ครบถ้วน กระบวนความ กับการสรุปปัญหา "ช่อง 3 - กสทช. - คูปองทีวีดิจิตอล"

เท่าที่อ่านมาเหมือนจะเป็นการสรุปที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด จึงนำมาแชร์ให้อ่านกันครับ



จาก Facebook : Pongsuk Hiranprueck แห่ง Baidu ... #แบไต๋ต่างหาก

กรณีช่อง 3 งัดข้อ กสทช.
สรุปย่อและแนะนำว่าแต่ละฝ่ายควรทำอะไรต่อ?
จะเล่าแบบไม่ Take Side ไม่ Bias ใคร
เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้มาถามไถ่ให้ผมเล่าให้ฟังตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งเพื่อน ญาติ ลูกค้าและผู้หลักผู้ใหญ่ ต่อไปใครถามอีกผมจะยื่นบทความนี้ให้อ่านแทนการเล่าเพื่อประหยัดเสียงซึ่งได้เรียบเรียงให้เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว
1. กสทช. เปิดประมูลคลื่นเพื่อทีวีดิจิทัลนำสู่การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยโทรทัศน์ไทยไปสู่สัญญาณที่คมชัดขึ้น (โดยการออกอากาศแบบภาคพื้น ชักเสาแล้วดูได้เลย ไม่ใช่ยิงมาจากฟ้าด้วยดาวเทียมที่ต้องติดจานรับชม) การประมูลนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิด Player รายใหม่ๆบ้าง หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถานีฟรีทีวีเพียง 6 ช่องมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษและดูเหมือนผูกขาด ตลอดมามีเสียงบ่นจากคนดูเป็นระยะๆถึงความน้ำเน่าและไม่มีตัวเลือกมากนัก (อึดอัดกันแค่ไหนก็ให้ไปดูจำนวนช่องดาวเทียมและเคเบิ้ลที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด) ข่าวการประมูลนี้พูดถึงในวงการอย่างกว้างขวางนานกว่า 5 ปีที่รอคอยมา กสทช.มีการทำประชาพิจารณ์หลายครั้งทั้งกับกลุ่มผู้ประกอบการเองและประชาชนที่สนใจ ใบอนุญาตที่ประมูลกันได้ในครั้งนี้จะมีระยะเวลาประกอบการได้ถึง 15 ปี (เริ่มนับจากมิถุนายน 2557) และจะไม่มีจำนวนช่องมากกว่านี้อีกแล้วในกลุ่มเพื่อการพาณิชย์


2. กสทช. กำหนด 4ประเภทช่อง (รวมทั้งสิ้น 24 ช่อง) ให้ประมูลกันตามกรอบกติกา ราคาตั้งต้นและการเคาะผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่รัดกุม มีกติกาหนึ่งที่กำหนดให้ 1 องค์กรประมูลได้สูงสุด 3 ช่อง ห้ามคนประมูลช่อง HD มาประมูลช่องข่าวคู่กันเพื่อป้องกันการทุ่มตลาดที่อาจครอบงำความคิด ในระหว่างที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆนี้ ช่อง 3 ส่งบุคลากรระดับ'ลูกเจ้าของมาเอง'สู่ที่ประชุมแทบทุกครั้ง และคุณประวิทย์ มาลีนนท์เองก็เข้าร่วมเรียนหลักสูตรพิเศษ (เพื่อให้ความรู้และกระชับสัมพันธ์กลุ่มผู้ประกอบการ) ที่กสทช.จัดขึ้น ผู้ร่วมเรียนด้วยเผยว่าคุณประวิทย์ Discuss ในคลาสเรียนว่า "ไม่น่ามีช่องเยอะขนาดนี้ ฐานคนดูก็กระจายออกหมด ไม่ส่งผลดี" (ไม่ใช่ประโยคเป๊ะๆเพราะฟังมาอีกที)


