู่ในวิกฤติ แต่ฟลอริดาไม่เป็นอย่างนั้นเพราะฟลอริดาสามารถพึ่งพารัฐบาลกลางสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน เพื่อค่าประกันสังคมและค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนรับประกันความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารและอื่นๆ

แต่สเปนไม่มีใครคุ้มครอง ทำให้เกิดวิกฤติงบประมาณซึ่งยิ่งเลวร้ายมากขึ้น เมื่อประกอบกับวิกฤติธนาคาร ผลคือสเปนมีคนหนุ่มสาวว่างงานกว่าห้าสิบเปอร์เซนต์ และแทบไม่มีหนทางที่จะเริ่มต้นฟื้นฟูได้เลย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ แม้ประเทศยุโรปที่เศรษฐกิจแข็งแรงอย่างฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์ ก็ยังได้รับผลกระทบ

ครุกแมนสรุปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ปี 2009 หรือใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่าการใช้เงินตราร่วมกันโดยไม่บริหารร่วมกันนั้นอันตราย สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสก็อตแลนด์นั้นอาจเลวร้ายกว่าที่เกิดกับประเทศในยุโรป ซึ่งอย่างน้อยก็มีธนาคารกลางยุโรป

ประเด็นที่ครุกแมนเตือนนั้นน่าคิด และเอาเข้าจริงๆ ไม่เพียงเรื่องการใช้สกุลเงินปอนด์ที่ต้องเป็นห่วงเท่านั้น เพราะถ้าสก็อตแลนด์ได้เป็นเอกราชจริง ก็ยังต้องห่วงเรื่องหนี้สาธารณะมูลค่า 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เรื่องบ่อน้ำมันในทะเลเหนือและฐานทัพเรือดำน้ำอังกฤษในสก็อตแลนด์ เป็นต้น

สำหรับสกอตแลนด์นั้น เคยเป็นประเทศอิสระ จนเมื่อกษัตริย์สก็อตแลนด์คือพระเจ้าเจมส์ที่ 6 ได้ขึ้นครองบัลลังก์ประเทศอังกฤษใน ค.ศ.1603 จึงถือว่าสองประเทศมีกษัตริย์ร่วมกันแม้รัฐบาลสองประเทศไม่ได้ขึ้นแก่กัน แต่ใน ค.ศ. 1707 สองประเทศได้รวมตัวกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจกลายเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ปัจจุบันสก็อตแลนด์มีประชากรประมาณ 5.3 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของอังกฤษ

ประชาชนสก็อตแลนด์จะลงประชามติว่าจะแยกตัวจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ในวันที่ 18 กันยายนนี้

ที่มา
บทความ "Scots, What the Heck?", The New York Times
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่