3. ช่อง 3 (ในนามของบริษัทลูก) ให้ความร่วมมืออย่างดี ซื้อซองใบละ 1,070,000.-ร่วมลงแข่งในสนามประมูลด้วยถึง 3 ประเภทช่อง (ช่องเด็ก/ช่องSD/ช่องHD) ถูกต้องตามกติกาและประมูลได้ทั้งหมด คว้าใบอนุญาตมากที่สุดในบรรดา Player ทุกราย โดยทุ่มเงินประมูลสูงสุดทั้งช่องเด็ก/ช่องHD จึงได้สิทธิ์เลือกเลขช่องก่อนใครนั่นคือเลข “13" และ “33" ตามกลุ่มประเภทช่อง จะเซ็งก็ตรงไม่ชนะในประเภทช่อง SD จึงถูก WorkPoint ผู้ชนะในกลุ่มนี้เลือกเลข 23 ตัดหน้าไป (ใจจริง WP คงไม่ได้อยากได้เลขนี้นักหรอก แต่เพื่อสะกัดดาวรุ่งช่อง 3 ไม่ให้สมอารมณ์หมาย เดี๋ยวจะโปรโมตง่ายไป) ช่อง3 จำใจต้องเลือกเลข 28 ในกลุ่มประเภทช่อง SD ออกแบบโลโก้สถานีใหม่เหมือนลูกฟุตบอลตั้งชื่อช่องต่างๆว่า 3Family(13) 3SD (28) และ 3HD(33) โดยแสดงบทบาททางธุรกิจชัดเจนว่าช่อง 3 ในคลื่นสัญญาณ Analog เดิม (ซึ่งได้สิทธิ์แพร่ภาพต่ออีก 5 ปี นับถอยหลังจากมิถุนายน 2557) จะถูกคงไว้ในชื่อ “3 Original” โดยยังคงผังรายการลักษณะเดิมไว้ เช่นละคร, ข่าว, เกมโชว์ฟอร์มยักษ์ ฯลฯ สรุปช่อง 3 ตอนนี้"มี 4ช่อง”


4. ช่อง 3 เริ่มแพร่ภาพสัญญาณช่องดิจิทัลใหม่ๆทั้ง 3 ช้ากว่าใคร โดยเน้นผลิตรายการใหม่ใน 2 ช่องแรกก่อนนั่นคือ 3Family และ 3SD เน้นรายการข่าวโดยคนข่าวที่คุ้นเคยแต่ผังรายการส่วนมากก็เป็นการนำละครจีน/ฮ่องกง/เกาหลีเก่าๆ ละครไทยยุค’80 มาฉายตลอดวัน และไม่ได้ออกอากาศ 24ชม. ช่วงเปิดสถานีตอนเช้าได้ย้ายรายการ “แจ๋ว” ที่มีอายุอานามนานแล้ว (ไม่นับอายุพิธีกร) จากช่อง3Original มาจัดในช่อง 3Family ส่วน 3SD และได้ปั้นรายการใหม่ๆโดยใช้ผู้ประกาศดังๆที่เดิมแทบจะขี่คอกันอ่านข่าวอยู่แล้วบน 3Original ออกมาจัดรายการใหม่ในพื้นที่ตัวเอง เช่น ไก่ ภาษิต, หมวย อริศรา, กรุณา บัวคำศรี, ซี ฉัตรประวีณ์ ฯลฯ ส่วนช่วงค่ำ 1ทุ่ม ช่อง3 ปั้นรายการใหญ่ “กาละแม” วาไรตี้ทอล์กโชว์ดูดีมีการลงทุนสูง ในช่อง 3HD เพื่อหยั่งกระแส กาละแมมาจัดสดทุกวัน อดปาร์ตี้บ้างอะไรบ้าง  4 ทุ่มมีการนำ”กาละแม”ของค่ำนั้นมารีรันทันทีเพื่อช่วงชิงเรตติ้ง (ที่ยังไม่ค่อยจะมี) ณ จุดนี้มีคนดูถามเยอะว่าทำไมไม่เอาละครมาลงช่อง HD จะได้ดูชัดๆแบบช่อง 7HD (ซึ่งเขาทำชีวิตง่ายกว่าเยอะ เพียงทำ Simulcast ออกอากาศคู่ขนาน และออกโฆษณาอั้มฝาแฝดมาอธิบาย ง่ายโพดๆ)


5. ณ จุดปล่อยตัวดิจิทัลทีวีในเดือนเมษายน กสทช.ได้ออกกฎ Must Carry ที่แปลง่ายๆว่า “ต้องขนขึ้นดาวเทียม” เพื่อให้การรับชม 24ช่องใหม่เป็นไปได้ในทันทีกับบ้านที่ติดจานดาวเทียมแล้วกว่า 70% ในประเทศนี้ (คิดดูแล้วกันว่าในอดีต สัญญาณ Analog มันแย่แค่ไหน? ใครๆเขาเลยต้องติดจานดาวเทียมที่โฆษณาว่า “ชัดล้าน%”) ทั้งนี้กสทช.ตั้งกรอบเวลาไว้นาน 4ปี กว่าเสาส่งสัญญาณดิจิทัลจะครอบคลุม 90% ของประเทศ เสาต่างๆนี้ลงทุนโดยผู้ให้บริการ MUX ที่กสทช.แต่งตั้งขึ้น อันได้แก่ ททบ.5, อสมท,ไทยพีบีเอส และช่อง11 (ซึ่งไม่มีใครไปเช่าใช้เลย..โถ) แต่ละสถานีมีอิสระในการไปเช่า MUX ให้ใครยิงแพร่ภาพให้ก็ได้ (ส่วนใหญ่เลือกเช่ากับ อสมท. และททบ.5)


6. ช่อง 3 แอบเปรี้ยว แอบยิงสัญญาณช่อง 3 Original ขึ้นดิจิทัลทีวีด้วยโดยต่อท้ายช่อง 36 PPTV สัญญายิงมาโดย “อสมท.” กสทช.ตรวจสอบพบทันทีในไม่กี่วันนั้นได้ออกหนังสือเตือนแรงๆให้เลิกทำทันที (ใครคิดแผนนี้ควรจับมารับโทษนะครับ) แต่ทั้งนี้จะด้วยช่อง 3แอบเปรี้ยว หรือ อสมท.ทำให้เอง คนที่ทำ”รู้อยู่แก่ใจ”ครับ


7. จุดแปลกประหลาดที่นำมาสู่ดราม่าในตอนนี้คือ ในกฎ Must Carry ที่กสทช.ตอนนั้นดันไปออกประกาศอนุญาตให้ “ผู้พัฒนากล่องทีวีดาวเทียม” ทุกรายสามารถเช็ตเลข10ช่องแรกบนกล่องได้เองอิสระ เซ็ตเป็นช่องของใครก็ได้ จากนั้นจึงค่อยนำช่อง 1-36 จากทีวีดิจิทัลไปต่อท้ายเลข10 ซึ่งได้ทำชาวบ้านงงตายห่านไปเป็นแถบ เนื่องจากเลข 13-36 (24ช่องพาณิชย์) เป็นเลขที่ประจำช่องอย่างเป็นทางการ ประกาศไปแล้วและใช้พูดหน้าจออยู่ทุกวัน แต่บนกล่องดาวเทียมกลับถูก “บวกไปอีก10” จึงจะเป็นช่องนั้นๆได้ (เช่น “33” ของช่อง 3HD ที่ทุ่มประมูลมาด้วยเงิน 3,530ล้าน กลับกลายเป็นเลข “43" บนกล่องดาวเทียมซะงั้น) ส่วนช่อง 1-12 ดิจิทัลที่เป็นทีวีสาธารณะก็ยังมีสถานีไม่ครบตามจำนวน (“1"คือ ททบ.5 “2” คือช่อง11 “3” คือ ThaiPBS และ “4” ThaiPBS ขอจองไว้ก่อนจะทำช่องเด็ก ..เด็กแบบเด็กสาธารณะอ่ะนะ) ส่วน 5-12 ยังไม่มี เว้นว่างไว้ บางกล่องฉลาดหน่อยก็กระโดดข้ามเลขให้ บางกล่องทำไม่ได้ก็แสดงภาพ “อยู่ระหว่างเตรียมการออกอากาศ” ให้ชาวบ้านคิดว่า “หมดช่องดูแล้ว” และมักไม่กดไปต่อ


8. 10 เลขช่องแรกที่ กสทช.ใจดีให้ผู้ผลิตกล่องดาวเทียมเลือกสรรช่องรายการกันเองกลายเป็น “มหกรรมขายเลขช่องครั้งมโหฬาร” มีการขายเลขเดี่ยวๆให้สถานีที่มีศักยภาพจับจอง อย่างที่เราเห็นการโปรโมทไปแล้ว “เวิร์คพอยท์ช่อง1” คุณปัญญามั่นใจว่าด้วยสูตรนี้ “ชนะแน่” เพราะโลกยุคอนาล็อค ช่อง3 ก็เป็น “เลข1เสมอ"บนกล่องดาวเทียมเช่นกัน แต่ตอนนี้เกมพลิก …”ไทยรัฐทีวี” ก็ทุ่มไม่อั้น ซื้อเลข 3 ใน 3 กล่องดัง PSI, GMMZ และ RS Sunbox ,ยังมี “ไทยทีวี” ของพี่ติ๋ม ทีวีพูลที่ซื้อเลข 7 ล่าสุด PPTV กระโดดมาซื้อ "เลข 6” บ้างแล้ว ไม่งั้นเงิบ เลข 46 ของเขามันอยู่ไกลเหลือเกิน (น้องคงกดไปไม่ถึงงงงง)


9. น่าสังเกตที่บางกล่องอย่าง GMMZ และเคเบิ้ลท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังจัดให้ “ช่อง 3 Analog” อยู่บน “เลข1” ต่อไป ทั้งนี้เป็นเพราะสัมพันธภาพที่ผูกพันกันมาและเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าด่า ซึ่งต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ช่อง 3 เขาก็แน่จริง เล่าข่าวก็แซ่บ ทำละครก็ติดกันงอมแงม


10. กสทช.เริ่มสังเกตแล้วว่าถ้าปล่อยให้ Must Carry เป็นแบบนี้ต่อไป “ช่อง3 Analog” ก็จะไม่มีทางย้ายฐานมาออกคู่ขนานกับช่อง 33 ทางดิจิทัลได้ และฐานคนดูจำนวนมหาศาลก็จะไม่เข้าสู่ดิจิทัลทีวี “จึงออกประกาศใหม่" ให้ผู้ผลิตกล่องดาวเทียมและเคเบิ้ลจัดช่อง 1-36 ดิจิทัลไว้ในชุดแรก โดยยกเลิก10 ช่องแรกที่เคยใจดีให้จัดกันเอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตกล่องรายใดปฏิบัติตาม เบะปากร้องว่า “มาบอกอะไรเอาป่านนี้!?” คนเขารับทรัพย์กันอยู่เดือนละหลายล้านแล้ว


11. กสทช.แสดงท่าทีชัดเจนให้ช่อง 3 Original ออกอากาศคู่ขนานกับ 3HD แบบที่ช่องอื่นๆเขาทำกันเพื่อโยกฐานผู้ชมมาชมดิจิทัลทีวีมากขึ้น คุณสุภิญญา หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ถึงกับลงทุนทำ Ice Bucket Challenge ถึงคุณประวิทย์ มาลีนนท์ให้รับคำท้า “ทั้งราดน้ำแข็งและออกอากาศคู่ขนาน” ..ปรากฏคุณประวิทย์ไม่รับคำท้า


12. ช่อง 3 อ้างว่าบริษัทที่ประมูลช่องดิจิทัลเป็นคนละชื่อบริษัทกับช่อง 3 Analog ซึ่งติดสัญญาผูกพันอยู่กับ อสมท. (สัญญาสัมปทาน) จึงไม่สามารถออกคู่ขนานได้ แต่ทั้ง อสมท.และกสทช.บอก “ยินดีแก้ไขสัญญาให้” ..ช่อง 3 กลับไปคิด


13. ช่อง 3 ออกมาชี้แจงสังคมว่าเขามีสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจในคลื่น Analog เดิมเพราะเหลืออีกตั้ง 5ปี และเขาก็ทำช่องดิจิทัลทีวีใหม่นี้ด้วยอีก 3 ช่องซึ่งเป็นจำนวนช่องที่มากกว่าทุกบริษัทที่กำลังทำอยู่ (อยากมี 4 ช่องน่ะจะทำไม?)


14. คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดาแสดงทัศนะในงานครบรอบ 10 ปีครอบครัวข่าวว่า “ผมเชื่อมั่นใน Analog” เพื่อให้ผู้ฟังคือมีเดียเอเจนซี่และผู้ลงโฆษณาทราบเจตนารมณ์ว่ารายการเรื่องเล่าเช้านี้ไม่ย้ายแน่ๆ


15. สถานการณ์ขณะนี้ราคาโฆษณาในดิจิทัลทีวียังไม่สูงเท่าช่อง Analog เดิม เพราะฐานคนดูยังไม่มาก และผู้เล่นมีมาก การแข่งขันมันสูง ลดแลกแจกแถมกันสะบั้นหั่นแหลก แต่ช่อง 7 เขาก็ยังขายได้ราคาดีดังเดิมเหตุเพราะเขา Simulcast คือ “มีให้ชมทั้งคู่” ไม่ว่าจะชมด้วยทีวีแบบใด

ข้อ 16 อ่านต่อในความคิดเห็นที่ 1 ...
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่